เชื่อแน่ว่าในปี 2023 ยังคงมีความท้าทายในธุรกิจที่ขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลรออยู่ ซึ่งการประมวลคลาวด์ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจ แต่องค์ประกอบใดที่เป็นส่วนขับเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ ทีมงาน TechTalkThai ได้ประมวลเทรนด์ที่หลายสำนักเผยแพร่และสรุปมาให้ทุกท่านได้ติดตามกัน โดยใจความสำคัญมี 10 ข้อดังนี้

1.) Security
เรื่องของความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยยังมีอยู่เสมอ โดยมีข้อพิสูจน์จากเหตุการณ์ต่างๆที่ยืนยันได้ว่าคลาวด์ก็ถูกโจมตีได้ อาจน่าประหลาดใจที่ดูเหมือนข้อมูลน่าจะปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ดีเครื่องมือที่ผู้ให้บริการคลาวด์มีก็ยังมากกว่าความสามารถของบริษัทขนาดเล็กที่จะลงทุนเองได้
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Data Privacy ที่ถูกกำหนดจากภาคกฏหมายของประเทศต่างๆ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้ยินคำว่า Sovereign Cloud ที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ดังกล่าว ทั้งหมดนี้ก็คือมุมมองของความมั่นคงปลอดภัยที่องค์กรจะให้ความสำคัญในปีนี้ โดยโอกาสเป็นของ Managed Service Provider (MSP) ที่สามารถนำเสนอบริการที่ให้ความมั่นใจกับลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ
2.) AI/ML
เป็นเรื่องที่แทบทุกสำนักให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า AI/ML ต้องอาศัยพลังการประมวลผลและทรัพยากรมาก การลงทุนเองจึงค่อนข้างยุ่งยากและมีต้นทุนสูง แต่บริการคลาวด์ได้ทลายข้อจำกัดเหล่านั้นออกไป ทำให้องค์กรสามารถเข้าถึง AI เพื่อต่อยอดเป็นบริการหรือโซลูชันใหม่ได้ กลับกันผู้ให้บริการคลาวด์เองก็พึ่งพาความสามารถของ AI เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการได้อย่างอัตโนมัติ สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น AI ที่ช่วยบริหารจัดการเรื่อง Storage หรือการควบคุมไฟฟ้าและความเย็นในดาต้าเซ็นเตอร์ และอื่นๆ
3.) Low code/ No Code
โลกยังขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานสายไอทีทักษะสูงอีกหลายด้าน จากปัญหาดังกล่าวแม้เทคโนโลยีจะล้ำสมัยมากขึ้น แต่การประยุกต์ใช้จริงก็ยังมีข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้เองเทคโนโลยี Low code/ No code จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถพัฒนาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าบริการ Low code/No code เหล่านี้พร้อมใช้งานอย่างง่ายผ่านคลาวด์เช่น Figma, Airtable และ Zoho เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทุนใน Infrastructure ของตัวเอง
4.) Hybrid Work
อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้บริการคลาวด์เติบโตอย่างก้าวกระโดดหลายเท่า สืบเนื่องมาจากภาวะแพร่ระบาดที่บีบคั้นให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่อย่างฉับพลัน แม้สถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่วิถีการทำงานเหล่านี้ไม่ได้หายไป โดยในปี 2023 บริการคลาวด์ที่ยังน่าจะเติบโตต่อไปก็ยังรวมถึงบริการสนับสนุนการทำงานเช่น Collaboration, Desktop as a Service หรือโซลูชันที่ช่วยปกป้องผู้ใช้งานจากที่ต่างๆอย่าง SASE เป็นต้น
5.) Hybrid / Multi-cloud และ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย (FinOps)
ในหัวข้อของเทรนด์รูปแบบการใช้งานคลาวด์นั้นหลายสำนักยังไม่เห็นพ้องต่อกันนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้การคาดการณ์ผันผวนมากนักที่ว่า Hybrid Cloud จะเติบโตต่อไป หรือ Multi-cloud จะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากองค์กรไม่ควรถูกผูกขาด ป้องกันปัญหาเรื่อง Downtime อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี Container ที่สนับสนุนให้การสร้างแนวทาง Cloud Native นั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ย่อมนำไปสู่ปัญหาของความซับซ้อนที่องค์กรต้องย้อนกลับมาพิจารณาถึงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย (FinOps) ที่ผสมผสานปนเปกันอยู่ในองค์กร
6.) Sovereign Cloud
เมื่อแต่ละประเทศต่างก่อตั้งกฏหมายข้อมูลของตนเอง ประกอบกับภาวะความเข้มข้นด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในที่สุดแนวคิดของ Sovereign Cloud ก็จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและชัดเจนมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้การใช้งานคลาวด์จากต่างประเทศนั้นยังสร้างความกังขาหลายเรื่อง ประการแรก คือความอ่อนไหวจากโครงข่ายระหว่างประเทศ ประการที่สอง การบังคับใช้กฏหมายของผู้ใช้บริการต่อผู้ให้บริการต่างประเทศ ประการที่สาม ผู้ใช้บริการอาจถูกระงับการเข้าถึงได้หากประเทศของตนเกิดกลายเป็นคู่สงครามหรือถูกคว่ำบาตร และประการสุดท้าย ความสำคัญของข้อมูลที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนระดับประเทศอาจไม่สะดวกใจย้ายข้อมูลออกไปภายนอก
ด้วยเหตุนี้เอง Sovereign Cloud ที่หมายถึง Cloud ที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพสูงสำหรับประเทศหนึ่งๆ หรือภูมิภาคหนึ่งๆ และอยู่ภายใต้ขอบเขตข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ โดยตรง ได้ถูกนิยมคุณสมบัติไว้ดังนี้
- โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การประมวลผล การเข้าถึงข้อมูลและรับส่งข้อมูลในระบบ รวมถึง API จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศนั้นๆ
- สามารถบังคับใช้กฏหมายของประเทศได้โดยไม่ถูกกฏหมายของประเทศอื่นแทรกแซงได้
- สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลเป็นของผู้ใช้บริการอย่างสมบูรณ์ทั้งระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ
- ความสามารถของ Sovereign Cloud ควรจะแข่งขันกับ Hyperscale Cloud ได้ เพื่อดึงดูดหน่วยงานและธุรกิจองค์กร
- การเข้าถึงทรัพยากรควรเกิดขึ้นได้จากประชากรในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ดีในการให้บริการจึงผู้ให้บริการอาจปรับเปลี่ยนบริบทให้มีการเข้าถึงจากภายนอกประเทศได้บางส่วน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการใช้งานทางธุรกิจ หรือเพิ่มให้รองรับกฏหมายของประเทศพันธมิตร
7.) Supercloud
การใช้งาน Multi-cloud ที่ยังมีความซับซ้อนสูง เช่น Container ที่ย้ายไปรับบนคลาวด์เจ้าต่างๆได้ ในทางปฏิบัตินั้นทีมไอทีต้องมีการคอนฟิครายละเอียดปลีกย่อยอีกมากกว่าจะใช้งานได้จริง โดยนี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงภายใต้การทำงานของ Multi-cloud ด้วยเหตุนี้เองแนวคิดของ Supercloud จึงเกิดขึ้นโดย Cornel University ราวปี 2016 ที่หมายถึงสถาปัตยกรรม Cloud ที่ช่วยให้สามารถทำ Application Migration as a Service ข้าม Zone หรือข้ามค่าย Cloud ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเพื่อให้สอดรับกับความรวดเร็วของโลกแห่งแอปพลิเคชัน แนวคิดของ Supercloud ในปัจจุบันก็คือการสร้างเลเยอร์หนึ่งที่ครอบเหนือผู้ให้บริการคลาวด์เจ้าต่างๆ รวมถึง On-premise หรือ Edge โดยเลเยอร์นี้จะทำกระบวนการปลีกย่อยเบื้องหลังให้การใช้งานคลาวด์ต่างๆง่ายขึ้น
คุณสมบัติของ Supercloud ที่นำเสนอโดย Silicon Angle สรุปไว้คือ
- รองรับผู้ให้บริการคลาวด์ได้หลายเจ้า และหลากหลายบริการ
- ผสานเครื่องมือเฉพาะของแต่ละเจ้า พร้อมปรับแต่งให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่า ง่ายดายและอัตโนมัติ รองรับ Workload ที่ต้องการ
- ผสาน PaaS ของแต่ละผู้ให้บริการเข้าด้วยกัน สร้างประสบการณ์เดียวกันเสมอ
- บริหารจัดการ Metadata Metadata อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ Supercloud สามารถทำงานบน Cloud แต่ละรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- มีส่วนระบบ Super PaaS เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่ดัดแปลง ต่อยอด สร้างคุณค่าใหม่ๆได้
โมเดลในการติดตั้ง Supercloud มี 3 แนวทางคือ 1.) มีส่วน Control Plane บนคลาวด์รายหนึ่งแต่มี Data Plane กับผู้ให้บริการรายอื่นๆ 2.) นำ Service ไปติดตั้งบนคลาวด์รายนั้น โดย Service ต้องทำงานร่วมกับ Service เดียวกันบนคลาวด์อื่นได้ และทำให้เกิดการจัดการจากศูนย์กลางด้วยภาพเดียวกัน 3.) Global Service ทำงานเบื้องหลังใน Region ต่างๆของผู้ให้บริการคลาวด์ ซึ่งผู้ใช้งานเข้ามาใช้ได้ในลักษณะ Service อย่างไรก็ดีปัจจุบันแนวทาง Supercloud นี้ก็เริ่มมีการให้บริการกันแล้วเช่น Snowflake, Dell และ Cohesity เป็นต้น
8.) Omni-cloud
การเพิ่มขึ้นของ Multi-cloud ที่ไม่ได้สะดวกมากนักยังทำให้องค์กรต้องพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ โดยหนึ่งในแนวทางใหม่ก็คือ Omni-cloud นั่นเอง ซึ่งคาดหวังด้านการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคลาวด์ โดยความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ ความยุ่งยากในการประสานงานข้อมูล การบริหารจัดการ และประสิทธิภาพด้านเครือข่าย ดังนั้นเมื่อพูดถึงโซลูชัน Omni-cloud ก็จะมีการอ้างถึงโซลูชันที่ครอบคลุมเรื่องหลัก 2 หัวข้อคือ
1.) ผสานรวมข้อมูล
โซลูชัน Omni-cloud จะช่วยผสานให้ข้อมูลที่กระจายกันอยู่เช่น ในคลาวด์เจ้าต่างๆ ผนวกเข้ามาให้เกิดการวิเคราะห์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการแอปพลิเคชันที่ทำงานแบบกระจายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2.) การเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกัน
แน่นอนว่าการเชื่อมต่อที่ดีคือรากฐานการทำงานร่วมกันในแอปพลิเคชันหรือแม้กระทั่งผู้ใช้กับคลาวด์เอง ยกตัวอย่างเช่น หากท่านมีแอปพลิเคชันที่กระจายตัวกันหลายโหนด โซลูชันของ Omni-cloud ก็จะเชื่อมโยงอุปกรณ์ของผู้ใช้ไปยังโหนดที่เหมาะสมโดยการตัดสินที่ชาญฉลาดรู้ว่าเส้นทางไหนดี มีทรัพยากรเพียงพอ
จะเห็นได้ว่า Omni-cloud ได้พยายามสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลาวด์อย่างมีคุณภาพ เมื่อท่านต้องเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ก็ทำงานได้เพียงไม่กี่คลิก ชาญฉลาดในการเลือกเส้นทาง ดึงข้อมูลมาทำงานร่วมกัน สร้างประสิทธิภาพให้แก่แอปพลิเคชันที่มีโครงสร้างกระจายตัว อย่างไรก็ดีแนวทางของ Omni-cloud ก็มีความท้าทายไม่น้อยเช่น ค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลระหว่างคลาวด์ต่างๆ และวิธีการรับมือกับข้อมูลที่เข้าออกคลาวด์ตลอดเวลา จะมีฐานข้อมูลรองรับทันหรือไม่ในจุดที่ต้องรับข้อมูลเพื่อลดเรื่อง Latency ตลอดจนการจัดการ Compute และ Workload ที่กระจายกันอยู่แต่ละที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงเพื่อสร้างโซลูชัน Omni-cloud
9.) Quantum Cloud Computing
การรวมตัวกันของระบบประมวลผลควอนตัมที่ให้บริการเข้าถึงได้ผ่านคลาวด์กลายเป็นมุมมองใหม่ที่น่าจับตา อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า Quantum Computing ได้ยกระดับการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้ เพียงแต่ว่าการนำไปใช้จริงนั้นทำได้ยากมาก ทำให้ Cloud จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งเพื่อเป็นสื่อกลางให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังของควอนตัมได้
ปัจจุบันผู้ให้บริการคลาวด์อย่าง IBM, Google, Microsoft และ Amazon กำลังแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งในตลาดของควอนตัม โดย IBM ดูมีความน่าสนใจในด้านการใช้งานง่ายและเปิดกว้างมากกว่า (อ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2020) อย่างไรก็ดีเมื่อการเข้าถึง Quantum Cloud Computing ง่ายขึ้นนักวิจัยและนักพัฒนามากมายต่างสามารถเข้าทดสอบอัลกอริทึมของตนได้โดยไม่ต้องเข้าถึงเครื่องเชิงกายภาพ
ในมุมของภาพการทำงานจริงปัจจุบัน ผู้ใช้งาน Quantum Cloud Computing จะติดต่อกับระบบได้ผ่านเครื่องของตน ที่จะใช้ quantum machine image (QMI) ที่เป็นสภาพแวดล้อมจำลองเพื่อประมวลผลซอฟต์แวร์ควอนตัม โดยโค้ดจะถูกรันใน quantum virtual machines (QVMs) ที่จะสร้างสัญญานคลื่นส่งไปที่หน่วยประมวลผลควอนตัม โดยภาพรวมนี้ทำให้ใครๆก็สามารถเข้าใช้ประโยชน์ของควอนตัมได้ สุดท้ายนี้หนทางของควอนตัวยังมีความท้าทายอีกมากหากต้องการให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง กว่าที่ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจ แม้กระทั่งลอจิกการโปรแกรมของวิศวกรซอฟต์แวร์ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่นับรวมสภาพแวดล้อมที่ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด หากองค์กรหรือผู้ให้บริการรายใดต้องการเปิดบริการควอนตัมของตนขึ้นมาเอง
ในช่วงแรกๆนี้ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ดูมีภาษีมากกว่าเพราะมีทั้งคลาวด์และลูกค้าอยู่ในมือ อย่างไรก็ดีผู้สนใจจงจำชื่อผู้เล่นเหล่านี้ไว้ให้ดี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพวกเขาอาจเป็นผู้ทำให้นวัตกรรมนี้ล้ำไปกว่าเดิม เช่น IBM Q Experience, Microsoft Azure Quantum, Amazon Braket, Google’s Quantum Playground, D-Wave Leap, Rigetti Forest และ Xanadu
10.) การมาถึงของ Public Cloud ในประเทศไทย
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดของคลาวด์ในประเทศไทยนั้นมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยผู้ให้บริการรายย่อยต่างหันมามุ่งสู่ธุรกิจคลาวด์จากหลากหลายบทบาท ทั้งจากบริษัทด้านโทรคมนาคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บริษัทขนาดใหญ่ หรือ SI ก็ตาม อย่างไรก็ดีหนึ่งสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือการมาถึงของ Public Cloud รายใหญ่เปิดตัวไปเมื่อปีก่อนคือ AWS และ Google ซึ่งเดิมทีก็ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้ใครอยู่แล้ว แม้ก่อนหน้าจะมีการเปิดตัวคลาวด์ของผู้ให้บริการจีนในประเทศไทยมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อ AWS และ Google ประกาศลงสนาม ณ ประเทศไทยแล้วนั้น ต้องจับตาให้ดีว่าตลาดคลาวด์อันกว้างใหญ่นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ผู้ให้บริการเดิมจะรักษาฐานลูกค้าของตนได้อย่างไร นี่คือคำถามสำคัญที่ผู้ให้บริการภายในประเทศหลายแห่งคงต้องคิดหาวิธีการที่จะสร้างศักยภาพเพื่อแข่งขันต่อไปครับ
ยังมีเทรนด์อื่นๆที่ถูกกล่าวถึงในมุมของแต่ละสำนัก ที่เราเห็นว่าควรต้องรู้ไว้ด้วยเช่นกัน
- Sustainability – องค์กรมองหาตัวช่วยตอบโจทย์ความยั่งยืนซึ่งคลาวด์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยทุ่นแรง เพราะจะเห็นได้ว่าระยะหลังผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ๆต่างออกมาวัดผลว่าตนลดการปล่อยคาร์บอนได้ดีเพียงได้ รวมถึงมีเครื่องมือให้ผู้ใช้ของตนทราบได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งองค์กรที่จะลงทุนเรื่องเหล่านี้ได้ก็ต้องมีศักยภาพสูงมากทีเดียว
- Edge Computing – เป็นการต่อขยายผลความสามารถของศูนย์ประมวลผลคลาวด์ ให้เกิดการประมวลผลที่ใกล้กับแหล่งกำเนิดข้อมูลลด Latency และข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล
- Storage – แนวโน้มการเติบโตของข้อมูลสูงขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด ผู้ให้บริการคลาวด์เองจึงต้องแสวงหาโซลูชันที่จะช่วยทำให้การเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกปล่อยออกมาเป้าหมายนี้ก็ดูเป็นไปได้มากขึ้น กลับกันการรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี้ไม่ง่ายนักสำหรับองค์กรขนาดเล็กหากต้องลงทุนเอง
- Application ใหม่ๆ – ศักยภาพของคลาวด์ในด้านการประมวลผลและบริการเสริมเช่น AI และ Data Analytics กลายเป็นฐานสนับสนุนโซลูชันด้าน IoT เช่นกัน หรือกล่าวได้ว่า IoT เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการใช้งานคลาวด์ อีกมุมหนึ่งที่กำลังมาแรงคือ Cloud Gaming จะเห็นได้จากการลงทุนของ Microsoft, Sony, NVidia และ Amazon จากเดิมที่ติดปัญหาเรื่องเครือข่ายมาวันนี้อาจจะเป็นไปได้ต้องขอบคุณการมาถึงของ 5G
ความท้าทายสำคัญของ Cloud Computing ในปี 2023
ในช่วงแรกเราพูดถึงแนวโน้มและประโยชน์ของ Cloud Computing แต่ก็มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญคือ
- กลยุทธ์เพื่อจัดการความซับซ้อน – ยอดการใช้งานคลาวด์ได้รับอานิสงฆ์เต็มๆจากความเร่งรัดของการแพร่ระบาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในการใช้งานคือองค์กรถูกบีบให้ยกระดับตัวเองอย่างเร่งรีบขาดการวางแผน ด้วยเหตุนี้เองหากถามถึงเรื่อง ROI อาจจะยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หรือยังใช้ได้ไม่คุ้มค่า ขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสมทั้งในมุมค่าใช้จ่าย และความหลากหลายของบริการ ปี 2023 จึงเป็นวาระอันดีที่องค์กรควรต้องพิจารณาและวางกลยุทธ์ใหม่ให้แน่ชัดว่าจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้ตอบคำถามได้อย่างมั่นใจว่าไปคลาวด์แล้วคุ้มค่าจริงหรือไม่
- กลยุทธ์เพื่อดึงศักยภาพของคลาวด์อย่างสูงสุด – ผู้เชี่ยวชาญจาก Alteryx เชื่อว่าการใช้งานคลาวด์ปัจจุบันยังไม่คุ้มค่าอย่างสูงสุด เช่น เราใช้คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลแต่ไม่ได้สกัดเอา Insight เพื่อเข้าใจมันอย่างแท้จริง หรือเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานไอทีมีประสิทธิภาพและความสามารถสูงขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งที่เราพลาดไม่ได้เช่นกันก็คือ เราเข้าถึงความสามารถของคลาวด์ได้มากน้อยแค่ไหน สร้างให้ลูกค้าหรือพนักงานเข้าถึงได้อย่างไรเพื่อนำไปสู่เกิดผลประโยชน์ในวงกว้าง สำหรับ 2023 เป็นจุดที่ท่านต้องมองเริ่มการเพิ่มทักษะ พัฒนาความรู้ทั้งในรูปแบบความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้าน Data Scientist หรือการใช้ Low-code/ No-code ให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนคลาวด์ได้
ที่มา :
- https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2022/10/17/the-top-5-cloud-computing-trends-in-2023/
- https://www.techopedia.com/the-future-of-cloud-computing-8-trends-to-watch-in-2023/2/34849
- https://nexttechnology.io/5-top-trends-in-cloud-computing-in-2023/
- https://www.the-future-of-commerce.com/2022/11/09/cloud-computing-trends-2023/
- https://www.infoworld.com/article/3680553/whats-coming-for-cloud-computing-in-2023.html
- https://www.techrepublic.com/article/future-cloud-computing-2023/
- https://www.techtalkthai.com/what-is-sovereign-cloud/
- https://www.techtalkthai.com/supercloud-what-is-it/
- https://www.dqindia.com/it-revolution-multi-cloud-to-omni-cloud/
- https://www.ricoh.com.my/blogs/why-is-omni-cloud-the-new-cloud
- https://www.ciotechoutlook.com/news/omni-cloud-the-future-of-cloud-computing-nid-6234-cid-10.html
- https://dataconomy.com/2022/06/quantum-cloud-computing-definition-state/