หลังจากที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในฝั่งองค์กร หนึ่งในอาชีพทางด้าน IT ที่ต้องมีการปรับตัวมากที่สุดอาชีพหนึ่งก็คือ Network Engineer ที่ต้องมารับมือกับทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ในฝั่ง Data Center, Cloud และ Endpoint ไปพร้อมๆ กัน วันนี้ทีมงาน TechTalkThai ขอมาสรุปแนวทางการปรับตัวที่เหล่า Network Engineer ทั่วไทยควรทำในปี 2017 กันดังนี้ครับ

1. ระบบเครือข่ายขององค์กร ไม่ได้มีอยู่แค่ภายในองค์กรอีกต่อไป
ต้องยอมรับกันแล้วว่าในปี 2017 นี้ Smartphone, Tablet และ Cloud นั้นได้กลายเป็นเครื่องมือที่หลายๆ องค์กรใช้ในการทำงานกันอย่างเต็มตัวแล้ว และการเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อทำงานนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในองค์กร เมื่อก่อนเราอาจคุ้นกับการที่ผู้ใช้งานต้อง VPN เข้ามาในบริษัทก่อนถึงจะทำงานได้ แต่ทุกวันนี้ภาพเปลี่ยนไปเป็นการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่าง Mobile กับ Cloud แทนโดยไม่ผ่านระบบเครือข่ายขององค์กรอีกต่อไปแล้ว คำถามคือแล้วองค์กรจะควบคุมการเชื่อมต่อเหล่านี้ได้อย่างไร? หรืออาจต้องถามย้อนไปเลยด้วยซ้ำว่าองค์กรยังจำเป็นต้องควบคุมการเชื่อมต่อลักษณะนี้หรือไม่?
ในทางกลับกัน องค์กรเองนั้นก็ยังต้องคิดเผื่อกรณีของการใช้อุปกรณ์ Mobile เชื่อมต่อจากภายนอกกเข้ามายัง Application ภายในองค์กร และกรณีที่เครื่องลูกข่ายภายในองค์กรต้องเชื่อมต่อออกไปยังระบบ Cloud ภายนอกอีกด้วย ทำให้จำนวนกรณีการใช้งานระบบเครือข่ายขององค์กรนั้นหลากหลายยิ่งกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก และประเด็นนี้ก็จะเกี่ยวข้องไปถึงการรักษาความปลอดภัยของเครื่องลูกข่ายและการเชื่อมต่อต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
นอกจากนี้ Internet of Things (IoT) เองก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่จะต้องมีการติดตั้งใช้งานทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT เหล่านี้ก็จะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจองค์กรในแต่ละวันอย่างชัดเจน ทำให้ประเด็นทั้งด้าน Availability และ Security นั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับระบบเครือข่าย IoT เป็นอย่างมาก
การออกแบบระบบเครือข่ายของแต่ละองค์กรในทุกวันนี้จึงต้องคิดถึงประเด็นเหล่านี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น และต้องล้อไปกับทุกส่วนของการออกแบบระบบเครือข่าย ทั้งการวางผังระบบเครือข่าย, การเลือกเช่าใช้บริการ Internet, การจัดการ Endpoint, การเลือกใช้ Application, การเลือกใช้บริการ Cloud และอื่นๆ อีกมากมาย โดยนอกจากจะต้องคำนึงถึงประเด็นด้านความทนทาน และความปลอดภัยแล้ว ความง่ายในการใช้งานก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน
2. เทคโนโลยีและสถาปัตยกรรม Network ฝั่ง Data Center เกิดใหม่เยอะมาก วางแผนเรียนรู้ให้ดี
การมาของทั้ง Private Cloud, Hybrid Cloud, Multi-Cloud และ Container นั้นได้สร้างมิติใหม่ของระบบเครือข่ายภายใน Data Center เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดของ Layer ใหม่จากการทำ Software-Defined Networking, การเกิดระบบเครือข่ายวงใหม่ๆ อย่างมหาศาลจากการสร้าง Cluster ด้วย Container, การเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่าง Data Center และ Cloud ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งประเด็นทางด้านประสิทธิภาพ, ความทนทาน และความปลอดภัยนั้นล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ในขณะที่โปรโตคอลใหม่ๆ และมาตรฐานใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมารองรับต่อสถาปัตยกรรมเหล่านี้กันมากมาย การเรียนรู้ในฝั่ง Data Center Network จึงมี Learning Curve ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และสำหรับแนวโน้มใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง Micro Data Center ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการมาของสถาปัตยกรรมระบบสำหรับ IoT โดยเฉพาะนั้นก็กำลังจะสร้างความซับซ้อนที่สูงขึ้นไปอีก เพราะสำหรับองค์กรที่มีกลยุทธ์ทางด้าน IoT นั้น การมี Micro Data Center เพิ่มขึ้นมา 10 แห่งหรือมากกว่านั้นในเวลาอันสั้นนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ และภาพระบบเครือข่ายขององค์กรที่มักมี Data Center เพียงไม่กี่แห่งเพื่อให้บริการสาขาจำนวนมากนั้น ก็อาจพลิกกลับเป็นว่าองค์กรนั้นมี Data Center จำนวนพอๆ กับสาขาที่มีอยู่เลยก็เป็นได้
การออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับ Data Center ในปัจจุบันและอนาคตนี้มีความหลากหลายยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก และนี่ก็เป็นความท้าทายที่เหล่า Network Engineer ต้องเผชิญ
3. การเชื่อมระบบเครือข่ายระหว่าง Cloud และ Data Center ขององค์กรเข้าด้วยกัน คือสิ่งที่ต้องทดสอบให้มั่นใจ
การทำ Hybrid Cloud นั้นเริ่มกลายเป็นประเด็นที่เหล่าองค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกันมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อ Data Center ขององค์กรเข้ากับ Cloud เพื่อใช้งานในแบบ Virtual Private Cloud เองนั้นก็ได้รับความนิยมทั้งในแง่ของการนำ Cloud มาใช้งานเพื่อรองรับการเพิ่มขยายได้ง่ายดายอย่างปลอดภัย ไปจนถึงการทำ Remote Backup หรือ Disaster Recovery หรือแม้แต่การทำ DevOps ทั้งหมดบน Cloud ก็ตาม
สิ่งที่เหล่า Network Engineer ต้องให้คำตอบในกรณีนี้ให้ได้ก็คือ Best Practice ในการเชื่อมต่อระหว่าง Data Center กับผู้ให้บริการ Cloud แต่ละเจ้า รวมถึงมีตัวเลขหรือการทดสอบคร่าวๆ ว่าการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด รวมถึงต้องมีวิธีการในการตรวจวัดว่าการเชื่อมต่อเหล่านั้นมีเสถียรภาพมากพอ, มีความปลอดภัยเพียงพอ และมีประสิทธิภาพที่ดีพอสำหรับ Application ที่ใช้งานอยู่หรือไม่ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหากเลือกใช้บริการ Cloud ของผู้ให้บริการรายใดแล้ว การเชื่อมต่อเครือข่ายจะไม่เป็นปัญหา หรือเป็นปัญหาในระดับที่ผู้ดูแลระบบยังคงแก้ไขเองได้ให้มากที่สุด เพื่อให้ Uptime สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ (รวมถึงบางกรณีอาจต้องมีหลักฐานไปยืนยันกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยว่า ระบบล่มเป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ แทนที่จะปล่อยให้เหล่าผู้ให้บริการโยนภาระใส่กันเองในระหว่างที่เกิด Downtime)
4. SD-WAN: ทางเลือกใหม่ในการเชื่อมเครือข่ายระหว่างสาขาขององค์กร
การเชื่อมต่อระบบเครือข่ายระหว่างสาขาขององค์กรเองนั้นก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย และ SD-WAN เองก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีทางเลือกที่น่าสนใจซึ่งองค์กรควรนำมาพิจารณาว่าเหมาะสมต่อธุรกิจของตนหรือช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และแน่นอนว่าการทดสอบเทคโนโลยีนี้ในการใช้งานจริงก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อทดสอบว่าสภาพแวดล้อมของระบบเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกองค์กรเหมาะสมต่อการใช้งานในกรณีนี้หรือไม่
5. ระบบเครือข่ายใน Private Cloud และ Container: โจทย์ใหม่ที่ต้องขบคิด
ประเด็นนี้ต้องถูกแยกออกมาอีกข้อเพราะถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากการที่ Network Engineer จะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเครือข่ายภายใน Private Cloud หรือ Container ได้นั้น ก็ต้องมีการทดสอบและเรียนรู้จากเทคโนโลยีจริง ซึ่งการติดตั้ง Lab ของเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้อย่างสมบูรณ์นั้นก็ต้องอาศัยความรู้นอกสาย Network ค่อนข้างมาก และก็เป็นจุดหนึ่งที่ชี้ชัดแล้วว่า “Network Engineer ทุกวันนี้จะรู้แต่เรื่อง Network เท่านั้นไม่ได้อีกแล้ว”
ทางลัดทางหนึ่งที่พอจะช่วยได้บ้างก็คือการลงทุนเช่าใช้บริการ Cloud หรือ Container ภายนอก หรือใช้บริการที่เปิดให้ลองใช้ฟรีเพื่อเรียนรู้มุมมองการออกแบบในประเด็นเหล่านี้ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการช่วยแนะนำทีม Systems และ Application ทางด้านการออกแบบระบบเครือข่ายบนเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปจนถึงการวางแผนทำ Automation ในระยะยาวเพื่อให้ระบบเครือข่ายที่มีอยู่สามารถรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
6. เพิ่มบทบาทใหม่จากผู้เชี่ยวชาญ ต้องกลายเป็นผู้ให้คำแนะนำด้วย
Network Engineer จะต้องมีความรู้รอบที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยจาก 5 ข้อข้างต้นนั้น Network Engineer ก็ควรจะเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมทั้งให้ข้อมูลจากประสบการณ์, การทดสอบ หรือแง่มุมที่ควรต้องประเมินเพิ่มเติมได้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับประเด็นทางด้านระบบเครือข่าย เช่น หากองค์กรตัดสินใจเช่าใช้บริการ Cloud จากผู้ให้บริการ Cloud รายหนึ่ง Network Engineer ต้องพอมีข้อมูลคร่าวๆ แล้วว่าผู้ให้บริการรายนี้มี Data Center อยู่ที่ใดบ้าง, การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร, มีตัวช่วยในการเสริมประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยหรือไม่, การทำ Redundant จะต้องออกแบบอย่างไร ไปจนถึงหากจะทำ Multi-Cloud ต้องปรับเปลี่ยนอะไรภายในระบบเครือข่ายขององค์กรบ้าง เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ในฝั่ง Data Center เท่านั้น แต่ฝั่งของ Endpoint เอง Network Engineer ก็ต้องมีความรู้พื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการบน Mobile Device แต่ละตัวรองรับการยืนยันตัวตนหรือการทำ VPN ด้วยเทคโนโลยีใดบ้าง, วิธีการใดง่ายและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ใช้งาน และอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานที่เปลี่ยนไปในทุกวันนี้
7. การบริหารจัดการระบบเครือข่ายก็ยังคงเป็นงานสำคัญ และ Automation ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำ
ระบบเครือข่ายขององค์กรนี้นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนสูงขึ้น องค์กรขนาดเล็กหรือขนาดกลางไม่ได้จำเป็นจะต้องมี Data Center ขนาดเล็กอีกต่อไป การเรียนรู้เรื่องการเขียน Script หรือการทำ Automation เพื่อลดเวลาที่ใช้ในการทำงานและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นก็เป็นแนวทางที่สำคัญอยู่ดี
ประเด็นนี้อาจต้องย้อนไปถึง Network Engineer บางคนที่มาทำงานสายนี้เพราะไม่อยากเขียนโปรแกรมกันเลยด้วยซ้ำ ว่าทุกวันนี้จะคิดอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว
8. ระบบเครือข่ายสำหรับ IoT: อีกเทคโนโลยีใหญ่ที่ต้องเรียนรู้และทดสอบ
Internet of Things (IoT) นั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่มาใหม่ ทั้งอุปกรณ์ใหม่ๆ และความต้องการเฉพาะทางแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมามากมายนี้ก็ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายแบบใหม่ๆ ตามมา และเหล่า Network Engineer เองก็ต้องเริ่มทำความรู้จักกับมาตรฐานเหล่านี้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็น LPWAN, LoRa-WAN, ZigBee, 6LowPAN, NB-IOT, SigFox และอื่นๆ รวมไปถึง 5G ที่อนาคตจะเริ่มเข้ามามีบทบาทกับองค์กรมากขึ้น และผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบเครือข่ายภายในองค์กรมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อความต้องการมากที่สุดได้ในแต่ละกรณีตามความต้องการที่แตกต่างกันไป
และแน่นอนว่าระบบเครือข่ายใหม่นั้น ก็ต้องมาพร้อมกับแนวคิดการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบใหม่ๆ การรักษาความปลอดภัยให้กับเหล่าอุปกรณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายและมีพฤติกรรมเฉพาะตัวอย่างนี้ ต้องอาศัยการออกแบบเฉพาะในแต่ละครั้งแยกกันไปด้วยเช่นกัน
9. เรียนรู้เทคโนโลยีฝั่ง Application, Systems และ Security เพิ่ม
จากข้อที่ผ่านๆ มาทั้งหมด ก็อยากจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “Network Engineer ทุกวันนี้จะรู้แต่เรื่อง Network เท่านั้นไม่ได้อีกแล้ว” ดังนั้นการเรียนรู้เทคโนโลยีอื่นรอบๆ อย่างเช่น Application, Systems และ Security นั้นก็จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับเหล่าผู้ดูแลระบบเครือข่ายแต่ละคนได้เป็นอย่างดี และทำให้มีมุมมองใหม่ๆ ในการคิด, การออกแบบ และการวางแผนในระยาวที่ดีขึ้น รวมถึงยังจะเป็นประโยชน์ต่อการวาง Career Path ในอนาคตอีกด้วย
10. Open Networking: อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ควรติดตาม
หัวข้อนี้ยังไม่เป็นที่พูดถึงในไทยกันซักเท่าไหร่นัก แต่แนวคิดของ Open Networking ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายให้เป็นมาตรฐานกลางรวมถึงเปิดเป็น Open Source เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการสร้างระบบเครือข่ายที่สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการและประหยัดต้นทุนลงไปจากการใช้เทคโนโลยีจากผู้ผลิตแต่ละรายเองนั้นก็กำลังเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากฝั่งของ Data Center กันไปพอสมควรแล้ว และในอนาคตก็จะมี Open Networking ในฝั่งของ Client Network ตามมาอย่างแน่นอน การติดตามแนวโน้มเหล่านี้เอาไว้ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างระบบเครือข่ายแต่ละรูปแบบได้ในอนาคตเช่นกัน
สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ