หลังจากที่ Wi-Fi Alliance ประกาศรับรองมาตรฐาน 802.11ac Wave 2 ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีจำนวนอุปกรณ์พกพาที่รองรับมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้นตาม คำถามคือ เมื่อ 802.11ac ประสบความสำเร็จแล้ว มาตรฐานถัดไปที่จะไปต่อคืออะไร
802.11ax คือมาตรฐานถัดไป ?
ท่ามกลางมาตรฐาน IEEE ที่มีอยู่มากมาย เช่น 802.11ad, 802.11af, 802.11ah และ 802.11ax ดูเหมือนว่า 802.11ax จะเป็นมาตรฐานที่มีความโดดเด่นมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดมาตรฐาน 802.11ac อย่างแท้จริง สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 10 Gbps ซึ่งสูงกว่า 802.11ac Wave 2 ในปัจจุบันถึง 4 เท่า ที่สำคัญคือยังคงใช้คลื่นความถี่ 5 GHz นั่นหมายความว่า อุปกรณ์ในปัจจุบันสามารถทำงานร่วมกับมาตรฐาน 802.11ax แบบ Backward Compatible ได้
คุณสมบัติที่สำคัญของ 802.11ax
ต่างจากมาตรฐาน 802.11 อื่นๆ ที่เน้นการเพิ่ม PHY Data Rate เป้าหมายของ 802.11ax คือการเพิ่มความเร็วให้กับระดับ MAC Layer สำหรับการใช้งานเป็นจำนวนมาก นั่นคือ 802.11ax จะยังคงใช้เทคโนโลยีเดิมในมาตรฐานปัจจุบัน เช่น ย่านความถี่ ช่องสัญญาณ ขนาด ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนที่จะตะบี้ตะบันเพิ่มความเร็วของ PHY Datat Rate โดยจะเน้นโฟกัสที่ OFDM-A และ MU-MIMO
เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนช่องสัญญาณของ 40/80/160 MHz บนคลื่นความถี่ 5 GHz การเพิ่มประสิทธิภาพของการรับส่งข้อมูลในแต่ละช่องสัญญาณจึงเป็นกุญแจสำคัญ OFDM-A ฟีเจอร์ใหม่บน 802.11ax รองรับการซอยช่องสัญญาณย่อยที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก การส่งข้อมูลพร้อมกันบนช่องสัญญาณย่อยเหล่านี้ช่วยให้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า นอกจากนี้ 802.11ax ยังเพิ่มสมรรถนะของ MU-MIMO ให้สามารถรับส่งข้อมูลได้พร้อมกันถึง 4 Spatial Streams รวมทั้งเพิ่ม Uplink MU-MIMO เข้าไปอีกด้วย
เหล่านี้ ส่งผลให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่อ 1 Spatial Stream บนช่องสัญญาณขนาด 160 MHz ของ 802.11ax เพิ่มขึ้นจาก 866 Mbps ไปเป็นประมาณ 3.5 Gbps หรือประมาณ 14 Gbps สูงสุดสำหรับการส่งข้อมูล 4 Spatial Streams พร้อมกัน
ใช้ 802.11ax ในสถานการณ์ไหน
ด้วย Data Rate ที่สูงขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมากกับความสามารถ MU-MIMO แบบ 2 ทาง (Downlink และ Uplink) ทำให้ 802.11ax ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในสถานการณ์หรือสถานที่ที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น เช่น หอพัก ภายในองค์กร หอประชุม หรือห้างร้านขนาดใหญ่ เป็นต้น
นอกจากความเร็วที่เพิ่มขึ้นแล้ว 802.11ax ยังให้บริการการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่มีความเสถียรมากกว่าเดิม ต่อให้ต้องใช้งานบนพื้นที่ที่มีการกวนกันของสัญญาณอย่างรุนแรงก็ตาม
สถานการณ์ในอนาคต
ABI Research พยากรณ์ว่า 802.11ax จะพร้อมให้บริการบนอุปกรณ์ Wi-Fi สูงถึง 57% ในปี 2021 ในขณะที่ Chipset แรกจะยังไม่พร้อมใช้งานจนกระทั่งปี 2018 ถ้าพิจารณาจากตารางมาตรฐานของ IEEE มาตรฐาน 802.11ax จะได้รับการประกาศยอมรับในปี 2019 แต่คาดว่าฮาร์ดแวร์ที่รองรับมาตรฐานดังกล่าวคงเปิดตัวมาให้ใช้งานก่อนอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากตลาด 802.11ac Device Vendors ส่วนใหญ่จะก้าวไปช้ากว่า Infrastructure Vendors ส่งผลให้การเข้ามาของ 802.11ax ในตลาดอาจช้าลงกว่าที่คาดหลักเดือนถึงหลักปี แม้กระนั้น 802.11ax ก็นับว่าเป็นมาตรฐานที่น่าจับตามองสำหรับเทคโนโลยี Wi-Fi
ควรรอใช้งาน 802.11ax ทีเดียวเลยไหม
HPE Aruba ผู้ให้บริการโซลูชันเครือข่ายไร้สายชั้นนำระบุชัดเจนว่า “ไม่ควร ก่อนที่ [802.11ax] จะเปิดตัว ควรเลือกใช้ Wi-Fi ระดับ Gigabit คือ 802.11ac หรือให้ดีคือ Wave 2 ที่ให้ประสิทธิภาพที่สูงมากกว่า ความเร็วระดับหลาย Gigabit ของ Wave 2 และ Downlink MU-MIMO ช่วยมอบประสบการณ์อันแสนยอดเยี่ยมให้กับลูกค้าที่ต้องการระบบเครือข่ายและแอพพลิเคชันที่มีความเร็วสูง”
ที่มา: http://community.arubanetworks.com/t5/Technology-Blog/Wave-2-Is-Here-What-s-Next/ba-p/270834