Supercloud ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในงานสัมมนาทางด้าน Cloud และ IT Infrastructure ทั่วโลก และเป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่ในอนาคตน่าจะต้องถูกใช้งานโดยธุรกิจองค์กรทุกแห่ง
ถ้าคุณยังไม่เคยรู้จักมาก่อนว่า Supercloud คืออะไร วันนี้ทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news ได้สรุปเรื่องราวของ Supercloud มาให้ทุกท่านได้อ่านกันแล้วครับ

ปัญหาของ Cloud และ Multicloud ในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ ธุรกิจองค์กรทุกแห่งล้วนต้องใช้ Cloud ในการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นระบบ Digital Infrastructure สำคัญ และมีการใช้งาน Cloud จากผู้ให้บริการหลายรายผสมผสานกัน จนกลายเป็น Multicloud
อย่างไรก็ดี ภาพของ Multicloud ที่สมบูรณ์นั้นคือการที่ธุรกิจองค์กรสามารถเลือกใช้งาน Cloud Infrastructure จากผู้ให้บริการายใหญ่หรือระบบ On-Premises และ Edge ของตนเองได้อย่างอิสระแท้จริง แต่ที่ผ่านมาโลกของเราก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยตอบโจทย์นี้ได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะภายในบริการ Cloud แต่ละแห่งนั้นมีบริการปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป และมีวิธีการในการใช้งานหรือการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ทำให้องค์กรใดๆ ที่จะทำ Multicloud นั้นต้องมีทีมงาน IT ที่เข้มแข็งมากๆ และมีความชำนาญในทุกบริการ Cloud ที่จะใช้งานในเชิงลึก ทั้งในส่วน Compute, Storage, Network, Security, Database, CDN และบริการย่อยอื่นๆ
ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัด เช่น ถึงแม้โซลูชันหนึ่งๆ จะถูกพัฒนาขึ้นมาให้ติดตั้งในแบบ Container ได้แล้ว และทำงานได้บน Kubernetes ของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายได้ แต่ในการใช้งานจริง เมื่อเราเลือกแล้วว่าจะติดตั้งใช้งานบนระบบของผู้ให้บริการ Cloud รายใด เราก็ต้องเข้าไปทำการเตรียม Environment บน Cloud นั้นๆ ด้วยตนเองก่อน ซึ่งทั้งในส่วนของ Compute, Storage, Network, Security, Database, CDN และอื่นๆ เองก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสุดท้ายก็ยังคงมีงานบางส่วนที่ผู้ดูแลระบบ IT ต้องเข้าไปจัดการให้เรียบร้อยด้วยตนเองอยู่ไม่น้อย เป็นต้น
เมื่อความยากในการใช้งานบริการ Cloud ที่หลากหลายกลายเป็นอุปสรรค Supercloud จึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้โดยเฉพาะ
นิยามของ Supercloud
Cornell University เป็นสถาบันแรกๆ ที่เริ่มพูดถึง Supercloud อย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2016 โดยให้นิยามแรกเริ่มของ Supercloud เอาไว้ว่าเป็นสถาปัตยกรรม Cloud ที่ช่วยให้สามารถทำ Application Migration as a Service ข้าม Zone หรือข้ามค่าย Cloud ได้อย่างง่ายดาย โดยจัดการทั้งในส่วนของบริการย่อยที่จะใช้งานและระบบเครือข่ายให้ด้วย
อย่างไรก็ดี โลกของ Cloud และ Application Development นั้นพัฒนาไปเร็วมาก จนถึงแม้นิยามที่ Cornell University ตั้งเอาไว้ให้กับ Supercloud จะยังคงมีบางส่วนที่ใช้งานได้อยู่ แต่หากจะนำมาใช้กับภาคธุรกิจองค์กรและโลกของเทคโนโลยีจริงๆ ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม
ปัจจุบันนี้มีผู้ให้นิยาม Supercloud เอาไว้หลากหลาย แต่โดยหลักๆ แล้วก็ยังคงมีแนวคิดพื้นฐานที่เหมือนกัน คือการเป็นสถาปัตยกรรมที่มี Layer อีกชั้นเหนือผู้ให้บริการ Cloud หลักๆ แต่ละราย ไปจนถึง On-Premises หรือ Edge และช่วยให้การใช้งาน Cloud นั้นเป็นไปได้อย่างอิสระแท้จริง ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งใช้งานระบบที่ตนเองต้องการบนผู้ให้บริการ Cloud หรือระบบใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจบริการปลีกย่อยเบื้องหลังอีกต่อไป ลดความจำเป็นในการเชี่ยวชาญบริการ Cloud ของผู้ให้บริการแต่ละรายให้เหลือน้อยที่สุดในการใช้งาน
คุณสมบัติของ Supercloud
Silicon Angle หนึ่งในสื่อเมืองนอกที่จับตามอง Supercloud มากเป็นพิเศษ ได้สรุปคุณสมบัติที่ต้องมีใน Supercloud เอาไว้ 5 ประการ ได้แก่
- สามารถใช้งานกลุ่มของบริการหลายรูปแบบบนบริการ Cloud ได้มากกว่า 1 ผู้ให้บริการ
- มีการผสานรวมนำเครื่องมือเฉพาะของแต่ละบริการ Cloud มาใช้เพื่อปรับแต่งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่าที่สุด และรองรับ Workload ที่ต้องการได้บน Cloud นั้นๆ โดยอัตโนมัติและง่ายดาย
- มีการผสานรวมระบบ PaaS ของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานระบบบนทุกๆ Cloud ได้ด้วยประสบการณ์เดียวกันเสมอ
- มีระบบริหารจัดการ Metadata อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ Supercloud สามารถทำงานบน Cloud แต่ละรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- มีส่วนของระบบ Super-PaaS เพื่อให้พันธมิตรใน Ecosystem สามารถนำไปใช้งาน ปรับแต่ง และสร้างคุณค่าเพิ่มเติมได้
ส่วนในแง่ของการ Deploy ระบบ Supercloud จะมีโมเดลในการติดตั้งใช้งานด้วยกัน 3 รูปแบบ
- มีลักษณะเป็น Control Plane ที่ทำงานบน Cloud หนึ่งๆ แต่มี Data Plane ที่สามารถใช้งานได้บนผู้ให้บริการ Cloud หลายรายด้วยประสบการณ์เดียวกัน
- มีลักษณะเป็นระบบที่รองรับการติดตั้งใช้งาน Service ที่ต้องการบน Cloud ใดๆ ที่ต้องการได้ โดย Service ดังกล่าวต้องทำงานร่วมกับ Service เดียวกันกับตนเองบน Cloud อื่นๆ ได้ และบริหารจัดการร่วมกันจากศูนย์กลางได้ด้วยประสบการณ์เดียวกัน
- มีลักษณะเป็น Service กลางในระดับ Global ที่เบื้องหลังทำงานบน Region ต่างๆ ของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละราย ทำให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถใช้งาน Service บนแต่ละ Cloud ได้จากระบบกลางเหมือนใช้งานระบบขนาดใหญ่เพียงระบบเดียว
จะเห็นได้ว่าโดยรวมแล้ว Supercloud จะเป็นอีก Layer หนึ่งที่เข้ามาเพื่อทดแทนความซับซ้อนของผู้ให้บริการ Cloud แต่ละราย และผสานรวมบริการ Cloud จากหลายผู้ให้บริการเข้าเป็นระบบเดียว เสมือนว่าบริการ Cloud แต่ละแห่งนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ Resource ย่อยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือเข้าใจในรายละเอียดเชิงลึกมากนักนั่นเอง
เราจะได้ใช้งาน Supercloud กันเมื่อไหร่อย่างไร?
สำหรับทุกวันนี้มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายรายที่ตีความ Supercloud ในแบบของตนเองและเริ่มที่จะให้บริการกันบ้างแล้ว เช่น Snowflake, Dell และ Cohesity โดยผู้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะปรับโซลูชันเดิมที่ตนเองมีอยู่ให้กลายเป็น Supercloud ซึ่งเบื้องหลังมีการใช้งานผู้บริการ Cloud ที่หลากหลายเป็นทรัพยากรในการประมวลผลและจัดการข้อมูลของตนเอง
แนวโน้มนี้ถือเป็นแนวโน้มหนึ่งที่มีความเป็นสากลสูง และผู้พัฒนาโซลูชัน IT สำหรับธุรกิจองค์กรทุกรายน่าจะเดินไปตามภาพของ Supercloud กันทั้งหมด ทำให้โซลูชันต่างๆ ที่เดิมทีเคยรองรับการทำงานได้บนบริการ Cloud ต่างๆ นั้น จะต้องกลายไปเป็น Supercloud เพื่อตอบโจทย์การทำ Multicloud ที่ครอบคลุมถึง On-Premises และ Edge ให้ได้ และผู้พัฒนาโซลูชันเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ให้บริการ Supercloud แทนในอนาคตกันนั่นเอง
ส่วนบริการอีกกลุ่มหนึ่งเช่น PaaS นั้นก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้าสู่การเป็น Supercloud ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยแนวคิดในการผสานรวมประสบการณ์ในการใช้งาน PaaS อย่างเช่น Container, Data Management, Data Platform และอื่นๆ ที่มีอยู่บนผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายให้กลายเป็น Supercloud เดียวที่มีประสบการณ์การใช้งานในรูปแบบเดียวจากศูนย์กลาง หรือเรียกว่า Super-PaaS นั่นเอง
อ้างอิง
http://supercloud.cs.cornell.edu/
https://wikibon.com/defining-supercloud/
https://siliconangle.com/…/21/supercloud-becoming-thing/
https://siliconangle.com/…/07/the-rise-of-the-supercloud/