หลังจากที่ Lenovo ได้กลายเป็นผู้ผลิต Server อันดับหนึ่งสำหรับตลาด Top 500 ของระบบ High Performance Computing หรือ HPC ได้เร็วกว่าแผนการที่วางเอาไว้ถึง 2 ปี และในไตรมาสล่าสุดมีการเติบโตของ Data Center Group มากถึง 67.8% นั้น ก็ได้มีการเผยถึงวิธีการที่ทำให้ Lenovo ก้าวเข้ามาสู่จุดนี้ได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือกลยุทธ์ที่มีชื่อว่า ODM+ นั่นเอง
ODM+ คือกลยุทธ์ที่ Lenovo ใช้ในการเจาะลูกค้ากลุ่มที่เป็น Data Center ระดับ Hyperscale โดยเฉพาะ ซึ่ง Lenovo ได้นิยามตลาด Hyperscale เอาไว้ว่าเป็นธุรกิจที่มี Data Center ซึ่งมี Server จำนวนอย่างน้อย 5,000 เครื่อง และมีพื้นที่ของ Data Center อย่างน้อย 10,000 ตารางฟุต ซึ่งธุรกิจที่มีขนาดนี้ทั่วโลกนั้นมีเพียงประมาณ 250 ราย และ 60 รายในนั้นก็อยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจกลุ่มนี้มีการลงทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ถึงหลายแสนล้านเหรียญต่อปี
ธุรกิจกลุ่ม Hyperscale นี้ปกติแล้วมักจะใช้ Server ในรูปแบบที่มีชื่อว่า Original Device Manufacturer หรือ ODM ซึ่งก็เป็น Server ที่ผลิตโดยบริษัทอย่างเช่น Quanta, Tyan, Inventec, Foxconn และ Wiwynn โดยผู้ผลิตเหล่านี้จะสามารถทำการออกแบบ Server ได้อย่างรวดเร็ว หรือนำการออกแบบที่บริษัทต่างๆ กำหนดเอาไว้มาผลิตจำนวนมาก และส่งมอบในคุณภาพระดับที่รับประกันเอาไว้ได้ ในขณะที่ธุรกิจระดับ Hyperscale นั้นบางทีก็จะมีการซื้อ Hardware จากผู้ผลิต OEM อย่าง Supermicro, Huawei, Dell EMC, ZT Systems, Inspur หรือ Sugon เพื่อใช้ Server คุณภาพสูงและมีทีมผลิตและดูแลหลังการขายกระจายอยู่ทั่วโลกบ้างเช่นกัน
แนวคิด ODM+ ของ Lenovo นั้น คือการออกแบบและผลิตอย่างรวดเร็วตามความต้องการของธุรกิจระดับ Hyperscale ได้ ในขณะที่ก็ยังคงมีโรงงานผลิตและกระจายสินค้ารวมถึงบริการหลังการขายอยู่ทั่วโลกด้วย ทำให้สามารถตอบโจทย์ของลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Lenovo เองก็ได้เคยเผยแผนของตนเองว่าต้องการโตในตลาดนี้ถึง 230% ระหว่างปี 2016 – 2019 และการผลิตตามการออกแบบแบบ Custom Design นั้นจะเติบโตถึง 5 เท่า ซึ่งปัจจุบัน Lenovo ก็ยังไม่ได้ออกมาเผยชัดเจนนักว่าตัวเลขในปัจจุบันตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว
หนึ่งในลูกค้ากลุ่มนี้ของ Lenovo เองเคยทำการสั่งซื้อ Server จำนวน 96,000 เครื่องเพื่อติดตั้งใน 3,000 Rack สำหรับ 13 ประเทศและ 35 Data Center มาก่อน โดยใน Server 96,000 เครื่องนี้ก็มีการออกแบบเฉพาะด้วยกันถึง 19 รูปแบบ ซึ่ง Lenovo เองก็สามารถผลิตและส่งมอบ 32,000 เครื่องแรกได้ภายในเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะส่งมอบ 32,000 เครื่องต่อมาภายในเวลา 2 เดือน และตามด้วย 32,000 เครื่องสุดท้ายภายใน 35 วัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการออกแบบและการผลิต Server ของ Lenovo ที่กระจายอยู่ทั่วโลก
ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวสำหรับตลาดใหม่ที่ Lenovo ได้เข้าไปเป็นผู้เล่นหลักในเวลานี้ หลังจากนี้เราคงได้เห็น Server Hardware ใหม่ๆ ของ Lenovo ที่ถูกปรับจากตลาดนี้ออกมาให้ใช้งานในตลาดระดับองค์กรกันบ้างก็เป็นได้