ภายในงาน Microsoft Worldwide Partner Conferrence 2016 (WPC16) ที่กำลังจัดขึ้นในเมือง Toronto, Canada นี้ ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณภัทร ยงวณิชย์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Director, South-East Asia จากทาง rhipe ที่ทำธุรกิจร่วมกับ Microsoft แบบ Indirect Cloud Service Provider (CSP) ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อทีมงานพอสมควรในแง่ของการปรับตัวของทั้งเหล่าองค์กรและ SI ในยุคของ Cloud ที่ทาง rhipe ได้รับประสบการณ์ทั้งจากตลาดที่ Success เต็มที่แล้วอย่างออสเตรเลีย และตลาดที่กำลังเริ่มต้นอย่างประเทศไทย จึงขอสรุปมาให้ได้อ่านกันดังนี้ครับ
Cloud มาช่วยลด OpEx ไม่ใช่ CapEx
ภาพแรกที่เหล่าองค์กรและ SI ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนเลยก็คือการที่ Cloud นั้นจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดงานของคนในองค์กรลงในระยะยาว และทำให้บุคลากรต่างๆ ในองค์กรสามารถนำเวลาที่เหลือไปใช้ในการทำงานอื่นๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นในระยะแรกๆ ที่ค่าเช่าระบบ Cloud อาจจะดูเหมือนสูงจนการซื้อมาใช้เองนั้นคุ้มค่ากว่า แต่ถ้าหากองค์กรเติบโตขึ้นไปและระบบ IT เริ่มขยายใหญ่ขึ้น การจ้างคนมาดูแลระบบ IT ตรงส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่องค์กรอยากหลีกเลี่ยง และกว่าจะรู้ตัวว่าการใช้ Cloud นั้นเหมาะสมกับการทำธุรกิจในปัจจุบันมากกว่าก็อาจจะสายไปแล้วในเวลานั้น
การเติบโตขององค์กรที่เหล่าองค์กรต้องมองไม่ใช่มีเพียงแค่การเพิ่มขึ้นของจำนวนคน แต่จะรวมถึงการขยายสาขาในประเทศและต่างประเทศด้วย ซึ่งแน่นอนว่าระบบแบบ On-premises นั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อธุรกิจเติบโตในลักษณะนี้ แต่ Cloud นั้นรองรับการเติบโตในลักษณะนี้ได้อย่างง่ายดาย
การใช้ Cloud ในองค์กรแถบเอเชียเติบโตเกินกว่าปีละ 100%
เป็นอีกหนึ่งความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Cloud มาแรงมากในเชิงของการลงทุนจากฝั่งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud ของระบบพื้นฐานอย่าง Microsoft Office 365 หรือระบบที่มีความเป็นองค์กรสูงมากขึ้นอย่าง Microsoft Dynamics, Microsoft SharePoint หรือ Microsoft Azure และบริการ Cloud จากผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ตาม และตลาดนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ด้วย
ในออสเตรเลียนั้น ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ รวมไปถึงระดับผู้บริโภคนั้นนิยมใช้บริการ Cloud กันเป็นหลักเพราะเสพย์ติดพฤติกรรมการเช่าใช้ในทุกๆ อย่าง เนื่องจากผู้ซื้อนั้นไม่ต้องดูแลสิ่งใดๆ ที่เช่ามาเลย และถ้าหากมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า การเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมนั้นก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียดายอีกด้วย
การซื้อ Software ใช้แบบสิทธิ์ขาดนั้น ในมุมมองของ rhipe ก็ไม่ต่างจากการเช่าใช้โดยมีระยะเวลาของสัญญาเท่ากับวันสิ้นสุดการสนับสนุนจากผู้ผลิต หลายองค์กรอาจจะยังพอใช้ Software เหล่านั้นต่อไปได้ถึงแม้ผู้ผลิตจะเลิกสนับสนุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่ถ้ามองถึงแง่มุมของขีดสามารถในการแข่งขัน, การรักษาความปลอดภัยระบบ IT ขององค์กร รวมถึงการรองรับต่ออนาคตแล้ว การใช้งาน Software ที่ Obsolete ไปแล้วนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในองค์กร และถ้าหากนำราคาของ Software นั้นๆ มาหารด้วยจำนวนปีที่สามารถใช้งานได้ก่อนที่จะ Obsolete การซื้อขาดและการเช่าใช้เองก็แทบมีราคาไม่ต่างกัน
Systems Integrator คือคนที่ต้องปรับตัวหาจุดแข็งเพื่อแข่งขัน
อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากในการที่เหล่า Systems Integrator (SI) จะอยู่รอดได้ในการมาของ Cloud นี้ การปรับตัวเข้าหา Cloud ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะถึงแม้การขายงานเป็น Project-based จะสร้างกำไรให้อย่างน่าดึงดูดได้ในระยะสั้น แต่สุดท้ายแล้วเมื่อลูกค้าต้องการจะไปหา Cloud เพื่อเสริมประเด็นด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน เหล่า SI ที่ปรับตัวไม่ทันจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนที่สุด
สิ่งที่เหล่า SI ควรทำคือต้องเลือกที่จะ Focus ในธุรกิจบริการมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนา Know How ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เลือกจับกับบริการ Cloud ในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอบริการที่เจาะจงแก่เหล่าองค์กร เพื่อให้องค์กรนั้นได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบ Cloud และบริการหรือความรู้จาก SI อย่างต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด และทำให้การดำเนินธุรกิจร่วมกันเป็นไปในแบบระยะยาว
นอกจากนี้การต่อยอดบริการของระบบ Cloud ด้วยบริการ Cloud อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำ Data Analytics, Dashboard, Backup และอื่นๆ อีกมากมายนั้นก็เป็นหนทางที่จะทำให้ SI สามารถ Up Sell หรือ Cross Sell ต่อไปได้ในอนาคต รวมถึงเป็นหนทางในการสร้างความแตกต่างยิ่งขึ้นในไปอีกได้ด้วย
อดทนให้ได้ 2-3 ปี เพื่อมีอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเหล่า SI
แน่นอนว่าการเปลี่ยนมาทำธุรกิจ Cloud ในเบื้องต้นนั้น SI จะต้องฝ่าฟันความยากลำบากในเชิงของ Cashflow ที่เมื่อลูกค้ายังน้อยอยู่อาจจะดูเหมือนไม่คุ้มทำ แต่ถ้าหากนับ Customer Lifetime Value แทนนั้นการทำธุรกิจแบบ Cloud ที่มีรายได้ต่อเดือนแทนจะมีมูลค่ารวมสูงกว่า และเมื่อทุกจุด Break Even แล้วความคุ้มค่าก็จะตามมาหลังจากนั้น ซึ่งส่วนมากมักใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี
ในทางกลับกัน การที่ SI กลายเป็นธุรกิจบริการและความรู้อย่างเต็มตัวที่ไม่ต้องดูแล Platform เอง ก็จะทำให้การขยายธุรกิจนั้นเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น การลงทุนทุกอย่างของ SI จะกลายเป็นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาให้บริการแก่เหล่าลูกค้าองค์กรให้มีคุณภาพสูงสุดอย่างเต็มตัว และกลายเป็นผลดีต่อวงการ IT ไปในระยะยาว และ Cash Flow แบบรายเดือนเองนั้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจลงไปด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างขององค์กรที่มุ่งสู่ Cloud เต็มตัวในไทย: มาลี
มาลี แบรนด์น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่เรารู้จักกันมาเป็นระยะเวลานาน เป็นหนึ่งในองค์กรที่เริ่มทำ Digital Transformation และก้าวเข้าสู่การใช้งานระบบ Cloud อย่างเต็มตัว โดย SI ที่ให้บริการมาลีนั้นคือ Metro System โดยปัจจุบันมาลีมีการใช้ Microsoft OneDrive แทนระบบ File Sharing, ใช้ Microsoft Skype เป็นระบบ Collaboration, เก็บข้อมูลธุรกิจลง Microsoft SharePoint ทั้งหมด และแทบไม่ต้องมีฝ่าย IT ของตัวเองในการให้บริการภายในองค์กรอีกต่อไป กลายเป็นงานของ SI อย่าง Metro แทน และทำให้มาลีสามารถ Focus ไปที่การดำเนินธุรกิจหลัก และการนำระบบ IT มาใช้ในเชิงรุกได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
rhipe กำลังมองหา SI Partner, ISV และ ISP ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วย Cloud
สำหรับเหล่า SI, ISV, Software Developer, Startup หรือ Internet Service Provider ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วย Cloud สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทางทีมงาน rhipe ได้โดยตรงที่คุณภัทร ยงวณิชย์ทันที โดยสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ patara@rhipe.com ได้เลยนะครับ ทาง rhipe แจ้งมาว่ายินดีจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้แก่บริษัทต่างๆ ในไทย เพราะ rhipe ทดลองให้บริการ Cloud ในรูปแบบต่างๆ มากมายในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนี้จนรู้แล้วว่า Cloud ตัวไหนทำตลาดขึ้นหรือไม่ขึ้นในประเทศไหนอย่างไรบ้าง ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่น่ารู้ติดตัวเอาไว้ครับ