
สำหรับการเข้ามาของ Internet of Things (IoT) ทำให้ทุกๆองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวตาม เพื่อตอบรับกับเทรนด์ใหม่นี้ และในปัจจุบันเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ IoT ก็เปิดตัวออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยบริหารจัดการ, ระบบ Analytics, รวมถึงฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถเริ่มต้นใช้งาน IoT ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
Gartner, Inc. ได้เผย 10 เทคโนโลยีเด่น ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยเพิ่มความสามารถให้ Internet of Things (IoT) ในสองปีข้างหน้า ดังนี้
1.IoT Security
ระบบความปลอดภัยมีสำคัญเป็นอย่างมากในการใช้งาน IoT เนื่องจากอุปกรณ์ IoT จะต้องทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ รวมทั้งมีระบบการสื่อสารเฉพาะของตัวเอง ทำให้มาตรฐานความปลอดภัยจำเป็นต้องปรับตัวตาม เพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นกับระบบปฏิบัติการและระบบเครือข่าย เช่น ต้องสามารถป้องกันการโจมตีแบบ “denial-of-sleep” ที่จะทำให้อุปกรณ์ปลายทางใช้งานแบตเตอรี่จนหมดและไม่สามารถทำงานได้ นอกจากนี้ IoT Security จำเป็นต้องรองรับอุปกรณ์ปลายทางที่มีพลังในการประมวลผลต่ำ และรองรับระบบปฏิบัติการสำหรับ IoT โดยเฉพาะ ซึ่งวิธีการป้องกันความปลอดภัยแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถนำมาใช้งานกับระบบ IoT ได้
2.IoT Analytics
อุปกรณ์ IoT จะเก็บข้อมูลเข้ามาเป็นปริมาณมหาศาล และเก็บข้อมูลแบบ Real-time ทำให้ระบบ Analytics แบบเดิมๆไม่สามารถใช้งานกับ IoT ได้อย่างเต็มความสามารถ การทำ Analytics จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ ให้เข้ากับพฤติกรรมของ IoT เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาทำ Analytics ได้มีอย่างประสิทธิภาพและตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
3.IoT Device (Thing) Management
อุปกรณ์ IoT ปลายทางจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบมาควบคุม เพื่อใช้บริหารจัดการ รวมทั้งทำการสอดส่องดูแลการทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งระบบบริหารจัดการต้องมีความสามารถครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการ Monitoring, อัพเดตเฟิร์มแวร์และซอฟต์แวร์, รองรับการทำ Debugging, มีระบบรักษาความปลอดภัย และสามารถออกรายงานสถานะของอุปกรณ์ปลายทางทั้งหมดได้ ซึ่งระบบบริหารจัดการต้องสามารถรองรับอุปกรณ์หลักพันชิ้น บางทีอาจมีจำนวนถึงล้านชิ้นก็เป็นได้
4.Low-Power, Short-Range IoT Networks
การเลือกระบบเครือข่ายสำหรับ IoT ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากอุปกรณ์ IoT มีข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ส่งข้อมูลได้, มีแบตเตอรี่น้อย, ใช้งาน Bandwidth ได้ต่ำ ดังนั้นเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ใช้พลังงานการส่งข้อมูลต่ำ และส่งข้อมูลในระยะสั้นๆจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการใช้ IoT
5. Low-Power Wide-Area Networks
การใช้งานระบบ Cellular แบบเดิมไม่สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ IoT ที่ต้องส่งข้อมูลระยะไกลได้ เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพราะมีการใช้งานอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก และการส่งข้อมูลแบบ Wide-area จะต้องรองรับการส่งข้อมูล Bandwidth ต่ำ เพื่อให้อุปกรณ์ยังคงสามารถใช้งานพลังงานในระดับต่ำต่อไปได้ ทำให้เทคโนโลยี Wide-area IoT Network ในอนาคตจะใช้การส่งข้อมูลในหลักกิโลบิตต่อวินาที (kbps) ผ่านระบบเครือข่ายที่ครอบคลุมเป็นวงกว้าง และยังคงสามารถรักษาแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี ซึ่งฮาร์ดแวร์ของอุปกรณ์ปลายทางจะต้องสร้างให้มีราคาถูกที่สุด ซึ่งอาจจะมีราคาแค่ประมาณ 5 เหรียญเท่านั้น ในขณะที่ต้องออกแบบให้รองรับการเชื่อมต่อกับ Base Station และอุปกรณ์อื่นๆได้นับพันชิ้น โดยเทคโนโลยี Low-power Wide-area network (LPWANs) ในระยะแรกจะใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานของผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง (proprietary) แต่ในระยะยาวแล้วจะมีการร่างมาตรฐานขึ้นมาให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ เช่น Narrowband IoT (NB-IoT)
6.IoT Processors
หน่วยประมวลผลและสถาปัตยกรรมของอุปกรณ์ IoT จะเป็นตัวชี้วัดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ เช่น ความสามารถในการเข้ารหัส, การใช้พลังงาน, ระบบปฏิบัติการที่รองรับ, ความสามารถในการรองรับการอัพเดตเฟิร์มแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งการออกแบบฮาร์ดแวร์ให้มีความสามารถมากขึ้นจำต้องแลกมาด้วยราคาของอุปกรณ์ที่จะแพงขึ้นตาม ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมาใส่ไปยังฮาร์ดแวร์ของอุปกรณ์ IoT
7.IoT Operating Systems
ระบบปฏิบัติการแบบเดิม เช่น Windows, iOS และอื่นๆในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับอุปกรณ์ IoT เนื่องจากมีการใช้งานพลังงานสูง, ใช้หน่วยความจำเป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องใช้หน่วยประมวลผลที่มีความเร็วสูง นอกจากนี้ยังขาดความสามารถบางอย่าง เช่น การตอบสนองแบบ Real-time ดังนั้นระบบปฏิบัติแบบใหม่จำเป็นต้องมีการออกแบบให้รองรับกับพฤติกรรมการทำงานของอุปกรณ์ IoT และต้องรองรับฮาร์ดแวร์ได้หลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้ทุกรูปแบบ
8.Event Stream Processing
แอพพลิเคชันของระบบ IoT บางประเภท จะมีการส่งข้อมูลจำนวนมากแบบ Real-time ทำให้เหตุการณ์จำนวนมากนับหมื่นๆเหตุการณ์ถูกเก็บเข้ามาในระบบ และถ้าหากเป็นระบบที่ใหญ่มากๆ อาจมีได้ถึงหลักล้านเหตุการณ์ต่อหนึ่งวินาที ซึ่งการส่งข้อมูลแบบ Distributed Stream Computing Platform (DSCPs) จะถูกนำมาใช้ โดยจะใช้สถาปัตยกรรมการประมวลผลแบบขนานในการประมวลผลเหตุการณ์จำนวนมากที่ส่งเข้ามา เพื่อรองรับการทำ Analytics แบบ Real-time
9.IoT Platforms
IoT Platform จะเป็นการรวมส่วนประกอบหลายๆส่วนที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบ IoT เข้าด้วยกันเป็นผลิตภัณฑ์เดียว ซึ่งจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- Low-level device control and operation : รองรับการควบคุมการสื่อสารของอุปกรณ์, การตรวจสอบดูแล และมีระบบรักษาความปลอดภัยในตัวเอง
- IoT data : รองรับการอ่านข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วน และต้องสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้
- IoT application development : รองรับการพัฒนาแอพพลิเคชันที่นำข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT มาใช้งาน รวมไปจนถึงการทำ Visualization, Analytics และต้องมีความสามารถในการเชื่อมต่อไปยังระบบอื่นๆที่ใช้งานอยู่ภายในองค์กรได้
10.IoT Standards and Ecosystems
ถึงแม้ว่ามาตรฐานจะไม่ได้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีก็ตาม แต่มาตรฐานในความหมายของ IoT นั้น สามารถตีความได้ว่า เป็นการใช้ Application Programming Interfaces (APIs) เพื่อส่งข้อมูลจากระบบ IoT ไปยังระบบอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรเองก็ตาม ทำให้ API มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะถูกจัดเป็นมาตรฐานแบบหนึ่งนั่นเอง ทำให้ผู้ผลิตต้องสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับ IoT ที่รองรับหลายมาตรฐาน เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น