นับเป็นอีกข่าวดีสำหรับเหล่านักวิจัยสายฟิสิกส์ที่ต้องการทดลองเริ่มต้นประมวลผล Big Data โดยทาง Large Hadron Collider (LHC) โครงการเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ออกมาเปิดเผยชุดข้อมูลจากการทดลอง Compact Muon Solenoid (CMS) ที่ใช้ค้นหา Higgs Boson แล้ว
การทดลองเพื่อพิสูจน์ตัวตนของ Higgs Boson โดย LHC นี้เคยเป็นข่าวใหญ่โตทั่วโลกมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยการทดลองนี้ได้รวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2010 เป็นข้อมูลขนาดทั้งสิ้น 29TB ที่ประกอบไปด้วยการชนกันของอนุภาคโปรตอนกว่า 300 ล้านครั้งที่ถูกตรวจจับได้โดย CMS และถือเป็นการแชร์ข้อมูลลักษณะนี้สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกของโครงการ และการแบ่งปันข้อมูลแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักในวงการฟิสิกส์
ก่อนหน้านี้ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาด้วยเหตุผลว่าข้อมูลนั้นมีความซับซ้อนค่อนข้างสูง รวมถึงข้อมูลบางส่วนอาจเกิดจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ตรวจจับเอง และผู้ที่ไม่ได้เข้าใจข้อมูลเหล่านี้อย่างถ่องแท้ก็อาจนำไปตีความแบบผิดๆ และนำไปสู่ความสับสนได้
อย่างไรก็ดีทางทีมงานได้ตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลชุดนี้สู่สาธารณะ เพราะเชื่อว่าความรู้ทางด้านฟิสิกส์นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และหากจะมีผู้ใดนำทฤษฎีใหม่ๆ เข้ามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลชุดนี้จนเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ ได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับวงการฟิสิกส์โดยรวมนั่นเอง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูล Open Data นี้ได้ที่ http://opendata.cern.ch/ เลยนะครับ โดยหาชุดข้อมูลของ Compact Muon Solenoid (CMS) ได้ที่ http://opendata.cern.ch/education/CMS แต่ก็มีข้อมูลจากโครงการอื่นๆ ด้วย เผื่อจะสนใจนำไปวิเคราะห์กันดูนะครับ
ที่มา: https://phys.org/news/2017-09-open-access-large-collider-subatomic-particle.html