ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้มาพูดคุยกับทางผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับทางบริษัทชไนเดอร์ อิเล็คทริค คุณอรรณพ พนเจริญสวัสดิ์ ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจบริการจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ ธุรกิจไอที ก็ได้ข้อคิดที่น่าสนใจจากสองผู้บริหารแห่งองค์กรใหญ่ จึงขอหยิบมาฝากผู้อ่านกันครับ
การเปลี่ยนแปลงทางด้าน IT ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของวงการตลาดหลักทรัพย์
จากยุคแรกเริ่มเลยที่ไม่มีการใช้งาน IT ใดๆ ในธุรกิจตลาดหุ้นทั่วโลกก็ค่อยๆ มีการนำระบบ IT มาใช้งานสำหรับระบบภายในองค์กร ขยายออกมาจนเป็นถึงยุคของ Internet Trading/Online Trading ที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จนก้าวมาถึงในยุคปัจจุบันที่เติบโตรวดเร็วที่สุดคือยุคของ Mobile Trading ที่ทุกคนสามารถทำการซื้อขายได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือและ Tablet เรียกได้ว่าเป็นการเข้าถึงผู้ซื้อและผู้ขายที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เคยมีมาของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ในประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET เองก็ได้มีการปรับตัวและอัพเดตไปตามกระแสของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบ Online Trading และ Mobile Trading จนล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ไปถึงระดับของ Wearable Device แล้ว ทำให้ระบบ IT กลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปโดยปริยาย
เมื่อพูดถึงระบบ IT โดยทั่วไปคนมักจะให้ความสำคัญกับตัว IT Infrastructure และ Software Stack ต่างๆ ที่ทำงานอยู่บน Infrastructure เหล่านั้น แต่ในมุมมองของ SET เอง ความสำคัญของระบบ Data Center Infrastructure ตั้งแต่ระบบไฟ, ระบบระบายความร้อน และอื่นๆ ที่จะทำให้อุปกรณ์ IT ต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์และมี Downtime ต่ำสุดได้ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งชไนเดอร์ อิเล็คทริคที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มายาวนานก็ได้เป็นผู้เติมเต็มความต้องการในจุดนี้ให้แก่ทาง SET ได้
การปรับปรุง Data Center Infrastrucrture ให้รองรับต่อความต้องการของวงการตลาดหลักทรัพย์
ด้วยการที่ทุกคนสามารถทำการซื้อขายหุ้นและเข้าถึงข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพา การเติบโตของ Data Center เพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ที่เติบโตรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นประเด็นที่สำคัญและละเลยไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ SET ต้องมองหาระบบ Data Center Infrastructure ที่สามารถเพิ่มขยายและบริหารจัดการได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้สอดคล้องกับการรองรับระบบงานที่เป็น Virtualization และ Cloud ที่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดในอนาคต
SET เลือกที่จะจับมือกับชไนเดอร์ อิเล็คทริคในการปรับปรุง Data Center Infrastructure ในครั้งนี้ เพื่อให้รองรับต่อการใช้งานในระยะยาว โดยทางชไนเดอร์ อิเล็คทริคก็มีความรู้และประสบการณ์ในการวางรากฐานของ Data Center ขนาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วมากมาย รวมถึงยังมีความพร้อมในการทำ Prove of Concept (PoC) เพื่อให้ทีมงานตลาดหลักทรัพย์ได้มั่นใจในความสามารถของทีมงาน และยังมีทิศทางของเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตได้ โดยคุณสมบัติปัจจุบันของระบบ Data Center Infrastructure ที่ทางทีมงานตลาดหลักทรัพย์มองไว้มีดังนี้
1. รองรับการเพิ่มขยายในอนาคตได้อย่างง่ายดาย เพื่อรองรับการเติบโตของ Data Center ในอนาคต
2. มีความชาญฉลาดในการทำงาน ทำให้สามารถติดตามปริมาณการใช้งาน Data Center และการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและทนทานยิ่งขึ้น
3. สามารถดูแลรักษาระบบได้ง่าย เปลี่ยนแปลงจากการทำงานแบบ Reactive เป็น Proactive เพื่อให้สามารถจัดการความเสี่ยงทั้งหมด และลด Downtime ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น
4. มีความการออกแบบการสำรองระบบเบื้องต้นที่ระดับ Tier 3 และมีปลายทางไปให้ถึง Tier 4 ให้ได้
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้นำเสนอระบบ Data Center Infrastructure ที่ตอบโจทย์เหล่านี้ พร้อมเสนอซอฟต์แวร์ Data Center Infrastructure Managment (DCIM) ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ภายใต้ชื่อ StruxureWare for Data Center เพื่อทำการติดตามการทำงานและบริหารจัดการ Data Center Infrastructure อย่างครอบคลุม ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ใน Data Center เพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหา และวางแผนการลงทุนเพิ่มในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ใน Data Center ก็ต้องทำการปรับเปลี่ยนให้มี Sensor เพื่อตรวจสอบข้อมูลสภาวะแวดล้อมและการทำงาน รวมถึงต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลมายัง StruxureWare for Data Center ได้อีกด้วย โดยในอนาคตก็มีแผนที่จะนำเสนอเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ Data Center Infrastructure ร่วมกับระบบ Virtualization ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก
การปรับปรุง Data Center Infrastructure ทั้งหมดของ SET ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้นในลักษณะนี้ ก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับทีม SET อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
1. การลดค่าใช้จ่ายใน Data Center
SET สามารถ Optimize ค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายใน Data Center Infrastructure ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดพลังงานที่ใช้ภายใน Data Center ลง และการจัดการความร้อนที่ทำได้ดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ จากเดิมที่ต้องมีการออกแบบเรื่องอุณภูมิให้มี Threshold เผื่อ ก็สามารถลดค่าการเผื่อเหล่านั้นลงไปได้
2. สามารถบริหารจัดการ Data Center ได้ง่ายขึ้น
ด้วยการที่ Data Center มีระบบ Monitor และ Alert ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูงอยู่ตลอดเวลา ก็ใช้เวลาในการตรวจสอบปัญหาและดูแลรักษา Data Center ลดน้อยลง และทำให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงมีเวลาไปพัฒนาระบบอื่นๆ ต่อยอดได้เพิ่มขึ้น
3. รองรับการเพิ่มขยายในอนาคต
จากการใช้เทคโนโลยีของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่สามารถเพิ่มขยายได้แบบ Modular ก็ทำให้สามารถตอบโจทย์ที่จะรองรับ Data Center ที่ต้องการเพิ่มขยายได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Cloud ของ SET ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มเติมจาก Tier 3 ขึ้นไปเป็น Tier 4 ได้ในอนาคต ในขณะที่ระบบ Data Center Infrastructure Management ทั้งหมดก็ทำการเชื่อมต่อกันได้แบบ Redundant ทำให้มีความทนทานสูงภายในตัว
4. การตรวจสอบ Compliance สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว
การทำ Compliance ต่างๆ ภายใน Data Center ก็สามารถนำข้อมูลจากระบบ StruxureWare ของชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาตรวจสอบและทำ Compliance ได้แบบ Automation ทำให้การทำ Compliance ที่เคยยุ่งยากและเสียเวลา สามารถทำได้ง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
แนวคิดในกลยุทธ์การลงทุนเพิ่มขยาย Data Center ของตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจากระบบ IT ได้กลายเป็นหัวใจหลักของ SET ไปแล้ว ดังนั้นการลงทุนระบบ Data Center ให้มีประสิทธิภาพ ความทนทาน และความปลอดภัยสูงสุดนั้นจึงเป็นแนวคิดพื้นฐานที่มีต่อการออกแบบ Data Center โดยเมื่อนำประเด็นเรื่องของความคุ้มค่ามาวิเคราะห์ด้วยแล้ว การมาของเทคโนโลยี Virtualization และ Cloud ก็ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการตัดสินใจออกแบบเพิ่มขยาย Data Center ในครั้งนี้ และระบบ Data Center Infrastructure เองก็จะต้องรองรับต่อระบบ Virtualization และ Cloud ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้นอกเหนือจากระบบ Matching และระบบงานอื่นๆ ของ SET เองแล้ว ทาง SET ก็ยังมีบริการ Co-location เพื่อให้ Broker รายต่างๆ สามารถมาเช่าใช้พื้นที่ใน Data Center ที่มีความปลอดภัย, ความทนทาน และใช้งาน SLA ในมาตรฐานระดับเดียวกับ SET ในขณะที่มี Network Latency ในการเชื่อมต่อไปยังระบบงานต่างๆ ของ SET ที่ต่ำมาก ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีการอัพเดตข้อมูลที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ Broker รายต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ SET ต้องมีการออกแบบ Data Center และ Infrastructure เพื่อรองรับบริการในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
แต่เมื่อได้ทำการสอบถามไป ในกลยุทธ์การลงทุนเพิ่มขยาย Data Center ของ SET ครั้งนี้ กลับมองว่า Data Center จะเติบโตเพียงแค่ 1-2 เท่าเพียงเท่านั้น โดยทาง SET ได้ให้คำอธิบายว่าถึงแม้ปัจจุบันระบบงานของ SET จะต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Mobile หรือ Big Data ที่จะทำให้ Data Center ต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็ตาม แต่การพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง Virtualization หรือ Cloud ในทุกวันนี้เองก็มาช่วยให้ Data Center สามารถ Utilize ได้คุ้มค่ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยทุกวันนี้ SET เองก็เริ่มมีการตัดบริการบางส่วนไปอยู่บน Cloud Provider ในไทยบ้างแล้ว เพื่อให้รองรับต่อปริมาณการเข้าใช้งานของผู้ใช้งานจำนวนมากที่เติบโตขึ้นทุกวันได้เป็นอย่างดี และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งองค์กรต่างๆ เองก็อาจจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับรูปแบบการลงทุนใน IT Infrastructure แบบใหม่นี้
ทางด้านชไนเดอร์ อิเล็คทริคเองก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในฐานะของผู้ผลิตระบบ Data Center Infrastructure ชไนเดอร์ อิเล็คทริคก็ต้องมีการนำเสนอเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ต่อองค์กรที่ต้องการความยืดหยุ่นในระบบ Data Center ของตัวเองเช่นกัน โดยตอนนี้ชไนเดอร์ อิเล็คทริคได้มีการทดลองระบบ Data Center Infrastructure Management ในแบบ Cloud Ready ที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว ทำให้ผู้เช่าใช้บริการสามารถเลือก Subscribe การใช้งาน Data Center Infrastructure ตามที่ต้องการได้เลย ทำให้เกิดโมเดลของ Cost Structure รูปแบบใหม่ๆ ที่ Optmize ยิ่งขึ้นนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน สำหรับระบบ Data Center ภายในองค์กรต่างๆ ทางชไนเดอร์ อิเล็คทริคก็ได้นำเสนอเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การสร้าง Data Center กลายเป็นเรื่องง่ายและประหยัดขึ้น โดยสามารถเริ่มต้นจาก Data Center ขนาด 1 ตู้แร็คที่พร้อมขยายเพิ่มเติมในอนาคตได้ ก็ทำให้การลงทุนคุ้มค่ายิ่งขึ้นไปด้วย
วิกฤติโปรแกรมเมอร์ในประเทศไทย ทาง SET คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
เนื่องจาก SET เองก็เป็นองค์กรที่มีการรับสมัคร Software Developer อย่างต่อเนื่อง ทาง TechTalkThai จึงถือโอกาสถามถึงความเห็นทางด้านวิกฤติโปรแกรมเมอร์ไปยังผู้บริหารของ SET ซึ่งทาง SET เองก็ยอมรับว่ามีอยู่จริง ทั้งในแง่การรักษาคนที่เก่งเอาไว้ให้ยังทำงานอยู่ในไทย และการยกระดับมาตรฐานของกลุ่มที่ยังไม่ได้มาตรฐานให้สามารถทำงานได้
โดยกรณีตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ SET มองเห็นปัญหานี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นก็เป็นกรณีการรับสมัครเด็กฝึกงาน ที่ทำให้สัมผัสได้ว่าเหล่านิสิตนักศึกษาเหล่านี้มีคุณภาพสูงมาก จนงานทางด้าน IT ที่มีอยู่ในไทยอาจไม่ท้าทายความสามารถของคนกลุ่มนี้อีกต่อไป ทาง SET เองยังมีระบบ Online Trading ขนาดใหญ่ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้งานได้จนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และถือว่าเป็นความท้าทายให้กับคนกลุ่มนี้ได้จึงยังพอจะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถให้มาร่วมงานกันได้ ในขณะที่ธุรกิจ Startups ที่กำลังเติบโตเรื่อยๆ ในเมืองไทยก็อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดึงดูดกลุ่มคนที่มีความสามารถเหล่านี้ไว้ได้ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ๆ ที่ไม่ได้มีความท้าทายมากนัก ก็อาจจะต้องปรับตัวให้มีวัฒนธรรมที่ท้าทายแบบธุรกิจ Startups เพื่อดึงดูดคนเก่งให้มาร่วมงานด้วยบ้าง
สำหรับประเด็นทางด้านแรงงาน IT ในตลาดที่ัยังขาดมาตรฐานจนไม่สามารถทำงานได้ ทาง SET ได้ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ว่าบางทีโจทย์ในมหาวิทยาลัยอาจจะแตกต่างจากโจทย์ในชีวิตจริง ดังนั้นถ้าหากในอนาคต ทางมหาวิทยาลัยจะมีการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อให้องค์กรต่างๆ นำเสนอโจทย์ที่มีอยู่จริงในตลาดเมืองไทย ให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้ฝึกฝีมือไปด้วย ก็อาจจะทำให้เด็กๆ เหล่านี้ได้ปรับ Mind Set ให้ตรงกับการทำงานจริงได้มากขึ้น และยกระดับปรับความคิดของเด็กทั้งสองกลุ่มได้ไปพร้อมๆ กัน
สุดท้ายนี้ทางทีมงานต้องขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับทางเราครับ