องค์กร Transparency International และ Web Foundation ชี้การปฏิบัติตามหลักการ G20 Anti-Corruption Open Data ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงใจนักหลังเข้าตรวจสอบ 5 ประเทศสมาชิกของกลุ่ม G20 ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมัน อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้
กลุ่มประเทศ G20 ได้ทำข้อตกลงเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะตามหลักการ G20 Anti-Corruption Open Data ไปเมื่อปี 2015 โดยมุ่งหวังว่าการเปิดข้อมูลสำคัญออกสู่สายตาสาธารณะจะนำไปสู่การตรวจสอบกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น การใช้ภาษีและทรัพยากรสาธารณะ การทำสัญญากับองค์กรต่างๆ หรืองบประมาณของพรรคการเมือง อีกทั้งยังเป็นการทำให้การติดสินบนภาครัฐและการเอื้อผลประโยชน์ให้กับญาติและพวกพ้องเป็นไปได้ยาก
ทว่าจากการตรวจสอบล่าสุด พบว่าการเปิด Open Data นี้ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ตามรายงานได้สรุปปัญหาหลัก 3 ข้อ
- ข้อมูล anti-corruption ทั้งหมดยังไม่ถูกเปิดเผย
การตรวจสอบพบว่าไม่มีประเทศใดเลยใน 5 ประเทศตัวอย่างที่มีการเปิดข้อมูล anti-corruption หลักที่ต้องเปิดเผยทั้งหมด 10 ชุด ตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ได้ครบ และมีเพียงบราซิลประเทศเทียวเท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏการเปิดข้อมูลรายชื่อเจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์ในองค์กรต่างๆซึ่งเคยได้ตกลงร่วมกันไว้
- ข้อมูลบางชุดที่เปิดออกมานั้นไม่มีประโยชน์หรือไม่สามารถใช้งานได้
ในหลายกรณีข้อมูลที่เปิดเผยออกมานั้นเป็นข้อมูลที่เก่าเกินไปหรือไม่รายละเอียดน้อยเกินกว่าจะนำมาใช้งานหรือวิเคราะห์ได้ อีกทั้งข้อมูลชุดต่างๆก็ไม่ได้รวบรวมไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้การจะใช้ข้อมูลในเพื่อตรวจสอบการโกงนั้นเป็นไปได้ยาก
- ข้อมูลที่ถูกเปิดไม่เป็นไปตามมาตรฐาน open standards
มีเพียงฝรั่งเศสประเทศเดียวเท่านั้นที่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐาน open standard ซึ่งความไม่มีมาตรฐานของข้อมูลทำให้การเปรียบเทียบข้อมูลเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปรียบเทียระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในรายประเทศ เช่น ข้อกฎหมายของเยอรมันที่ไม่รองรับ หลักการ ‘Open by default’ กฎหมายของบราซิลที่ไม่สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้จะเข้ามาตรวจสอบการโกง และความไม่แน่ชัดในวิธีการและปัญหาขาดบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในอินโดนีเซีย เป็นต้น