ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกับ Dominic Orr ผู้ดำรงตำแหน่ง President แห่ง HPE Aruba ภายในงาน Aruba Atmosphere 2016 APAC ( #ATM16APAC ) ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาในประเด็นของแนวโน้มระบบเครือข่ายและ Wi-Fi สำหรับองค์กรในอนาคต จึงขออนุญาตเรียบเรียงสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

อุปกรณ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย และอนาคตก็จะมากมายยิ่งกว่านี้ Software Defined Network จึงกลายเป็นคำตอบของระบบเครือข่าย
Dominic Orr ได้เล่าว่าแต่เดิมนั้นภายในระบบเครือข่ายไร้สายนั้นมักจะมีอุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อเพียงแค่ไม่กี่ชนิด และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows ทำให้การออกแบบการเชื่อมต่อและการควบคุมต่างๆ นั้นเป็นไปได้อย่างง่ายดาย แต่การมาของ Apple iOS และ Google Android นั้นก็ได้ทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนไป เพราะนอกจากความแตกต่างของระบบปฏิบัติการที่ทำให้เกิดความหลากหลายมายิ่งขึ้นแล้ว รูปแบบการใช้งาน Application ต่างๆ ผ่าน Wi-Fi เองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ระบบ Wi-Fi นั้นต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมาเหล่านี้ได้ ทั้งในแง่ของจำนวนการเชื่อมต่อ, ปริมาณ Bandwidth ที่ใช้ต่อการเชื่อมต่อ, QoS ที่จำเป็นสำหรับแต่ละ Application และอื่นๆ อีกมากมาย
ในอนาคตถัดจากนี้ไป การมาของอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มีพฤติกรรมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากอุปกรณ์ก่อนหน้าทั้ง Notebook และ Mobile นั้นก็จะยิ่งทำให้ Wi-Fi ต้องรองรับรูปแบบของการรับส่งข้อมูลที่หลากหลายยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่ประเภทและชนิดของอุปกรณ์นั้นก็จะเพิ่มขึ้นอย่างที่ยุคก่อนหน้านั้นเทียบไม่ติดเลย แต่ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมารองรับความหลากหลายในลักษณะนี้เกิดขึ้นมา แน่นอนว่าเราจะยังเห็นวิวัฒนาการของระบบเครือข่ายไปอีกอย่างต่อเนื่อง
จากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าต่อไปเราจะต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย และระบบเครือข่ายเองนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้ให้ทัน Software Defined Networking (SDN) จึงถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่องค์กรควรพิจารณากันแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ระบบเครือข่ายนั้นมีความยืดหยุ่นสูงสุดและสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเสริมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว ที่ผ่านมาเรามักได้ยินการใช้งาน SDN กันในระดับของ Data Center เป็นหลัก แต่ถัดจากนี้ไป SDN ในส่วนของ Campus Network เองนั้นก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันแล้ว
การพัฒนาของเทคโนโลยี Wi-Fi: จาก 1st Wave สู่ 3rd Wave ในปัจจุบัน
Dominic Orr ได้เล่าถึงความเป็นมาของเทคโนโลยี Wi-Fi ที่ Aruba Networks ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อย่างรวดเร็วในฐานะของผู้พัฒนาระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับองค์กร โดยที่ผ่านมาเทคโนโลยี Wi-Fi สำหรับองค์กรนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 รุ่นใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้
- 1st Wave หลังจากที่ Intel ได้ประกาศเปิดตัว Centrino มา 90 วันนับถัดจากนั้น Aruba Networks ก็ถือกำเนิดขึ้นมา แต่ในเวลานั้นการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi นั้นก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักเพราะคนยังนิยมใช้ Desktop กันอยู่ และ Notebook เองก็มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้การติดตั้ง Wi-Fi นั้นมีเฉพาะจุดเท่านั้นในองค์กร เช่น ห้องประชุม เป็นต้น
- 2nd Wave เมื่อ Apple iOS และ Google Android เริ่มกลายเป็นที่แพร่หลาย ความต้องการในการเชื่อมต่อได้จากทุกที่ทุกเวลาภายในองค์กรจึงเกิดขึ้นมา ความสำคัญของการออกแบบ Coverage Area ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดขององค์กรแม้แต่ตามบันไดหรือทางเดินเพื่อรองรับการทำ Roaming ได้จึงมีความสำคัญ ในขณะที่การเชื่อมต่อได้อย่างเสถียรเพื่อใช้ในการทำงานได้อย่างมั่นใจนั้นก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น
- 3rd Wave เป็นยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตถัดจากนี้ไปอีกระยะใหญ่ที่ความต้องการในการเชื่อมต่อ Wi-Fi นั้นจะมุ่งเน้นไปที่ “ความหนาแน่น” ในการเชื่อมต่อ เพราะแต่ละคนนั้นจะเริ่มมีการใช้งานอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้คนละมากกว่า 1 อุปกรณ์ และการมาของ Internet of Things (IoT) เองก็จะยิ่งทำให้ปริมาณการใช้งาน Wi-Fi ในแต่ละพื้นที่มีความหนาแน่นสูงขึ้นไปอีก การออกแบบ Wi-Fi นับถัดจากนี้ไปจึงจะเน้นการออกแบบ Cell Site ขนาดเล็กที่รองรับการใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากต่อจุด และติดตั้ง Access Point ที่ให้บริการ Cell Site เหล่านี้เป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง
หลักการ 5S ของ HPE Aruba พัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ
Dominic Orr ได้เผยหลักการที่ HPE Aruba ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในองค์กรว่าประกอบด้วย 5S ดังต่อไปนี้
- Stability ความทนทานของการให้บริการเครือข่าย
- Security ความปลอดภัยของการเข้าใช้งานระบบเครือข่าย
- Scalability รองรับการเพิ่มขยายระบบเครือข่ายได้
- Smart เปลี่ยนระบบเครือข่ายให้กลายเป็นแบบ Interactive
- Simple ความง่ายในการเข้าใช้งานระบบเครือข่าย
จะสังเกตได้ว่าทุกๆ ผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันของ HPE Aruba จะมี 5S นี้อย่างครบถ้วนมาตั้งแต่อดีตตอนเป็น Aruba Networks แล้ว และ HPE Aruba ก็จะยังคงดำเนินตามแนวทางนี้ต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
Network Quality ไม่เพียงพออีกต่อไป Network User Experience คือสิ่งที่สำคัญที่แท้จริง
ที่ผ่านมานั้นการดูแลรักษาระบบเครือข่ายมักจะใช้วิธีการทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตัวเลขเชิงสถิติ, การตรวจสอบข้อมูลปัญหาจาก Log, การวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ จากการทำ Correlation ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ในมุมมองของผู้ใช้งาน ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงอารมณ์และความรู้สึกมากกว่า ทำให้การใช้งานระบบเครือข่ายนั้นผู้ใช้งานมักจะบอกต่อผู้ดูแลระบบว่า “ระบบเครือข่ายใช้ไม่ได้” หรือ “ระบบเครือข่ายช้า” หรือ “ระบบเครือข่ายมันแย่มาก” ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพของระบบเครือข่าย แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของผู้ใช้งานแต่ละรายแตกต่างกันไป และทำให้ผู้ดูแลระบบต้องเสียเวลาในการวิเคราะห์ปัญหาแต่ละครั้งจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขต่างๆ
Dominic Orr ได้เล่าถึงความพยายามในการแก้ไขช่องว่างระหว่างผู้ใช้งานและผู้ดูแลระบบเครือข่ายนี้ของ HPE Aruba ด้วยการเปิดตัวโซลูชัน Aruba Clarity ที่จะทำการรวบรวมข้อมูลของทุกๆ การเชื่อมต่อเครือข่ายภายในองค์กรทั้งในเชิงของปัญหาและประสิทธิภาพทั้งหมดเอาไว้โดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถทราบถึงต้นตอของปัญหาทางด้านระบบเครือข่ายที่ผู้ใช้งานแต่ละคนกำลังประสบได้เป็นอย่างดีในเชิงตัวเลข และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที โดยที่ไม่ต้องสื่อสารในประเด็นยากๆ กับผู้ใช้งานหรือถามคำถามเชิงเทคนิคที่ผู้ใช้งานมักจะตอบไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีในการเข้าใช้งานเครือข่ายมากขึ้นถึงแม้จะเจอกับปัญหาใดๆ ก็ตาม ซึ่งแนวทางลักษณะนี้ทาง Dominic Orr เรียกว่า User Experience Management และกล่าวด้วยว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางใหม่ในการนิยามว่าระบบเครือข่ายไหนดีหรือไม่ดี ต่างจากเมื่อก่อนที่ชี้วัดจาก Downtime ของเครือข่ายเท่านั้น
Digital Workplace: การออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับการทำงานนั้น ต้องคิดคำนึงถึงทั้งการใช้งานภายในและภายนอก
การออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับการทำงานนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การคิดถึงเชิง Networking และ Security อย่างแต่ก่อนเท่านั้น แต่การคิดถึงในเชิง Business เองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่ง Dominic Orr ก็ได้แนะนำให้แยกการออกแบบระบบเครือข่ายออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันดังนี้
- Internal Network คือระบบเครือข่ายสำหรับใช้งานภายในองค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรนั้นต่างก็มีรูปแบบการทำงาน, วัฒนธรรมองค์กร, กลุ่มผู้ใช้งาน และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นองค์กรเองก็ต้องออกแบบระบบเครือข่ายให้เหมาะสมกับความต้องการในทางธุรกิจและผู้ใช้งานให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นลูกค้ารายใหญ่ของ HPE Aruba นั้นมักเป็นบริษัท High-Tech Company จึงมีความต้องการที่จะดึงดูดเหล่าพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นเด็กเก่งๆ ให้ได้มากที่สุด ระบบเครือข่ายที่เข้าใช้งานได้ง่าย แต่ยังคงปลอดภัยและเสถียรนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือบางองค์กรที่เริ่มมีความต้องการในการเพิ่มจำนวนพนักงานหรือลดพื้นที่ทำงานลงนั้น การนำระบบ Wi-Fi เข้าไปช่วยตอบโจทย์เหล่านี้เพื่อประหยัดค่าเช่าพื้นที่ออฟฟิศให้คุ้มค่าที่สุดนั้นก็เป็นประเด็นสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่งไป
- External Network คือระบบเครือข่ายสำหรับให้ลูกค้าขององค์กรใช้งาน เพื่อให้เกิดยอดขายของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น หรือสามารถเก็บข้อมูลเข้าไปยังระบบ Customer Relationship Management (CRM) เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นก็ตาม ซึ่งก็มีกรณีศึกษาถึงห้างใหญ่ในประเทศจีนที่นำระบบ Wi-Fi ไปใช้ติดตามเส้นทางการเดินของลูกค้าภายในห้างว่าเดินผ่านร้านไหนมากน้อยเพียงใด และนำตัวเลขสถิติเหล่านี้ไปใช้ประกอบการกำหนดค่าเช่าในแต่ละพื้นที่ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ได้ เป็นต้น
การเข้าซื้อกิจการของ Aruba Network โดย HPE: การคงความเป็นบริษัทเล็กเอาไว้คือโจทย์ที่ยากที่สุด
Dominic Orr ในฐานะของผู้กุมบังเหียนของ Aruba Networks มาโดยตลอดนั้น หลังจากที่ HPE ได้เข้าซื้อกิจการจนกลายเป็น HPE Aruba และทำการถ่ายโอนผลิตภัณฑ์และทีมงานทางด้าน Campus Networking มายัง HPE Aruba ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการหลอมรวมวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากให้เข้ากันให้ได้
Aruba Networks นั้นมีวัฒนธรรมในรูปแบบเดียวกับธุรกิจ Startup ที่เน้นความรวดเร็วในการทำงานและการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด ในขณะที่ HPE Networking นั้นแตกออกมาจากทีมงานของ HP ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่และยังคงมีหลายขั้นตอนในการทำงานที่ซับซ้อน Dominic Orr นั้นเลือกที่จะคงวัฒนธรรมของ Aruba Networks เอาไว้เป็นหลัก แต่ก็ต้องรองรับต่อธุรกิจและทีมงานที่จะขยับขยายขึ้นไปด้วยจากการมาของทีมงาน HPE ด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาเวลาเกือบทั้งหมดของ HPE Aruba นั้นถูกใช้ไปกับการปรับวัฒนธรรมองค์กรนี้ จนทำให้ปัจจุบัน HPE Aruba กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีหัวใจการทำงานแบบบริษัทขนาดเล็กอยู่นั่นเอง
การเข้าซื้อกิจการกันครั้งนี้ทำให้ HPE Aruba มีความแข็งแกร่งสูงขึ้นอีกเป็นอย่างมาก เพราะการได้ Sales Channel ทั่วโลกของ HPE Networking และฐานลูกค้าระบบเครือข่ายเดิมของ HPE Networking เข้ามาก็ทำให้ HPE Aruba สามารถขยับขยายธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
Dominic Orr นั้นได้กล่าวว่าเขาคิดว่าการผสานรวม 2 บริษัทเข้าด้วยกันในครั้งนี้นั้นถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดเอาไว้มากทีเดียว
สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทีมงาน HPE Aruba ประเทศไทยที่ให้โอกาสได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วยครับ