รู้จักกับ Digital Twin – เมื่อวัตถุต่างๆมีฝาแฝดอยู่ในโลกดิจิทัล

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ CAT datacom News & promotion

Credit: CAT datacom

จะเป็นอย่างไร หากเราสามารถจำลองโลกทั้งใบขึ้นมาได้อย่างแม่นยำและเฝ้ารอดูได้ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เป็นโลกจำลองที่เราสามารถทดลองได้ตามใจ ต้องเปลี่ยนที่ใด ปรับตรงไหน จึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและป้องกันสิ่งไม่พึงประสงค์ได้ คงจะดีไม่น้อย หากเรารู้ว่าในหนึ่งนาทีนี้ควรทำอะไรเพื่ออนาคตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ทุกวันนี้ แม้อาจไม่ใช่ทั้งโลก แต่รู้หรือไม่ว่าเราสามารถจำลองสิ่งต่างๆขึ้นมาในลักษณะนี้ได้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Digital Twin

Digital Twin เป็นชื่อเรียกของแนวคิดการทำสำเนาหรือแบบจำลองของสิ่งต่างๆทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทว่า Digital Twin เหล่านี้ไม่เพียงเป็นภาพจำลองที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริงผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่คอยเก็บข้อมูลสถานะทางกายภาพของวัตถุแบบ Real-time ทำให้แบบจำลองนั้นเป็นเสมือนการย้ายวัตถุไปไว้ในโลกดิจิทัลนั่นเอง

เมื่อมีแบบจำลองวัตถุที่สมจริง สิ่งที่ตามมาคือความสามารถในการตรวจสอบสถานะของวัตถุอย่างละเอียดโดยมีสื่อที่เป็นภาพคอยนำทาง และความสามารถในการจำลองสถานการณ์ขึ้นว่าหากสภาพแวดล้อม หรือสถานะจุดใดจุดหนึ่งภายในตัววัตถุเปลี่ยนไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับวัตถุ โดยที่มากไปกว่านั้นคือ Digital Twin ของวัตถุแต่ละชิ้นนั้นเราย่อมสามารถนำมาเชื่อมต่อกันให้กลายเป็นระบบจำลองขนาดย่อมๆได้ ทำให้เราสามารถจำลองสถานการณ์และทำนายความเป็นไปได้ในภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น

สำหรับธุรกิจ ความสามารถเช่นนี้ของ Digital Twin หมายความว่าพวกเขาจะสามารถเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำลองเหตุการณ์และวางแผนการดำเนินการ เช่น การกะเวลาที่ควรซ่อมบำรุง การสร้างสถานการณ์สมมติ การตรวจสอบการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรหลายชิ้น เป็นต้น นอกจากนี้ Digital Twin อาจสามารถช่วยแจ้งเตือน และเริ่มดำเนินขั้นตอนในการทำงานแบบอัตโนมัติเมื่อสถานะของวัตถุบ่งบอกว่าต้องการ Action อะไรบางอย่างต่อระบบ

เราใช้เทคโนโลยีอะไรสร้าง Digital Twin?

แนวคิดหลักของ Digital Twin นั้นคือการสร้างแบบจำลองวัตถุขึ้นในโลกดิจิทัล ทั้งในรูปแบบของภาพ และข้อมูล แล้วจากนั้นในการใช้งานจะมีการดึงข้อมูลไปวิเคราะห์ สร้างสถานการณ์จำลอง ดังนั้นน่าจะพอเห็นภาพได้ว่า Digital Twin นั้นเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีหลายชนิด อันได้แก่

  • เทคโนโลยีผลิตภาพ 3 มิติ หรือ VR และ AR ทำหน้าที่สร้างรูปร่างของวัตถุในโลกดิจิทัล
  • เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ และ Internet of Things (IoT) รับผิดชอบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล รวมทั้งการอัปเดตข้อมูลใหม่ๆเข้ามาใน Digital Twin อยู่เสมอแบบ Real-time
  • เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาจประกอบไปด้วยหลายเทคโนโลยี เช่น Machine Learning เพื่อทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และ Software Analytics เพื่อดูแลการทำงานของซอฟต์แวร์ในระบบ
  • เทคโนโลยีสำหรับสร้างโมเดลจำลอง เช่น Artificial Intelligence และ Spatial Graph เพื่อจำลองภาพโดยรวมของระบบและจำลองเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้น
  • เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสื่อสารเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน เช่น Cloud, Edge Computing, Automation, และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เทคโนโลยีทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ด้วยดี
Credit: ShutterStock.com

ตัวอย่างการใช้งานจริงของ Digital Twin ในอุตสาหกรรม

Digital Twin นั้นเป็นแนวคิดเทคโนโลยีที่มาในคลื่นเดียวกับ Industry 4.0 โดยในปี 2017 Gartner บริษัทวิเคราะห์เทคโนโลยีระดับโลกได้จัดให้ Digital Twin เป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง และปัจจุบัน ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆก็มีการนำแนวคิด Digital Twin ไปใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

NASA นั้นเป็นองค์กรที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากความสามารถในการยกวัตถุเข้ามาไว้ในโลกดิจิทัลไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ที่ใด พวกเขาเริ่มจากการใช้งานเทคโนโลยีซึ่งเรียกว่า Pairing Technology ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นตระกูลของ Digital Twin มาช่วยดำเนินการในอวกาศ โดยมีผลงานสำคัญคือการกู้ภัยในภารกิจ Apollo 13 และทุกวันนี้พวกเขาใช้ประโยชน์จากการที่ Digital Twin กำจัดความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ในสถานที่จริงมาใช้ในการเฝ้าระวังและวางแผนการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ไกลถึงในอวกาศ

Chevron ก็เป็นหนึ่งบริษัทใหญ่ที่นำ Digital Twin มาใช้งาน โดยเน้นไปที่การตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์ในบ่อเจาะน้ำมันและโรงกลั่นแบบ Real-time ทำนายเวลาที่ต้องซ่อมบำรุงและวางแผนเพื่อกำหนดเวลาในการซ่อมบำรุงให้น้อยที่สุดโดยไม่เบียดเบียนการดำเนินงาน โดยในปี 2024 พวกเขาวางแผนจะนำ Digital Twin เข้ามาใช้ในอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจช่วยลดต้นทุนได้หลายล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านสิงคโปร์ก็ได้กลายเป็นประเทศที่มี Digital Twin ของทั้งประเทศเป็นที่แรกของโลกในปี 2018 ด้วยการจับมือกับ Dassault Systèmes ในการพัฒนาโมเดลจำลองของทั้งเมืองที่จะช่วยเฝ้าระวังภัยพิบัติ วางผังเมืองและจัดการพื้นที่ในเมือง เช่น วางแผนสร้างที่จอดรถตามจำนวนผู้อยู่อาศัยในระแวกใกล้เคียง และวางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงา รวมไปถึงการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

Digital Twin ในสิ่งมีชีวิต

ในทำนองเดียวกัน แนวคิดของ Digital Twin นี้สามารถปรับใช้กับสิ่งมีชีวิตและอวัยวะในร่างกายของคนเราได้ด้วย อุตสาหกรรมแรกที่หลายคนอาจนึกถึงคืออุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเมื่อจำลองร่างกายของมนุษย์ออกมาในรูปแบบ Digital Twin แล้ว แพทย์ก็จะสามารถวิเคราะห์ค่าต่างๆในร่างกาย นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลอื่นๆ และจำลองการรักษาเพื่อดูถึงผลลัพธ์ได้

นอกจากนี้ ในการจำลอง Digital Twin นั้นอาจจำลองแยกเป็นอวัยวะแต่ละส่วนไป เช่นโครงการ Blue Brain Project (BBP) ซึ่งมีเป้าหมาย ในการสร้างแบบจำลองสมองโดยละเอียดตามลักษณะทางชีววิทยาที่สามารถจำลองสถานการณ์ได้หลากหลาย โดยในเบื้องต้น BBP ได้ทำการพัฒนาสมองจำลองของสัตว์ฟันแทะ และในอนาคตจะมีการขยายผลไปพัฒนา Digital Twin ของสมองมนุษย์ต่อไป

อีกทางหนึ่งเทคโนโลยี Digital Twin ในสิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์ก็ได้ถูกนำเข้ามาใช้ในวงการบันเทิงเช่นกัน โดยในเทศกาลตรุษจีนในปี 2019 รายการโทรทัศน์ Spring Festival Gala ทางช่อง China Central Television ของจีน พิธีกรในรายการทั้ง 4 รายได้ดำเนินรายการร่วมกับ Digital Twin ของตัวเอง ซึ่งสามารถสื่อสารโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ และในอนาคต OBEN ผู้พัฒนาโซลูชันนี้ก็หวังว่าจะสามารถนำ Digital Twin ไปใช้จำลองมนุษย์ในอาชีพอื่นๆ เช่น ครู และแพทย์

Credit: ShutterStock.com

อนาคตของ Digital Twin

นับตั้งแต่แนวคิด Digital Twin เริ่มได้รับความสนใจ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้นมีต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีของธุรกิจต่างๆก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยแนวโน้มดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราจะได้เห็น Digital Twin ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายในธุรกิจต่างๆ มีการประยุกต์สร้างคุณค่าในรูปแบบใหม่ๆ และอาจเข้าถึงได้ในระดับที่ผู้บริโภคเริ่มนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น Digital Twin ของรถยนต์ หรือระบบเครือข่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเลยทีเดียว

ความสามารถในการเฝ้าระวังสถานะ วิเคราะห์ข้อมูล และจำลองเหตุการณ์ของ Digital Twin นั้นเปรียบเสมือนการอัพเกรดการวิเคราะห์ข้อมูลไปอีกขั้น ที่จะช่วยให้ธุรกิจ หน่วยงาน และบุคคลทั่วไปที่ได้งานมีภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในการตัดสินใจสิ่งต่างๆด้วยข้อมูล ทำให้การตัดสินใจนั้นแม่นยำและชาญฉลาดยิ่งขึ้น Digital Twin มีประโยชน์หลากหลายและสามารถนำไปใช้ได้กับงานหลายรูปแบบ เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าเมื่อมีการใช้ Digital Twin อย่างแพร่หลายขึ้นแล้ว จะมีการต่อยอดการใช้งานอย่างไรต่อไปบ้าง

Sources

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

UiPath เข้าซื้อกิจการ Peak.ai หวังเร่งขยายตัวสู่โซลูชัน Agentic AI

UiPath ได้เปิดเผยกิจกรรมการเข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัปที่ชื่อว่า Peak.ai ในรายงานบริษัทประจำไตรมาส ซึ่งนำเสนอเรื่องของ AI ที่ตัดสินใจได้

Microsoft เปิดตัวความสามารถ Responses API และ Computer-Using Agent ใน Azure AI Foundry

Azure AI Foundry ได้เพิ่มความสามารถใหม่ที่หวังช่วยธุรกิจต้อนรับยุค Agentic AI ได้ในระดับความต้องการระดับองค์กรที่ต้องมีความปลอดภัยและกำกับดูแลได้ ไอเดียก็คือ Azure ได้เพิ่ม API ที่ทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้น จากเดิมที่กว่าเราจะพัฒนาระบบอัตโนมัติให้ทำงานได้ภายใต้ก็อาจมีการใช้ API หรือกลไกมากมาย …