หลายคนในวงการ IT น่าจะเคยได้ยินชื่อ Magic Quadrant ของ Gartner มาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเวลาที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) เข้ามานำเสนอโซลูชันของตนเอง ก็มักจะนำ Magic Quadrant มาอ้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “เราอยู่ด้านขวาบนของ Gartner” หรือ “เราเป็น Leader ของ Gartner มา 2 ปีแล้ว” อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งบางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า Gartner คืออะไร Magic Quadrant หมายความว่าอย่างไร แล้วพวกผลิตภัณฑ์ที่อยู่ด้านขวาบน มันดีกว่าตำแหน่งอื่นๆอย่างไร ทางทีมงาน TechTalkThai (ซึ่งก็ใช้ Magic Quadrant หากินทุกครั้งที่ต้องไปพรีเซ็นต์โซลูชัน) จึงขอสรุปความหมายและการใช้งานของ Gartner’s Magic Quadrant ดังนี้
Gartner’s Magic Quadrant คืออะไร ?
Magic Quadrant คือ ชื่อของรายงานการวิจัยทางการตลาด (Market Research Reports) โดยบริษัท Garner Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการวิจัยและให้คำปรึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการวิเคราะห์เชิงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในตลาด รวมทั้งทิศทาง, พัฒนาการของเทคโนโลยี และผู้มีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ
รายงานการวิจัยดังกล่าวจะจัดแบ่งตามเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น Enterprise Network Firewall, Wired and Wireless Access LAN, WAN Optimization Controller และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งจะถูกจัดทำขึ้นทุกๆ 1 – 2 ปี
Gartner’s Magic Quadrant มีประโยชน์อย่างไร ?
รายงานการวิจัย Magic Quadrant มีประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุน รวมถึงบริษัทหรือองค์กรที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการและธุรกิจของตนเอง โดยมีข้อมูลจุดแข็งและข้อควรระวังเปรียบเทียบกันระหว่างแต่ละ Vendor
ใช้งาน Gartner’s Magic Quadrant อย่างไร
แทนที่จะแสดงเป็นสถิติหรืออันดับ Magic Quadrant ใช้กราฟเมทริกซ์ 2 มิติในการแสดงจุดแข็งและความแตกต่างของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ Completeness of Vision (แกน X) และ Ability to Execute (แกน Y)
- Completeness of Vision อธิบายง่ายๆ คือ วิสัยทัศน์ของ Vendor ว่ามีมุมมอง และการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองสอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตหรือไม่ ประกอบด้วย 8 ปัจจัย คือ ความเข้าใจในตลาด, กลยุทธ์ทางการตลาด, กลยุทธ์ทางการขาย, การพัฒนาฟังก์ชันใหม่ๆ, โมเดลเชิงธุรกิจ, การตอบโจทย์ตลาดและอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจง (Vertical Industry), นวัตกรรมใหม่ และการทำธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศอื่นๆ
- Ability of Execute หรือภาษาชาวบ้าน คือ ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เกิดจากการตอบโจทย์ลูกค้าในปัจจุบัน ประกอบด้วย 7 ปัจจัย คือ ผลิตภัณฑ์และการให้บริการ, ความมั่นคงของบริษัท, ความสามารถทางการขายและการต่อรองราคา, การตอบสนองต่อตลาด, การจัดการตลาด, ประสบการณ์ของลูกค้า และการดำเนินงานของบริษัท
ยิ่งตำแหน่งของผลิตภัณฑ์อยู่ด้านขวามาก แสดงว่ามี Completeness of Vision สูง และย่ิงอยู่ตำแหน่งบนมาก แสดงว่ามี Ability to Execute สูงเช่นกัน โดยเมทริกซ์จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เพื่อแสดงความสามารถของแต่ละผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- Leaders: คะแนนสูงทั้งด้านวิสัยทัศน์ เทคโนโลยี และส่วนแบ่งการตลาด ส่วนใหญ่จะเป็น Vendor ขนาดใหญ่ มีประสบการณ์ยาวนาน ฐานลูกค้าเยอะ และเข้าใจถึงความต้องการของตลาด ซึ่งแผนงานของ Vendor อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดโดยรวมได้
- Challengers: มีความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีแผนงานหรือนวัตกรรมใหม่ที่เด่นชัด รวมทั้งอาจจะยังไม่เข้าใจตลาดเพียงพอ ส่วนใหญ่จะเป็น Vendor เจ้าใหญ่ๆที่พยายามลดความเสี่ยงหรือลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับแผนงานในปัจจุบัน
- Visionaries: ตระหนักถึงทิศทางการตลาดและเทคโนโลยีในอนาคต และพร้อมที่จะพัฒนาไปทางนั้น แต่ยังไม่สามารถนำเสนอศักยภาพดังกล่าวให้ลูกค้าได้ ส่วนใหญ่จะเป็น Vendor เจ้าเล็กๆที่ปรับกลยุทธ์ทางการแข่งขัน, มีเทคโนโลยีใหม่หรือ Vendor ที่พยายามสร้างความแตกต่าง
- Niche Players: คะแนนต่ำทั้งเรื่องวิสัยทัศน์และส่วนแบ่งการตลาด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่ยอมรับเฉพาะตลาดกลุ่มเล็กๆ หรือมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากที่ Vendor โฟกัสเฉพาะบางประเทศหรือเก่งเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง หรือเป็น Vendor เจ้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มมาทำตลาดดังกล่าว
ความเห็นของทีมงาน TechTalkThai
ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตำแหน่ง Leader ของ Magic Quadrant ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากแต่ละองค์กรหรือบริษัทมีความต้องการและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทางทีมงาน TechTalkThai แนะนำว่าให้ฟังหูไว้หู ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Leader เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจก็จริง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตำแหน่งอื่นๆ ควรเชิญ Vendor หรือตัวแทนจำหน่ายนำผลิตภัณฑ์เข้ามาทดสอบกับสภาพแวดล้อมจริง แล้วดูผลงานรวมทั้งประสิทธิภาพก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆจะดีกว่า
ข้อควรระวัง คือ ปัจจุบันมีกระแสวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการสนับสนุน Gartner จากหลาย Vendor ส่งผลให้ Gartner อาจจะออกรายงานวิจัยที่เป็นผลดีต่อนักลงทุน และ Vendor [1] นอกจากนี้ Gartner ใช้หลักการวิเคราะห์แบบทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจง ส่งผลให้อาจมีบาง Vendor ให้ข้อมูลหรือนำเสนอโซลูชันของตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางการวิจัยของ Gartner เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ [2]
รายการ Magic Quadrant ทั้งหมด: http://www.gartner.com/technology/research/methodologies/magicQuadrants.jsp (Login required)
อ้างอิง: https://www.gartner.com/doc/486094 และ http://whatis.techtarget.com/definition/Gartner-Magic-Quadrants
[1] http://www.cio.com/article/710251/3_Things_You_Need_to_Know_About_Gartner_Magic_Quadrants?page=1&taxonomyId=3154
[2] http://analystrelations.org/2012/09/26/guest-post-why-it-vendors-should-take-industry-analysts-more-seriously/