ทั่วโลกเวลานี้ ผู้ให้บริการโครงข่ายยักษ์ใหญ่หลายรายได้เริ่มมีการให้บริการโครงข่ายเฉพาะสำหรับ Internet of Things (IoT) กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Comcast, SoftBank, Orange, SKT, KPN, Swisscom, Verizon, Vodafone และอื่นๆ โดยผู้ผลิตอย่าง Cisco, Samsung, Nokia และ Ericsson ต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ ใน TechCrunch ได้มีบทความวิเคราะห์ถึง 3 เหตุผลที่ควรแยกโครงข่ายของ IoT ออกมาโดยเฉพาะดังนี้

1. ประเด็นด้านอายุการใช้งาน Battery ของอุปกรณ์ IoT
โครงข่ายสำหรับระบบโทรศัพท์นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เชื่อมต่อโครงข่ายได้จากทุกที่ทุกเวลาเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการรองรับฟีเจอร์ที่เรียกว่า Hand-off หรือการรองรับผู้ใช้งานที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เช่น ขณะกำลังขับขี่รถยนต์ ให้ยังคงเชื่อมต่อโครงข่ายได้อยู่ตลอด ซึ่ง Algorithm ในส่วนนี้จะกินพลังงานแบตเตอรี่ของโทรศัพท์ค่อนข้างมาก
ในทางกลับกัน อุปกรณ์ IoT นั้นโดยส่วนมากจะทำงานในแบบ Sleep ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายก็ต่อเมื่อต้องการจะรับหรือส่งข้อมูลเท่านั้น ซึ่งโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์ไม่สามารถรองรับการทำงานลักษณะนี้ได้ และการเปิดปิดการเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลาของอุปกรณ์ IoT นั้นก็จะกินแบตเตอรี่เป็นอย่างมาก
ระบบโครงข่ายสำหรับ IoT จึงต้องถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ประหยัดพลังงานสูงสุด ทั้งในการรับส่งข้อมูลที่ใช้ชิปพิเศษเพื่อประหยัดพลังงาน, การยอมให้อุปกรณ์ IoT เข้าสู่ Sleep Mode ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายใหม่ได้โดยกินพลังงานน้อยที่สุด
2. ประเด็นด้านราคา
การให้บริการโครงข่ายสำหรับ IoT บนโครงข่ายเดิมนั้นถือว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากอุปกรณ์ IoT นั้นต้องการการเชื่อมต่อที่เสถียรและรับส่งข้อมูลได้ทันทีตามต้องการ ในขณะที่ต้องรองรับอุปกรณ์จำนวนมากได้ แต่ด้วยโครงข่ายปัจจุบันที่มีการใช้งานโทรศัพท์เป็นจำนวนมากอยู่แล้วและผู้ใช้งานโทรศัพท์นั้นก็สร้างรายรับให้กับธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายเป็นอย่างมาก การที่อุปกรณ์ IoT ซึ่งต้องการรับส่งข้อมูลเพียงจำนวนเล็กน้อยต่ออุปกรณ์จะมี Priority ในการรับส่งข้อมูลที่เหนือกว่าผู้ใช้งานเหล่านี้ที่ยอมจ่ายเงินในราคาสูงต่อเดือนต่ออุปกรณ์จึงเป็นไปไม่ได้เลย
สิ่งที่ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องทำก็คือ การย้ายไปใช้สัญญาณย่าน Unlicensed Band หรือ Guard Band แทนเพื่อประหยัดค่าเช่าลง และหันไปใช้เทคโนโลยีโครงข่ายที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการให้บริการแทน เพื่อให้การลงทุนของฝั่งผู้ให้บริการเอง และค่าบริการที่ต้องคิดกับผู้ใช้งานนั้นมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด และไม่ไปเบียดบังบริการหลักเดิมอย่างโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์
3. ประเด็นด้านความครอบคลุมของสัญญาณ
IoT นั้นต้องการการเชื่อมต่อที่มีความครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่ห่างไกล เช่น พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร แต่ไม่ได้ต้องการปริมาณ Bandwidth ที่สูงหรือการเชื่อมต่อที่ต้องเกิดขึ้นสม่ำเสมอตลอดเวลาอย่างอุปกรณ์โทรศัพท์ ในขณะเดียวกัน IoT นั้นก็ไม่ได้ต้องการการเชื่อมต่อที่ทะลุทะลวงเข้าถึงบ้านหรืออาคารทุกหลังได้เสมอไป เพราะสำหรับพื้นที่ที่เชื่อมต่อภายในอาคารได้นั้น ผู้ใช้อุปกรณ์ IoT ก็อาจจะใช้งานได้ทันที แต่หากพื้นที่ไหนที่สัญญาณไม่ครอบคลุม โดยปกติอุปกรณ์ IoT ก็รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi อยู่แล้ว และผู้ใช้งานก็สามารถติดตั้ง Wireless Access Point เองได้อยู่ดี
ก็ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจดีครับ และเหตุผลหลายข้อก็ดูสมเหตุสมผลดีทีเดียว