ในปี 2016 ที่ผ่านมานี้มีผู้ให้บริการ Cloud และบริการ Managed Service เกิดขึ้นมาค่อนข้างมาก หลายผู้ให้บริการก็ได้มาปรึกษากับทีมงาน TechTalkThai ถึงแนวทางการทำการตลาดให้กับบริการเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้ไปค้นคว้าและทดลองอะไรกันมาค่อนข้างเยอะ เลยอยากเขียนสรุปเอาไว้เผื่อให้เป็นประโยชน์แก่วงการกันดังนี้ครับ
***ออกตัวไว้ก่อนเลยว่าทีมงาน TechTalkThai ไม่ใช่คนที่มีประวัติการศึกษาทางด้านการตลาดมานะครับ แต่เขียนสรุปเอาจากประสบการณ์และสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้ค้นคว้ามาเอง ถ้ามีอะไรผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องกันไปก็แจ้งมาได้ที่ info@techtalkthai.com ได้เลยครับผม
1. ทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าบริการของตนเองนั้นเสถียรดีแล้ว
ถึงแม้ความเร็วจะเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันทุกวันนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะ Deliver ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพออกมาให้ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการระดับองค์กรที่ระบบสำคัญของธุรกิจของลูกค้านั้นอาจต้องมาอยู่ภายใต้การดูแลของเรา
แนวทางที่ผู้ผลิตต่างประเทศชอบใช้นั้นก็คือการแบ่ง Phase ในการ Roll Out บริการต่างๆ ออกมาก่อน โดยชุดแรกๆ อาจจะจำกัดไว้ที่ลูกค้ารายที่สนิทๆ กันและคุยกันตรงๆ ว่าอยากให้ช่วยลองเป็นลูกค้ารายแรก ซึ่งอาจจะยังมีขลุกขลักอะไรบ้างก็ว่ากันไป แล้วตอนเปิดตัวบริการก็เปิดมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่เสถียรและลูกค้ากลุ่มแรกที่ฝ่าฟันปัญหามาด้วยกันจนมั่นใจได้แล้วว่าใช้งานได้จริง ในขณะที่ทีมงานของผู้ให้บริการเองก็มีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง พร้อมกับขัดเกลากระบวนการต่างๆ มาแล้วในระดับหนึ่งด้วย
ประเด็นนี้ค่อนข้างอันตรายมากหากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอออกไปนั้นยังไม่เสถียรดี และมีผู้ใช้งานกลุ่มแรกๆ ซึ่งเป็นคนภายนอกได้ทดลองและเกิดความรู้สึกเชิงลบจนเป็นกระแสปากต่อปากไป จนกลายเป็นประเด็นที่แก้ไขยากในภายหลัง โดยเฉพาะในวงการเล็กๆ อย่าง IT ในบ้านเรา
2. หากมีคู่แข่ง ต้องสร้างจุดแตกต่างอย่างชัดเจน
ในปี 2016 ที่ผ่านมาในไทยเรามีผู้ให้บริการ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) ผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด ในขณะที่บริการ Managed Service เองนั้นก็นำเสนอข้อมูลได้ดูจะไม่แตกต่างจากการจัดซื้อแบบเดิมๆ กันซักเท่าไหร่นักนอกจากวิธีการจ่ายเงิน ความยากจึงเกิดขึ้นมาทันทีว่าแล้วบริการจากผู้ให้บริการแต่ละรายเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรในมุมมองของลูกค้า?
จุดนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก เพราะจากที่ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยนั้น ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการแต่ละรายยังไม่ค่อยได้นึกถึงประเด็นนี้กันมากซักเท่าไหร่ นอกจากแค่ทำ Cloud หรือ Managed Service ขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวถัดไปหากต้องการขยายตลาดให้มากขึ้น เรื่องนี้ก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีทีเดียว
สำหรับแนวทางที่เหล่าผู้ผลิตต่างประเทศใช้กันนั้น ก็มีด้วยกันค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ของ Cloud หรือ Managed Service ตนเองทั้งหมดให้สอดคล้องไปกับตลาดที่ต้องการรุก, มีเทคโนโลยีเสริมเพื่อสนับสนุนการใช้งานในรูปแบบที่เฉพาะ, มีบริการเสริมเพื่อตอบโจทย์ตลาดบางกลุ่มที่ต้องการ, การวาง Pricing Model ที่ตอบโจทย์ความต้องการในระดับองค์กรได้จริงๆ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าการจะขายแต่บริการพื้นฐานไปเปล่าๆ นั้นเริ่มที่จะไม่เพียงพออีกแล้ว
ทั้งนี้จุดสำคัญของการสร้างความแตกต่างที่เห็นชัดเจนและถูกคู่แข่งเข้ามาเบียดบังได้ยากที่สุด ก็คือความแตกต่างในเชิงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาต่อยอดเอง และการให้บริการที่ดีตั้งแต่ก่อนการขายไปจนถึงหลังการขายนั่นเอง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยและต้องวางแผนให้ดีครับ (และจริงๆ ก็ไม่เกี่ยวกับแผนกการตลาดด้วย แต่เป็นระดับนโยบายเลย)
โจทย์นี้ไม่เป็นปัญหากับผู้ให้บริการ Software as a Service เท่าไหร่นัก เพราะแต่ละรายแตกต่างกันค่อนข้างชัดอยู่แล้ว
3. หากไม่แตกต่าง ต้องมีตลาดหรือช่องทางของตัวเองอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดีในบางกรณีนั้นความแตกต่างก็อาจไม่จำเป็นนักหากเดิมทีมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งมากอยู่แล้ว การเปิดบริการ Cloud ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ในมือนั้นก็ถือว่าเพียงพอ ถ้าหากตลาดเดิมนั้นเป็นตลาดที่คู่แข่งรายอื่นเข้าถึงได้ยาก และเราได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้นสโคปของการทำการตลาดก็จะเหลือแค่การสื่อสารกับลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นหลักแทน (แต่ประเด็นนี้จะปวดหัวมากขึ้นไปอีก เมื่อคิดว่ามันคือการ Convert ลูกค้าเดิมที่จ่ายเงินเราแบบ Project-based กลายเป็นจ่ายเงินแบบรายเดือนหรือรายปีแทน ก็อย่าลืมไปคิดถึง Cash Flow กันดีๆ ด้วยนะครับ)
แต่ในระยะยาว การหมั่นพัฒนาบริการของเราให้ตอบโจทย์ตลาดที่มีอยู่ในมือให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เป็นแนวทางที่ต้องทำ ซึ่งแน่นอนว่าทิศทางเหล่านี้ก็อาจจะกำหนดมาจากลูกค้าในมือที่เรามีอยู่และมีความต้องการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เราก็นำความต้องการนั้นๆ มาปรับเป็นบริการใหม่ๆ เพิ่มเติมต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้เช่นกัน
ประเด็นสำคัญคือ อย่าหยุดนิ่ง ถ้าวันนี้ไม่แตกต่าง เราก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้แตกต่างให้ได้
4. การเปิดให้ทดลองใช้งาน และการทำให้เห็นภาพของบริการ คือหัวใจสำคัญ
การขายบริการนั้นมักจะยากกว่าการขายสินค้า เพราะการนำเสนอให้ลูกค้าเห็นภาพหรือคุณค่าของบริการเราซึ่งอาจจะเป็น Cloud หรือ Managed Service นั้นทำได้ยาก(มาก) ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงควรใช้เวลาครุ่นคิดให้เยอะถึงวิธีการนำเสนอบริการเหล่านี้ออกไปสู่ตลาดให้ทุกคนเห็นภาพรวมและคุณค่าของสิ่งที่เรานำเสนอให้ได้ชัดเจนที่สุด
โจทย์ข้อนี้บริการของเมืองนอกแก้กันด้วย 5 แนวทางหลักๆ ได้แก่
- เปิด Free Trial ให้ลูกค้าได้เข้ามาลองใช้บริการของเราฟรีๆ ก่อนเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจซื้อหรือปรึกษาปัญหาต่างๆ ต่อไป วิธีนี้ถือว่าค่อนข้างดีเพราะจะทำให้เราได้รู้จักลูกค้าใหม่ๆ และติดตามการทดลองใช้งานของลูกค้ารายนั้นๆ ได้ด้วยว่าน่าจะเป็นลูกค้าที่มี Potential หรือไม่ แต่ทั้งนี้ระบบที่เปิดให้ใช้ฟรีนี้ก็ต้องมีคุณภาพดีพอที่จะไม่เกิดปัญหาในระหว่างทดลองใช้งาน ซึ่ง Cloud นี้อาจเปิด Free Trial แบบเต็มๆ ได้เลย ในขณะที่ Managed Service เองอาจต้องตัดบางส่วนออกไปก่อน และหากลูกค้าต้องการทดสอบอย่างจริงจังจึงค่อยทดสอบกันแบบเต็มที่อีกทีหนึ่ง (แต่การเลือกตัดบางส่วนก็เป็นโจทย์ที่ยากอยู่ดี) ทำให้การทำ Free Trial นี้ Managed Service จะไม่สามารถ Scale ได้เท่ากับ Cloud อย่างแน่นอน
- ทำ Product Tour เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ค่อนข้างเหมาะสมกับทั้ง Cloud และ Managed Service ที่ไม่สะดวกจะเปิด Free Trial นักให้กับลูกค้า ซึ่งสำหรับ Cloud นั้นอย่างน้อยการได้ดูหน้าค่าตาของหน้าจอบริหารจัดการ, การตั้งค่าและกำหนดค่าต่างๆ ก็อาจจะเพียงพอต่อที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจติดต่อมาหรือไม่ติดต่อแล้ว ส่วนในขณะที่ Managed Service นั้นอาจต้องนำเสนอ Deliverables ต่างๆ ให้ลูกค้าได้เห็น เช่น ตัวอย่างข้อความพูดคุยระหว่างลูกค้ากับผู้ให้บริการ (Mockup เอานะครับ อย่าเอาของจริงมาเปิด), ตัวอย่างรายงานสำหรับแต่ละเดือน, ตัวอย่างข้อมูลผลการใช้บริการ เป็นต้น
- จัด Training Session อันนี้เป็นมุกมาตรฐานที่เหล่าผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่มักจะใช้กัน แต่ก็เป็นแนวทางที่เหล่าผู้ให้บริการ Cloud และ Managed Service จะนำไปปรับใช้ได้อยู่ ซึ่ง Training Session ในลักษณะของ Hands-on Workshop นี้เองก็อาจจะไม่ได้นำเสนอแค่ส่วนของบริการเราเท่านั้น แต่ผูกไปเป็นโซลูชันใหญ่ๆ ที่ผู้มาอบรมจะได้ประโยชน์ไป
- เปรียบเทียบกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ ให้ชัด หลายครั้งถึงแม้จะเห็นว่าบริการของเราเป็นอย่างไร ทำอะไรได้ แต่ลูกค้าเองก็ไม่เห็นภาพว่าหากเลือกที่จะไม่ใช้บริการของเราแล้ว แต่เลือกที่จะลงทุนในรูปแบบเดิมๆ นั้นจะต้องลงทุนอะไรบ้าง จุดนี้เป็นจุดที่ควรนำเสนอให้ลูกค้าเห็นชัดเจน ว่าการใช้บริการของเรานั้นเทียบเท่ากับการลงทุนระบบอะไรและใช้คนที่มีความรู้จำนวนมากน้อยแค่ไหน (อันที่จริงแล้วประเด็นนี้เป็นเรื่องของการทำให้เห็นภาพในเชิงการลงทุนมากกว่า แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญอยู่ดีครับ)
- สร้างความน่าเชื่อถือด้วย Reference Customer การมีลูกค้าตัวอย่างที่พร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวและประสบการณ์นั้นสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแล้ว การเล่าเรื่องราวในการใช้บริการของเราในแง่มุมเชิงลึก และประโยชน์ที่องค์กรได้รับจริงๆ นั้นจะช่วยให้ลูกค้าเห็นภาพได้ง่ายขึ้นอีกมากสำหรับการตัดสินใจ
5. นำเสนอบริการ ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจกระบวนการ
การนำเสนอบริการที่มีความลึกในเชิงเทคนิคนั้นถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับการนำเสนอคุณค่าให้ลูกค้าเข้าใจ หลายครั้งที่ลูกค้ามักจะมองว่าบริการเหล่านี้มีราคาสูงเกินไป แต่ในความเป็นจริงนั้นเรามีบริการและกระบวนการย่อยต่างๆ ข้างในอยู่เป็นจำนวนมากที่ลูกค้าไม่ได้คำนึงถึง ประเด็นนี้เลยอยากเขียนถึงเพื่อให้เน้นย้ำซักหน่อยครับสำหรับคนที่ทำบริการในระดับ Premium ทั้งหลายในไทย
ถ้าใครได้มีส่วนร่วมในทีมให้บริการ Cloud หรือ Managed Service มาก่อนนั้นจะรู้เลยว่าตอนวางแผนก่อนเปิดให้บริการนี้ประเด็นต่างๆ ที่ต้องฉุกคิดและความเสี่ยงที่ต้องจัดการเยอะมาก ในขณะเดียวกันการตระเตรียมทีมงานและกระบวนการเพื่อรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โดยมากสิ่งเหล่านี้เองที่มักสื่อไปไม่ถึงลูกค้าเลย ทำให้หลายๆ ครั้งลูกค้าไม่เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของบริการเหล่านี้
อันที่จริงแล้วประเด็นนี้แก้ได้ค่อนข้างตรงไปตรงมาด้วยการตีบริการเหล่านี้ออกมาเป็น Man-hour / Man-day ที่ลูกค้าจะได้รับ, กระบวนการในการรับมือกรณีปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเรามีเตรียมไว้เป็น Template แล้ว, ตัวอย่างของ Deliverables ที่จะมาคู่กับบริการเหล่านี้, ตัวอย่างตัวเลขสถิติการใช้งานจริงจากลูกค้ารายอื่นๆ หรือข้อมูลใดๆ ที่จะสื่อถึงความคุ้มค่าของการใช้งานเรา ที่จะช่วยลดความยุ่งยากในการทำงานของลูกค้าลงนั่นเอง
6. บริการคือธุรกิจของผู้คน และมันต้องมีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว
เป็นอีกจุดที่น่าสนใจมาก เพราะหลักทั่วไปของการนำเสนอบริการคือการที่มีคนเก่งๆ ไว้คอยให้บริการ ในขณะที่แนวคิดของ Cloud และ Managed Service เองนั้นคือการที่ลูกค้าเช่าใช้ และเราคอยดูแลอัปเดตให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้นเรากลับแทบไม่ได้สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ไปยังทั้งลูกค้าปัจจุบันและว่าที่ลูกค้าในอนาคตเลย
ถ้าหากสังเกตเหล่าผู้ให้บริการรายใหญ่นั้น การสื่อสารตรงนี้ถือเป็นหนึ่งใน Operation ที่สำคัญไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการคอยอัปเดตข่าวสารถึงการลงทุนเพิ่มขยายระบบ, การอัปเดตส่วนประกอบต่างๆ ภายในระบบ, ปัญหาที่เกิดขึ้นและการแก้ไข, การตรวจสอบสถานะการทำงานของระบบต่างๆ, การรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งข่าวสารตรงนี้เองที่จะทำให้ว่าที่ลูกค้านั้นมองเห็นว่านี่คือบริการที่ยังคง Active อยู่และมีทีมงานมืออาชีพคอยช่วยดูแลจริงๆ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ช่องทางการติดต่อ Support ซึ่งถือเป็น Criteria สำคัญในการประเมินเลือกใช้ Cloud ในทุกวันนี้ ก็ต้องทำให้ดีและนำเสนอออกมาให้ชัดเจนด้วยเช่นกันครับ
7. การทำ Lead Generation ต่างจากผลิตภัณฑ์ Consumer อย่างสิ้นเชิง และต้องใช้เวลาบ้าง
ด้วยความที่ Cloud และ Managed Service นั้นสามารถเข้าสู่ตลาด Mass ได้ยากมากถ้าเราไม่ได้พัฒนาให้ถึงระดับของผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลก ดังนั้น 2 บริการนี้จึงกลายเป็นธุรกิจ B2B อย่างชัดเจน (และก็เป็นมาแต่แรกแล้ว หากไม่นับ Cloud Hosting ทั่วๆ ไป) แต่เราก็มักจะถูกทำให้สับสนจากการที่เหล่าผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกนั้นใช้วิธีโฆษณาที่เหมือนผลิตภัณฑ์ Consumer ทำให้เราคิดว่าเราเองก็ควรจะทำแบบนั้นบ้าง
ในความเป็นจริงหากวิเคราะห์ Customer Journey กันแล้ว เมื่อผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ไปถึงขั้นอย่างผู้ให้บริการรายใหญ่ และยังมีความเป็น B2B อยู่นี้ การทำ Lead Generation บนโลกออนไลน์เองก็ไม่ค่อยจะต่างอะไรกับการขายผลิตภัณฑ์ IT สำหรับองค์กรเท่าไหร่นัก ซึ่งตรงนี้เอาเข้าจริงในไทยก็ยังแทบไม่มีใครที่มีประสบการณ์กันมากนักอยู่ดี จึงอาจยังไม่เห็นภาพกันมากนัก
ในมุมมองของ TechTalkThai ที่เคยผ่านเรื่องราวเหล่านี้มา ขอเล่าสรุปๆ สั้นๆ เลยว่ามันคือการยกทีมขายทั้ง Sales และ Presales ขึ้นมาบนโลกออนไลน์โดยตรง มากกว่าที่จะเป็นการให้ฝ่ายการตลาดขึ้นมาจัดการดูแลโลกออนไลน์เพียงคนเดียว และทั้ง 3 ฝ่ายนี้ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ (หรือมาดูแลเพียงตรงนี้ส่วนเดียวเลยเมื่อเริ่มมีลูกค้าเข้ามาเยอะ) รวมถึงต้องใช้เวลาในการพูดคุยกับลูกค้าแต่ละรายประหนึ่งการ Consult ตามปกติของงานในวงการนี้
ดังนั้นแนวคิดประเภทที่ว่า ถ้าทำการตลาดออกไป x บาท ต้องได้ลูกค้ากลับมา y ราย คงนำมาใช้กับกรณีของ Cloud และ Managed Service ไม่ได้ขนาดนั้นครับ แต่อย่างไรก็ดี Google, Facebook, Email และ Website ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม
8. คำแนะนำและคำบอกต่อ คือการตลาดที่ได้ผลที่สุด
ธุรกิจบริการเฉพาะอย่างในสาย B2B สำหรับ Cloud และ Managed Service นี้ การเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ๆ ที่ง่ายที่สุดนั้นก็ยังคงเป็นการที่ลูกค้าบอกต่อกันเองจนเกิดเป็นลูกค้ารายใหม่ขึ้นมา ลองคิดดูว่าการขายที่เกิดจากระดับ C-Level แนะนำกันเอง กับการที่เราต้องเข้าไปแนะนำและอธิบายรายละเอียดต่างๆ มากมายนั้นอันไหนจะง่ายกว่ากัน (อยู่สายนี้มานานน่าจะเห็นภาพกันทุกคนนะครับ) ดังนั้นหากมีลูกค้าเดิมอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็ดูแลเค้าดีๆ กันด้วยนะครับ
9. งานนี้ไม่ใช่แค่งานของฝ่ายการตลาด แต่เป็นงานของเซลส์, วิศวกร และผู้บริหารด้วย
อันนี้เป็นข้อที่หลายองค์กรที่เปิดบริการ Cloud และ Managed Service ควรปรับอย่างใหญ่หลวงและเร่งด่วนเลย เพราะหากอ่านทั้ง 8 ข้อที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหลายๆ งานนั้นไม่ใช่งานที่ฝ่ายการตลาดทำได้คนเดียว แต่เซลส์และวิศวกรนั้นก็จะต้องลงมาเกี่ยวข้องบ้างไม่มากก็น้อย
ลองนึกภาพของการจัดงานสัมมนาดูครับ โดยปกติฝ่ายการตลาดนั้นจะรับบทบาทในการเชิญลูกค้าและดูแลให้งานออกมาดี ในขณะที่เซลส์จะเป็นคนพูดคุยกับลูกค้า, ผู้บริหารจะเป็นคนให้วิสัยทัศน์และความเชื่อมั่น ในขณะที่วิศวกรจะเป็นผู้ให้ความรู้และคำปรึกษา ภาพในโลกออนไลน์ของการทำการตลาดให้แก่ Cloud และ Managed Service เองก็ไม่ต่างกันครับ
แต่ต้องเตือนเล็กน้อยว่าบางงานนั้นอาจต้องใช้พลังในการ Development เพิ่มบ้างเช่นกัน ดังนั้นเตรียม Resource และประเมินเวลากันดีๆ นะครับ
สำหรับผู้ที่มีบริการ Cloud หรือ Managed Service อะไรในไทย ก็มาฝากโปรโมทกันได้นะครับ โดยเขียนข่าวมาให้เรียบร้อยพร้อมภาพประกอบส่งมาที่ info@techtalkthai.com ได้เลยครับ จะทะยอยลงให้ ส่วนใครอยากขอคำปรึกษาเรื่องนี้ก็ลองเมล์มาคุยได้เช่นกันครับ
อยากเห็นบริการ Cloud และ Managed Service ในไทยเกิดขึ้นดีๆ ดังๆ ไปไกลทั่วโลกครับ เลิกทำโฆษณาที่แปะแค่ตารางราคากันได้แล้วนะ