รู้จักกับเทคโนโลยี Passive Optical LAN จาก Furukawa Electric

เทคโนโลยีด้านเครือข่ายใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาล อีกทั้งในหลายแอปพลิเคชันยังต้องการ Latency ที่ต่ำควบคู่กัน ดังที่เราจะได้เห็นแล้วจากการมาถึงของ 5G, WiFi 6 หรือ 400G ในขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนกลับมาในขอบเขตของ LAN ปัจจุบันยังมีองค์กรอีกมากมายที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความเร็ว รวมถึงการลงทุนในแต่ละครั้งยังซื้อเวลาไปได้ไม่ไกลนักเพราะสุดท้ายก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆได้

ด้วยเหตุนี้เองในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทาง Furukawa Electric ผู้ผลิตและให้บริการโซลูชันสายสื่อสายอย่างครบวงจร จึงได้จัดงานสัมมนาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเทคโนโลยีใหม่หรือ Passive Optical LAN ซึ่งกำลังก้าวเข้ามาในระบบ LAN ขององค์กรทั่วโลก รวมถึงได้นำเสนอโซลูชันเรือธงของตนในเทคโนโลยีนี้ที่ชื่อ Laserway (เลเซอร์เวย์) โดยทีมงาน TechTalkThai ได้สรุปเนื้อหาสำคัญและประเด็นต่างๆมาให้ได้ติดตามกันครับ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าต่อจากนี้โลกกำลังเผชิญกับการท่วมท้นของข้อมูล ด้วยเหตุนี้เองเรียกได้ว่าความต้องการระบบเครือข่ายความเร็วสูงนับวันมีแต่จะมากขึ้น แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีไร้สายกำเนิดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น 5G และ WiFi6 แต่ระบบ LAN ก็ยังจำเป็นโดยเฉพาะภายในองค์กร อย่างไรก็ดีเรายังพบเห็นกันทั่วไปว่า มีองค์กรจำนวนมากยังพึ่งพาการเชื่อมต่อด้วยสายทองแดงอยู่ ซึ่งแม้ตัวเราเตอร์หรือ Switch จะมีความสามารถประมวลผลได้สูงขึ้น สายทองแดงจึงกลายเป็นข้อจำกัดเพราะไม่สามารถนำส่งข้อมูลได้ด้วยประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับไฟเบอร์ออปติก ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าเช่น

  • รองรับ Bandwidth ได้สูงกว่า
  • รองรับการรับส่งข้อมูลที่ระยะไกลกว่าเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสัญญาณรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อีกทั้งรองรับเทคโลโลยีในอนาคต ด้วยการนำ Single Mode Fiber มาใช้ ทำให้สามารถรองรับ Bandwidth ได้ในระดับ 100 Tbps ทำให้ศักยภาพนั้นเพิ่มมากขึ้น
  • ต้นทุนในการทำงานถูกกว่า
  • มีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับสายทองแดง

รู้จักกับ Passive Optical LAN (POL)

BICSI ได้ให้คำจัดความของเทคโนโลยี Passive Optical LAN ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Point to Multi-point ซึ่งจะมีอุปกรณ์ Splitter ช่วยกระจายสัญญาณไปยังหลายปลายทางได้ ทั้งนี้อุปกรณ์ Splitter ไม่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด

Passive Optical LAN ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่มากมายอะไรแล้วในปัจจุบันเพราะหลาย Vendor ด้านเครือข่ายได้เข้ารุกตลาดนี้แล้ว โดยหากเจาะลึกให้เห็นภาพขึ้นง่ายๆ กล่าวได้ว่า POL คือการนำเอาเทคโนโลยี Passive Optical Network (PON) ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตบ้านทุกวันนี้ มาใช้ในระดับองค์กรเพื่อทดแทนการใช้งานสายทองแดง ทลายข้อจำกัดเดิม รับเอาข้อดีจากระบบไฟเบอร์ออปติก

POL vs Ethernet Lan

Credit : Furukawa

จากภาพเปรียบเทียบระหว่าง Traditional Network หรือ Ethernet แบบเดิมจะเห็นได้ว่า การเชื่อมต่อระหว่างทางของ Ethernet จะถูกแทนที่ด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ตัวคือ OLT, Splitter และ ONT (จะอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป) ส่วนสายทองแดงก็จะเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ออปติก ซึ่งความโดดเด่นของ POL เทียบกับระบบเดิมคือ

ประการแรก เครือข่ายแบบเดิมมีลักษณะการทำงานแบบ Point-to-Point นั่นหมายถึงว่าการเชื่อมต่อระหว่าง Core Switch, Distributed Switch และ Access Switch จะมีสายทองแดงมากมายในลักษณะจุดต่อจุด นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของการลงทุนสูงในจำนวนของสาย ผนวกกับข้อจำกัดเรื่องระยะทางยิ่งทำให้ต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างทางเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่องของการวางรางและท่อ การสูญเสียพื้นที่ที่สำหรับรองรับสายและอุปกรณ์

ประการที่สอง เมื่อตัว Splitter ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า นั่นหมายความว่าความอ่อนไหวเรื่องการเสื่อมสภาพในระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ลดลงไปอย่างมาก เช่น การวางระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิ จัดหาห้องสำหรับวางอุปกรณ์ทำให้สูญเสียพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ หรือจัดหาระบบสำรองไฟ ความยุ่งยากเหล่านี้จะหายไปในระบบ POL

ประการที่สาม OLT เพียง 1 ตัว สามารถรองรับ ONT ได้นับพันตัวเพราะถูกกระจายสัญญาณด้วย Splitter เช่น สัญญาณเข้า 1 ออก 32 และตัว Splitter สามารถวางในรูปแบบของลำดับชั้นได้อีก นั่นหมายถึงการลดต้นทุน เมื่อเทียบกับ Distribute Switch ที่มีพอร์ตไม่มากนัก

ประการสุดท้าย POL ได้มีการใช้งานไฟเบอร์ออปติกแบบ Single Mode กล่าวคือระยะเดินทางของสายจะไปได้สูงถึง 20 กิโลเมตร และอย่างที่กล่าวไปคือการรองรับอนาคตด้วยความเร็วระดับ Terabit ซึ่งอนาคตอันใกล้แม้อุปกรณ์เครือข่ายที่ประมวลผลได้ระดับ 400 Gbps หรือ 800 Gbps จะเกิดขึ้นจริง องค์กรก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนอัปเกรตสายรุ่นใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นในสายทองแดงอย่างที่แล้วมาให้วุ่นวาย

การทำงานของ POL

อุปกรณ์ 3 ตัวที่เป็นหัวใจสำคัญของ POL มีการทำงานร่วมกันดังนี้

OLT (Optical Line Terminal) เป็นเสมือน Core Switch ซึ่งสามารถต่อกับอุปกรณ์ Switch และ Router แบบเดิมได้ ทั้งนี้จะมีอินเทอร์เฟสที่เป็นไฟเบอร์ออปติกไปหา Splitter ซึ่ง OLT จะส่งข้อมูลผ่านไฟเบอร์ออปติกด้วยสัญญาณแสง 2 ช่วงคลื่นในสายเส้นเดียวกัน

เมื่อ Splitter รับสัญญาณเข้ามาแล้วจะมีกระจายสัญญาณแสงในลักษณะของการ Broadcast ไปยัง ONT ที่จะเป็นตัวคัดกรองเอาข้อมูลเฉพาะส่วนเกี่ยวข้องของตนเท่านั้น ซึ่ง ONT เองยังมีอินเทอร์เฟสอย่าง RJ-45, Analog RJ-11 หรือ PoE ที่สนับสนุนการใช้งานได้เหมือนที่เราต่อเข้ากับอุปกรณ์ Switch แบบเดิม กลับกันในฝั่งส่งกลับข้อมูลจะถูกกลไกของ Time Division Multiplex รับข้อมูลปลายทางกลับยัง OLT

ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ คือการที่ไม่ต้องมีการแบ่งแยกข้อมูลระหว่าง Tx/Rx ลดความยุ่งยากที่เกิดขึ้นใน Ethernet แบบเก่านั่นเอง

Laserway โซลูชัน POL จาก Furukawa Electric

Furukawa Electric ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยี POL ในรูปแบบของตนภายใต้โซลูชันชื่อ Laserway โดยข้อดีของบริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ามีดังนี้

1.) ระบบ POL สามารถรองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบ เหมือนเดิมทั้ง CCTV, Wireless AP, PC หรือ IoT เป็นต้น ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ปลายทางหรือเกิดข้อจำกัดในการอัปเกรตระบบ LAN ของท่านให้รองรับอนาคต

2.) การนำไปใช้ในโครงการ อาคาร หรือสำนักงานที่มีความเข้มงวด Laserway ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับมาตรฐานทางอุตสาหกรรมทั้ง ISO และข้อกำหนดของ TIA และมาตรฐานอื่นๆที่มีความเป็นสากล

3.) การทำงานของอุปกรณ์ในโซลูชันถูกออกแบบมาให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ง่ายที่สุดในรูปแบบของการ Plug&Play ลดการทำ Fusion Splice ตั้งแต่การเดินทางจากต้นทางสู่ปลายทาง อีกทั้งยังมีรูปแบบของสายในระยะต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการ

4.) Furukawa เป็นผู้ให้บริการอย่างครบวงจรทั้งโซลูชัน เพราะสามารถนำเสนออุปกรณ์ในทุกส่วนได้ทั้ง OLT, ONT, Splitter, Connector และสายไฟเบอร์ออปติก รวมถึงอุปกรณ์เสริมอื่นๆเช่นรางเป็นต้น

5.) ในส่วนของอุปกรณ์ Passive ทาง Furukawa ยังมีโปรแกรมรับประกันยาวนานได้สูงสุดถึง 25 ปี

6.) สามารถให้คำปรึกษา ตั้งแต่การออกแบบ ประเมินและถอดรายการอุปกรณ์เพื่อเสนอราคา 

7.) มีบริการดูแลระบบได้ในระดับ 24×7 รวมถึงมีการจัดอบรบให้ผู้ปฏิบัติงานได้

8.) มีซอฟต์แวร์บริหารจัดการ คอนฟิค ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ดูสถานะการทำงาน และแก้ไขปัญหาได้ในรูปแบบของ GUI ที่ใช้งานง่าย

เกี่ยวกับ Furukawa Electric

Furukawa Electric มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการประกอบธุรกิจในหลายด้านอาทิเช่น Automotive, Energy, Metal และอื่นๆ โดยมีพนักงานราว 50,000 คน และส่วนธุรกิจกระจายอยู่ในหลายภูมิภาค สำหรับส่วนธุรกิจ Cabling หรือ FCS มีการจัดตั้งโรงงานที่บราซิล ทำให้มีชื่อเสียงและสัดส่วนตลาดกว่า 30% ในแถบลาตินอเมริกา ทั้งนี้มีการให้บริการอย่างครอบคลุมในส่วนของสายส่งและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในดาต้าเซนเตอร์ การใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสำนักงาน ซึ่งสามารถผลิตและจัดหาอุปกรณ์ได้ครบทั้งโซลูชัน ในประเทศไทย FCS มีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นที่ประเทศไทย และได้รับรับความไว้วางใจในธุรกิจมากมายทั้งโซลูชันสายทองแดงในดาต้าเซนเตอร์ หรือ Laserway ที่นำเสนอไปข้างต้น

สนใจติดต่อทีมงานของ Furukawa Electric เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษานำเสนอโซลูชัน สามารถติดต่อได้ที่ https://lin.ee/cARPJtc


About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

พาชม True IDC Experience Center ศูนย์การเรียนรู้ด้าน Data Center & Cloud ณ True Digital Park

True IDC Experience Center เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ดูแลระบบ Data Center และ Cloud เหล่านักพัฒนา รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์การทำงานของระบบ Data Center …

All-New Adobe Express พร้อม Firefly ปฏิวัติวงการครีเอเตอร์ให้ครีเอเตอร์และแบรนด์ออกแบบและแชร์คอนเทนต์ที่โดดเด่นกว่าเดิม [Guest Post]

ลอนดอน — 8 มิถุนายน 2566 — อะโดบี ( Nasdaq:ADBE ) เปิดงาน Adobe Summit EMEA 2023 …