IBM Flashsystem

UTC มุ่งผลักดันงานวิจัยสู่งานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ดึง NVIDIA DGX A100 เสริมทัพด้านเทคโนโลยี AI

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) แพลตฟอร์มในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาด ได้ประกาศถึงความร่วมมือกับจีเอเบิลในการดำเนินการติดตั้งระบบ NVIDIA DGX A100™ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเสริมทัพเทคโนโลยีทางด้าน AI มุ่งผลักดันงานวิจัยและช่วยเหลือนักวิจัยพัฒนานวัตกรรม ด้าน AI และ MedTech เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคม และสร้างมาตรฐานงานวิจัยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านวัตกรทุกคนอยากให้งานวิจัยตนเองเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อผู้อื่น ซึ่งทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นส่วนที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนา แต่หลายๆครั้งนักวิจัยอาจตั้งโจทย์จากตัวเอง ทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้งาน พอจะไปใช้งานจริงหรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ก็จะเริ่มติดปัญหา เราก็เลยตั้งศูนย์ UTC เพื่อสร้าง Ecosystem ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยได้สัมผัสโจทย์จริงๆ เช่น การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสังคมโดยทางศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนวัตกรและภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อลดปัญหาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยไม่ถนัด การที่นักวิจัยกลัวการถูกเอาเปรียบจากการทำธุรกิจ และ การนำงานวิจัยไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้วิจัย

ปัจจุบัน UTC มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรม AI และ MedTech ซึ่งการดำเนินงานด้าน AI นั้นได้เริ่มจากงานวิจัยภายในจุฬาฯ ก่อน ว่ามีงานวิจัยชิ้นไหนที่สามารถต่อยอดได้ โดยในเวลานี้ มีโครงการที่น่าสนใจคือ

  • AI ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย เช่น AI ที่ดึงข้อความภาษาไทยจากภาพถ่ายและวิดีโอ, AI แปลงเสียงให้เป็นข้อความภาษาไทย เป็นต้น
  • AI เพื่อการแพทย์ หรือ AI for Health เช่น AI ช่วยจำแนกประเภทย่อยของโรคหัวใจล้มเหลวจากภาพ CT-Scan AI ช่วยตรวจหาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติที่พบจากการส่องกล้องทางเดินอาหาร, AI ที่ช่วยในการทำ Pre-screening สำหรับงานด้าน Tele-medicine
  • AI สำหรับภาคอุตสาหกรรม หรือ AI for Industry ที่นำงานวิจัยด้าน AI มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ UTC ได้มีความร่วมมือกับเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านของเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน โดยในต่างประเทศมีการร่วมมือกับ NVIDIA AI Technology Center (NVAITC) เครือข่ายที่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับทางด้าน AI ซึ่งทางจุฬาฯเป็นที่เดียวในประเทศไทยและเป็น 1 ใน 40 แห่งทั่วโลก ความร่วมมือนี้ทำให้ UTC เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย ที่ติดตั้ง NVIDIA DGX A100 สำหรับการพัฒนางานด้าน AI เต็มรูปแบบ โดย NVIDIA DGX A100™ เป็นศูนย์ข้อมูลแบบเร่งความเร็วระดับ 5 Petaflops ซี่งนับเป็น AI Infrastructure ที่สำคัญที่ช่วยนักวิจัยในการเร่งสปีดของงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งด้านประสิทธิภาพและระยะเวลาในการเทรนนิ่งได้ และยังรองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัท G-Able ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์หลักของ NVIDIA ได้นำทีมที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยติดตั้งให้แก่ ศูนย์ UTC ของจุฬา เริ่มติดตั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ด้านคุณสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่าในฐานะผู้นำทางด้านดิจิทัลโซลูชัน จีเอเบิลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับทาง UTC ในครั้งนี้ เราพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ศูนย์ UTC ก้าวสู่เป้าหมายทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสนับสนุนงานวิชาการเชิงลึก ส่งเสริมนักวิจัยให้พัฒนางานวิจัยสู่งานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง การติดตั้ง NVIDIA DGX A100 ในครั้งนี้ ทำให้ศูนย์ UTC มี AI Infrastructure ที่ดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้นักวิจัยทุกคนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

การพัฒนางานทางด้าน AI จะต้องมีเครื่องมือที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพที่ดีพอ จึงสามารถทำงานนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงและแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ นักวิจัยไทยมีเทคนิคไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เราจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเพื่อไปเสริมความสามารถเขาให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ ทาง UTC หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยผลักดันให้งานวิจัยไทยให้กลายเป็นงานนวัตกรรมที่เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคม สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแท้จริงผศ.ดร. ณัฐวุฒิ กล่าวเสริม

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

จาก Firewalls สู่การแบ่งห้อง: Microsegmentation เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องความปลอดภัย [Guest Post]

ในโลกปัจจุบันที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนเเละเเนบเนียน สามารถหลบเลี่ยงการป้องกันในระดับ perimeter ได้ง่ายมากขึ้น จากรายงานของ Identity Theft Resource Center พบว่าในปี 2023 มีเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นถึง 72% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปีที่ผ่านมา …

ปกป้องภัยคุกคาม Ransomeware ด้วย Akamai Guardicore Zerotrust [Guest Post]

ในโลกที่ภัยไซเบอร์พัฒนาไวพอๆ กับเทคโนโลยี ธุรกิจที่ “ไม่ทันระวัง” อาจกลายเป็นเหยื่อได้ในพริบตา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Ransomware เป็นภัยคุกคามที่เมื่อถูกโจมตีแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้หลายองค์กรเพิ่งตระหนักถึงความเปราะบางของระบบตัวเองเมื่อมันสายเกินไป และยังเป็นปัญหาที่กระทบความเสียหายได้อย่างรุนแรงต่อเนื่อง ที่เป็นโจทย์ที่แก้ไขได้ยากกับทุกองค์กร