สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นด่านทดสอบสุดหินที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องรวมพลังกันต่อสู้หนึ่งในปัญหาความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ตัวอย่างการผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่อค้นหาวิธีรักษาและป้องกันโรคดังกล่าว คือตอนที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนทั่วโลกได้ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลทรงพลังที่สุดของโลกอย่าง Texas Advanced Computing Center’s (TACC) Frontera ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างการทำงานของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในระดับโมเลกุลและอะตอมได้สำเร็จ
การผนึกกำลังครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นได้เพราะการทำงานร่วมกันของเซิร์ฟเวอร์, โหนด (Node), โครงสร้างพื้นฐานซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันหลายพันตัว เพื่อประมวลผลข้อมูลความรู้ที่แบ่งปันในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และสถาบันที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลกอย่างรัดกุม ซึ่งช่วยให้พวกเขานำความรู้ความเชี่ยวชาญและข้อมูลของแต่ละภาคส่วนมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพสำคัญของการทำงานร่วมกันเมื่อเราเปิดรับความร่วมมือ พร้อมสร้างทางเลือกใหม่ ๆ และอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
การสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้าง (Open Ecosystem) จะเป็นคำตอบแห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะเพื่อการวิจัยโรคระบาดใหญ่หรือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารพกพาหรือตั้งโต๊ะ โครงสร้างระบบไอทีกลางที่ติดตั้งภายในองค์กรหรือติดตั้งบนคลาวด์ ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ระบบนิเวศในการทำงานร่วมกันควรต้องเปิดกว้าง ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันว่าระบบนิเวศที่เปิดกว้างคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับอนาคตต่อจากนี้
ระบบนิเวศที่เปิดกว้าง คือการวางพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ปัจจุบันโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระบบนิเวศที่เปิดกว้างจึงเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยวางพื้นฐานให้เทคโนโลยีที่หลากหลาย นักพัฒนา สถาบันและธุรกิจองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ ต่อยอดการค้นพบ และทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของทุกคนในการแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับโลก เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือสิ่งที่เราต้องการเพื่อใช้ฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกันได้อย่างแข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญได้อย่างเท่าเทียมกัน ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการร่วมมือร่วมใจและการผสานการทำงานของเทคโนโลยี การบริการและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย และต้องมีมาตรฐานการทำงานที่ตกลงร่วมกันเพื่อลดขั้นตอนและข้อมูลที่ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อเร่งขับเคลื่อน ผสานการทำงาน และทดลองด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เพื่อส่งมอบนวัตกรรมต่าง ๆ สู่ตลาดทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นมากขึ้น
ซอฟต์แวร์แบบเปิด ต้องมีความโปร่งใส ปลอดภัย และเข้าถึงได้
ทุกวันนี้ นักพัฒนาต้องเจอความท้าทายในการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ทำงานครอบคลุมในหลายสถาปัตยกรรมไอทีและฮาร์ดแวร์ เช่น แอปฯ สตรีมเพลงที่ต้องทำให้ผู้ฟังสามารถสัมผัสประสบการณ์การฟังเพลงได้อย่างไหลลื่นไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะฟังจากสมาร์ตโฟน สมาร์ตทีวี หรือแท็บเล็ตก็ตาม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงอินเทอร์เฟซสลับไปมาได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงชุดซอฟต์แวร์ (Software Stack) และฮาร์ดแวร์ของแอปฯ นักพัฒนาจึงต้องการเครื่องมือที่ช่วยขจัดปัญหาเรื่องโค้ดและเอื้อให้ระบบต่าง ๆ ภายในแอปฯ สามารถทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่น วิธีการที่เราอยากแนะนำก็คือส่งเสริมการใช้โอเพ่นซอร์ส (Open Source) และเปิดพื้นที่ซอฟต์แวร์ของเราให้นักพัฒนาได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
สำหรับอินเทล เราเดินหน้าสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส (Open Source Software) อย่างต่อเนื่อง เรามีวิศวกรด้านซอฟต์แวร์กว่า 19,000 คนที่ช่วยให้อุตสาหกรรมที่เคยใช้ระบบไอทีแบบปิดหรือมีกรรมสิทธิ์ (Proprietary Systems) หันมาใช้ระบบไอทีและการประมวลผลแบบเปิดเพื่อช่วยให้นักพัฒนาขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของเราด้วย Intel Distribution of OpenVINO toolkit ที่ออกแบบมาเพื่อให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาการอนุมานหรือคาดคะเนการทำงานที่เลียนแบบเครือข่ายเส้นใยประสาทของมนุษย์ (Neural Network) ให้คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยมุมมองความรู้ของคอมพิวเตอร์ การจดจำและเข้าใจภาษา และการประมวลผลภาษาโดยธรรมชาติ หรือแพลตฟอร์ม oneAPI ที่เป็นแพลตฟอร์มครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมและอ้างอิงมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้นักพัฒนาทั่วไปสามารถพัฒนาสถาปัตยกรรมไอทีทุกประเภทได้อย่างราบรื่น
มาตรฐานที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั่วทั้งอุตสาหกรรม
สมัยก่อนเราต้องใส่การ์ดความจำเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีและรีบูททุกครั้งที่ต้องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่างเครื่องสแกน ปริ้นเตอร์ และคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (Personal Digital Assistant) ซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อนในการติดตั้งและเชื่อมต่อเข้ากับพีซี ก่อให้เกิดความยุ่งยากกับผู้ใช้งานและผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีไม่น้อย อินเทลและบริษัทในแวดวงไอทีจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งหน่วยงาน USB Implementers Forum หรือ USB-IF ขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคของ USB (Universal Serial Bus) ให้ผู้พัฒนาระบบและผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้การเชื่อมต่อรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (Higher speed connectivity) และให้ขั้นตอนเปิดเครื่องและใช้งาน (plug-and-play) ทำได้ง่ายมากขึ้น หน่วยงาน USB-IF ยังได้ริเริ่มการใช้มาตรฐานพร้อมกฎระเบียบการจดทะเบียนใบอนุญาตด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ USB โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์เพื่อใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรมอย่างเปิดกว้าง นั่นหมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึง USB รวมถึงนำไปใช้และพัฒนาเพิ่มเติมได้ ซึ่งเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่รู้จบ อีกทั้งสามารถนำเสนอนวัตกรรมเหล่านี้ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น และสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับทั้งองค์กรธุรกิจและผู้ใช้งาน
ปัจจุบัน USB คือฟีเจอร์ที่มีอยู่ทั่วไปในทุกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ผู้ใช้สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่เพื่อเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ ตั้งแต่กล้องถ่ายรูปไปจนถึงฮาร์ดดิสก์พกพาสำหรับเก็บข้อมูล (External hard drives) หน่วยงาน USB-IF ประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 800 บริษัท ที่ทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นและเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
มาตรฐานแบบเปิดนั้นคล้ายคลึงกับโอเพนซอร์สและซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่ช่วยให้นักพัฒนาไม่ติดอยู่กับเทคโนโลยีแบบเดียวหรือผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ลดขั้นตอนความยุ่งยากและปรับเสริมให้การพัฒนานวัตกรรมมีความคล่องตัวมากขึ้นและผสานการทำงานร่วมกันมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้นักพัฒนามีเวลาที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นกับโลกได้มากขึ้น และช่วยยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ถึงเวลาสู่อนาคตที่เปิดกว้าง
แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามที่จะสร้างระบบนิเวศในอุตสาหกรรมที่เปิดกว้าง เรายังคงเห็นการจดกรรมสิทธิ์ชุดซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดเป็นระบบแนวดิ่งที่ตีกรอบนักพัฒนาให้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบปิด ซึ่งเหนี่ยวรั้งและปิดกั้นโอกาสใหม่ ๆ ทำให้นักพัฒนาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเต็มที่
ตอนนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่เราควรส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เปิดกว้างผ่านเทคโนโลยีอย่างโอเพนซอร์ส ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มาตรฐานแบบเปิด ไปจนถึงการกำหนดนโยบายและการแข่งขันที่เปิดกว้าง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมในแนวราบที่เอื้อให้นวัตกรรมสามารถเบ่งบานและเติบโตได้
เมื่อมีรากฐานของระบบต่าง ๆ ซอฟต์แวร์ และมาตรฐานที่ชัดเจน เราจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ผนึกกำลังร่วมกันประมวลผลข้อมูลเชื้อไวรัสโควิดด้วยเครื่อง Frontera ของศูนย์ Texas Advanced Computing Center เมื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบนิเวศที่เปิดกว้าง เราก็จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
บทความโดยสตีฟ ลอง รองประธานบริหารฝ่ายองค์กรและผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) บริษัท อินเทล คอร์เปอเรชั่น