ในวันที่ 27 เมษายน 2017 ทางปูนซิเมนต์นครหลวงหรือที่เรารู้จักกันในชื่อปูนตรานกอินทรี ได้ออกมาแถลงถึงความสำเร็จในการทำ Digital Transformation ภายใน INSEE Group ด้วยการจับมือกับ Cisco และ Fujitsu เพื่อนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาผสานให้คน, เครื่องจักร และกระบวนการทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้แนวคิด Digital Connected Plant
เมื่อธุรกิจขยาย เทคโนโลยีก็ต้องพัฒนาตามการเติบโตให้ทัน
ปูนอินทรีนี้มีการขยายธุรกิจออกไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต ทำให้ทางปูนอินทรีตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำ Digital Disruption ในธุรกิจของตนเองเพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ ในเครือ, ลูกค้า และคู่ค้าสามารถบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมได้
ก้าวแรกของปูนอินทรีคือการนำ Digital Technology มาใช้ แล้วจึงค่อยทำ Business Model Transformation เป็นก้าวถัดไป โดยมุ่งเน้นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้นี้จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นหลัก ทำให้การผลิตมีความเสถียร แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 11 ส่วนของธุรกิจที่จะทำการ Transform ด้วยการเริ่มต้นจากการปรับปรุงโรงงานผลิตทั้งหมดด้วยการทำ Pervasive Network เชื่อมต่อแบบ Machine-to-Machine และ Man-to-Machine เป็นก้าวแรกนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ปูนอินทรีดำเนินตามหลัก Simple. Faster. Better. อะไรที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนก้าวถัดไปนั้นก็จะเป็นการยึดตามหลัก Be Different. Be Gain. Beyond. ที่ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ในอนาคต
5 ขั้นตอนสู่การเป็น Digital Connected Plant ของปูนอินทรี
ทางปูนอินทรีได้เล่าถึง 5 ประเด็นหลักๆ ในการก้าวไปสู่ Digital Connected Plant เอาไว้ด้วยกัน 5 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- Core Digital Platform and Automation เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงด้วยข้อมูลสำหรับการตัดสินใจและการจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ
- Customer Insights and Connectivity นำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ และสื่อสารกับลูกค้าให้ได้ตลอดเวลา
- Data Analytics เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ใช้ข้อมูลเป็นหัวใจหลักในการตัดสินใจทางธุรกิจต่างๆ
- People and Organization ฝึกอบรมทักษะของพนักงานและปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร ให้สามารถรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอนาคตได้
- Digital Connected Plant ปรับปรุงโรงงานให้เป็นอัจฉริยะและสามารถเชื่อมต่อข้อมูลและการตัดสินใจต่างๆ ให้ตอบรับต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ภายใน Digital Connected Plant นั้นจะมีความสามารถหลักๆ ดังต่อไปนี้
- มี Pervasive Network เชื่อมต่อ Sensor, ผู้ใช้งาน และทุกระบบ Application ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
- เชื่อมโยงข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ เข้ากับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำ Tablet หรือแว่น AR/VR มาใช้งานเพื่อตรวจสอบสภาพเครื่องจักรและกระบวนการต่างๆ ได้แบบ Real-time และสั่งงานกับระบบอื่นๆ เช่น การสั่งซ่อมบำรุง ได้ทันที
- เครื่องจักรก็ถูกปรับปรุงมีความชาญฉลาดมากขึ้นด้วยการนำ Machine Learning มาใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก Sensor ในเครื่องจักรและทำนายอนาคตล่วงหน้า สามารถรับรู้ได้ว่าระบบใดในเครื่องจักรมีปัญหาล่วงหน้า และแก้ไขได้เฉพาะส่วนของเครื่องจักร ลดต้นทุนในการดูแลรักษาระยะยาวโดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นการทำ Predictive Maintenance นั่นเอง
- มีข้อมูลเพื่อทำงานร่วมกับเหล่า Contractor ในโรงงานให้ได้มากที่สุด, มีประสิทธิภาพได้ดีที่สุด และมีความปลอดภัยในการทำงานสูงสุด โดยเฉพาะในขั้นตอนของการซ่อมแซมเครื่องจักรต่างๆ ภายในโรงงาน
- สุดท้ายข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งไปที่ห้อง Warroom ควบคุมทุกอย่างได้จากระบบศูนย์กลาง ทำให้ปูนอินทรีสามารถรับรู้สถานะของทุกๆ โรงงานที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แบบ Real-time ทั้งในแง่ของ IT และ OT
ทั้งโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ภายในโรงงานทดลองแห่งแรก จากนั้นเทคโนโลยีเดียวกันนี้จึงจะถูกนำไปใช้ในทุกๆ โรงงาน ถือเป็นโครงการ Strategic Project ที่สำคัญมากของปูนอินทรี ซึ่งที่ผ่านมาต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรนั้นอยู่ที่ 10% หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็น่าจะสามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้ และยังลดค่าความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจาก Downtime ของเครื่องจักรในอดีตด้วย
ความมีส่วนร่วมของวิศวกร คือหัวใจสำคัญของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้
ในการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำธุรกิจนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ใช้งานที่จะต้องพร้อมใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ได้ และในมุมของปูนอินทรีก็คือบุคลากรหน้างานทั้งหมดที่จะต้องใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ หรือก็คือวิศวกรนั่นเอง
ปูนอินทรีใช้วิธีการทำให้วิศวกรมีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่แรก เพื่อให้วิศวกรเข้าใจว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้นั้นมีอะไรบ้าง รวมถึงมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นถูกนำมาใช้เพื่ออะไร และการทำงานของตนจะดีขึ้นอย่างไรได้บ้างจากการมาของเทคโนโลยีเหล่านี้ และกระบวนการในการทำ Change Management ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการนำเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งมาใช้ ซึ่งความเข้าใจและความรู้สึกมีส่วนร่วมนี้เองก็มีความสำคัญสูงมากพอๆ กับการฝึกอบรมทักษะการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เลยทีเดียว
Smart & Digital Connected Plant ในมุมของ Cisco
Cisco มองว่าการทำ Digital Transformation นั้นจะต้องเกิดในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็เป็นอันดับ 8 ที่จะได้รับผลกระทบจากการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะมีผลกระทบต่อ Value Chain ทั้งหมด ดังนี้
- ภาคการผลิตจะเริ่มต้นรับมือกับความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้นจากข้อมูลและความสามารถในการปรับตัวที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
- การเพิ่มผลกำไรของธุรกิจให้สูงขึ้นสามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต
- การแก้ไขปัญหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญขาดแคลน การนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถแบ่งปันความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในแต่ละสาขาได้มากขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ และทำให้คนเก่งสามารถทำงานได้มากขึ้น (Remote Expert)
Indusrtry 4.0 ไม่ใช่อนาคตอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นปัจจุบันของธุรกิจในเวลานี้ หากธุรกิจไหนยังไม่เริ่มต้นก้าวไปสู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตตั้งแต่วันนี้ ก็ถือว่าตามหลังคู่แข่งรายอื่นๆ แล้ว และแน่นอนว่าระบบเครือข่ายที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการก้าวไปสู่ Industry 4.0 เป็นอย่างมาก ในขณะที่ Augmented Reality จะเป็นอีกเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญมากต่อภาคการผลิตในแง่ของการพัฒนาบุคลากร, การสื่อสาร และการทำงานจากระยะไกล ที่จะเป็นเทคโนโลยีที่มาต่อยอดถัดจากการมาของ IoT
สำหรับภาพรวมของการทำ Manufacturing Digitization ก็จะมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้
- Connected Asset เชื่อมต่อเครื่องจักรและสินทรัพย์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องต่อการทำงาน
- Connected R&D เชื่อมต่อแผนกวิจัยเพื่อให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- Connected Factory เชื่อมต่อโรงงานต่างๆ ให้สามารถบริหารจัดการและดูแลรักษาได้ง่าย
- Supply Chain Security & Visibility ติดตามกระบวนการต่างๆ ทางด้าน Supply Chain
- Connected Consumer เชื่อมต่อข้อมูลจากลูกค้าเพื่อให้การตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแม่นยำ
การนำเทคโนโลยีมาใช้นี้จะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศที่จะต้องก้าวตามตัวโลกให้ทัน ซึ่งในโครงการนี้ทางปูนอินทรใช้ Cisco Industrial Switch และ Cisco Aironet ในการให้บริการระบบเครือข่ายภายในโรงงาน
Fujitsu กับแนวคิด นวัตกรรมต่างๆ ต้องมีผู้คนเป็นศูนย์กลาง
Fujitsu ถือเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการทำ Digital Transformation (DX) ให้หลากหลายธุรกิจทั่วโลกมากมายในทุกอุตสาหกรรม และในโครงการนนี้ Fujitsu ก็รับบทบาทเป็น Systems Integrator ที่ติดตั้งระบบต่างๆ ให้กับทางปูนอินทรีในครั้งนี้นั่นเอง ซึ่งทาง Fujitsu ก็ได้สรุปหัวใจของการทำ DX มีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่
- People ผู้คน ทั้งในฐานะของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และผู้ใช้งานเทคโนโลยีในการทำงาน
- Information ข้อมูล ทั้งจากอุปกรณ์ IoT, ระบบ Big Data, ข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
- Infrastructure (Things) เครื่องจักรและสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน
Fujitsu เชื่อว่านวัตกรรมต่างๆ ต้องถูกสร้างขึ้นมาโดยมีผู้คนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิด Human Centric Innovation ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ จึงจะต้องถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผู้คนเป็นหลัก และเช่นเดียวกัน ธุรกิจเองก็ต้องให้ความสำคัญกับผู้คนมากกว่าเทคโนโลยี แม้ว่าถัดจากนี้ไปจะเป็นยุคที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากเพียงใดก็ตาม
ทาง Fujitsu นั้นได้นำเสนอโมเดลของการทำ Digital Business ไว้อย่างค่อนข้างน่าสนใจและเข้าใจง่าย ดังนี้
- IoT = Sense มีบทบาทสำคัญในการรับข้อมูลต่างๆ เป็นหลัก
- Analytics = Understand มีบทบาทในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับมา
- AI = Decide ช่วยทำการตัดสินใจและทำนายอนาคตล่วงหน้าสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง
- Robotics = Act หุ่นยนต์ที่จะคอยปฏิบัติงานต่างๆ ตามผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ
Fujitsu มีจุดแข็งที่ความสามารถในการให้บริการได้ในทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมี Know-how ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจจากญี่ปุ่น รวมถึงยังพร้อมที่จะให้บริการตั้งแต่ระดับของระบบเครือข่าย, Application, อุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงระบบการจัดการข้อมูล, AI และความมั่นคงปลอดภัย
ภายในโครงการนี้ถือเป็นการทำ Pervasive Network ครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้ Fujitsu ต้องอาศัยทีมที่มีประสบการณ์จากต่างชาติเข้ามาช่วย โดยนิยามที่ทำให้ Pervasive Network แตกต่างจากระบบเครือข่ายทั่วๆ ไปก็คือการที่ระบบเครือข่ายเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยอ้างอิงกับระบบการผลิตทั้งหมด ทำให้มุมมองการออกแบบระบบเครือข่ายแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมากนั่นเอง
ตัวอย่างหนึ่งคือการทำ Pre-survey ที่ต้องออกแบบระบบเครือข่ายให้เหมาะสมกับการปรับปรุงสายการผลิตในอนาคต และต้องวางแผนในการติดตั้งอย่างไรไม่ให้ขัดกับกระบวนการผลิตของปูนอินทรีด้วย ในขณะเดียวกันอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ก็ต้องออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารของประเทศไทย และเป็นไปตามข้อบังคับต่างๆ ของธุรกิจ อีกทั้งยังมีกรอบเรื่องเวลาในการออกแบบและติดตั้งที่จะต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ทันในการทำ Digital Transformation ของลูกค้าด้วย
นอกจากนี้ ในโครงการใหญ่ขนาดนี้ที่ต้องทำงานร่วมกันทั้งฝ่าย IT และ OT (เจ้าหน้าที่ในโรงงาน) การทำ Project Management จึงเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ตั้งแต่เรื่องของการสื่อให้ OT เข้าใจว่ากระบวนการการทำงานจะดีขึ้นและปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร และจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ผลลัพธ์เชิงธุรกิจเกิดขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง
อีกจุดที่น่าสนใจคือการเลือกใช้ Wi-Fi ในการทำ IoT ที่ถูกเลือกมาเพราะสองประเด็นหลักๆ คือความสามารถในการต่อยอดในอนาคตให้รองรับ Application อื่นๆ ได้มากขึ้น และยังคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวสูงสุดด้วย ก็เป็นมุมมองที่ถือว่าน่าพิจารณาไม่น้อยทีเดียวสำหรับองค์กรที่กำลังวางแผนทำระบบ IoT ในอนาคต