Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

สัมภาษณ์ NetApp Thailand เจาะลึก NetApp HCI แก้ไขปัญหาที่ระบบ Hyper-converged อื่นมีได้อย่างไร

หลังจากที่ NetApp HCI ได้ประกาศเปิดตัวไปไม่นานนี้ และสร้างความแตกต่างจากเทคโนโลยี Hyper-converged Infrastructure (HCI) อื่นๆ ในตลาดได้อย่างน่าสนใจ ทางทีมงาน TechTalkThai ก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับทีมงาน NetApp Thailand โดยตรงถึงแนวคิดเชิงลึกในการออกแบบ NetApp HCI ให้แตกต่างจากคู่แข่งเป็นอย่างมาก และปัญหาของระบบ HCI ในปัจจุบันจากมุมมองของ NetApp และการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ NetApp HCI จึงขอสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

 

ปัญหาของระบบ HCI ในตลาดปัจจุบันคืออะไร?

การที่ NetApp นั้นไม่ได้รีบพัฒนาระบบ HCI ออกมาสู่ตลาด เพราะ NetApp นั้นเชื่อว่าเทคโนโลยี HCI ที่มีอยู่ในตลาดเวลานี้ยังไม่ตอบโจทย์องค์กรอย่างแท้จริง และต้องการดูปัญหาที่เกิดขึ้น และความต้องการของลูกค้าองค์กรที่แท้จริงก่อน เพื่อจะได้ออกแบบเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาของ HCI แบบเดิมๆ พร้อมกับตอบโจทย์ลูกค้าไปได้พร้อมๆ กันนั่นเอง

เทคโนโลยี HCI ที่มีอยู่ในปัจจุบันและผู้ผลิตหลายรายเลือกที่จะนำมาใช้นี้ มักจะเป็นการนำ Server มาใช้ติดตั้ง Hypervisor และระบบ Software-defined Storage (SDS) ที่รองรับความสามารถในการทำ Scale-out ในตัว พร้อมระบบ Hypervisor มาติดตั้งร่วมกันในระบบเดียว ทำให้ Server แต่ละชุดทำหน้าที่เป็นทั้ง Compute, Storage และ Network พร้อมๆ กัน โดยผู้ผลิตบางรายเองก็มีการเสริมความสามารถต่างๆ เช่น Cloud Controller, Backup หรืออื่นๆ เพิ่มเข้าไปเป็นจุดขาย ทำให้ HCI ที่เราเห็นในตลาดทุกวันนี้เน้นที่ความง่าย, ขนาดที่เล็ก และความสามารถที่รอบด้านเป็นหลัก

แน่นอนว่าการออกแบบลักษณะนี้เอง ก็ทำให้ HCI ในปัจจุบันเกิดปัญหาตามมา ได้แก่

  • องค์กรไม่สามารถทำการขยาย HCI เฉพาะทรัพยากรในส่วนที่ต้องการได้ เช่น ไม่สามารถขยายเฉพาะ Compute และไม่สามารถขยายเฉพาะ Storage ได้ ทำให้บางครั้งการเพิ่มขยายระบบนั้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะต้องเพิ่มขยาย Hardware ในส่วนที่ไม่ได้ต้องการใช้งานแล้ว ก็ยังอาจต้องเสียค่าลิขสิทธิ์สำหรับระบบ Hypervisor เพิ่มด้วย ทั้งๆ ที่อาจไม่ได้ต้องการใช้งาน
  • Compute และ Storage นั้นต้องแย่งชิงทรัพยากรใน Server แต่ละเครื่องกันเอง โดยเฉพาะ RAM ที่ปัจจุบันระบบ HCI มักต้องกันไปใช้ให้กับ Storage มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ Compute ไม่เหลือ RAM มากเพียงพอต่อการใช้งาน
  • หาก Server Node ใดมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบ Compute และ Storage พร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ดูแลระบบทำนายได้ยากว่าปัญหาเหล่านั้นจะส่งผลลัพธ์อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Server Node จำนวนมากมีปัญหาพร้อมๆ กัน
  • HCI ปัจจุบันไม่สามารถรับประกันประสิทธิภาพทางด้าน Storage ให้กับแต่ละ VM ที่ทำงานอยู่ได้เลย ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิต HCI บางรายนั้นก็มีปัญหาว่า VM เดียวไม่สามารถเข้าถึง Storage ได้ด้วยประสิทธิภาพที่สูงตามสเป็คของ HCI ต้องมีการเปิด VM จำนวนมากมาแบ่งกันทำงานแทน ทำให้ไม่สามารถมี VM ขนาดใหญ่ที่ต้อง IOPS สูงๆ ได้ เป็นต้น
  • HCI ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถทำการโยกย้ายข้อมูลข้ามไปยัง SAN Storage หรือบริการ Cloud ได้ดีนัก ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ของการเป็น Infrastructure ที่ยืดหยุ่นได้อย่างแท้จริง
  • HCI ปัจจุบันยังไม่สามารถเปลี่ยน Hypervisor โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบ Storage ได้ เนื่องจาก HCI แทบทั้งหมดนั้นต้องอาศัย Hypervisor ในการทำงาน

ปัญหาเหล่านี้เองคือสิ่งที่ NetApp ต้องการแก้ไขให้ได้ใน HCI ของตน และนี่เองก็เป็นที่มาว่าทำไมสถาปัตยกรรมระบบ HCI ของ NetApp ถึงแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นอยู่มากพอสมควรเลยทีเดียว

 

Credit: NetApp

NetApp HCI: ระบบ HCI ที่แยก Compute Node ออกจาก Storage Node

เพื่อแก้ไขปัญหาของระบบ HCI ในปัจจุบัน ทาง NetApp จึงได้ออกแบบ NetApp HCI โดยมีแนวคิดเบื้องต้นดังต่อไปนี้

 

1. แยก Compute Node และ Storage Node ออกจากกัน ติดตั้งใน Form Factor ขนาดเล็ก

การออกแบบแบบนี้เรียกได้ว่าทำให้ NetApp HCI นั้นอยู่กึ่งกลางระหว่าง SAN Storage และ HCI แบบเดิมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะการที่แยกส่วนของ Storage Node ออกจาก Compute Node นั้นก็ทำให้แต่ละส่วนสามารถใช้งาน Hardware ของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปัญหาที่เกิดในแต่ละส่วนก็จะไม่กระทบกันและกัน ในขณะที่การเพิ่มขยายในอนาคตเองก็สามารถเลือกเพิ่มขยายแยกส่วนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับองค์กรที่ต้องการความชัดเจนในการวางแผนแก้ไขปัญหาและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต

Credit: NetApp

 

ใน Compute Node ของ NetApp HCI นั้นจะติดตั้ง CPU, RAM, Disk (สำหรับบูท Hypervisor) และ Network ขนาด 10/25GbE เพื่อให้รองรับต่อระบบเครือข่ายในอนาคตได้เลย พร้อมเชื่อมต่อไปยัง Storage Node และมีการติดตั้ง VMware vSphere มาให้ ซึ่งในอนาคตก็มีแผนจะรองรับ Hypervisor ค่ายอื่นๆ เพิ่มเติม

ส่วน Storage Node ของ NetApp HCI ก็จะติดตั้ง NetApp SolidFire ซึ่งเป็นระบบ Software-defined Scale-out All Flash Storage ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานใน Cloud ขนาดใหญ่ หรือองค์กรที่ต้องการทำ Private Cloud ที่รองรับ Cloud-native Application อยู่แล้ว เพื่อให้ Storage Node มีความเร็วสูง ประหยัดไฟ น้ำหนักเบา และสามารถควบคุมประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำ Data Reduction เพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไปในตัว รวมถึงเพิ่มขยายได้หลายพัน Node ภายในระบบเดียว

การแยก Storage Node ออกมานี้เอง ที่ทำให้ NetApp HCI เหนือกว่า HCI ทั่วๆ ไปที่ต้องทำงานผ่านชั้นของ Hypervisor อีกทีทำให้ไม่สามารถใช้ประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ อีกทั้่งยังเพิ่มขยายเฉพาะส่วนได้ง่าย

 

2. รับประกัน IOPS สำหรับ Storage Volume ได้ เหมือนบริการ Public Cloud ชั้นนำ

หากใครเคยใช้บริการ Cloud ชั้นนำนั้น ระบบ Storage ของบริการ Cloud เหล่านั้นมักมีการระบุประสิทธิภาพทางด้าน IOPS เอาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ทำให้องค์กรสามารถวางแผนและเลือกลงทุนได้ง่าย ในขณะที่ HCI ส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถระบุได้ว่า VM ใดจะได้รับ IOPS เท่าไหร่ ทำให้หลายๆ ครั้งก็พบกับปัญหาคอขวดทางด้านประสิทธิภาพสำหรับแต่ละ VM ได้ ทั้งๆ ที่ระบบโดยรวมยังคงมี IOPS เหลือ หรือยังมี Capacity และ Compute เหลือ

เนื่องจาก NetApp HCI นั้นใช้ NetApp SolidFire ซึ่งมีความสามารถในการระบุ IOPS ต่ำสุดและสูงสุดสำหรับแต่ละ Volume ได้มาใช้งานเป็น Storage Node จึงทำให้องค์กรสามารถวางแผนด้าน Compute, Capacity, IOPS ไปพร้อมๆ กันได้ และรับประกันได้เสมอว่า VM ใดจะได้รับ Storage ที่มีความเร็วเท่าไหร่ไปใช้งาน แก้ปัญหาคอขวดด้านระบบ Storage ได้เป็นอย่างดี และทำให้ NetApp HCI นั้นรองรับ Workload ได้หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มากภายในระบบเดียว

มุมมองนี้ทาง NetApp ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะองค์กรต่างๆ นั้นเลือกใช้ Cloud เพราะบริการ Cloud เหล่านั้นสามารถทำนายประสิทธิภาพได้อย่างค่อนข้างชัดเจน แต่ HCI ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ในขณะเดียวกัน เนื่องจาก NetApp HCI นั้นระบุประสิทธิภาพด้าน IOPS ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นหากนำ NetApp HCI ไปเทียบกับบริการ Cloud ที่มี Compute, Storage Capacity และ IOPS ที่เท่ากัน ก็จะทำให้องค์กรสามารถประเมินค่าใช้จ่ายได้ถูกและเลือกได้ว่าจะนำระบบใดไปใช้บน Cloud และจะนำระบบใดย้ายลงมาบน NetApp HCI แทนจึงจะคุ้มค่ามากกว่า

 

3. ติดตั้งใช้งาน, บริหารจัดการ และสำรองข้อมูลได้ง่าย คงจุดเด่นของ HCI เอาไว้

NetApp HCI เองก็ยังคงจุดเด่นที่ดีของ HCI เดิมเอาไว้ในแง่ของการติดตั้งใช้งานและบริหารจัดการได้ง่าย โดย NetApp ได้พัฒนาระบบติดตั้งแบบง่ายๆ พร้อมเปิดให้ NetApp SolidFire สามารถบริหารจัดการผ่าน VMware vCenter จากศูนย์กลางได้โดยง่าย ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถบริหารจัดการ NetApp HCI ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างจาก HCI ของค่ายอื่นๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ NetApp HCI ยังสามารถทำการ Integrate ระบบเข้ากับเทคโนโลยี Backup ของ NetApp ได้หลากหลาย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วองค์กรก็สามารถสำรองข้อมูลบนระบบ HCI ได้ไม่ต่างจากระบบอื่นๆ ที่มีความสำคัญสูงภายในองค์กร

 

4. ให้บริการเฉพาะ Storage ได้เหมือน SAN ใช้งานได้หลากหลาย

จากการที่ NetApp HCI นั้นใช้ NetApp SolidFire ซึ่งพื้นฐานนั้นเป็น SAN Storage จึงสามารถทำการ Mount Volume ออกไปยัง Server อื่นๆ นอกระบบ HCI ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และองค์กรเองก็มีทางเลือกเพิ่มเติมในการใช้งาน Server นอกเหนือจากในระบบ HCI ได้ในตัว

 

5. ย้ายข้อมูลระหว่าง HCI, SAN และ Cloud ได้ ด้วยแนวคิด Data Fabric

NetApp นั้นมีความเชื่อว่าในอนาคต ทุกๆ องค์กรจะต้องมุ่งไปสู่ภาพของการทำ Hybrid Cloud และ Multi-cloud อย่างแน่นอน ดังนั้นเทคโนโลยี Storage ทั้งหมดของ NetApp จึงรองรับแนวคิด NetApp Data Fabric ที่สามารถย้ายข้อมูลระหว่าง Storage ทั้งหมดของ NetApp กันเองได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย ซึ่ง Storage ของ NetApp เองก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้ง Unified Storage, All Flash Storage ไปจนถึง Cloud Storage 2 รูปแบบ ได้แก่

  • NetApp ONTAP Cloud เป็น Instance ของ NetApp ONTAP ที่สามารถติดตั้งใช้งานได้บนบริการ Cloud เช่น Microsoft Azure และ Amazon Web Services (AWS) ทำให้สามารถย้ายข้อมูลระหว่าง NetApp ONTAP Cloud และ Storage อื่นๆ ของ NetApp ได้อย่างง่ายดาย โดยเลือกใช้บริการ Cloud Storage จากผู้ให้บริการเหล่านี้มาเป็น Backend ของ NetApp ONTAP Cloud
  • NetApp Private Storage (NPS) เป็นบริการที่ NetApp จะทำการติดตั้ง Storage เอาไว้ใน Data Center ใกล้เคียงกับบริการ Cloud ที่องค์กรต้องการใช้งาน และทำการเชื่อมต่อเครือข่ายเฉพาะเพื่อให้ Compute Node บนบริการ Cloud เหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อมายัง Storage ของ NetApp ได้ด้วย Latency ต่ำและความมั่นคงปลอดภัยสูง ทำให้องค์กรมั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญจะไม่ถูกบันทึกอยู่บน Cloud และองค์กรยังสามารถควบคุมข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงใช้ NetApp Data Fabric ได้

การที่ NetApp มีทางเลือกในการ Deploy Storage ได้หลากหลายทั้งแบบ On-premises และ Cloud นี้ก็ทำให้องค์กรมีอิสระในการเลือกใช้งานเทคโนโลยี Storage ที่เหมาะสมกับความต้องการได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับการย้ายข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลทั้งหมดอีกต่อไป

Credit: NetApp

 

6. มี API ในตัวทั้งฝั่ง Compute และ Storage รองรับการทำ DevOps ได้เป็นอย่างดี

NetApp SolidFire ที่ถูกนำมาใช้ใน NetApp HCI นี้มี API ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Private Cloud อย่าง OpenStack และเทคโนโลยี Container อย่าง Docker ได้เป็นอย่างดี ทำให้ในระยะยาวแล้ว NetApp HCI ก็สามารถทำหน้าที่เป็น Infrastructure พื้นฐานสำหรับระบบ DevOps ในองค์กรได้อย่างสมบูรณ์ และเพิ่มขยายได้อย่างง่ายดาย โดยมีประสิทธิภาพสูง รองรับการ Build และ Compile อย่างต่อเนื่องได้ รวมถึงทำหน้าที่เป็นระบบ Production ที่รองรับ Workload หลากหลายได้เบ็ดเสร็จในระบบเดียว

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NetApp HCI สามารถศึกษาได้ที่ http://www.netapp.com/us/products/converged-systems/hyper-converged-infrastructure.aspx ทันที นอกจากนี้ NetApp ยังมี Infographic อธิบายจุดเด่นรวมๆ ของ NetApp HCI ให้เข้าใจง่ายดังนี้ด้วยครับ

ติดต่อทีมงาน NetApp Thailand ได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี NetApp HCI หรือเทคโนโลยี Storage อื่นๆ จาก NetApp รวมถึงกำลังมองหาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ข้อมูลขององค์กรสามารถโยกย้ายระหว่าง Cloud หลากหลายค่าย และโยกย้ายจาก On-premises Data Center กับ Cloud ได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย สามารถติดต่อทีมงาน NetApp Thailand เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม, ขอทดสอบอุปกรณ์ หรือขอใบเสนอราคาได้ทันทีที่ บริษัท เน็ตแอพ (ประเทศไทย) จำกัด โทร: 0-2126-9200

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว