เป็นอีกครั้งที่ได้ไปร่วมงาน Cisco Night Academy ครับ เลยต้องทำหน้าที่จดเนื้อหากลับมาแบ่งปันผู้อ่านทุกท่านที่ไม่ได้ไปด้วย ยังไงถ้าตกหล่นเรื่องไหนไปก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ เพราะเนื้อหาถือว่าค่อนข้างอัดแน่นมากกับระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แต่ก็เป็นการเรียน 2 ชั่วโมงที่สนุกมากเช่นกันครับ เพราะทีมงานเองก็ไม่ได้อัพเดตข้อมูลของเทคโนโลยีฝั่งนี้มาระยะนึงแล้ว มีอะไรใหม่ๆ มาเยอะพอสมควรเลยครับ
แนวคิด Intelligent Video Collaboration – ความง่ายคือหัวใจของการสื่อสาร
ในทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ ในการสื่อสารนั้นต่างก็พัฒนาไปในรูปแบบที่ง่ายดายขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จนใครๆ ก็แทบจะใช้เองได้โดยไม่ต้องมีการสอนหรือการฝึกอบรมกัน เทคโนโลยี Video Conference สำหรับองค์กรเองนั้นก็ได้มีการพัฒนาทางด้านความง่ายในการใช้งานเช่นเดียวกัน เพราะยิ่งการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่ายเท่าไหร่ พนักงานในองค์กรก็จะมีความรู้สึกดีที่จะติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่การประชุมแบบเห็นหน้ากันผ่าน Video Conference ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้การสื่อสารนั้นครบถ้วน เก็บได้ทั้งภาพ เสียง และอารมณ์ ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ในระดับเดียวกันกับการ Meeting จริงๆ ในห้องประชุม
การทำ Video Collaboration นั้นจะต้องง่ายเหมือนการโทรศัพท์ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ด้วยการเลือกผู้ที่ต้องกาประชุมด้วยปลายทางและทำการกดเริ่มประชุมเพียงเท่านั้น (ปรับปรุงขึ้นจากเมื่อก่อนที่ต้องระบุ IP Address หรือ User Account ปลายทางเอง) ในขณะที่การใช้งานนั้นไม่ว่าจะประชุมจากห้องประชุม, ประชุมจาก Notebook ส่วนตัว หรือประชุมผ่าน Smartphone/Tablet เองก็ต้องมีประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย และคล้ายคลึงหรือเหมือนกันในทุกๆ Platform
สำหรับการประชุมเป็นห้องใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมหลายคนนั้น เมื่อก่อนผู้ใช้งานจะต้องวางแผนล่วงหน้า และแจ้งฝ่าย IT ให้ทำ Bridge ให้ แต่ในปัจจุบันระบบเหล่านี้ก็มีความง่ายขึ้น และมีระบบ Automation มารองรับ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการการประชุมขนาดใหญ่เองได้เลย เป็นการลดภาระของฝ่าย IT และความซับซ้อนในการประชุมลงด้วย
ในปัจจุบันนี้ ระบบ Video Collaboration ก็ได้เริ่มเข้าไปเติมเต็มหรือทดแทนระบบ Voice over IP, IP Phone หรือแม้แต่การประชุมตามปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวอย่างเช่น
- การทำงานใน Office ที่ไม่มีที่นั่งประจำ การทำ Video Conference ผ่าน Notebook หรือมีห้องประชุมไปเลยก็ช่วยให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น
- Remote Office บางแห่งก็เริ่มมีระบบ IP Phone ที่ช่วยผสานการสื่อสารต้นทางและปลายทางให้โดยอัตโนมัติ ว่าถ้าหากทั้งสองฝ่ายพร้อมจะทำ Video Call แทน Voice Call ก็จะปรับไปทำ Video Call ให้แทน
- ระบบ Video Contact Center ที่องค์กรต่างๆ เริ่มใช้ Video Call ไปยัง Kiosk หรือจุดให้บริการต่างๆ แทนการทำ Voice Call เพราะจะช่วยให้การให้บริการลูกค้าเป็นไปได้ด้วยประสบการณ์ที่ดีขึ้น สามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงการสื่อสารทางอารมณ์เช่นรอยยิ้ม ก็จะสามารถส่งผ่านไปยังลูกค้าได้ทันที
- การแชร์ Presentation หรือ Document ต่างๆ ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ทำให้การประชุมทีม, อัพเดตงาน, แก้ไขเอกสารสามารถทำผ่าน Video Conference ได้อย่างง่ายดาย
- จากเดิมที่ในห้องประชุมจะต้องมี Projector สำหรับใช้ประชุมภายใน และมี Video Conference พร้อมจอ LED แยกสำหรับประชุมทางไกล เดี๋ยวนี้ระบบ Video Conference ก็ได้เข้ามาทดแทน ทำให้ทั้งการประชุมในห้องและการประชุม Remote สามารถทำร่วมกันได้ภายในระบบเดียวแล้ว พร้อมทั้งมี Touch Pad สำหรับใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งง่ายดายกว่าการใช้รีโมตแบบเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างปุ่มต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานได้อย่างอิสระ
แนวคิดพื้นฐานในการออกระบบ Video Collaboration
การออกแบบระบบเครือข่ายให้รองรับการใช้งานระบบ Video Collaboration นั้น หลักๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ในการใช้งาน
คำถามแรกที่ควรเริ่มถามก่อนเลยก็คือ “เราประชุมอย่างไรบ้าง?” เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติในการทำงานเดิมที่องค์กรใช้อยู่ก่อน และจึงค่อยวางแผนต่อยอดว่าจะเพิ่มการประชุมรูปแบบไหนเข้าไปอีกบ้าง เพื่อให้รองรับทั้งการใช้งานเดิม และการใช้งานต่อยอดในอนาคต โดยทั่วไปแล้วการประชุมมีรูปแบบดังนี้
- ประชุมแบบวางตารางล่วงหน้า (Scheduled Meeting)
- ประชุมแบบทันทีตามต้องการ (Ad-hoc Meeting)
- ฝึกอบรมพนักงาน (Training)
- ประชุมผ่านระบบเสียง (Voice Call)
- ประชุมผ่านวิดีโอ (Video Call/Video Conference)
- ประชุมเพื่อนำเสนอผลงาน (Presentation)
ทั้งนี้เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของการประชุมที่ต้องการได้แล้ว ก็จะทำให้เราสามารถออกแบบ Layout ของห้องประชุม, Scope ทางด้านจำนวนผู้เข้าประชุม และเลือกอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประชุมที่ต้องการได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และกลายเป็น Requirement เบื้องต้นของโครงการได้
2. การออกแบบห้องประชุม, รูปแบบการประชุม และความสามารถอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งาน
หลังจากที่มี Requirement ชัดเจนแล้ว สิ่งที่จะต้องให้ความใส่ใจในการออกแบบเป็นอันดับถัดไปมีดังนี้
ห้องประชุม ในกรณีที่ต้องการห้องสำหรับใช้ในการทำ Video Collaboration ก็จะมีทั้งกรณีที่มีห้องเดิมอยู่แล้วให้ปรับปรุง หรือสร้างห้องใหม่เพื่อรองรับการประชุมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ในการออกแบบห้องประชุม รายละเอียดทางด้านขนาดห้องหรือ Floor Plan และ Layout การวางโต๊ะ, จอ และกล้องนั้นจะต้องสัมพันธ์ไปกับการเลือกกล้องและไมโครโฟนสำหรับใช้ในห้องประชุมให้เหมาะสม เพื่อให้กล้องสามารถทำ PTZ (Pan/Tilt/Zoom) ให้เหมาะสมกับพื้นที่, ขนาด, มุมก้ม/เงยตามต้องการได้ ทั้งนี้ Cisco เองก็มี Layout พื้นฐานที่ออกแบบไว้ให้ดูเป็นแนวทางอยู่แล้ว
Whiteboard ในตลาดมีเทคโนโลยี Whiteboard หลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการใช้จอคอมพิวเตอร์เป็น Whiteboard, ระบบ Whiteboard ที่สามารถเขียนได้แบบเสมือน และสามารถ Integrate เข้าระบบ Video Conference ได้เช่นกัน
ระบบจัดตารางการประชุม ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานไม่เกิดปัญหาเรื่องการแย่งห้องประชุมขึ้น โดยปัจจุบันนี้ระบบจองห้องประชุมก็จะมีทั้งระบบแยกเฉพาะ หรือ Integrate เข้ากับ Microsoft Outlook หรืออื่นๆ เพื่อให้สามารถจองและตรวจสอบตารางห้องประชุมด้วยกันได้เลย
หน้าจอ LED จะต้องเลือกปริมาณให้เหมาะสมกับขนาดและ Layout ของห้อง ให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนมองเห็นเนื้อหาที่ใช้ในการนำเสนอได้อย่างชัดเจนและไม่ลำบากในการมอง รวมถึงเลือกอุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้สามารถแสดงผลได้อย่างครบถ้วน
กล้อง Video Collaboration, Microphone และตำแหน่งการติดตั้ง การออกแบบพวกนี้จะส่งผลต่อภาพที่ได้รับในการใช้ประชุม ซึ่งจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้องมุมก้ม, กล้องมุมเงย, กล้องพอดีกับระดับสายตา หรือขนาดภาพของผู้ร่วมประชุมแต่ละคน ก็ต้องทดสอบกันไปแต่ละแบบ
อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ระบบ Switching/Mixer เพื่อสลับการรับ Input หรือแสดง Output หรือแม้แต่ระบบ Recording เพื่อบันทึกการประชุม ซึ่งจะสัมพันธ์กับรูปแบบการประชุมที่ต้องการว่าจะต้องการนำสิ่งใดมาแสดงผลออกที่ไหน และสลับรูปแบบอย่างไร หรือบันทึกอะไรบ้าง ซึ่งการเลือกอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ก็มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความละเอียดมากเช่นกัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องการทำระบบบันทึกการเรียนการสอน หรือทำระบบการเรียนการสอนทางไกล
โซลูชั่นเสริมอื่นๆ สำหรับเลือกใช้ให้เหมาะสมต่อความต้องการ เช่น ใช้ Softphone สำหรับการร่วมประชุมผ่าน PC / Notebook แทน หรือเลือกใช้ Handset เพื่อให้ผู้บริหารสามารถประชุมได้อย่างมีความเป็นส่วนตัว
ระบบ MCU สำหรับใช้สร้างห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับการเชื่อมต่อตั้งแต่ 3 ปลายทางขึ้นไป โดยทั่วไปแล้วการประชุมจะมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ การประชุมแบบทันที, การประชุมแบบมีกำหนดการล่วงหน้าที่ไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าประชม และการประชุมแบบมีกำหนดการล่วงหน้าโดยจำกัดผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งนอกจากจะต้องเลือกรูปแบบการประชุมที่ต้องการแล้ว ก็จะต้องเลือกวิธีการในการแสดงผลออกหน้าจอว่าจะแสดงแบบใดได้บ้าง, Protocol และความละเอียดที่รองรับ, วิธีการคิด License, วิธีการออกแบบให้รองรับต่อการประชุมจำนวนมากที่ MCU เครื่องเดียวอาจไม่เพียงพอ, การนำ Conductor เข้ามาใช้ช่วยจัด Resource การประชุม, การเชื่อมต่อกับระบบประชุมผ่าน Cloud เช่น Cloud WebEx รวมถึงรูปแบบในการติดตั้งว่าจะใช้เป็น Applicance หรือ Virtual Machine อีกด้วย
3. การออกแบบระบบ Network
สำหรับการออกแบบระบบเครือข่าย ก็ควรมีการแบ่งสรร VLAN และทำ QoS สำหรับระบบ Video Collaboration เอาไว้โดยเฉพาะ โดยอาจจะใช้ CDP เพื่อ Detect อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อและทำการ Assign VLAN ให้โดยอัตโนมัติก็ได้
ทั้งนี้ระบบ Video Collaboration นี้จะใช้ Bandwidth ตามรูปแบบการใช้งาน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อ Bandwidth นั้นได้แก่ ไฟ/แสงสว่างในภาพ, การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในภาพ, สีในภาพ, Pattern ของสิ่งต่างๆ ในภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการทำงานของ Algorithm ในการบีบอัดข้อมูลโดยตรง ส่งผลต่อเนื่องมาเป็นปริมาณ Bandwidth ที่แตกต่างกันนั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วในแต่ละระบบ Video Collaboration จะมีวิธีการในการจัดการสภาพ Network ที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น Cisco มีการทำ Smart Media Technique โดยการกำหนด Policy สำหรับพฤติกรรมการใช้งานระบบเครือข่ายของ Video Collaboration เมื่อมีการใช้งานถึง Threshold ที่กำหนด ทำให้ในยามปกติอุปกรณ์ต่างๆ จะทำงานเพื่อให้การสื่อสารมีคุณภาพสูงสุด แต่ถ้าหากระบบเครือข่ายเกิดมีปัญหาหรือมีความเร็วไม่เพียงพอ ก็สลับไปใช้ Policy อื่นแทนเพื่อให้การสื่อสารยังคงเกิดขึ้นได้อยู่ ซึ่ง Cisco เองก็มีเทคโนโลยีให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น GDR, LTRF, FEC และมี Adaptive Bit Rate เป็นทางเลือกสุดท้าย
4. ข้อควรรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบ Video Conference
เนื่องจากเนื้อหาตรงนี้ค่อนข้างอัดแน่น จึงขอสรุปเป็น Bullet เอาไว้นะครับ
- Call Control เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการสื่อสารทั้งหมด
- Session Border สำหรับควบคุมด้านการรักษาความปลอดภัย และป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับระบบภายนอกอย่างเช่น Skype ให้สามารถทำการโทรเข้าออกได้อย่างปลอดภัย
- ระบบ Conference หรือ MCU ซึ่งทำงานคล้ายกับ Multiplexor ในการรวมหลายๆ ห้องประชุมเข้าด้วยกัน
- ระบบ Conductor สำหรับการบริหารจัดการการใช้ Resource ของ MCU ในกรณีที่มี MCU หลายๆ ชุด
- สำหรับองค์กรที่มีหลายสาขา อาจออกแบบเป็น Cluster ร่วมกัน หรือกระจายเป็นสาขาก็ได้
- สาเหตุที่ Cisco ต้องรองรับหลาย Protocol สำหรับ Video และ Voice เพราะในอดีตนั้นมีการใช้งานหลายค่าย จากการผลักดันของหลายผู้ผลิต และผู้ใช้งานเองก็ต้องการให้แต่ละ Protocol ทำงานเชื่อมต่อกันได้เพื่อความง่ายในการเลือกอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้งานในขณะที่ Cisco เองก็มีการควบรวมกิจการจากผู้ผลิตอื่นๆ อีกมากมายเข้ามาด้วย ทำให้ Cisco เองใช้ SIP เป็นหลักและรองรับ H.323 ด้วย อีกทั้งยังมี Proprietary Protocol ของตัวเองร่วมด้วยเช่นกัน
- Gatekeeper เป็นระบบย่อยอันหนึ่งใน Protocol H323 สำหรับทำหน้าที่เสมือนเป็น Directory เพื่อเชื่อมต่อไปยังปลายทางที่ต้องการได้ด้วยชื่อของผู้ใช้งานหรืออุปกรณ์ ปลายทาง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น
- Endpoint ที่มีอยู่ในตลาดนั้นก็ออกมารองรับมาตรฐานต่างๆ ทั้ง SIP และ H.323/H.264 ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับระบบอื่นๆ ที่มี โดย Cisco มี Telepresence Interoperability Protocol (TIP) ที่สามารถทำงานร่วมกันระหว่าง SIP และ H.264 เข้าด้วยกันได้
- ถ้าหากต้องการทำ Content Sharing ระบบ Video Collaboration สามารถส่ง Content ไปพร้อมกับ Stream อื่นๆ ทำให้ในการรับส่งข้อมูลของระบบ Video Collaboration นั้นจะประกอบไปด้วย Stream ของ Video, Voice, Presentation และอื่นๆ ซึ่งผู้รับปลายทางก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะนำข้อมูล Stream อะไรออกมาแสดงบ้าง
- การเลือก Endpoint นั้นต้องดูที่ข้อจำกัดทางด้าน Resolution, ปริมาณ Stream ที่รับได้, ประเภทของข้อมูลที่รับและส่งได้, Interface เชื่อมต่อ รวมถึงทดสอบดูความ Real-time ในรับ, ส่ง และแสดงผลข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริง
- สำหรับ Video Protocol นั้นทาง Google จะมี VP8/VP9 ให้ใช้งาน ในขณะที่ในตลาดจะมีการใช้งาน H.264 และ MPEG-H เป็นหลัก โดย H.265 ก็เป็นโปรโตคอลใหม่ล่าสุดที่ควรรู้จักไว้ เพราะเป็น Protocol ที่สามารถใช้ bit rate น้อยลง แต่ได้ความคมชัดสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงมีความซับซ้อนน้อย ทำให้ใช้ CPU/RAM ในการประมวลผลน้อยลง อีกทั้งยังใช้งานร่วมกับ H.264 แบบ Backward Compatiblity ได้อีกด้วย
- ปัจจุบันใน HTML5 ก็สนับสนุน WebRTC ซึ่งใช้ในการทำ Video Collaboration ได้เช่นกัน ซึ่งถ้าจะนำ WebRTC บน Web Browser มาใช้กับระบบเดิมที่มี ก็จะต้องมีการใช้ Gateway เพื่อแปลง WebRTC มาเป็น Protocol อื่นๆ ที่มีการใช้งานอยู่ให้ได้อีกที
สำหรับสรุปเนื้อหาครั้งนี้ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ ก็ต้องขอขอบคุณ Cisco สำหรับการอัพเดตข้อมูลในครั้งนี้ด้วยครับ
Promotion สินค้าราคาพิเศษจาก Cisco หมดเขต 30 ตุลาคม 2015
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ Cisco นั้น สามารถตรวจสอบโปรโมชั่นจากทาง Cisco Thailand ทั้ง Switch, Router, Wireless AP, Firewall, Server และ Video Conference ได้ทันทีที่ https://www.techtalkthai.com/cisco-enterprise-it-promotion-until-2015-10-30/ โดยโปรโมชั่นนี้จะหมดเขตในวันที่ 30 ตุลาคม 2015