Black Hat Asia 2023

Cloud Marketplace: ธุรกิจเกิดใหม่ที่เติบโตและเป็นที่นิยมมากทั่วโลก แต่ยังไม่มีใครทำในไทย #Microsoft #WPC16

Cloud Marketplace นั้นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มาออกบูธในงาน Microosft Worldwide Partner Conference 2016 ( #WPC16 ) ที่จัดขึ้นไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมามากที่สุดธุรกิจหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ และจากการที่ได้เข้าไปพูดคุยกันกับเหล่าผู้พัฒนานั้นก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจที่เรายังไม่เคยเห็นกันในไทย จึงอยากขอหยิบยกมาสรุปให้ได้อ่านกันเผื่อจะทำให้บ้านเราได้มี Cloud Marketplace ของตัวเองกันบ้างดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com
Credit: ShutterStock.com

 

Cloud เติบโตขึ้นทุกวัน จากความง่ายในการใช้งาน เริ่มก้าวเข้าสู่ความยากในการบริหารจัดการ

ด้วยความนิยมของการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ บน Platform Cloud และการนำ Cloud ในรูปแบบต่างๆ ไปใช้งานภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Infrastructure as a Service (IaaS), Platform as a Service (PaaS) หรือแม้แต่ Software as a Service (SaaS) ก็ตาม องค์กรต่างๆ ก็เริ่มมีการใช้งานบริการ Cloud มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก และใช้งานหลายๆ บริการ Cloud ไปพร้อมๆ กันในการดำเนินธุรกิจกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่เริ่มเกิดขึ้นกับเหล่าองค์กรและะธุรกิจทางด้าน IT นั้นแบ่งออกด้วยกันเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ

  1. องค์กรเองเริ่มประสบปัญหา Cloud ล้นองค์กร และเริ่มบริหารจัดการไม่ได้ว่าแผนกใดใช้ Cloud อะไรอยู่ จะหมดอายุบริการเมื่อไหร่ ตอนมีปัญหาต้องไปติดต่อใคร รวมถึงการวางแผนการลงทุนต่อในปีถัดๆ ไปนั้นก็มีความสับสน ทั้งการต่ออายุบริการเก่าและการลงทุนเพิ่มขยายสิทธิ์การใช้บริการ Cloud
  2. เหล่าผู้ให้บริการ IT ก็ประสบปัญหาทำนองเดียวกันในการดูแลลูกค้า ในขณะที่การขายบริการ Cloud จาก Vendor นั้นก็ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเหล่าองค์กรลูกค้าได้ ยังต้องใช้วิธีการจัดซื้อแบบเดิมๆ แทนที่จะเพิ่มเติมความสะดวกสบายในการกดซื้อบริการใหม่ๆ ให้กับองค์กรลูกค้าได้เอง

ปัญหาเหล่านี้เป็นจุดกำเนิดให้ธุรกิจกลุ่ม Cloud Marketplace เกิดขึ้นมานั่นเอง

 

Cloud Marketplace คืออะไร?

Cloud Marketplace นั้นคือบริการออนไลน์ที่รวมเหล่าบริการ Cloud เอาไว้ให้ผู้ใช้งานหรือองค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาค้นหาบริการที่ต้องการแล้วเลือกซื้อไปใช้ได้ทันที หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นร้านค้าออนไลน์สำหรับบริการ Cloud ก็คงไม่ผิดนัก เพียงแต่ว่ารายละเอียดปลีกย่อยในการขายบริการ Cloud นั้นก็แตกต่างไปจากการขายสินค้าหรือบริการประเภทอื่นๆ อยู่พอสมควรเลยเช่นกัน โดยสิ่งที่ Cloud Marketplace เพิ่มเติมขึ้นมาจากร้านขายของหรือบริการทั่วๆ ไปแบบออนไลน์นั้นมีดังนี้

  • การปรับปรุงรูปแบบการซื้อขายให้เป็นแบบ Subscription เป็นหลัก เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อบริการ Cloud ที่มีการหมดระยะเวลาสัญญา และสับเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ตามต้องการ
  • การปรับปรุงรูปแบบการออกโปรโมชันและการแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงการแจ้งเตือนต่ออายุให้รองรับการซื้อขายแบบ Subscription ได้
  • การพัฒนา API เพื่อเชื่อมต่อกับระบบซื้อขายและระบบบริหารจัดการของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายได้
  • มีหน้าจอบริหารจัดการลิขสิทธิ์การใช้งานบริการ Cloud ของผู้ให้บริการทุกรายร่วมกัน
  • มีระบบสำหรับให้เหล่า Systems Integrator สามารถสร้าง Catalog Portal ของตนแบบ White Label เพื่อนำไปให้บริการลูกค้าองค์กรของตนเองต่อได้
  • มีระบบสำหรับให้เหล่าองค์กรสามารถติดต่อผู้ให้บริการ Cloud หรือ Systems Integrator เพื่อพูดคุยหรือขอรับการสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ได้
  • มีระบบซื้อขายที่รองรับการจ่ายเงินแบบ B2B ที่มักไม่ได้ตัดบัตร Credit กันทันทีได้ เพื่อให้รองรับต่อกระบวนการการจัดซื้อขององค์กร
  • อื่นๆ อีกมากมาย

โดยทั่วไปแล้ว บริการ Cloud Marketplace จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทอย่างชัดเจน ได้แก่

  • Cloud Marketplace โดย Vendor: มักเป็นตลาดสำหรับซื้อขายบริการ Cloud ที่เป็นส่วนต่อขยายหรือทำงานร่วมกับ Cloud Infrastructure ของผู้ผลิตรายใหญ่แต่ละรายที่ทำ Cloud Marketplace ของตนเอง
  • 3rd Party Cloud Marketplace: เป็นตลาดกลางที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับติดต่อและซื้อขายบริการ Cloud จาก Vendor หลากหลายราย โดยบางรายอาจสนับสนุนการทำ Catalog Portal แบบ White Label เพื่อรองรับเหล่าธุรกิจ Systems Integrator ได้

จะเห็นได้ว่า Cloud Marketplace นั้นเข้ามาแก้ไขปัญหาในหลายประเด็นในการใช้งานและบริหารจัดการการใช้ Cloud ขององค์กรเป็นหลักเลยนั่นเอง

 

ข้อดีและข้อเสียขององค์กรต่อการใช้งานบริการ Cloud Marketplace

ข้อดี

  • ง่ายต่อการบริหารจัดการบริการ Cloud ที่มีความหลากหลาย
  • มีระบบจัดซื้อที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจองค์กร
  • สามารถเลือกซื้อบริการที่ต้องการและเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้ผลิตที่คล้ายคลึงกันได้ง่าย
  • การรับบริการสามารถติดต่อได้โดยง่าย โดยอาจเป็นรูปแบบ One Stop Service หรือติดต่อหาช่องทางให้บริการของ Vendor แต่ละรายก็ตามแต่

ข้อเสีย

  • หากมีการใช้งานหลายบริการ Cloud ที่ไม่ได้อยู่ภายใน Cloud Marketplace เดียวกันก็อาจวุ่นวายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ยังไม่มีเปิดให้บริการในบางภูมิภาค เช่น แถบ Asia ที่ยังมีน้อยมาก

 

ข้อดีและข้อเสียของ Systems Integrator ต่อการใช้งานบริการ Cloud Marketplace

ข้อดี

  • บริหารจัดการและติดตามการใช้งานรวมถึงการต่อ Subscription ขององค์กรลูกค้าได้ง่าย
  • สามารถให้บริการและสนับสนุนลูกค้าได้ง่ายขึ้น
  • มีหน้าร้านของตนเองได้ผ่านระบบ Catalog Portal และ White Label พร้อมขายบริการเสริมหรือตั้งราคาเองได้
  • บริหารจัดการการซื้อขาย Subscription License ได้ง่ายขึ้น

ข้อเสีย

  • จำนวนบริการที่ขายได้นั้นจะจำกัดตามที่ผู้ให้บริการ Cloud Marketplace กำหนด แต่ส่วนใหญ่ก็ครอบคลุมบริการพื้นฐาน และสามารถพูดคุยเพื่อเพิ่มบริการใหม่ๆ เข้าไปได้
  • ยังไม่มีเปิดให้บริการในบางภูมิภาค เช่น แถบ Asia ที่ยังมีน้อยมาก

 

ตัวอย่างของบริการ Cloud Marketplace

also_cloud_marketplace

ในงาน Microsoft Worldwide Partner Conference 2016 นั้นมีบูธที่นำบริการ Cloud Marketplace ของตนเองมาออกกันเยอะมาก บางรายก็เป็นบริการทั่วๆ ไป บางรายก็โฟกัสเฉพาะบริการ Cloud ในบางประเภทที่ตนเองถนัดและ Consult ลูกค้าได้ บางรายก็โฟกัสเฉพาะพื้นที่ให้บริการเป็นภูมิภาคหรือทวีปไป หรือบางรายก็โฟกัสเฉพาะหน่วยงานรัฐเลยก็มี โดยเจ้าที่ออกบูธใหญ่ที่สุดก็คือ ALSO Cloud Marketplace https://www.also.com นั่นเองครับ ลองดูวิดีโอแนะนำบริการเค้าได้เลย

 

ถ้าเมืองไทยจะมีบริการ Cloud Marketplace บ้าง ควรเริ่มต้นอย่างไรดี?

ในความเห็นส่วนตัวของทีมงาน TechTalkThai ประเทศไทยเองนั้นถือว่าเป็นตลาด Cloud ที่น่าสนใจและมีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะบริการ Cloud จากผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกนั้นก็มีตลาด ในขณะที่บริการ Cloud จากผู้ผลิตในพื้นที่เองนั้นก็มีตลาดเหมือนกันเพราะผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ไม่ยอมมาตั้ง Data Center กันเสียที ในขณะที่ Software ที่มีรูปแบบการใช้งานแบบ Subscription อย่าง Microsoft Office, Adobe Creative Cloud หรือ Tableau นั้นก็มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และองค์กรในไทยเองนั้นก็ยังมีรูปแบบการจัดซื้อที่ Conservative อยู่ การที่ประเทศไทยจะมีบริการ Cloud Marketplace ของตนเองนั้นจึงน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

ความท้าทายก็คือการพัฒนาระบบที่เรียกได้ว่าน่าจะต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ศูนย์ และการเชื่อมต่อกับ API ที่มีความหลากหลายซึ่งน่าจะถือเป็นงานใหญ่ทีเดียว แต่สิ่งเหล่านี้เองก็จะเป็น Barrier ในการแข่งขันกับผู้ให้บริการ Cloud Marketplace รายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งโจทย์ที่ต้องตีให้แตกก็คือความคุ้มทุนของการทำ Cloud Marketplace เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งใครที่สนใจทำก็ต้องไปสำรวจกันดูนะครับว่าจะได้รับแรงสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน หรือจะต้องรอให้ผู้ผลิตจากต่างชาติเข้ามาทำตลาดในไทยกันก่อน ก็เป็นประเด็นเปิดที่ยังไม่มีคำตอบให้ทุกท่านครับ

 

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ขอขอบคุณทาง Microsoft Thailand ที่ให้โอกาสออกไปเปิดหูเปิดตาในครั้งนี้ถึงแคนาดาครับผม


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Google จับมือ Replit เสริมบริการ Generative AI สำหรับ Software Development

Google จับมือ Replit เสริมบริการ Generative AI สำหรับ Software Development

กลุ่มบริษัทอิออนธนสินทรัพย์ เพิ่มศักยภาพธุรกิจพร้อมขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัลด้วย SAP S/4HANA จาก IT One [Guest Post]

ไอทีวัน (IT One) ผู้ให้บริการด้านไอทีและดิจิทัลโซลูชันครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้านดิจิทัล คลาวด์ และระบบรักษาความปลอดภัย ได้รับความไว้วางใจจาก บมจ.อิออนธนสินทรัพย์ ให้เป็นที่ปรึกษาในโครงการ SAP S/4 HANA ให้แก่กลุ่มบมจ.อิออนธนสินทรัพย์ เพื่อยกระดับในระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร …