CDIC 2023

AI & ML is now – ธุรกิจต้องตามโลกให้ทันด้วย AI และ Machine Learning

ปัจจุบัน AI และ Machine Learning นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่อีกต่อไป และธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต้องมีความตื่นตัวที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้งานเพื่อสร้างประสิทธิภาพที่ทัดเทียมกับธุรกิจคู่แข่งทั่วโลก ทำไมต้องใช้งาน AI? พนักงานในปัจจุบันจะถูกแทนที่หรือไม่ ติดตามความคิดเห็นของ ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และ CEO บริษัท ZTRUS ได้ในบทความนี้

วิวัฒนาการของ AI และ Machine Learning

AI และ Machine Learning นั้นแท้จริงแล้วเป็นแนวคิดที่มีมาแล้วมากกว่า 60 ปี ในระยะเริ่มแรกเทคโนโลยีดังกล่าวมีความซับซ้อนน้อยและทำงานได้ไม่หลากหลายนัก แต่ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการประมวลผลและฮาร์ดแวร์ที่รองรับการใช้งาน AI มากขึ้น ทำให้ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ AI และ Machine Learning ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในธุรกิจ

ในช่วงปี 2015 เป็นต้นมา AI ถูกหยิบขึ้นมาใช้งานในธุรกิจกันมากขึ้น ด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า เราได้เห็นเทคโนโลยี AI ใหม่ๆมากมายในช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่าง Siri จาก Apple, Alexa จาก Amazon หรือ Google Assistant จาก Google, ระบบแนะนำสินค้าและบริการต่างๆ เช่น Recommendation จาก Netflix หรือในร้านค้าออนไลน์ รวมไปถึงเทคโนโลยี Deep Learning ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมากกว่าเก่า และถูกนำไปใช้ในงานวิจัยต่างๆ เช่น Alpha Go ที่สามารถเล่นโกะและแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลกได้ หรืองานวิจัยด้านการประมวลผลภาษาต่างๆ 

จนกระทั่งในปัจจุบัน ดร.พณชิตมองว่าการใช้ AI และ ML ในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นยิ่งที่ธุรกิจในทุกๆอุตสาหกรรมควรนำมาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระการทำงานของมนุษย์

“ต้องเข้าใจว่า AI จะเข้ามามีบทบาทอยู่ในทุกอุตสาหกรรม 5-6 ปีที่แล้วใครมี AI ถือว่าได้เปรียบกว่าคู่แข่ง แต่ปัจจุบันใครไม่มี AI โอกาสรอดต่ำ”

AI ใช้งานได้ทุกอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้งานในส่วนใด

จากมุมมองของ ดร.พณชิต เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นมีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย และทุกอุตสาหกรรมก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีนี้ได้ โดย AI จะเข้าไปช่วยในกระบวนการทำงานด้านต่างๆขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการเชื่อมต่อเครื่องจักร การผลิต การเงินและการบัญชี การจัดการคลังสินค้า

รูปแบบงานที่นิยมใช้ AI เข้ามาช่วยในปัจจุบันนั้น คุณพณชิตกล่าวว่ามักจะเป็นงานที่ต้องทำซ้ำๆและสม่ำเสมอ เช่น งานกรอกข้อมูลเอกสาร หรืองานเคลื่อนที่สินค้าไปกลับในตำแหน่งเดิมซ้ำๆ โดยงานประเภทนี้หากใช้มนุษย์ทำจะสิ้นเปลืองเวลาทำงานของบุคลากรที่มีทักษะสูงและสามารถทำงานอื่นๆที่ AI ยังทำได้ไม่ดี

ตัวอย่างหนึ่งของการนำ AI เข้าไปใช้งาน คือระบบบัญชีของ บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด ซึ่งในการทำงานต้องมีการอ่านใบเสร็จและป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบและตรวจสอบให้มีความถูกต้อง ซึ่งเมื่อใช้ AI เข้ามาช่วยก็สามารถจะทำการอ่านข้อมูลจากใบเสร็จและกรอกลงระบบได้อย่างอัตโนมัติ นักบัญชีที่มีความสามารถในการทำงานอื่นๆก็สามารถประหยัดเวลา นำเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้ อีกทั้ง AI ยังมีความรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจได้อีกด้วย 

AI ทำงานได้ดี แต่ยังมีข้อจำกัด

ถึงแม้ AI และ Machine Learning ในปัจจุบันจะสามารถทำงานได้เป็นอย่างดีในหลายด้าน แต่ก็ยังมีงานอีกหลายด้านที่ AI ยังไม่สามารถทำได้สมบูรณ์ และงานหลายประเภทก็ต้องการผู้ทำงานที่เป็นมนุษย์ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลรอบด้านมากกว่า ดังนั้นดร.พณชิตจึงเชื่อว่าพนักงานที่เป็นมนุษย์ไม่ควรกลัวการเข้ามาของ AI และต้องรู้จักนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานในธุรกิจ

ข้อจำกัดหนึ่งของ AI คือความรับผิดชอบต่อเนื้อหางาน และความเข้าใจในเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ธุรกิจต้องวางแผนในการใช้งานและโยกย้ายมนุษย์ไปทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถและจุดเด่นของมนุษย์ เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ หรืองานบริหารจัดการ

“มนุษย์ต่างก็ไม่สามารถทำงานได้แม่นยำ 100% แต่สิ่งที่มนุษย์มีคือ ‘ความเชื่อใจ’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ AI ที่มาจาก Artificial Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ แต่ Artificial Responsibility หรือความรับผิดชอบแบบประดิษฐ์ ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ เพราะความรับผิดชอบเกิดจากจิตใจมนุษย์เท่านั้น” 

โดยเมื่อธุรกิจเข้าใจถึงจุดแข็งและข้อจำกัดของทั้ง AI และพนักงาน ก็จะสามารถจัดสรรรูปแบบงานให้ผู้ทำงานแต่ละฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพของการทำงานและเพิ่ม Productivity ในระยะยาวให้กับองค์กร

ดร.พณชิตกล่าวทิ้งท้ายว่าการทำความเข้าใจและเปิดรับเทคโนโลยี AI และ Machine Learning นั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปในอนาคตและไม่ตกขบวนธุรกิจในยุคดิจิทัลแน่นอน

อ่านความคิดเห็นของดร.พณชิต กิตติปัญญางาม เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/07/20/1221/ 


Check Also

“หัวเว่ย” เผย 3 เทรนด์สำคัญของคลาวด์สำหรับภาคองค์กรไทย [Guest Post]

ปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์ กลายเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่แทบทุกองค์กรในประเทศไทยหันมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานของตนเองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะคลาวด์ถือเป็นตัวแปรหลักที่สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน พัฒนาประสิทธิภาพของการทำงานในองค์กร และที่สำคัญคือสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจจากการลดต้นทุนและส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า จุดแข็งที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้องค์กรต่างๆ ในบ้านเรา ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่มาจนถึงขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอี ต่างปรับตัวมาใช้งานคลาวด์กันอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมที่ต่างกันก็มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป และการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจหรือบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้ภาคองค์กรไทยมีความต้องการที่จะติดตั้งและใช้บริการคลาวด์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นตามไปด้วย …

ขอเชิญร่วมงานสัมมนา Digital Fundamental for the Future [10 ต.ค. 2566 เวลา 8.00 – 16.20น. ณ โรงแรม Marriott Marquis Queen’s Park]

Computer Union ขอเรียนเชิญ CTO, CIO, CISO, IT Manager, Cybersecurity Manager, Systems Engineer, Data Center Engineer, …