
มาตรฐาน Wi-Fi เริ่มปรากฎโฉมและถูกใช้งานครั้งแรกในปี 1997 หลังจากนั้นก็ถูกพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา จนมาถึง Wi-Fi 6 ความเร็วระดับ Gbps ที่กำลังจะถูกประกาศเป็นมาตรฐานอย่างเป็นทางการในปี 2020 นี้ บทความนี้จะมาเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นมาตรฐาน Wi-Fi 6 โดย Dr. Osama Aboul Magd จาก Huawei ในฐานะประธานกลุ่มพัฒนามาตรฐาน Wi-Fi 6 (IEEE 802.11ax)

Wi-Fi กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของเรา เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่โปรโตคอล 802.11b ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้น โปรโตคอล Wi-Fi แต่ละเจเนอเรชันหลังจากนั้นก็ได้ถูกปรับปรุงให้มีทั้งความเร็วและ Throughput สูงขึ้นเรื่อยมาเพื่อให้รองรับต่อความต้องการของผู้ใช้ในยุคนั้นๆ และเมื่อเราเดินทางเข้าสู่ยุค Digital Transformation ซึ่งเป็นยุคที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อหากันอย่างมหาศาล รวมไปถึงแนวคิดเรื่องเทคโนโลยี Edge Computing ทำให้มาตรฐาน Wi-Fi ใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านปริมาณทราฟฟิกของผู้ใช้ในอีกมิติหนึ่ง ส่งผลให้กลุ่มนักวิจัย IEEE 802.11 ได้จัดตั้งกลุ่ม High Efficiency WLAN Study Group ขึ้นมา เพื่อศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพของสเปกตรัม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณ Throughput ภายใต้สถานการณ์ที่มีจำนวน AP และผู้ใช้หนาแน่น นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ 802.11ax หรือที่รู้จักกันในนาม Wi-Fi 6 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2014
Dr. Osama Aboul Magd จาก Huawei ได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มพัฒนามาตรฐาน IEEE 802.11ax WLAN ซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่ทีมพัฒนามาตรฐานนั้น Dr. Osama ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานเครือข่าย เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรฐาน Wi-Fi ใหม่ รวมไปถึงการนำไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ Dr. Osama ยังได้อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนชื่อมาตรฐานจาก 802.11ax ไปเป็น Wi-Fi 6 และทำไมถึงควรเริ่มพิจารณาการนำ WI-Fi 6 เข้ามาใช้งาน
“Wi-Fi 6 เป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกโฉมวิธีการที่เราซัพพอร์ตแอปพลิเคชันบนเครือข่าย Wi-Fi ในปัจจุบัน การวางระบบ Wi-Fi 6 จะช่วยสร้างและยกระดับประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้ในสถานการณ์ที่มีการใช้งานหนาแน่น เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน Wi-Fi ยุคก่อนหน้า” — Dr. Osama กล่าว
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ 802.11ax คือการที่ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น และเพิ่ม Throughput ให้แต่ละอุปกรณ์บนเครือข่ายสูงกว่าเดิม 4 เท่าหรือมากกว่านั้น มาตรฐาน 802.11ax ยังถูกคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการใช้ Wi-Fi ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีปริมาณผู้ใช้งานหนาแน่น อย่างสถานที่สาธารณะ เป็นต้น ผ่านการใช้คลื่นสเปกตรัมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารจัดการสัญญาณรบกวน และการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โปรโตคอล เช่น Medium Access Control (MAC) นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้นำ OFDMA ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ใน LTE และมาตรฐาน Wi-Fi ก่อนหน้า เข้ามาใช้ด้วย เพื่อเพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลให้สูงยิ่งขึ้น
ชื่อเดิมของมาตรฐาน Wi-Fi ในแต่ละเจเนอเรชันจะนำหน้าด้วย 802.11 ตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ 1 – 2 ตัวซึ่งไม่ได้เรียงลำดับกันอย่างชัดเจน ทำให้อ่านและจดจำได้ยาก จึงถูกเรียกใหม่ให้เข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม คือ จาก 802.11ax ไปเป็น ‘Wi-Fi 6’ ในขณะที่ 2 มาตรฐานก่อนหน้าก็จะถูกเรียกเป็น ‘Wi-Fi 4’ (802.11n) และ ‘Wi-Fi 5’ (802.11ac) แทน จากชื่อที่เปลี่ยนใหม่นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มาตรฐาน 802.11ax ล่าสุดเป็นเทคโนโลยี Wi-Fi เจเนอเรชันที่ 6 ซึ่งสื่อให้คนทั่วไปเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ คนทั่วไปสามารถมองหาหมายเลขที่ต่อท้ายไอคอน Wi-Fi บนสมาร์ตโฟนเพื่อยืนยันได้ว่าโทรศัพท์ที่ตนใช้งานอยู่รองรับมาตรฐานใด Wi-Fi 4, Wi-Fi 5 หรือ Wi-Fi 6 และเมื่อมองจากมุมของตัวเทคโนโลยีเอง Wi-Fi 6 ไม่ใช่แค่การอัปเกรดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจาก Wi-Fi 5 อย่างง่ายๆ แต่ยังมีการปรับปรุงตั้งแต่รากฐานของมาตรฐานรวมไปถึงคุณสมบัติต่างๆ ในระดับ PHY และ MAC ซึ่งบูรณาการฟีเจอร์ Multi-user MIMO เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Wi-Fi 6 ได้ถูกปรับปรุงให้รองรับการรับส่งข้อมูลพร้อมกันสูงสุดถึง 8 Spatial Streams และเทคนิค Beamfoaming ก็ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับ AP ได้พร้อมๆ กันมากขึ้น ในขณะที่ Throughput ยังอยู่ในระดับสูง
หนึ่งในรูปแบบการใช้งาน Wi-Fi 6 ยอดนิยม คือ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการใช้งานหนาแน่น หรือก็คือมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก เช่น สถานที่สาธารณะอย่างสนามกีฬา ศูนย์การค้า สนามบิน รวมไปถึงห้องประชุม และห้องเรียน Wi-Fi 6 จะแสดงความสามารถแท้จริงออกมาได้เมื่อมีผู้ใช้แอปพลิเคชันที่ต้องการแบนด์วิดท์สูงหรือความหน่วง (Latency) ต่ำปริมาณมหาศาล โดย Wi-Fi 6 ไม่เพียงแต่จะเพิ่ม Throughput ให้เท่านั้น แต่ยังช่วยมอบประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันอันแสนยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันประเภท On-demand Learning และ AR/VR นอกจากนี้ Wi-Fi 6 ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ Target Wait Time (TWT) ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์ IoT ทำให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้นานขึ้นกว่าเดิม
ในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากกว่า 30,000 คน หรือสนามกีฬากลางแจ้งที่มีผู้เข้าชมกว่า 80,000 คน ถ้าผู้คนเหล่านี้พร้อมใจกันเชื่อมต่อ Wi-Fi 5 อาจรองรับไม่ไหว แต่ Wi-Fi 6 สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้โดยการให้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับ AP แต่ละเครื่องพร้อมกันมากขึ้น และเปิดให้อุปกรณ์ข้างเคียงสามารถรับส่งข้อมูลได้พร้อมๆ กัน ตราบเท่าที่สัญญาณรบกวนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้เมื่ออัปเกรดจาก Wi-Fi 5 ไปเป็น Wi-Fi 6 สามารถลดจำนวน AP ที่ใช้ลงได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ลง ที่สำคัญคือ Wi-Fi 6 ยังช่วยผลักดันที่เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ หลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปพลิเคชันมัลติมีเดียที่มาพร้อมกับวิดีโอระดับ UHD หรือ 4K
กล่าวได้ว่า Huawei มีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานและโปรโตคอล Wi-Fi 6 เป็นอย่างมาก นอกจาก Dr. Osama จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มพัฒนามาตรฐานแล้ว ตัวแทนจาก Huawei ยังส่งการสนับสนุนไปยังกลุ่มพัฒนามาตรฐานถึงเกือบ 25% ซึ่งการสนับสนุนส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการจัดทำเอกสารสำหรับมาตรฐาน ทำให้ Huawei เป็นหนึ่งในผู้พัฒนา Wi-Fi 6 รายแรกๆ ของโลก โดยเริ่มพัฒนารุ่นต้นแบบมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2014 และเปิดตัว AP มาตรฐาน Wi-Fi 6 เครื่องแรกในปี 2017
ขณะนี้นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะเริ่มวางแผนการนำ Wi-Fi 6 เข้ามาใช้งาน องค์กรควรหันกลับไปดูกลยุทธ์การทำ Digital Transformation ของตนและประเมินว่าควรจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบ IT อย่างไรให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว CIO และ IT Manager จำเป็นต้องเริ่มพิจารณาการอัปเกรดระบบเครือข่ายไปสู่ Wi-Fi 6 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นในอนาคต ปัจจุบันนี้ มีผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และชิปประมวลผลมากมายที่เริ่มให้บริการโซลูชันสำหรับ Wi-Fi 6 ปี 2019 ที่ผ่านมาจึงเป็นปีที่หลายองค์กรเริ่มประเมินและวางกลยุทธ์ทางด้าน Wi-Fi ใหม่ และเตรียมวางแผนนำ Wi-Fi 6 เข้ามาใช้เพื่อตอบรับความท้าทายในการพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล
ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Wi-Fi 6 ได้จากวิดีโอ Webinar ด้านล่าง บรรยายโดยคุณประยุทธ์ ตั้งสงบ IP CTO และคุณกิติพงษ์ ธาราศิริสกุล CTO จาก Huawei Enterprise Thailand