เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา Furukawa Electric ผู้ผลิตสายสื่อสารชั้นนำได้จัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางของเทคโนโลยีในดาต้าเซ็นเตอร์และการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 400G ณ โอกาสนี้ทีมงาน TechTalkThai จึงรวบรวมประเด็นสำคัญสรุปไว้ในบทความนี้ครับ
ทิศทางของเทคโนโลยีในดาต้าเซ็นเตอร์ของปี 2022
- การกระจายการทำงานจะเพิ่มมากขึ้น แทนการทำงานแบบรวมศูนย์แบบเก่า
- ด้วยปัญหาของสภาพภูมิอากาศของโลก ผู้นำเทคโนโลยีและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีที่สร้างมลภาวะน้อยที่สุด หรืออายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ใช้ พลังงานต่ำ
- สามารถรองรับการขยายตัวให้บริการได้สูง เนื่องจากการเติบโตของชุมชนดิจิทัลนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น
- เพื่อลดภาระงานของผู้ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์การเชื่อมต่อภายในดาต้าเซ็นเตอร์อย่างอัตโนมัติ (Automated Infrastructure Management) เพราะการหยุดชะงักของดาต้าเซ็นเตอร์อาจก่อมูลค่าความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง
เมื่อพูดถึงปัญหาเก่าๆที่เกิดขึ้นในดาต้าเซนเตอร์ในการทำงานแบบเดิมๆ มักพบปัญหา 3 ประการ โดยเรื่องใหญ่ที่สุดคือกว่าครึ่งนั้นมักเผชิญกับเรื่อง Security ซึ่งไม่สามารถติดตามได้ว่า Physical Port ถูกเข้าถึงอย่างไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการเปลี่ยนพอร์ต
ประการที่สอง การบริหารจัดการจากทางไกลยิ่งในยุคสภาวะโรคระบาดเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการเข้าหน้างานจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ประการสุดท้ายคือเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งในยุคสมัยที่มีการผสมผสานอุปกรณ์ทุกประเภท (IP Phone, Camera, Computer) เข้าในเครือข่ายเดียวกัน ยิ่งสร้างอุปสรรคในการติดตาม เช่น อุปกรณ์อยู่ที่ตำแหน่งใด จะทำอย่างไรให้ Physical Layer สามารถดำเนินงานได้อัตโนมัติ การจัดทำเอกสารได้อย่างถูกต้อง และอื่นๆ
และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของซอฟต์แวร์เพื่อให้ Physical Layer สามารถปฏิบัติงานได้อย่างอัตโนมัติที่เรียกว่า AIM โดยในส่วนของ Furukawa ได้นำเสนอผ่านทางโซลูชันที่ชื่อว่า DataWave ซึ่งพัฒนาขึ้นตามมาตรฐานสากลอย่าง TIA 5048, ISO/IEC 18598 ไอเดียของซอฟต์แวร์ก็คือการมอนิเตอร์การเชื่อมต่อภายในดาต้าเซ็นเตอร์
DataWave อาศัยเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) เพื่อติดตามการทำงาน โดยโซลูชันมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ
1.) Hardware

Controller ที่เป็นฮาร์ดแวร์สำหรับประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมาจากปลายทาง โดยมีให้เลือกในขนาด 1U และ 2U ซึ่งรองรับการเชื่อมต่อกับ Patch Panel หรือ Cassette ได้สูงสุด 48 ตัว ในปลายทาง Patch Panel ที่รองรับกับหัวประเภท CAT6, CAT6A และ RJ45 หรือ Cassette จะประกบเข้ากับโมดูลที่มีหัวรับสัญญาน NFC (เสมือนเป็นเซนเซอร์) เพื่อรับข้อมูลไปวิเคราะห์


2.) Passive Component
Furukawa นั้นได้ออกแบบ Patch Cord มาสำหรับทำงานกับโซลูชันนี้ได้ทันที เนื่องจากมีส่วน NFC ที่พร้อมใช้งานแล้ว แต่ถ้าลูกค้าที่ยังใช้สายแบบเก่าแต่ต้องการใช้ DataWave เพียงแค่นำ Clip ไปประกบกับ Patch Cord เดิมก็สามารถทำงานได้เช่นกัน


3.) Software
เป้าหมายสำคัญของโซลูชัน DataWave ก็คือการพัฒนาให้ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถติดตาม Physical Layer ได้ เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน และจัดทำรายงานได้อย่างมั่นใจ กล่าวได้ว่าเป็นการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง ในตัวโซลูชันเองมีความสามารถแสดงผลแบบ 3D ให้ผู้ใช้งานเห็นได้ว่าอุปกรณ์ Patch Panel หรือ Cassette นี้ติดอยู่ตำแหน่งใด มีจำนวนเท่าไหร่ พอร์ตไหนไม่ถูกใช้งานจำนวนเท่าไหร่ นอกจากนี้ตัวโปรแกรมยังมีการเก็บ Log และจำกัดเลเวลของการเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้เองผู้ใช้งาน DataWave จึงมั่นใจได้ว่าการปฏิบัติงานของท่านจะมีศักยภาพมากขึ้น ข้อผิดพลาดน้อยลง และตอบคำถามต่างๆได้อย่างมั่นใจ

แนวทางการเดินทางสู่ 400G
จากการเติบโตของข้อมูลในแต่ละปีเห็นได้ชัดว่ามีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น จากความต้องการรอบด้านทั้งแอปพลิเคชสตรีมมิง เกม คลาวด์ การประชุมผ่านวีดีโอ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ IoT ที่ให้กำเนิดข้อมูลจากรอบทิศทาง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ องค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของตน ให้รองรับกับการเคลื่อนไหวของข้อมูลเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การก้าวสู่เทคโนโลยี 400G จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมกันนี้เทคโนโลยี Fiber ยังรองรับกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อีกนานตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยี 400G นั้นมีความซับซ้อนในแง่มุมต่างๆ ที่องค์กรอาจคาดไม่ถึง ทำให้ Furukawa ผู้ให้บริการและผู้ผลิตสายใยแก้ว จึงได้ออกโซลูชันที่ชื่อว่า 400G Ready เพื่อให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าองค์กรผู้สนใจก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเครือข่าย

Furukawa ได้นำเสนอบริการอย่างครบวงจรใน 3 ด้าน เริ่มจากบริการให้คำปรึกษา (Consulting) จากทีมงานมืออาชีพ ซึ่งทีมงานสามารถเข้าไปช่วยองค์กรประเมินเบื้องต้นได้ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันหากต้องการไปสู่ 400G จะต้องมีการปรับปรุงอย่างไรบ้างจัดทำเป็น BOQ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มี รวมถึงทีมงานยังมีบริการติดตามประสิทธิภาพยาวนานถึง 5 ปี
การทำงานระดับองค์กรควรยึดทางแนวทางมาตรฐาน ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เอง Furukawa จึงมีการจัดอบรมลูกค้าเพื่อให้รับทราบข้อปฏิบัติและวิธีการนำไปใช้จริงในองค์กร พร้อมกันนี้ยังสามารถรับประกันอุปกรณ์ในโครงการยาวนานถึง 25 ปี เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าการทำงานของท่านจะไม่สะดุดลงในอนาคตอีกด้วย
นำเสนอเทคโนโลยีที่เรียบง่าย ยืดหยุ่น และคุณภาพสูง โดย Furukawa คือผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างครบวงจรตั้งแต่สายใยแก้วที่ถูกพัฒนาจนได้สิทธิบัตรสำหรับ OM4 และ OM5 ของตัวเอง ไปจนถึง MPO, ระบบราง, หัวเชื่อมต่อสาย, ตู้อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานอัตโนมัติ (AIM) ซึ่งออกแบบมาสำหรับการทำงานทั้งใน Hyperscale Datacenter และ Enterprise Datacenter นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เรียกได้ว่าครบจบที่เดียวสำหรับการให้บริการเครือข่ายในดาต้าเซ็นเตอร์
หากท่านใดสนใจโซลูชัน 400G และ DataWave ต้องการคำปรึกษาแนะนำในเรื่องการออกแบบ ติดตั้ง เสนอราคา หรือข้อมูลอื่นๆในเชิงลึก สามารถติดต่อทีมงาน Furukawa Electric ได้ที่ https://lin.ee/cARPJtc