ถึงแม้ว่า Cloud จะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกธุรกิจองค์กรต้องใช้งานไปแล้วในทุกวันนี้ แต่แนวคิดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Cloud นั้นก็ยังคงเดินหน้าต่อไปทุกวัน และหนึ่งในแนวคิดที่กำลังมาแรงทั่วโลกในตอนนี้ก็คือ Sovereign Cloud นั่นเอง ซึ่งคำๆ นี้ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ให้บริการ Cloud หรือจะอยู่ในฐานะของผู้ใช้บริการ Cloud ก็ควรต้องทำความรู้จักกันเอาไว้ เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ด้านการใช้ Cloud ได้อย่างเหมาะสมครับ
วันนี้ทีมงาน TechTalkThai เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Sovereign Cloud กัน พร้อมบทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ Cloud ในเมืองไทย ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เราจะมี Sovereign Cloud ของตัวเองกันครับ
Cloud แบบเดิมมีปัญหาอย่างไร? ทำไมจึงต้องมี Sovereign Cloud?
ถึงแม้ว่าในโลกนี้เราจะมีผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำหลายราย ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยและมี Cloud Data Center เปิดให้บริการหลายแห่งทั่วโลก ทำให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำได้อย่างง่ายดายและทั่วถึง แต่ในขณะเดียวกัน บริการ Cloud เหล่านี้ก็กลับกลายเป็นปัญหาในเชิงความมั่นคงได้เช่นกัน
ลองจินตนาการถึงกรณีที่ธุรกิจองค์กรยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยเลือกใช้บริการ Cloud จากผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำระดับโลก ที่มี Data Center อยู่ต่างประเทศ แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
- Internet เชื่อมต่อระหว่างประเทศมีปัญหา ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังบริการ Cloud นั้นๆ ได้
- เกิดประเด็นปัญหาทางกฎหมาย บริการ Cloud ใน Data Center ของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถตอบรับต่อข้อกฎหมายที่มีความเฉพาะตัวของประเทศไทยได้
- เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ การเข้าถึงบริการ Cloud ในประเทศนั้นๆ อาจไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป เช่น ประเทศเจ้าของพื้นที่ที่ Cloud Data Center แห่งนั้นเปิดให้บริการ หรือประเทศเจ้าของผู้ให้บริการ Cloud นั้นๆ อาจใช้ข้อกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นของธุรกิจหรือองค์กรในประเทศอื่นๆ เป็นต้น
- ต้องการนำข้อมูลที่ Sensitive มากๆ ไปทำการประมวลผลประสิทธิภาพสูงหรือใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในการวิเคราะห์บน Cloud แต่ก็กังวลว่าข้อมูลอาจรั่วไหลหรือสูญหายด้วยปัจจัยที่หลากหลาย
ตัวอย่างข้างต้นนี้อาจดูเป็นการกังวลที่เกินความเป็นจริงไปมากสำหรับบางคน แต่หากพิจารณาว่า Cloud นั้นคือระบบที่รวบรวมพลังประมวลผลและข้อมูลสำคัญเอาไว้มากจนมีความสำคัญสูงต่อธุรกิจหรือประเทศชาติ จนเรียกได้ว่า Cloud นั้นกลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ การมีระบบ Cloud ที่มั่นคงภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายทั้งหมดและไม่ต้องกังวลถึงข้อขัดแย้งทางการเมืองกับชาติอื่นๆ ก็ถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อความมั่นคงต่อภาคเศรษฐกิจและประเทศชาติได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาเราก็มักเห็นการริเริ่มเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้บ้างแล้ว อย่างเช่นบริการแบบ Local Cloud ที่เหล่าธุรกิจโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีนั้นนำเทคโนโลยี Cloud มาเปิดให้บริการบน Data Center ในประเทศ แต่แน่นอนว่าบริการในกลุ่มนี้เองก็อาจยังมีความสามารถที่ไม่เทียบเท่ากับบริการ Cloud ชั้นนำที่มี Feature ใหม่ๆ หลายร้อยหรือหลายพันรายการในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีเพิ่มเติมเข้ามาอยู่ตลอด
ประเด็นเหล่านี้เองได้เป็นจุดขับเคลื่อนสำคัญของการริเริ่มใหม่ๆ อย่างเช่นในสหภาพยุโรปที่มีความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลจากกฎหมาย GDPR และความมั่นคงทางการประมวลผลและข้อมูล ก็ได้มีความร่วมมือกันระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสภายใต้โครงการ Project GAIA-X เพื่อสร้างระบบ Hyperscale Cloud สำหรับใช้งานกันเองภายในสหภาพยุโรป ด้วยการจับมือกับธุรกิจ IT ชั้นนำหลากหลาย หรือผู้ให้บริการ Cloud บางรายเองก็ต้องเปิดบริการ Government Cloud และลงทุนสร้าง Data Center พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในประเทศหนึ่งๆ แยกจากบริการ Cloud ปกติ เพื่อให้ภาครัฐของประเทศนั้นๆ มั่นใจในประเด็นด้านความมั่นคง
ซึ่งการริเริ่มเหล่านี้เองก็ได้กลายเป็นที่มาของ Sovereign Cloud
Sovereign Cloud คืออะไร? จะสามารถมาแก้ไขปัญหาที่บริการ Cloud แบบเดิมมีได้อย่างไร?
โดยหลักการแล้ว Sovereign Cloud คือบริการ Cloud ที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพสูงสำหรับประเทศหนึ่งๆ หรือภูมิภาคหนึ่งๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วคำว่า Sovereign นั้นถูกนิยามในภาษาไทยถึงความเป็นอธิปไตย แต่การใช้คำว่าอธิปไตยอาจทำให้เข้าใจยากเล็กน้อยเพราะแต่ละประเทศนั้นก็มีขอบเขตนิยามของอธิปไตยที่แตกต่างกันออกไปอีก
ถ้าหากสรุปให้เข้าใจโดยง่าย Sovereign Cloud จะต้องมีคุณสมบัติขั้นต้นดังต่อไปนี้
- มีการติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานของ Cloud ทั้งหมด ครอบคลุมทั้ง Compute, Storage, Network, Management และอื่นๆ ในพื้นที่ของประเทศหนึ่งๆ
- การประมวลผลทั้งหมด, การเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด และการรับส่งข้อมูลภายในระบบ Cloud นั้นต้องเกิดภายในประเทศนั้นๆ รวมถึงการบริหารจัดการและการใช้ API ด้วย
- การเข้าถึงทรัพยากรของ Sovereign Cloud นี้ควรจะต้องเกิดขึ้นได้จากประชากรของประเทศนั้นๆ เท่านั้น
- ข้อกฎหมายของประเทศที่ตั้ง Sovereign Cloud ต้องบังคับใช้กับการประมวลผลและข้อมูลที่เกิดขึ้นใน Sovereign Cloud นั้นๆ ได้ และไม่ถูกข้อกฎหมายของประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง
- ทรัพยากรและความสามารถของ Sovereign Cloud ควรจะต้องแข่งขันกับ Hyperscale Cloud ได้ เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจองค์กร
จะเห็นได้ว่า Sovereign Cloud นั้นโดยรวมแล้วจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากบริการ Public Cloud ชั้นนำมากนัก แต่จะมีประเด็นด้านของพื้นที่และขอบเขตของประเทศที่เปิดให้บริการ พร้อมกับปัจจัยด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายไม่น้อยเพราะเหล่าผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำเองก็ต้องคำนึงถึงประเด็นด้านการลงทุนเพิ่มเติมหากจะเปิดบริการ Sovereign Cloud ในแต่ละประเทศ ในขณะที่ผู้ให้บริการ Local Cloud เองก็อาจมีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่จะแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกไม่เพียงพอ
ด้วยคุณสมบัติขั้นต้นเหล่านี้เอง เราจึงยังเห็นการริเริ่มด้านนี้ไม่มากนักในประเทศไทย แต่สำหรับทั่วโลกนั้นความเคลื่อนไหวด้านนี้ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น OVHcloud เองก็ผลักดันบริการนี้ในยุโรป หรือ T-Systems ที่ร่วมมือกับ Google Cloud สร้าง Sovereign Cloud ในเยอรมนี หรือที่ออสเตรเลียเองก็มี AUCloud ที่เป็นบริการด้านนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่จีนเองถึงแม้จะไม่ได้ออกมาสื่อสารด้านนี้มากนัก แต่ก็เข้าใจได้ว่าบริการ Cloud แทบทั้งหมดของจีนในส่วนที่ให้บริการภายในประเทศก็น่าจะเข้าข่ายของ Sovereign Cloud ได้ทั้งสิ้น
บริการ Cloud ในไทยมีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ภาพของ Sovereign Cloud ได้มากน้อยแค่ไหน? อะไรคืออุปสรรค?
สำหรับประเทศไทยเองนั้นก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ทั้งจากปัจจัยด้านข้อกฎหมายที่มีความเฉพาะตัวสูง, การลงทุนตั้ง Cloud Data Center ในไทยจากผู้ให้บริการจากจีน และการแข่งขันของผู้ให้บริการ Local Cloud ที่มีหลากหลายราย รวมถึงหน่วยงานรัฐเองที่พยายามจะผลักดันการสร้างบริการ Cloud สำหรับให้บริการหน่วยงานต่างๆ กันอย่างต่อเนื่องและแข่งขันกันเองในบางครั้งเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของ Sovereign Cloud ในไทยนั้นหากจะเกิดขึ้นก็จริงก็น่าจะมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
- ศักยภาพทางด้านการลงทุน ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการ Cloud แต่ละรายยังคงเน้นให้บริการ IaaS พื้นฐานเป็นหลัก และใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเพียงไม่กี่รูปแบบในการให้บริการ จึงยังไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการ Cloud ระดับโลกที่มีบริการหลากหลายรองรับ Workload หลายชนิดได้ดีนัก
- ขนาดของตลาด ที่ถึงแม้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังคงใหญ่ไม่เท่าหลายๆ ประเทศ รวมถึงยังไม่มีกรณีการใช้งาน Workload ที่นอกเหนือจากกรณีพื้นฐานมากนัก
- ประเด็นทางด้านกฎหมาย ทั้งในแง่ของความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายและการบังคับใช้ในบางกรณี
แต่หากมองในระยะยาวแล้ว Sovereign Cloud ก็ถือเป็นหนึ่งในขีดความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของประเทศที่เห็นได้ชัด และในมุมจากประเทศที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนั้น ก็อาจมี Sovereign Cloud ในรูปแบบของตนเองที่เหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพของผู้ให้บริการได้เช่นกัน ซึ่งตรงจุดนี้ก็อาจถือเป็นโอกาสของเหล่าผู้ให้บริการ Cloud และผู้พัฒนาเทคโนโลยีในไทย แต่ก็แน่นอนว่าต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันและสนับสนุนด้วยต่อไป
ที่มา:
- https://www.everestgrp.com/2020-07-politics-and-technology-in-the-post-pandemic-world-will-drive-sovereign-cloud-adoption-blog-.html
- https://www.ovhcloud.com/asia/about-us/sovereign-cloud/
- https://techmonitor.ai/techonology/cloud/sovereign-cloud
- https://www.fiercetelecom.com/tech/germany-getting-a-sovereign-cloud
- https://www.australiacloud.com.au/