กรมควบคุมดูแลการโทรคมนาคมและข้อมูลการสื่อสารแห่งชาติ (The National Telecommunication and Information Administration: NTIA) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ประกาศออกคู่มือแนวทางปฏิบัติ (Best Practice Guideline) สำหรับองค์กรต่างๆ บุคคลทั่วไป และสื่อสารมวลชน เพื่อการใช้ Drone และ UAS (Unmanned Aircraft Systems) อย่างถูกต้อง หลังจากพูดคุยตกลงกันมานานนับปี
ตัวอย่างในคู่มือแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เช่น ไม่สามารถใช้ Drone ในการตรวจสอบว่าพนักงานในองค์กรป่วยจริงหรือไม่ หรือแอบถ่ายรูปเพื่อนบ้าน เว้นแต่ว่าจะเป็นสื่อและมีข้อจำกัดการถ่ายรูปจากทางท้องฟ้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คู่มือแนวทางปฏิบัตินี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับหรือมีผลผูกพันทางกฏหมาย แต่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มใส่ใจในเรื่องผลกระทบต่อตัวบุคคลและธุรกิจจากการใช้ Drone แล้ว
คู่มือแนวทางปฏิบัตินี้แบ่งการใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บริษัท บุคคลทั่วไป และสื่อสารมวลชน
- สำหรับการใช้งานของบริษัทนั้น บริษัทจำเป็นต้องแจ้งบุคคลล่วงหน้าในกรณีที่ตั้งใจจะปล่อย Drone บินไปยังจุดที่บุคคลคนนั้นอยู่ โดยระบุเวลา ข้อมูลที่ต้องการจะเก็บ และวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูล ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฏหมายให้แน่ชัด เช่น มีการเบลอหน้าของผู้ที่ถูกถ่ายรูป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การกระทำบางอย่างก็ไม่ได้รับอนุญาตไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น การเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการจ้างงาน เกี่ยวกับเครดิต และเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ หรือกล่าวโดยสรุปคือ ห้ามสอดส่องพนักงานในบริษัทของตน - คู่มือแนวทางการใช้งานสำหรับบุคคลทั่วไปค่อนข้างตรงตามสามัญสำนึก เช่น ถ้าเป็นไปได้ ให้แจ้งคนที่คุณต้องการถ่ายภาพหรืออัดวิดีโอก่อนที่จะลงมือทำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ไม่ใช้ Drone บินไปยังพื้นที่ส่วนบุคคล และเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ใช้ควรคำนึงถึงเรื่อง Privacy และควรลบข้อมูลทิ้งทันทีเมื่อถูกร้องขอ หรืออธิบายง่ายๆ คือ ควรเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
- ส่วนการใช้งานสำหรับสื่อสารมวลชนนั้น ไม่ได้มีการออกกฏมาชัดเจน แต่ระบุว่าให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณสื่อ และมาตรฐานของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ รวมไปถึงไม่เพิกเฉยต่อกฏหมาย
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า คู่มือฉบับนี้ค่อนข้างตรงข้ามกับกฏที่ออกมาโดย Federal Aviation Authotity (FAA) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชัดเจนที่ NTIA กำกวมกว่า หรือบทลงโทษที่ FAA จะเน้นการปรับแต่ NTIA จะเน้นให้คำแนะนำแจ้งเตือน รวมไปถึงการออกแบบแนวทางที่ NTIA จะเน้นยึดหลักตามความจริง ในขณะที่ FAA ค่อนข้างปฏิบัติตามได้ยาก เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถดูแนวทางปฏิบัติฉบับเต็มได้ที่: https://www.ntia.doc.gov/files/ntia/publications/voluntary_best_practices_for_uas_privacy_transparency_and_accountability_0.pdf
ที่มา: http://www.theregister.co.uk/2016/05/20/us_government_publishes_drone_best_practices/