Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

Gigabit WiFi: 802.11ac กับ 5 สิ่งที่คุณควรรู้

ieee_802-11ac

มาตรฐาน IEEE 802.11ac เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในปีที่ผ่านมา อุปกรณ์เครือข่ายไร้สายส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Aruba, Cisco, Ruckus ต่างออก AP รุ่นใหม่ที่รองรับมาตรฐาน 802.11ac กันทั้งนั้น พร้อมๆกับโฆษณาว่า ต่อไปเราจะได้ใช้ WiFi ที่มีความเร็วในระดับ Gigabit ไม่ต่างจากการเสียบสาย LAN เลยทีเดียว ทีมงาน TechTalkThai จึงรวบรวมข้อมูลมาเพื่อตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับมาตรฐาน 802.11ac ที่ทุกคนควรรู้ก่อนที่จะซื้อมาใช้งาน

1. 802.11ac อาจไม่ได้ให้ความเร็วถึงระดับ Gigabit

มันเป็นเรื่องจริงที่ว่า 802.11ac เร็วกว่า 802.11n เกิน 2 เท่า ทำให้รองรับการสตรีมวิดีโอระดับ HQ ไปยังอุปกรณ์หลายๆเครื่องพร้อมกันได้สบาย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังไม่มีใครทำความเร็วได้ถึง 1.3 Gbps เนื่องจากต้องทดลองในห้องแล็บ ร่วมกับอุปกรณ์เฉพาะทางด้านเครือข่ายไร้สาย

เพื่อให้ได้ความเร็วสูงสุด เราต้องใช้การรับส่งข้อมูลพร้อมกัน 3 ชุด (3 Spatial Streams) ซึ่งแต่ละชุดจะได้ความเร็วสูงสุดที่ 433 Mbps ตอนนี้ AP รองรับการรับส่งข้อมูลพร้อมกันสูงสุด 3 ชุดแล้ว ในขณะที่อุปกรณ์รับสัญญาณ เช่น โน๊ตบุ๊ค มือถือ และแท็บเล็ตรุ่นใหม่ๆจะรองรับเพียงแค่ 1 – 2 ชุดเท่านั้น (ความเร็วสูงสุด 867 Mbps)[1] ส่วนชิบเซ็ตที่ใช้รับสัญญาณของโน๊ตบุ๊คระดับ High-End ในปัจจุบัน รองรับที่ 3 ชุด (ความเร็วสูงสุด 1.3 Gbps)[2]

2. ปัญหาเรื่องขอบเขตสัญญาณ

เนื่องจาก 802.11ac ทำงานบนช่วงความถี่ 5 GHz ซึ่งมีขอบเขตสัญญาณแคบกว่าช่วงความถี่ 2.4 GHz อย่างไรก็ตาม 802.11ac มีฟังก์ชันที่เรียกว่า Beam-forming ทำหน้าที่ปรับมุมของเสา Antenna และบีบสัญญาณให้ยิงไปหาอุปกรณ์รับสัญญาณโดยตรง ส่งผลให้ได้ระยะทางที่ไกลขึ้น (แต่ละเสาทำงานอิสระต่อกัน ทำให้แบ่งกันยิงสัญญาณไปยังอุปกรณ์หลายๆเครื่องพร้อมกันได้) แต่กรณีที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ฟังก์ชันนี้ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ จึงจำเป็นต้องเข้าใกล้ AP มากขึ้นเพื่อที่จะได้รับสัญญาณที่ดีขึ้น

beam_forming

3. ความเข้ากันได้กับอุปกรณ์รุ่นก่อน

AP ที่ใช้มาตรฐาน 802.11ac สามารถรองรับเทคโนโลยี Wi-Fi แบบเก่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ 802.11n หรือ 802.11g (แต่จะได้ความเร็วสูงสุดตามอุปกรณ์รับสัญญาณ) นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงระบบ LAN ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สาย LAN แบบ CAT5c หรือ CAT6 ที่รองรับความเร็วสูงสุดที่ 1 Gbps เท่านั้น และสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 200 Mbps ส่งผลให้ต่อให้สัญญาณเครือข่ายไร้สายเร็วแค่ไหน ก็จะเกิดคอขวดขึ้นที่ระบบ LAN และสัญญาณอินเตอร์เน็ตทันที

4. การทับซ้อนกันของช่องสัญญาณ

คนที่เคยออกแบบระบบเครือข่ายไร้สายบนคลื่นความถี่ 2.4 GHz น่าจะเคยประสบปัญหานี้กันทุกคน ถึงแม้ว่าจะมีช่องสัญญาณให้ใช้ได้ถึง 14 ช่อง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงสัญญาณรบกวนที่จะส่งผลให้ประสิทธิภาพลดต่ำลง เราสามารถเลือกใช้จริงได้เพียงแค่ 3 ช่องเท่านั้น แต่ในมาตรฐาน 802.11n บนคลื่นความถี่ 5 GHz มีช่องสัญญาณที่สามารถใช้ได้โดยไม่ถูกรบกวนมากกว่า 20 ช่อง ทำให้หมดความกังวลเรื่องช่องสัญญาณจะชนกัน

แต่ในมาตรฐาน 802.11ac นั้น เพื่อให้ได้ความเร็วสูงขึ้น จึงใช้ช่องสัญญาณที่มีความกว้าง 80 และ 160 MHz แทนที่จะเป็น 20 MHz เหมือน 802.11n ส่งผลให้สามารถเลือกใช้ข่องสัญญาณที่จะทำให้ไม่เกิดการรบกวนกันของสัญญาณได้สูงสุดเพียง 5 และ 2 ช่อง ตามลำดับเท่านั้น ดังนั้น ผู้ดูแลระบบจึงควรใช้ความระมัดระวังในการออกแบบระบบเครือข่ายไร้สายบนพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น และจำเป็นต้องใช้ AP หลายเครื่องด้วย

wifi_802-11ac_channel

5. 802.11ac ต้องการพอร์ทและสาย LAN มากกว่าเดิม

ส่วนใหญ่มักจะคิดว่า มาตรฐาน 802.11ac จะช่วยให้เราใช้สาย LAN น้อยลง ใช้อุปกรณ์จำพวกสวิตช์น้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น … ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องตรงกันข้าม เนื่องจากถ้าเราต้องการให้ได้ความเร็วสูงถึง 1.3 GHz จริงๆ นั่นหมายความว่า เราต้องเชื่อมต่อ AP กับระบบเครือข่ายด้วยสาย LAN จำนวน 2 สาย และจำนวนสวิตช์ก็ต้องเพิ่มมากขึ้นเกือบ 2 เท่า

สุดท้ายนี้ ทางทีมงาน TechTalkThai ขอแนะนำให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเข้าไปสู่ระบบโครงสร้างเครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน IEEE 802.11ac ควรให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) และตัวแทนจำหน่ายอธิบายถึงคุณสมบัติ เงื่อนไข และการติดตั้งโดยรายละเอียด รวมทั้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าคุ้มค่าที่จะลงทุน และพร้อมใช้งานในอนาคต

เกี่ยวกับมาตรฐาน IEEE 802.11ac
เป็นมาตรฐานใหม่ของระบบเครือข่ายไร้สาย ที่คาดว่าจะมาแทนที่มาตรฐาน IEEE 802.11n ในอนาคต โดยใช้การมอดูเลตสัญญาณแบบใหม่, ปรับช่องสัญญาณให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และรองรับการส่งข้อมูลพร้อมกันถึง 8 ชุด (8 Spatial Streams) ส่งผลให้มาตรฐาน IEEE 802.11ac สามารถทำความเร็วสูงสุดตามทฤษฎีได้ที่ประมาณ 6.93 Gbps แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถรับส่งข้อมูลพร้อมกันได้เพียง 3 ชุด และความเร็วสูงสุดประมาณ 1.3 Gbps เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน IEEE 802.11ac จะรองรับการใช้งานเฉพาะบนคลื่นความถี่ 5 GHZ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน IEEE 802.11ac ได้ที่นี่)

อ้างอิง [1]: http://www.broadcom.com/press/release.php?id=s827695
อ้างอิง [2]: http://www.pcmag.com/article2/0,2817,2426153,00.asp

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจของคุณด้วย Microsoft Azure – ลุ้นรับสิทธิโปรโมชันดีๆ จาก Ingram Micro

ในยุคดิจิทัลที่การแข่งขันรุนแรง ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวและหาทางเพิ่มประสิทธิภาพอยู่เสมอ แต่ก็พบว่ามีปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับระบบ IT Infrastructure ในองค์กร ตัวอย่างเช่น

สัมผัสประสบการณ์ “ZStack Cloud” จัดการ Private Cloud ได้ง่าย ๆ ผ่านเบราว์เซอร์

ในบทความนี้ ทีมงานจะพาไปสัมผัสประสบการณ์การใช้งานและความง่ายของ ZStack Cloud ในการบริหารจัดการ Private Cloud ว่าหน้าจอการจัดการ Virtual Machine (VM) ผ่านเบราว์เซอร์นั้นเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีเครื่องมือสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมอีกที่มีให้ภายใน ZStack Cloud ที่ใช้งานได้ฟรี ๆ

Leave a Reply