ในงาน Microsoft Worldwide Partner Conference 2016 (#WPC16) ที่ผ่านมา ในบริเวณบูธที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นมีการนำเสนอเทคโนโลยีที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือรถแข่ง SAM 3.0 จากบริษัท Arrow ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนๆ เดียวในโลก Sam Schmidt นักแข่งรถผู้ประสบอุบัติเหตุจนพิการตั้งแต่ช่วงคอลงไปนั่นเอง
15 ปีก่อน นักแข่งรถคนหนึ่งได้สูญเสียร่างกายและอาชีพที่รักไป
เมื่อ 15 ปีก่อนนั้น Sam Schmidt นักแข่งรถความเร็วสูงได้ประสบอุบัติเหตุในระหว่างฝีกซ้อมแข่งขันในรายการ Walt Disney World Speedway เมื่อปี 2000 และแพทย์บอกเขาว่าถึงแม้เขาจะรอดชีวิตมาได้ แต่แขนหรือขาของเขาไม่อาจขยับได้อีก ถึงแม้แพทย์จะไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับการแข่งรถ แต่เขาก็รู้ดีว่าความฝันของเขานั้นได้จบลงแล้ว ทำให้เขาต้องผันตัวมาเป็นเจ้าของทีมแข่งรถแทน
ถึงแม้การเป็นเจ้าของทีมแข่งรถจนได้รางวัลชนะเลิศต่างๆ มามากมายนั้นจะนับได้ว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตของเขา แต่เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วก็ไม่มีอะไรเทียบได้กับการนั่งอยู่หลังพวงมาลัยและขับรถแข่งด้วยตัวเอง และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความฝันครั้งใหม่ของเขา
จับมือกับทีมวิศวกรจาก Arrow สร้างรถแข่งเฉพาะสำหรับตนเอง
Arrow เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้าน IT ขนาดใหญ่ในอเมริกา ได้จับมือกับ Sam Schmidt เพื่อสร้างรถแข่งเฉพาะสำหรับ Sam ภายใต้โครงการ Semi-Autonomous Motorcar (SAM) ในปี 2013 โดยปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนของรถทั้งคันที่เคยเป็นระบบแยกกันให้กลายเป็น Integrated System เพียงหนึ่งเดียว และควบคุมการขับขี่รถได้ด้วยกล้อง Infrared ที่จับการเคลื่อนไหวของหัวได้แบบ Real-time สำหรับใช้ส่งคำสั่งในการเลี้ยว และมีหลอดสำหรับดูดหรือเป่าเพื่อใช้ในการเร่งและเบรครถ รวมถึงมีการเสริมที่นั่ง Co-pilot ข้างๆ ให้ช่วยควบคุมรถได้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ Sam Schmidt ที่พิการตั้งแต่ส่วนคอลงไปสามารถขับรถได้นั่นเอง
ในโครงการ SAM 1.0 นั้นรถยังช้าเกินกว่าที่จะนำไปแข่งได้ จนในโครงการ SAM 2.0 ทีมงาน Arrow ได้เปลี่ยน Hardware ภายในรถให้สามารถตอบสนองต่อความเร็วในการควบคุมของ Sam ให้ได้ Real-time มากขึ้น และเพิ่มความเร็วของรถจนกลายเป็นรถแข่ง จนในปี 2014 Sam สามารถกลับไปแข่งรถได้อีกครั้งหนึ่ง และทำความเร็วได้สูงสุดถึง 107 ไมล์ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินมาถึงรุ่น SAM 3.0 แล้ว โดยภายในตัวรถนี้มีการเพิ่มเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้าไปสำหรับใช้ในการทำ Live Streaming, การตรวจสอบค่าการทำงานของระบบต่างๆ ในตัวรถ, การตรวจสอบ Biometric ของผู้ขับ, การตรวจสอบสภาวะแวดล้อมต่างๆ รอบตัวรถ และมี Dashboard สำหรับใช้แก้ปัญหาแบบ Real-time โดยใช้การประมวลผลจากหน่วยประมวลผลในตัวรถร่วมกับระบบ Cloud ของ Microsoft นั่นเอง
ทุกวันนี้ Sam Schmidt ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตในฐานะนักแข่งได้แล้ว และรถยนต์คันนี้เองก็เปรียบเสมือนแสงสว่างให้แก่นักแข่งคนอื่นๆ ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนไม่อาจกลับมาแข่งรถได้อีกด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Connected Car และ Internet of Things มาผสานเข้ากันกับระบบ Cloud ได้ในรูปแบบที่น่าสนใจอีกด้วย
ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมลองเข้าไปดูได้ที่ http://community.arrow.com/sam/ เลยนะครับ แต่ตัวเว็บยังคงเป็นเทคโนโลยี SAM 2.0 อยู่ครับ