เริ่มต้นการลงทุนอย่างชาญฉลาดด้วยโซลูชัน 400G Ready และ Passive Optical LAN จาก Furukawa Electric

เมื่อข้อมูลเปรียบเสมือนแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ ทุกองค์กรต่างหวังที่ทำให้เครือข่ายรองรับกับการเคลื่อนผ่านของข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้นคำถามคือองค์กรควรจะเลือกลงทุนอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์แห่งอนาคต เมื่อลงทุนแล้วเทคโนโลยีนั้นจะสามารถอยู่กับเราไปได้ยาวนานแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้นทาง Furukawa Electric ผู้ผลิตสายสื่อสารชั้นนำจึงได้จัดสัมมนาให้ผู้สนใจทุกท่านฟังในหัวข้อ “การลงทุนอย่างอย่างชาญฉลาดใน Copper & Fiber เพื่อตอบโจทย์เครือข่ายสำหรับอนาคต” ซึ่งทีมงาน TechTalkThai ได้รวบรวมเอาประเด็นสำคัญมาให้ท่านได้ติดตามกันอีกครั้งครับ

รู้จักกับ Furukawa Electric

Furukawa Electric เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีประวัติการก่อตั้งยาวนานถึง 130 ปี ปัจจุบัน Furukawa Electric มีส่วนธุรกิจหลากหลายประเภทเช่น Telecommunication, Metals, Energy & Industrial, Light Metals, Automotive Systems and Electronics และธุรกิจให้บริการ โดยภายใต้ส่วนของ Furukawa Connectivity System (FCS) ที่เราจะแนะนำในวันนี้มีการให้บริการลูกค้าต่างๆ ใน 5 ทวีป

สำหรับประเทศไทยเอง Furukawa มีบริษัทในเครือกว่า 13 บริษัทเช่น โรงงานผลิตเครื่อง Fusion Splice ยี่ห้อ FITEL ภายใต้ชื่อ Furukawa FITEL Thailand, โรงงานผลิตสาย Fiber Optic ภายใต้ชื่อ Thai Fiber Optics ตั้งขึ้นในปี 1997 เพื่อผลิตสายไฟเบอร์ให้ผู้ให้บริการนับแต่นั้น เป็นต้น ในความเชี่ยวชาญของบริษัทกล่าวได้ว่า Furukawa เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ผลิตใยแก้วนำแสงเอง และเป็นบริษัทแรกในโลกที่นำเอา Fiber Optic มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงมีสิทธิบัตรในการพัฒนาประสิทธิภาพการส่งสัญญาณในสายประเภท OM3 และ OM4

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์งาน Communication ทาง Furukawa มีการตั้งโรงงานแห่งแรกในประเทศบราซิล ซึ่งจนปัจจุบันถือครองสัดส่วนตลาดสายสื่อสารเป็นอันดับ 1 หรือมากกว่า 30% ในฝั่งลาตินอเมริกา สำหรับในประเทศไทยเอง FCS ทำตลาดครั้งแรกราวปี 2015 จนถึงปัจจุบันมีลูกค้าในหลากหลายประเภทธุรกิจที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของ Furukawa ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษาและสำนักงาน เป็นต้น

ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี 400G

จากรายงานต่างๆชี้ว่าข้อมูลทั่วโลกเติบโตกว่าปีละ 30% ทั้งนี้เทคโนโลยี 5G กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อรับข้อมูลจากอุปกรณ์ทั้งหลายเช่น มือถือ อุปกรณ์ IoT และภาพยนต์ระดับ 4K ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความต้องการเครือข่ายความเร็วสูงกำลังก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้เองพัฒนาการของสายเชื่อมต่อก็ต้องเพิ่มขึ้นให้สนับสนุนความต้องการดังกล่าวจากระดับ Gigabit สู่ Terabit หรือล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในท้องตลาดก็คือ 400G

Credit: ShutterStock.com

400G หรือ 400 GbE (Ethernet Interface) หรือ 400 Gb/s (Speed) ทั้งหมดนี้ก็คือมาตรฐาน 802.3bs ที่กำหนดเรื่องสเป็คของ Physical Layer, Management Parameter และ MAC ให้ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดีหากพูดความโดดเด่นเหนือกว่าเทคโนโลยีเก่าอย่าง 100G ประการแรก 400G ให้เร็วกว่าเดิมถึง 4 เท่าในสายเส้นเดียว นำไปสู่ข้อดีประการที่สองคือการลดต้นทุน เพราะสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าเดิมด้วยการใช้ไฟน้อยลง ซึ่งหากเราทำการมัดรวม (Link aggregation) 100G 4 เส้น ก็ยังใช้ไฟมากกว่าเส้นเดียว นอกจากนี้ยังต้องใช้สายเพิ่มถึง 4 เท่าตัวด้วย

ลองจินตนาการว่าหัวเสียบ Switch หรือ Router 1 พอร์ตสามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 400 Gb/s จากเดิมที่จำกัดแค่ 100 Gb/s หรือการทำ Aggregation 4 พอร์ตถึงจะได้ความเร็วเท่ากัน คงพอจะนึกออกได้ว่าจะประหยัดการใช้สายได้มากขนาดไหน ยิ่งหากเป็นดาต้าเซนเตอร์ขนาดใหญ่ จะเพิ่มประสิทธิภาพได้เท่าไหร่ อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนไปใช้ 400G มีปัจจัยและความท้าทายมากมายที่ผู้สนใจควรทราบ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากที่องค์กรทั่วไปจะประเมินได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง คุ้มค่ากับความต้องการหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง Furukawa Electric จึงได้นำเสนอบริการที่ชื่อ 400 Ready

400G Ready โดย Furukawa Electric

ความท้าทายสำหรับการเปลี่ยนสู่ 400G นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะองค์กรจะต้องประสบกับความท้าทายหลายด้าน สำหรับมาตรฐาน 802.3bs จะต่างจากมาตรฐานของ 10G/40G/100G ทั้งเรื่อง PAM4 (เทคนิคการทำ Modulation ที่สามารถส่งข้อมูลขนาด 2 บิตใน 1 สัญญาณนาฬิกา), วิธีการ Decode/Encode สัญญาณดิจิทัล, วิธีการวัดและทดสอบคุณภาพ และการประมวลผลที่เปลี่ยนไป

นั่นหมายความว่าทั้งระบบจะต้องรองรับได้ โดยระบบที่ว่าประกอบด้วย 1. หัวเชื่อมต่อสายสัญญาณ 2. สายสัญญาณ Fiber Optics ประเภทต่างๆ ทั้ง Single/Multi Mode 3.ตัวรับแสงคุณภาพสูง 4.อุปกรณ์เครือข่าย Switch และ Router 5.วิธีการบริหารจัดการสาย Fiber 6.ทักษะของผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานใหม่ ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมตัวแปรในความต้องการอื่นๆ ว่าแต่ละองค์กรมีจุดประสงค์หรือสถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ Furukawa จึงได้นำเสนอโปรแกรมสุดพิเศษ ที่จะช่วยลูกค้าเตรียมความพร้อมภายใต้โปรแกรม ‘400G Ready’ โดยนำเสนอโซลูชันใน 3 ด้านคือ

1.) Consulting

อย่างที่ทราบแล้วว่าการเปลี่ยนสู่ 400G มีความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นบริษัทในโปรแกรมนี้ทาง FCS มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเพื่อประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร มีอุปกรณ์ใดที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง พร้อมกับจัดทำ BOQ เพื่อประเมินค่าใช้จ่าย ให้องค์กรได้ทราบถึงงบประมาณที่เกิดขึ้น และสำคัญที่สุดลูกค้าจะได้รับการออกแบบที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ

เมื่องานเสร็จสมบูรณ์แล้ว Furukawa จะออกตรา ‘400G Ready’ ที่บอกว่าดาต้าเซ็นเตอร์ของท่านพร้อมแล้ว นอกจากนี้หลังการติดตั้งทีมงานยังสามารถ On-site Support เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพรายปีว่าเป็นอย่างไรยาวนานถึง 5 ปี

2.) Safety

ความปลอดภัยของระบบถือเป็นสิ่งที่องค์กรควรจัดลำดับไว้สูงสุด เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาในขณะใช้งาน มูลค่าความเสียหายอาจกระทบในหลายส่วนที่มากกว่าเชิงตัวเลข ด้วยเหตุนี้เองหัวใจสำคัญคือการสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่ง Furukawa มีการจัดอบรมให้ลูกค้า ให้ทีมงานสามารถทำงานได้ตามข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด

แม้ทีมงานจะปฏิบัติได้ดีแล้วแต่เพื่อเป็นความมั่นใจ Furukawa สามารถ On-site เข้าช่วยตรวจสอบได้ว่าการติดตั้ง เกิดขึ้นถูกต้องจริงหรือไม่ และเมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังมีการรับประกันสูงสุดได้ถึง 25 ปี ในทุกโซลูชันทั้ง Fiber หรือ Copper นอกจากนี้ Furukawa ยังมีสต็อกสำหรับโปรเจ็คโดยเฉพาะเพื่อให้ความมั่นใจว่าระหว่างการ Implement ว่าจะไร้ปัญหาเรื่องการไม่มีของเพียงพอ

3.) Technology

ในกลุ่มเทคโนโลยี 400G Furukawa มีพัฒนาการของเทคโนโลยีมาตลอดต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์อย่างยาวนานในสายสื่อสาร และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทยังเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ที่สามารถผลิตสายสัญญาณ Fiber แบบ Multi-mode ชนิด OM5 ขึ้นมาเพื่อรองรับ 400G รวมไปถึงอุปกรณ์เกี่ยวข้องอื่นๆเช่น Trunk cable, Patch Panel, จุดเชื่อมต่อแบบ High Density และแพลตฟอร์ม Datawave ที่ช่วยให้การทำงานได้อัตโนมัติ ไม่ว่าจะใช้วางแผน ควบคุมหรือลดการ Downtime สำหรับในประเภทที่นำเสนอแบ่งได้ดังนี้

  • Hyperscale Datacenter 

Hyperscale หมายถึงดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่มาก มีจำนวนของเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 5,000 ตัวขึ้นไป ซึ่งตรงนี้เองหมายถึงการที่จะมีปริมาณสายเชื่อมต่อมหาศาล มีตู้เก็บสายหรือการลากสายเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ดังนั้นเรื่องของพื้นที่จึงเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญ เป็นที่มาของเทคโนโลยีที่ชื่อ High Fiber Counts หรือการที่มีคอร์ใยแก้วจำนวนมากอัดแน่นอยู่ภายในสายเคเบิ้ลเส้นเดียว เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการนำส่งสัญญาณ สำหรับ Furukawa เองปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถแพ็คคอร์ไว้ได้สูงสุดถึง 6,912 คอร์ 

เมื่อ Fiber เพิ่มขึ้นตัว Infrastructure ก็ต้องรองรับด้วย โดยความแตกต่างกับดาต้าเซ็นเตอร์ธรรมดานั่นคือ Furukawa นำเสนอโซลูชันที่เรียกว่า Ultra High Density ซึ่งใน 1 ยูนิตจะสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ถึง 144 พอร์ต นั่นหมายความว่า 1 ตู้จะรองรับได้ถึง 5,760 พอร์ตนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ช่วยจัดเก็บสายเสริมในแนวตั้งทำให้การโค้งงอของ Fiber เป็นไปตามมาตรฐาน 

  • Enterprise Datacenter

ในงานระดับ Datacenter ขององค์กรมีการจัดกลุ่มของผลิตภัณฑ์ตามโซนเป็น 3 ส่วนคือ Zone Distribution Area, Main Distribution Area และ Equipment Distribution Area โดยมีโซลูชันดังนี้

  • HDX Optical Solution – ถาดรองรับแบบสไลด์ลูกปืน ในขนาด 1 ยูนิตสามารถรองรับสาย Fiber ได้สูงสุด 144 สายและถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ในรูปแบบการต่อในลักษณะ Plug & Play ช่วยจัดพื้นที่ให้ดูแลสายได้ง่าย มีระบบล็อกปิด นอกจากนี้ยังมีให้เลือกในรูปแบบ Patch Panel ด้วย
  • HDX Cassette – ด้านหลังเชื่อมต่อด้วย MPO Connector Type B ซึ่งได้ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องทำ Fusion Spice หรือกังวลในเรื่องของ Key up หรือ Key Down
  • HDX Connector Box – ในส่วน Zone Distribution Area โซลูชันของ Connection Box สามารถเชื่อมต่อกับ Cassette ได้เพื่อนำไปติดตั้งบนราง Fiber Tray หรือ Fiber Runner รวมไปถึงใต้พื้นยกสูงของ Datacenter ก็ได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าลูกค้ามีทางเลือกอย่างหลากหลาย  ตอบโจทย์ความยืดหยุ่น
  • OM5 – สายชนิดใหม่นี้ทำงานบนเทคโนโลยี Wideband Multimode Fiber (WBMMF) หรือการที่สามารถรองรับช่วงคลื่นแสงได้ถึง 8 ช่วง 
  • Universal MPO – สายประเภท MPO ต้องใช้ทักษะในการปฏิบัติงานสาเหตุเพราะ Connector 1 หัวบรรจุคอร์ไว้ถึง 12 คอร์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะต่อคอร์เหล่านั้นให้เข้ากันสนิท ผลิตภัณฑ์จึงได้มีการนำทางความถูกต้องด้วย Pin 2 ประเภท (Male และ Female) นอกจากนี้ยังมีความถูกต้องของเรื่องขั้วส่งรับ (TX/RX) ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจและระมัดระวังในการเลือกใช้ โดย Furukawa จึงได้นำเสนอ Universal MPO ที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถแปลง Pin และขั้วได้ตามต้องการ
  • LGX ODF/Cassette – ถาดรองรับแบบสไลด์ลูกปืน ในขนาด 1 ยูนิตสามารถรองรับสาย Fiber ได้สูงสุด 72 สาย ความโดดเด่นคือ Cassette ได้ถูกออกแบบมาให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้อง Splice เมื่อทำการเชื่อมต่อ พร้อมการเสียบสายด้านหลังแบบ Plug & Play

นอกจากนี้ Furukawa ยังมีโซลูชันอื่นๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อใช้งานทุกองค์ประกอบเช่น Low Loss Patch Cord หรือแม้แต่เครื่องมือทำความสะอาด ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ตามมาตรฐานและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ามีทุกอย่างครบจบในที่เดียวนั่นเอง

ในส่วนของ Copper เองปัจจุบันความนิยมยังอยู่ที่ CAT6A เพราะยังตอบโจทย์เรื่องงบลงทุน แต่ในกรณี CAT7 หรือ 8 ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เมื่อเทียบกับการลงทุนใน Fiber จะคุ้มค่ามากกว่า อย่างไรก็ดี Furukawa ได้นำเสนอโซลูชันในลักษณะ Shield ทั้งหมด ที่มีความสามารถทนความร้อนสูงและไม่สร้างควันพิษกรณีที่เกิดอัคคีภัยในดาต้าเซ็นเตอร์ รวมไปถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเช่น Modular Jack, อุปกรณ์เข้าหัว, Patch cord และ Patch Panel ที่รองรับการเชื่อมต่อได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถสั่งผลิตตู้แร็กได้ตามความต้องการ

Passive Optical LAN

เทคโนโลยี Passive Optical LAN(POL) นั้นเกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ขอบเขตของ Passive Optical Network(PON) ที่นำมาใช้กันในบริการ Fiber to home ที่ทุกท่านคงคุ้นเคยกันดี โดยคำว่า Passive หมายถึงนอกจากจุดส่งสัญญาณและจุดรับสัญญาณปลายทางแล้ว ระหว่างทางไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า สาเหตุเพราะส่งสัญญาณในรูปแบบแสงนั่นเอง ไม่ใช่บนสายทองแดงอย่างที่แล้วมา โดยหัวใจสำคัญที่ PON เกิดขึ้นก็คือเรื่องของ Point to Multi-point จึงสามารถลดต้นทุนและผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงได้อย่างกว้างขวาง ไม่เหมือนกับการเชื่อมต่อแบบ Point to Point 

ในเทคโนโลยี PON หรือ POL มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วนคือ 

  • Optical Line Terminal (OLT) – เป็นตัวควบคุมการส่งข้อมูลหลักของระบบการส่งข้อมูล อาจะมองว่าเป็นตัว Core Switch โดยหากดูจากตำแหน่งในรูปจะเห็นได้ว่า OLT คือตัวที่เชื่อมต่ออยู่กับเราเตอร์หลักขององค์กร
  • Splitter – อุปกรณ์กระจายสัญญาณ โดยภายในมีการใช้กลไกการประดิษฐ์พิเศษที่สามารถกระจายแสงจากต้นทางไปยังปลายทางได้หลายทาง แต่ก็จะมี Loss เกิดขึ้นจากขั้นตอนนี้ ซึ่ง Splitter ยังเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าด้วย
  • Optical network terminal (ONT) – อุปกรณ์ปลายทางที่สามารถแปลงข้อมูลในรูปแบบของแสงไปเป็นสัญญาณดิจิทัลส่งผ่าน Ethernet Interface ในรูปแบบที่เราเคยใช้ หรือก็คือตามบ้านที่ใช้ Fiber ทางผู้ให้บริการก็จะนำอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่รับการเชื่อมต่อจาก Fiber และมีฟังก์ชันรองรับการเชื่อมต่อปกติเช่น Wi-Fi สายแสน หรือ PoE

ในส่วนของ POL คือการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ใน LAN เช่น อาคาร สำนักงาน โรงงาน เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติการเชื่อมต่อในรูปแบบที่คุ้มค่าและให้ประโยชน์ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

1.) ก้าวพ้นจากกฏ 100 เมตร

ความจริงอันน่าเจ็บปวดของผู้ใช้งาน Copper คือการถูกจำกัดด้วยกฏ 100 เมตรเสมอมา ด้วยความเป็นจริงในโลกของฟิสิกส์คือหากเราส่งข้อมูลในสายที่ไกลกว่านี้ ข้อมูลจะสูญหายหรือถูกรบกวนจนอยู่ในระดับที่เกินรับได้ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อลากสายยาวได้ระดับหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อทำการขยายระยะทางด้วย Switch หรือเราเตอร์ ลองจินตนากการว่าในระดับดาต้าเซนเตอร์หรือ โรงงาน หรืออาคาร คุณลงทุนกับข้อจำกัดนี้มานานเท่าไหร่แล้ว?

แต่ปัญหานี้กำลังจะจบลงเพราะในเทคโนโลยีของ Fiber ซึ่งมีความสามารถในการส่งได้ไกลกว่า โดย PON หรือ POL ได้อาศัย Single Mode Fiber ที่มีระยะการส่งข้อมูลตั้งแต่ระดับหลายร้อยเมตรจนถึง 20  กิโลเมตรให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากข้อมูลแสงไม่ได้รับผลกระทบจากสัญญาณรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์รอบๆด้วย 

2.) รักษ์โลกมากขึ้น 

ด้วยกฏ 100 เมตรนั้นเองยังส่งผลกระทบไปถึงการเพิ่มปริมาณสาย ในเรื่องของความยาว ส่วนในเรื่องของจำนวนเมื่อเป็นลักษณะของ Point to Point ก็ต้องมีการทวีคูณตามความต้องการจาก Core ไปยัง Distribute Zone เพิ่มขึ้น แต่หากเป็น POL การเดินสายของท่านจะลดลงไปอย่างมาก ลองคิดดูว่าวัสดุสายทองแดงน้ำหนักเท่าไหร่ที่จะสามารถลดลงไปได้ รวมไปถึงรางของสาย จุดเชื่อมต่อ หรือการบริหารจัดการสายต่างๆ 

3.) คุ้มค่า ลดต้นทุน 

ลองคำนวณดูว่าที่ผ่านมาองค์กรของท่านต้องเสียเงินจัดซื้ออุปกรณ์ Distribution Switch ไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ ไม่เพียงแค่ต้องลงทุนกับอุปกรณ์ แต่สิ่งที่ตามมาคือค่าไฟของอุปกรณ์ และค่าเครื่องปรับอากาศที่ต้องดูแลให้ไม่ร้อนจนเกินไป ค่าเสียเวลาของทีมงานที่ต้องมา MA หรือแก้ปัญหาเหล่านี้อีก ไม่เพียงเท่านั้นยังเสียพื้นที่ใช้สอยอาจจะเป็นห้องเล็กๆในแต่ละชั้นเพื่อแยกการจัดวางอุปกรณ์เหล่านี้

จุดนี้เองถือเป็นหัวใจสำคัญในโซลูชัน POL เลยก็ว่าได้เพราะเป็นการลดต้นทุนที่เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน โดยอุปกรณ์ Splitter และสายใยแก้วไม่จำเป็นต้องอาศัยไฟฟ้า ตัว Splitter เองจึงสามารถยึดกับพนังหรือจุดใดตามที่ท่านสะดวกได้ง่ายๆ อีกทั้งอุปกรณ์เองมีระยะการใช้งานที่ยาวนานนับ 10 ปี ไม่ต้องมาคอยดูแลมากมายเหมือนกับระบบเดิมๆ 

4.) รองรับอนาคต

Fiber ถือเป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูสู่โลกอนาคต จากระบบ Gigabit สู่ Terabit นั่นหมายความว่าท่านจะสามารถรองรับความต้องการของข้อมูลได้อีกยาวนาน เพราะสุดท้ายแล้วเทรนด์ของเทคโนโลยีก็จะบีบให้ท่านปรับตัวในท้ายที่สุด ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากท่านเริ่มลงทุนเพื่อรับกับศักยภาพอันมหาศาลตั้งแต่เนิ่นๆ

5.) รองรับอุปกรณ์ปลายทางแบบเดิม

นอกจากการเปลี่ยนแปลงระบบส่วนกลางแล้ว ผู้ใช้งานปลายทางก็ไม่ได้กระทบแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วตัว ONT สามารถให้ประสบการณ์การเชื่อมต่อได้เช่นเดิมไม่ว่าจะเป็น VLAN หรือ Wi-Fi แม้กระทั่งในด้าน Security ซึ่ง ONT จะมีการซิงค์โครไนซ์การเชื่อมต่อกับ OLT เท่านั้น

Furukawa Laserway

Furukawa เองก็มีโซลูชันในส่วนของ Passive Optical LAN ที่ชื่อ Laserway สำหรับลูกค้าองค์กรเช่น อาคาร สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน เป็นต้น โดยอุปกรณ์ที่มีให้เลือกสรรครบถ้วนตั้งแต่ OLT, Patch Panel Splitter, Trunk cable, Connection Box, Fiber Patch Cord, Fiber Cable, ONT, ONT PoE เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ Laserway Manager ที่ช่วยให้ท่านสามารถบริหารจัดการคอนฟิคอุปกรณ์ต่างๆได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยนำพาให้ POL เกิดขึ้นได้จริงตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง 

ในบางอาคารสถานที่มักจะมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์ที่จะนำมาติดตั้งต้องมีมาตรฐาน ซึ่ง Furukawa ได้ปฏิบัติตามาตรฐานสากลอย่าง ANSI หรือ TIA ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าท่านจะสามารถริเริ่มโซลูชัน Laserway ได้อย่างมั่นใจ พร้อมกับบริการดูแล 24/7 หรือ On-site Support จากทีมงานมืออาชีพ ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพ ท่านยังสามารถขยายระยะเวลาการดูแลได้สูงสุดถึง 25 ปี ครอบคลุมทั้งโซลูชันในส่วนของอุปกรณ์ Passive

หากท่านใดสนใจโซลูชัน 400G และ Laserway ต้องการคำปรึกษาแนะนำในเรื่องการออกแบบ ติดตั้ง เสนอราคา หรือข้อมูลอื่นๆในเชิงลึก สามารถติดต่อทีมงาน Furukawa Electric ได้ที่ https://lin.ee/cARPJtc

“เมื่อโลกเปลี่ยนแล้ว ทำไมท่านจึงไม่เปลี่ยน ลงทุนในเครือข่ายที่รองรับอนาคตกับ Furukawa Electric

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Foxconn ร่วมมือกับ NVIDIA สร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ที่เร็วที่สุดในไต้หวัน

Foxconn จับมือ NVIDIA สร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ทรงพลังที่สุดในไต้หวัน คาดเริ่มใช้งานปี 2025

Microsoft ยุติการสนับสนุน Windows 11 รุ่น 22H2 สำหรับ Home และ Pro

Microsoft ยุติการสนับสนุน Windows 11 รุ่น 22H2 สำหรับ Home และ Pro พร้อมเริ่มอัปเกรดอัตโนมัติเป็น Windows 11 2024 Update