Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

รีวิว: TP-Link Omada EAP670 AX5400 – Wi-Fi 6 Access Point ระดับ High-end Business รุ่นใหม่

Wi-Fi เป็นหนึ่งในการเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุดขององค์กร บทความนี้ TechTalkThai จะมารีวิว Omada EAP670 AX5400 ซึ่งเป็น Access Point มาตรฐาน Wi-Fi 6 รุ่นใหม่ล่าสุดจาก TP-Link ที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานในองค์กรธุรกิจระดับ High-end ด้วยจุดเด่นที่ความเร็วรวมสูงระดับ 5.4 Gbps ช่องสัญญาณปรับโดยอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความเสถียรและหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวน การโรมมิ่งที่ราบรื่น ช่วยให้การเชื่อมต่อลื่นไหลไม่มีสะดุด รวมไปถึงสามารถบริหารจัดการผ่าน Cloud ได้

รู้จัก TP-Link Omada EAP670 กันก่อน

เทคโนโลยี Wi-Fi 6 หรือ 802.11AX เริ่มปรากฏให้เห็นช่วงต้นปี 2019 ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้หลายเท่าตัว การใช้งานในพื้นที่หนาแน่น และการรองรับทั้งย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz ตอบโจทย์การรับส่งข้อมูลในยุคดิจิทัลที่ต้องการความเร็วและความเสถียรสูง ในขณะที่ราคาก็จับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Wi-Fi 6 กลายเป็นที่แพร่หลายและเริ่มเข้ามาแทนที่ Wi-Fi 5 โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ

Omada EAP670 เป็น Access Point มาตรฐาน Wi-Fi 6 ระดับ High-end ของ TP-Link ที่ถูกออกแบบมาสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการ Wi-Fi ประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า โรงแรม ห้องประชุม หรือแม้แต่สำนักงานทั่วไป Omada EAP670 มาพร้อมกับฟีเจอร์ด้านการเชื่อมต่อและความมั่นคงปลอดภัยแบบครบครัน ระดับเดียวกับที่ใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ รองรับการเชื่อมต่อไร้สายแบบ Dual Band มาตรฐาน AX 5400 (ความเร็วรวมสูงสุด 5.4 Gbps) บริหารจัดการได้ง่ายและรวดเร็วผ่าน Cloud ทั้งยังรอบรับเทคโนโลยี Mesh และการโรมมิ่งเพื่อการเชื่อมต่อที่ราบรื่น ไม่มีสะดุด

คุณสมบัติเด่นของ Omada EAP670 ได้แก่

  • Wi-Fi 6 แบบ Dual Band มาตรฐาน AX5400 – มีอัตราการรับส่งข้อมูลสูงสุด 4,804 Mbps บนย่านความถี่ 5 GHz และ 574 Mbps บนย่านความถี่ 2.4 GHz รวมสองย่านความถี่ 5,378 Mbps เหนือกว่า Wi-Fi 5 ทั่วไปถึง 2.6 เท่า
  • ปรับแต่งช่องสัญญาณโดยอัตโนมัติ – เลือกช่องสัญญาณและปรับแต่งกำลังส่งอย่างชาญฉลาด เพื่อลดสัญญาณรบกวนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อให้ถึงขีดสุด
  • รองรับการใช้งานในพื้นที่การใช้งานหนาแน่น – รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มากขึ้น ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นกว่าเดิม
  • บริหารจัดการจากศูนย์กลางผ่าน Cloud – บริหารจัดการ Access Point ทั้งหมดผ่านซอฟต์แวร์ Omada SDN บน Cloud รองรับทั้ง Web UI และ Mobile App โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ช่องสัญญาณขนาด 160 MHz – เพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลเป็น 2 เท่าด้วยการขยายช่องสัญญาณจาก 80 MHz ไปเป็น 160 MHz
  • โรมมิ่งอย่างไร้รอยต่อ – Video Streams และ Voice Calls ได้อย่างราบรื่นแม้จะเคลื่อนที่ข้ามช่วงรอยต่อของสัญญาณ Access Point
  • Omada Mesh – รองรับเทคโนโลยีแบบ Mesh ลดข้อจำกัดด้านการเดินสายสำหรับเชื่อมต่อ Access Point
  • รองรับ PoE+ – รองรับแหล่งจ่ายไฟด้วยมาตรฐาน 802.3at PoE+ หรือ DC (มี Adapter แถมมาให้) เพิ่มความยืดหยุ่นในการติดตั้ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Omada EAP670 ได้ที่: https://bit.ly/3loA55h

เปิดกล่อง TP-Link Omada EAP670

Omada EAP670 AX5400 เป็น Access Point ที่มีขนาดและหน้าตาเหมือนกับรุ่น Omada EAP610 AX1800 ที่ทีมงาน TechTalkThai เคยรีวิวไปเมื่อปลายปี 2021 โดยมีลักษณะเป็นทรงจานกลม มาพร้อมกับ Ceiling/Wall Mounting Kits สำหรับติดเพดานหรือผนัง (ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) วัสดุทำมาจากพลาสติกคุณภาพดี แข็งแรง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24.3 ซม. สูง 6.4 ซม. เท่า Omada EAP610 แต่หนักกว่าเล็กน้อย คือ 790 กรัม ตรงกลางมีโลโก้ TP-Link สีเทาดูเรียบหรู นอกจากนี้ ภายในกล่องยังมี Power Adaptor, Installation Guide และ Quick Installation Guide มาให้เพื่อเริ่มติดตั้งใช้งานได้ทันที

Omada EAP670 ใช้เสาส่งสัญญาณภายในแบบ Omni-directional โดยมีกำลังขยาย (Gain) 5 dBi บนย่านความถี่ 5 GHz และ 4 dBi บนย่านความถี่ 2.4 GHz ด้านบนของ Access Point มี LED 1 ดวงสำหรับแสดงสถานะของอุปกรณ์ ได้แก่

  • สว่าง – ทำงานปกติ
  • มืด – ทำงานผิดปกติ/เครื่องปิดอยู่/ตั้งค่าปิดไฟสถานะไว้
  • กระพริบ – กำลังเริ่มทำงาน/กำลังอัปเกรด/กำลังรีเซ็ต/ฟีเจอร์ Locate กำลังทำงานเพื่อแสดงตัว Access Point ที่กำลังค้นหาอยู่

ด้านล่างของ Omada EAP670 จะมีช่องเป็นซี่ๆ รอบเครื่องสำหรับระบายความร้อน และฐานสำหรับติด Ceiling/Wall Mounting Kits เพื่อยึด Access Point กับเพดานหรือผนัง มีพอร์ต RJ-45 1 พอร์ตแบบ Multigigabit รองรับความเร็ว 2.5 GbE และรองรับการจ่ายไฟมาตรฐาน 802.3at (PoE+) นอกจากนี้ยังมีช่องสำหรับ Reset อุปกรณ์สำหรับการย้อนกลับไปใช้การตั้งค่าเริ่มต้นจากโรงงาน (Factory Reset)

เริ่มต้นใช้งานครั้งแรก – ติดตั้ง Software Controller และเชื่อมต่อระบบ Cloud

เช่นเดียวกับ Omada EAP610 ที่รีวิวไปก่อนหน้านี้ Omada EAP670 รองรับการใช้งานทั้งในโหมด Standalone และโหมด Controller โดยรีวิวนี้จะเป็นการใช้งานในโหมด Software Controller ที่สามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการ Access Point มาใช้ได้ฟรี ไม่จำเป็นต้องซื้อ Hardware Controller มาใช้งานเพิ่มเติม รวมไปถึงสามารถต่อยอดไปบริหารจัดการผ่านระบบ Cloud หรือ Mobile App ได้อีกด้วย

Software Controller ของ TP-Link มีชื่อว่า Omada SDN Controller ซึ่งเวอร์ชันที่จะรีวิวเป็นเวอร์ชันล่าสุดขณะที่เขียนบทความนี้ (เวอร์ชัน 5.3.1) โดย Omada SDN Controller จะรองรับระบบปฏิบัติการ Windows และ Linux สามารถติดตั้งใช้งานได้ง่าย เพียงแค่รันไฟล์ ติดตั้งซอฟต์แวร์ลงเครื่อง และทำตาม Wizard ไปเรื่อยๆ 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ตั้งชื่อ Controller เลือกประเทศ โซนเวลา และประเภทของการใช้งาน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ออฟฟิศ โรงงาน หอพัก สถานศึกษา โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ ซึ่ง Omada SDN Controller จะแนะนำวิธีตั้งค่าเบื้องต้นที่เหมาะสมที่สุดตามประเภทการใช้งานที่เราเลือกในขั้นถัดๆ ไปให้
  2. เลือก Access Point ที่ต้องการตั้งค่าโดย Omada SDN Controller จะทำการค้นหา Access Point ในระบบเครือข่ายให้โดยอัตโนมัติ (สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปตั้งค่าโดยละเอียดภายหลังได้)
  3. ตั้งค่า WAN Settings Overrides (สามารถข้ามขั้นตอนนี้กรณีเริ่มตั้งค่าระบบ Wi-Fi ครั้งแรก)
  4. กรณีที่ต้องการเริ่มใช้ Wi-Fi อย่างรวดเร็ว สามารถตั้งค่า Wi-Fi แบบ Pre-shared Key จากที่นี่ได้ทันที รวมไปถึง Guest Wi-Fi ที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อได้โดยไม่ต้องใส่รหัสผ่านใดๆ (สามารถกด Skip เพื่อไปตั้งค่า Wi-Fi โดยละเอียด เช่น 802.1X ภายหลังได้)
  5. ตั้งค่า Username/Password สำหรับเข้าบริหารจัดการ Omada SDN Controller รวมไปถึงการบริหารจัดการผ่าน Cloud โดยเปิดใช้งานปุ่ม Cloud Access และผูก TP-Link ID เข้ากับ Omada SDN Controller (กรณีที่ยังไม่มี TP-Link ID สามารถสมัครฟรีได้ที่ https://omada.tplinkcloud.com/)
  6. สรุปและตรวจสอบการตั้งค่า

หลังจากตั้งค่าตาม Wizard เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถล็อกอินเพื่อเข้าบริหารจัดการ Controller และ Access Point ทั้งหมดได้ผ่าน Omada SDN Controller หรือระบบ Cloud ดังนี้

กรณีที่เข้าบริหารจัดการผ่านระบบ Cloud เมื่อล็อกอินเข้ามาแล้ว จะแสดงหน้าอุปกรณ์ของ TP-Link ทั้งหมดที่ลงทะเบียนใช้งานผ่านระบบ Cloud ไว้ ให้เลือก Omada Controller ที่ต้องการ แล้วกดไอคอน Launch (รูปบ้านด้านขวามือ) เพื่อเข้าไปบริหารจัดการอุปกรณ์ ซึ่งหน้าการบริหารจัดการผ่านระบบ Cloud จะเหมือนกับ Omada SDN Controller ทุกประการ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งานใดๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ TP-Link ยังรองรับ Omada App สำหรับเพิ่มความสะดวกสบายและความคล่องตัวให้แก่องค์กรธุรกิจ ด้วยการบริหารจัดการระบบ Wi-Fi ขององค์กรจากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android แต่มีเงื่อนไขคือ Omada SDN Controller ต้องลงทะเบียนให้บริหารจัดการผ่าน Cloud ได้

เชื่อมต่อ Access Point เข้าสู่ Omada SDN Controller

Omada EAP670 เริ่มต้นใช้งานได้ง่าย เพียงแค่เปิดเครื่องและเชื่อมต่อ Access Point เข้ากับระบบเครือข่าย Omada SDN Controller จะทำการค้นหา Access Point ให้โดยอัตโนมัติ แล้วนำมาแสดงผลบนหน้า Device โดยมีสถานะ PENDING คือ กำลังรอการเชื่อมต่อกับ Controller ให้กดเครื่องหมายถูก (ไอคอน Adopt) ด้านขวามือเพื่อเชื่อมต่อ Access Point เข้าสู่ Controller หลังจากนั้นรอประมาณ 3 – 5 นาทีเพื่อให้ Access Point ตั้งค่าเริ่มต้น เมื่อเสร็จเรียบร้อย Access Point จะแสดงสถานะ CONNECTED คือ พร้อมใช้งานโดยที่ผู้ดูแลระบบไม่ต้องไปยุ่งใดๆ กับ Access Point เลย

โดยเริ่มต้นแล้ว Access Point จะแสดงชื่อเป็นหมายเลข MAC ของอุปกรณ์ สามารถเลือก Access Point นั้นๆ แล้วไปที่เมนู Config ด้านขวามือเพื่อแก้ไขชื่อ แล้วกดปุ่ม Apply

ตั้งค่า Wi-Fi สำหรับพนักงานและผู้ใช้ชั่วคราว (Guest)

ในขั้นตอนการติดตั้ง Omada SDN Controller สามารถเลือกตั้งค่า Wi-Fi แบบง่ายๆ ได้ ในกรณีที่ต้องการตั้งค่า Wi-Fi แบบซับซ้อน เช่น การเชื่อมต่อกับ AD/LDAP ผ่าน RADIUS การพิสูจน์ตัวตนแบบ 802.1X การทำ Rate Limit หรือ Mac Filter สามารถทำได้ที่เมนู Settings (ไอคอนรูปเฟืองด้านซ้ายล่าง) แล้วเลือก Wireless Networks

โดยพื้นฐานแล้ว Access Point ทุกเครื่องจะถูกจัดให้อยู่ใน WLAN Group ชื่อ “Default” เราสามารถจัดกลุ่มของ Access Point เพื่อตั้งค่า Wi-Fi ที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ เช่น ตามพื้นที่หรือตามแผนก ด้วยการสร้าง WLAN Group ใหม่ แล้วเลือกให้ Access Point ที่ต้องการไปสังกัดใน WLAN Group นั้นๆ ได้

Omada EAP670 รองรับ SSID สูงสุด 8 SSIDs บนแต่ละย่านความถี่ รวม 16 SSIDs โดยสามารถแยก SSID สำหรับพนักงาน, ผู้ใช้ชั่วคราว (Guest), อุปกรณ์​ Voice & Video และอุปกรณ์ IoT ได้ตามวิธีการพิสูจน์ตัวตนและระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย เช่น WEP, WPA-Personal (Pre-shared Key), WPA-Enterprise (802.1X) เป็นต้น รวมไปถึงสามารถกำหนด VLAN และ Rate Limit ทั้งฝั่ง Upload และ Download ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ใช้ชั่วคราว (Guest) หนึ่งในการพิสูจน์ตัวตนยอดนิยม คือ Web Portal โดยเราสามารถเปิดให้ผู้ใช้ล็อกอินได้หลากหลายวิธี ได้แก่

  • เข้าใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องยืนยันตัวตนใดๆ
  • ใส่รหัสผ่านที่ตั้งไว้แต่แรก
  • ใส่ Username/Password เพื่อให้ติดตามผู้ใช้นั้นๆ ได้ง่าย
  • ใช้ Voucher Code ที่สร้างโดย Controller ซึ่งสามารถกำหนดระยะเวลาในการใช้ Wi-Fi ได้
  • ใช้ Verification Code ผ่านทาง SMS

โดยหลังจากที่ล็อกอินแล้ว สามารถเลือกได้ว่าจะส่งผู้ใช้ไปยัง URL ที่ต้องการเข้าถึงตอนแรก หรือส่งไปยัง URL ที่เราต้องการ เช่น หน้าโฮมเพจขององค์กรหรือหน้าโปรโมชัน ที่สำคัญคือสามารถปรับแต่งหน้า Web Portal ได้อย่างอิสระเพื่อแสดงอัตลักษณ์ขององค์กร เช่น ข้อความต้อนรับ ภาพพื้นหลัง โทนสี โลโก้ เป็นต้น

อีกหนึ่งการพิสูจน์ตัวตนที่เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงหลังมานี้ คือ Facebook Wi-Fi กล่าวคือ องค์กรสามารถเชื่อมต่อเครือข่าย Wi-Fi ของตนเข้ากับ Facebook Page ได้ เมื่อผู้ใช้ เช่น ลูกค้า เชื่อมต่อกับ Wi-Fi ดังกล่าว จะถูกส่งไปหน้า Facebook Page ขององค์กรทันที ผู้ใช้ต้อง Check-in หรือกรอก Wi-Fi Code เพื่อลงทะเบียนก่อนถึงจะเริ่มใช้งาน Wi-Fi ได้ ด้วยการเข้าใช้ Wi-Fi ผ่าน Facebook นี้ ช่วยให้องค์กรสามารถปรับแต่งหน้า Facebook เพื่อแสดงโปรโมชันหรือโฆษณาต่างๆ ทั้งยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางการ Check-in อีกด้วย

ฟีเจอร์อื่นๆ บน Omada SDN Controller ที่น่าสนใจ

  • รองรับการทำ Access Control List (ACL)
  • รองรับการทำ URL Filtering สำหรับบล็อกการเข้าถึงเว็บที่ไม่พึงประสงค์
  • ป้องกันการโจมตีผ่านเครือข่าย เช่น TCP SYN Flood, UDP Flood, ICMP Flood รวมไปถึง Packet Anomaly Attacks
  • รองรับการเชื่อมต่อผ่าน VPN ทั้งแบบ Site-to-Site และ Client-to-Site

ทดสอบความเร็วในการใช้งาน

Omada EAP670 AX5400 เป็น Access Point มาตรฐาน Wi-Fi 6 แบบ Dual Band ที่มาพร้อมกับคุณสมบัติ MU-MIMO ซึ่งช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ปลายทางได้หลายเครื่องพร้อมกัน ทั้งยังรองรับ OFDMA ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิในการรับส่งข้อมูลให้เร็วขึ้นกว่ามาตรฐาน Wi-Fi 5 อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Beam-forming สำหรับปรับแต่งสัญญาณอย่างชาญฉลาด โดยเน้นการกระจายสัญญาณไปยังจุดที่อุปกรณ์ปลายทางอยู่และลดจุดอับของสัญญาณให้เหลือน้อยที่สุด

Omada EAP670 มีอัตราการรับส่งข้อมูลสูงสุด 4,804 Mbps บนย่านความถี่ 5 GHz และ 574 Mbps บนย่านความถี่ 2.4 GHz ทั้งยังมีคุณสมบัติ Band Steering ซึ่งช่วยเปลี่ยนอุปกรณ์ที่รองรับย่านความถี่ 5 GHz ไปเชื่อมต่อ Access Point ผ่านย่านความถี่ดังกล่าวซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย ทำให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ปลายทางทุกเครื่องจะได้รับประสบการณ์เชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ดีที่สุด

เปรียบเทียบความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ระหว่างเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่าน Fiber Modem โดยตรง และเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่าน Omada EAP670 (ซึ่งเชื่อมต่อกับ Fiber Modem ผ่านสาย CAT6) พบว่าความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน Omada EAP670 สูงกว่าเล็กน้อยและมี Jitter ที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

สรุป

โดยสรุปแล้ว Omada EAP670 จัดเป็น Access Point มาตรฐาน Wi-Fi 6 สมรรถะสูง สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ย่านความถี่ ช่วยให้หลายๆ องค์กรที่ยังใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อ Wi-Fi แบบเก่าที่รองรับเฉพาะย่านความถี่ 2.4 GHz ตัดสินใจอัปเกรดระบบเครือข่ายเป็น Wi-Fi 6 ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ด้าน Wi-Fi แบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับช่องสัญญาณและกำลังส่งโดยอัตโนมัติเพื่อกระจายสัญญาณได้ดีที่สุดและหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวน การขยายช่องสัญญาณสู่ระดับ 160 MHz เพื่อความเร็วที่สูงขึ้น การทำโรมมิ่งอย่างไร้รอยต่อ การวางสถาปัตยกรรมแบบ Mesh รวมไปถึงเทคโนโลยี MU-MIMO และ OFDMA ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานในยุคดิจิทัลที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเป็นจำนวนมากและเน้นการรับส่งข้อมูลมัลติมีเดีย เช่น วิดีโอและเสียง ที่ต้องการอัตราการรับส่งข้อมูลและความเสถียรสูง

Omada EAP670 ยังมาพร้อมกับระบบการพิสูจน์ตัวตนให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย ทั้ง MAC, Pre-shared Key, 802.1X, Web Portal และ Facebook Wi-Fi ทำให้สามารถแยกบริหารจัดการอุปกรณ์ของพนักงาน ลูกค้าหรือผู้ใช้ชั่วคราว รวมไปถึงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แบบเก่าที่ต้องพิสูจน์ตัวตนผ่าน MAC ได้อย่างง่ายดาย สำหรับการบริหารจัดการ สามารถเลือกได้ทั้งแบบ Standalone สำหรับ Home Office หรือ Controller สำหรับธุรกิจ SMB และองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการมาใช้งานได้ฟรี รวมไปถึงต่อยอดไปบริหารจัดการผ่าน Cloud หรือ Mobile App ได้ ทำให้สามารถติดตามการใช้งานระบบ Wi-Fi ได้จากทุกที่ทุกเวลา เหมาะสำหรับการใช้งานทั้งในสถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า โรงแรม ห้องประชุม หรือแม้แต่สำนักงานทั่วไป

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ TP-Link Omada EAP670 AX5400 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3loA55h

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Microsoft ยกเลิกการใช้ 1024-bit RSA Key บน Windows แล้ว

Microsoft ประกาศยกเลิกการใช้กุญแจเข้ารหัส 1024-bit RSA Key บน Windows แล้ว เปลี่ยนไปใช้กุญแจเข้ารหัสความยาว 2048-bit เป็นอย่างน้อย

NVIDIA เปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip

NVIDIA ประกาศเปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip ชิปประมวลผล AI รุ่นใหม่