15 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองทั้งสำหรับคน IT และคนนอกสาย IT ประจำปี 2018 โดย TechTalkThai

สำหรับปี 2018 นี้ถือเป็นปีทองของโลกเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ กับการที่เทคโนโลยีพื้นฐานต่างๆ มีความพร้อมรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้จริงทั้งในชีวิตประจำวันและเชิงธุรกิจมากขึ้น ในบทความนี้ทาง TechTalkThai ขอสรุปเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ทั้งสำหรับคนสาย IT และคนทำธุรกิจที่ควรติดตามในปี 2018 นี้เอาไว้ดังนี้ครับ

 

Credit: ShutterStock.com

 

1. Artificial Intelligence (AI), Machine Learning (ML), Deep Learning (DL)

หัวข้อของ AI, ML, DL นี้นับวันจะยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเริ่มมีกรณีการใช้งานเกิดขึ้นจริงเพิ่มขึ้น, เครื่องมือเริ่มง่ายและหลากหลายขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานในธุรกิจของตนเองมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแน่นอนว่า AI เองก็จะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจกันอย่างแน่นอนในปีนี้

คำถามที่น่าสนใจคือใครบ้างที่ควรจะสนใจในเทคโนโลยีเหล่านี้? คำตอบก็คือแทบทุกคนควรจะต้องหันมาให้ความสนใจกันได้แล้ว เพราะ AI, ML, DL เริ่มถูกนำไปใช้งานกันอย่างแพร่หลายในแทบทุกวงการ ตอบโจทย์ทั้งในฝั่งของธุรกิจและฝั่งผู้บริโภค ดังนั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแน่นอนว่าการรู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เข้าใจหลักการทำงาน จนถึงพอจะทราบว่าจะนำมาใช้งานได้อย่างไรนั้นก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ทิศทางของเทคโนโลยีกลุ่มนี้นับวันจะยิ่งง่ายขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพแขนงต่างๆ สามารถนำเครื่องมือและข้อมูลที่มีอยู่ไปสร้าง AI ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ดังนั้นหากใครเชื่อว่า AI เป็นเรื่องของคนสาย IT เท่านั้นก็ควรรีบเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และเริ่มต้นศึกษาเพื่อคว้าโอกาสในอนาคตกันได้แล้ว

 

2. Blockchain

ปีที่ผ่านมาก็ถือเป็นปีที่ร้อนแรงของ Blockchain เช่นกันในการนำมาใช้สร้างโครงการขนาดใหญ่ของทั้งฝั่งธุรกิจการเงินและภาครัฐ รวมถึงมีการนำ Blockchain ไปใช้ตอบโจทย์ใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าหากในอดีตคน IT ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Excel หรือ Database ต่อไปก็อาจต้องมีความรู้พื้นฐานของ Blockchain กันบ้าง

อย่างไรก็ดี ในปี 2018 นี้เราน่าจะได้เห็นการนำ Blockchain หลายๆ ระบบมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามระบบ Blockchain กันได้ และก็จะได้เห็นวิวัฒนาการของ Blockchain กันมากขึ้นด้วยแนวคิดใหม่ๆ ดังนั้นการเรียนรู้พื้นฐานของ Blockchain เอาไว้ก็จะทำให้ทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงจะทำให้เข้าใจด้วยว่าทำไมเทคโนโลยีหรือบริการบางอย่างถึงต้องเลือกใช้ Blockchain แล้วมันดีกว่า Database แบบเดิมๆ อย่างไร

ส่วนสำหรับคนทั่วไป เข้าใจ Blockchain ว่าทำไมมันถึงน่าเชื่อถือ และทำไมภาคธุรกิจถึงอยากนำ Blockchain มาใช้งานกันก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับ AI เพราะหากเข้าใจในหลักการของ Blockchain และมองออกว่าจะนำมาประยุกต์ในธุรกิจของตนเองได้อย่างไร ก็จะเป็นการสร้างโอกาสที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

 

3. Chatbot & Conversational Platform

ภาษามนุษย์ทั้งในรูปแบบของการพิมพ์และการพูดนั้นเริ่มจะกลายมาเป็นอีกหนึ่ง Interface ที่มนุษย์เราใช้โต้ตอบกับระบบ IT และอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างจริงจังแล้ว โดยแทบทุกอุปกรณ์ PC, Notebook และ Mobile ที่ใช้งานในทุกวันนี้ก็มีฟังก์ชันนี้รองรับได้ในภาษาอังกฤษกันแทบทุกอุปกรณ์ และปัญหาด้านกำแพงด้านภาษาที่ก่อนหน้านี้ภาษาไทยเคยประสบนั้นก็จะค่อยๆ เริ่มถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะก็เริ่มมีเหล่าธุรกิจไทยที่เล็งเห็นโอกาสและเริ่มพัฒนาในประเด็นนี้กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้เป็น Interface พื้นฐานใน Application ต่างๆ ด้วยในอนาคต ทั้ง Mobile Application, Internet of Things และ Kiosk ทำให้เราไม่ต้องสื่อสารกับระบบเหล่านั้นด้วยการกดปุ่มหรือสัมผัสหน้าจออีกต่อไป แต่สามารถใช้เสียงสั่งการหรือพิมพ์ข้อความได้เลย ซึ่งก็จะไม่ได้มีเพียงแต่เทคโนโลยีสำหรับ Consumer เท่านั้น แต่ระบบ Application สำหรับองค์กรก็จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ สร้างเป็นผู้ช่วยเสมือนในการทำงานด้วยระบบต่างๆ ด้วย โดยตอนนี้ระบบประชุมทางไกลหรือ Video Conference / Web Conference ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ระบบ ERP จากบางค่ายเองก็มีเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ใช้ได้แล้วด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน สำหรับเหล่าพ่อค้าแม่ค้า หากจะทำการเลือกใช้งาน E-Commerce Platform หรือ Social Network สำหรับค้าขาย ต่อไปก็อาจต้องพิจารณาด้วยว่าระบบเหล่านั้นมี Chatbot ให้พร้อมใช้งานได้ในระดับไหน, ตั้งค่าเองได้ง่ายแค่ไหน, ช่วยลดภาระงานให้ได้มากน้อยแค่ไหน และช่วยให้เพิ่มยอดขายได้อย่างง่ายดายหรือไม่ เพราะ Chatbot นี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จครั้งใหญ่ในระบบ E-Commerce ของ Alibaba ที่ทำลายสถิติในวันคนโสดที่ผ่านมาไปแล้ว

ทั้งนี้การออกแบบประสบการณ์การใช้งาน Interface เหล่านี้ก็ดูจะเป็นอีกหัวข้อใหญ่ที่น่าสนใจและถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ เพราะเป้าหมายของการออกแบบคือการทำให้ระบบสามารถตอบสนองกับมนุษย์ได้เสมือนกับว่าเป็นมนุษย์มาพูดคุยด้วย และมีความชาญฉลาดด้วย ดังนั้นมุมในการออกแบบและทดสอบก็จะต้องต่างออกไปจากอดีตมากพอสมควร

 

4. Container, Docker, Kubernetes

หัวข้อนี้สำหรับคนที่ไม่ใช่สาย IT ข้ามไปได้เลย แต่สำหรับคน IT นี่คือเรื่องที่ห้ามข้ามไปเด็ดขาด เพราะเทคโนโลยีฝั่ง Container นั้นแทบจะยึดตลาด Cloud-Native Application ไปทั้งหมดแล้ว และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะเข้ามายึดตลาด Software-Defined ที่แฝงอยู่ในเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้งหมดด้วย ด้วยข้อดีเรื่องความง่ายในการควบคุม Environment สำหรับระบบต่างๆ ในการ Deploy อีกทั้งยังมีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จาก Docker และ Kubernetes มาช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น (และยากขึ้นในบางที) ก็ทำให้เทคโนโลยีฝั่งนี้เป็นสิ่งที่นอกจาก Developer และ System Engineer จะต้องเรียนรู้กันแล้ว เหล่าคนทำงานสาย Network และ Security ก็ต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มการมาของประเด็นเรื่อง Multi-Cloud Strategy (จะมีกล่าวอย่างละเอียดอีกทีในภายหลัง) ก็ทำให้ Container ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับการจัดการ Application เพื่อให้ Application ต่างๆ สามารถทำงานบน Cloud ของผู้ให้บริการายใดก็ได้ และสามารถโยกย้ายข้ามผู้ให้บริการ หรือย้ายกลับมายัง Private Cloud ภายในองค์กรได้ ก็เป็นอีกเหตุผลที่ควรจะต้องเริ่มต้นตั้งใจเรียนรู้กันได้แล้ว

 

5. Cryptocurrency & ICO

ทั้งคน IT และคนนอกสาย IT ก็คงได้ยินข่าวคราวของ Cryptocurrency กันมาตลอดทั้งปี 2017 และมาได้ยินหนักๆ กันในช่วงปลายปีนี้ที่มูลค่าของสิ่งเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ (อันที่จริงมันน่าตกใจมานานแล้วแต่คนไม่ค่อยได้ตามข่าวกัน) ซึ่งการลงทุนหรือการเก็งกำไรใน Cryptocurrency นี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น และก็อยู่บนความเสี่ยงที่ทุกคนต้องพิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเองทั้งสิ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อจะได้ประเมินประเด็นเหล่านี้ด้วยตัวเองได้ ก็อาจนับเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการบริหารจัดการเงินเก็บได้เหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของการทำ ICO ที่ในไทยเริ่มมีธุรกิจนำแนวทางนี้มาระดมทุนกันแล้ว การรีบทำความเข้าใจจนสามารถประเมินความเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วยตัวเองนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่ดีในยามนี้ เพราะจะได้ประเมินโอกาสต่างๆ ด้วยตนเองได้หากโอกาสมาถึง

 

6. Cybersecurity & Data Privacy

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ได้พูดถึงทุกปี (และแทบในทุกหัวข้อที่เป็นเทรนด์ด้านเทคโนโลยี) เพราะภัยคุกคามในโลกไซเบอร์นั้นนับวันจะยิ่งหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางโลกที่หมุนไปพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นทุกๆ วัน ดังนั้นสำหรับคนทั่วๆ ไปอย่างน้อยๆ ก็ควรจะต้องเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัยเบื้องต้น, อัปเดตอุปกรณ์ของตนเองให้ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นอัปเดตข่าวสารอย่างต่อเนื่องว่ามีการหลอกลวง, การโจมตี หรือความเสี่ยงต่อตัวเองใหม่ๆ อย่างไรบ้าง เหมือนกับที่อ่านข่าวรายวันเพื่อเรียนรู้ว่าบรรดาโจรหรือแก๊งหลอกลวงมีมุกใหม่ๆ มาอย่างไร

ส่วนในมุมของคน IT นั้นต้องปรับมุมมองว่างานด้าน Cybersecurity นั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าใครจะทำงานในส่วนไหนต่างก็ต้องเรียนรู้และปฏิบัติเพื่อให้ระบบที่เกี่ยวข้องกับตนเองมีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด รวมถึงมีการพูดคุยกันข้ามทีมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านนี้ร่วมกัน ในขณะที่การให้ความรู้ด้าน Cybersecurity แก่เหล่าพนักงาน และมีการผลักดันโดยฝ่ายบริหารให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญก็ถือเป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน

อีกประเด็นที่เชื่อว่าจะเริ่มมีการพูดถึงและเรียกร้องกันมากขึ้น ก็คือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จากในช่วงปีที่ผ่านมาที่มีกรณีข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแบรนด์ต่างๆ หลุดออกมาค่อนข้างมากจนเกิดความเสียหาย ไปจนถึงบางแบรนด์แอบใช้งานข้อมูลของลูกค้าตนเองจนเกินขอบเขตที่ลูกค้าจะยินยอม ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในไทยจะเริ่มทำธุรกิจด้วยการนำข้อมูลมาใช้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

และหากพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล บรรดาภาคธุรกิจที่ต้องข้องเกี่ยวกับธุรกิจหรือลูกค้าทางยุโรปก็อาจต้องศึกษาเรื่องของ GDPR ซึ่งเป็นกฎหมายทางด้านข้อมูลที่เหล่าประเทศในยุโรปจะบังคับใช้ในปี 2018 นี้ เพื่อตรวจสอบว่าธุรกิจของเราต้องปรับเปลี่ยนประเด็นไหนอย่างไรหรือไม่

 

7. Drone & Robot

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในฝั่ง AI ก็ทำให้การนำ Drone และ Robot มาใช้งานจริงในธุรกิจนั้นมีความหลากหลายและคุ้มค่าสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่กรณีการใช้งานจริงในต่างประเทศก็เริ่มมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันในหลากหลายอุตสาหกรรม อีกทั้ง Ecosystem ในไทยก็เริ่มมีตัวแทนจำหน่าย Drone และ Robot สำหรับภาคธุรกิจกันมากขึ้นแล้ว ดังนั้นถัดจากนี้ไปเราก็จะเริ่มเห็นการนำสองสิ่งนี้มาใช้ในธุรกิจกันมากขึ้นเรื่อยๆ และก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการแตกต่างหลากหลายให้เราได้เลือกใช้กัน

เหล่าคน IT อาจต้องเริ่มเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานได้อย่างไร และต้องการ IT Infrastructure พื้นฐานอย่างไรเพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ในขณะที่เหล่าคนนอกสาย IT ก็อาจต้องเรียนรู้ว่าในธุรกิจของตนมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้อย่างไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตน และประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนได้อย่างแม่นยำ รวมถึงทำความเข้าใจว่าจะต้องจัดตั้งทีมงานอย่างไรในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้จริงให้ได้ประสบผลสำเร็จ

 

8. GovTech & FinTech

ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ประชาชนและภาคธุรกิจกันอย่างต่อเนื่อง การติดตามว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้าง และเทคโนโลยีเหล่านั้นจะมีประโยชน์หรือมีความเสี่ยงอย่างไร เพื่อจะได้ประเมินถูกว่าควรเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยีนั้นหรือไม่ก็ถือเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรจะทำ ทั้งสำหรับการนำมาใช้งานส่วนตัวและการนำมาใช้งานร่วมกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถัดจากนี้ที่ทั้งภาครัฐเองก็เริ่มก้าวไปสู่การเป็น Thailand 4.0 อย่างเต็มตัว และภาคการเงินในไทยเองก็เข็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาตอบรับทั้งการทำ National ePayment และการรับมือกับเหล่า Startup ต่างๆ

 

9. Image Recognition

เป็นหัวข้อที่ต้องเขียนแยกจากเรื่องของ AI, ML, DL เนื่องจาก Image Recognition นี้มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นกรณีการใช้งานแรกๆ ของหลายๆ ธุรกิจในการนำ 3 เทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำข้อมูลที่สามารถเก็บรวบรวมได้ง่ายที่สุดอย่างภาพถ่ายหรือภาพจากกล้องวงจรปิด และ Open Data ต่างๆ มาใช้เรียนรู้ด้วยเครื่องมือสำหรับสร้าง AI ที่เริ่มง่ายจนทำให้คนปกติสามารถช่วยระบุตำแหน่งของสิ่งของในภาพได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นกรณีการใช้งานหลักในหลายๆ ธุรกิจเช่นการทำ Quality Control ในโรงงานผลิต, การตรวจจับวัตถุจากกล้องวงจรปิด, การใช้ Drone สอดส่องสิ่งต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้กรณีการทำ Image Recognition นี้น่าจะแพร่หลายในภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็วหากรู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และอาจกลายเป็นเทคโนโลยี AI แรกๆ ที่จะถูกเริ่มสร้างได้โดยคนนอกสาย IT

 

10. Internet of Things (IoT) & Industrial Internet of Things (IIoT)

หลังจากที่ผู้ให้บริการเครือข่ายรายต่างๆ ในไทยต่างทยอยทดสอบและเปิดตัวบริการเครือข่ายไร้สายสำหรับ IoT กันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว หลังจากนี้การนำ IoT มาใช้ในไทยก็คงจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าแต่ก่อน และจะเริ่มเห็นกรณีการทดสอบนำไปใช้งานจริงในหลากหลายอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสทั้งสำหรับภาคธุรกิจและเหล่าผู้พัฒนานวัตกรรมในช่วงนี้

ส่วน IIoT นั้นก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้นต่อไปหลังจากที่ปี 2017 ได้มีธุรกิจหลายแห่งริเริ่มโครงการเหล่านี้กันไปแล้วโดยเฉพาะในบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ที่การปรับปรุงประสิทธิภาพหรือกระบวนการใดๆ เพียงเล็กน้อย ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทำให้โครงการลักษณะนี้คืนทุนได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจต้องให้ความสำคัญกันมากขึ้นก็คือ Security ในฝั่ง IoT ที่ในไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงหรือยังไม่มีกรณีร้ายแรงที่ออกมาเป็นข่าวกันมากนัก ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

 

11. Low-code Platform

อีกหนึ่งม้ามืดที่คาดว่าจะเริ่มเข้ามาในไทยภายในปี 2018 นี้กับ Low-code Platform ที่จะทำให้คนนอกสาย IT สามารถทำการพัฒนา Application ขึ้นมาใช้งานเองได้โดยไม่ต้องอาศัย Programmer มากอย่างแต่ก่อน ทำให้การสร้าง Application ขึ้นมาใช้งานตอบโจทย์ภายในองค์กรด้วยตัวเองนั้นสามารถเป็นไปได้อย่างคล่องตัว โดยถึงแม้ Application เหล่านั้นจะไม่สามารถทำงานได้อย่างซับซ้อนมากนัก แต่หากเป็นแค่การจัดการกับข้อมูล หรือการกำหนด Workflow ต่างๆ ในการทำงานได้ผ่านทาง Mobile Application และ Web Application ระบบ Low-code Platform นี้ก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว

Low-code Platform นี้จะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำ Digital Transformation เพราะจะทำให้แต่ละทีมขององค์กรสร้างนวัตกรรมหรือปรับปรุงกระบวนการทำงานบนโลก Digital ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี ด้วยประเด็นด้านราคาและการที่ต้องฝึกอบรมพนักงานก่อนนั้น ก็คาดว่าจะทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกเริ่มต้นใช้งานในองค์กรขนาดใหญ่กันก่อน

 

12. Multi-Cloud Strategy

หากปีก่อนๆ เราพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนภาพจาก Public Cloud และ Private Cloud มาสู่การเป็น Hybrid Cloud กัน ปีหน้าเราจะได้เริ่มพูดถึง Multi-Cloud ที่เมืองนอกพูดคุยกันมาได้ระยะใหญ่แล้วครับ

แนวคิดของ Multi-Cloud นั้นเกิดขึ้นเพราะในวงการ Cloud เองก็เริ่มมีปัญหา Vendor Lock-in หรือการที่เลือกใช้บริการ Cloud ของค่ายใดแล้ว การย้ายออกไปยังค่ายอื่นๆ จะทำได้ยากมาก ทำให้ในบางเวลาหาก Cloud ค่ายอื่นๆ มีฟีเจอร์ใหม่ที่อยากใช้งาน หรือมีบริการที่ราคาถูกกว่า องค์กรก็ไม่สามารถย้ายไปใช้งานได้ในทันที

Multi-Cloud Strategy นี้เป็นภาพที่พูดถึงกันทั้งใน Cloud แบบ IaaS, PaaS และ SaaS แต่ที่เห็นว่าน่าจะไปได้ง่ายที่สุดคือ IaaS ที่มี VMware ซึ่งเริ่มขยายฐานบริการไปยังเหล่าผู้ให้บริการ Public Cloud มากขึ้นเรื่อยๆ และ PaaS ที่มี Docker และ Kubernetes เป็นตัวนำ ส่วน SaaS นั้นอาจจะยังยากอยู่ รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการย้ายข้อมูลอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นบริการลักษณะใดก็ตาม

ในมุมคน IT คงต้องทำความเข้าใจภาพเหล่านี้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเอาไว้ เพื่อจะได้ช่วยองค์กรประเมินได้ว่าหากเลือกใช้บริการ Cloud เจ้าใดแล้วมีแผนจะย้ายออก จะจัดการได้อย่างไร ในขณะที่เหล่าคนนอกสาย IT เองก็ควรทราบเอาไว้แบบผิวเผิน เพื่อจะได้ให้คน IT ช่วยประเมินได้ก็น่าจะเพียงพอ

 

13. Quantum Computing

ปี 2017 ถือเป็นปีที่เทคโนโลยี Quantum Computing เริ่มจับต้องได้มากยิ่งกว่าในอดีตอย่างชัดเจน ทั้งการที่จำนวน Qubit ของแต่ละค่ายเริ่มสูงขึ้นจนเข้าใกล้ภาพของ Quantum Leap หรือความเร็วระดับที่ Quantum Computer จะเหนือกว่า Computer ในปัจจุบันจนตามกันไม่ทันอีกต่อไป, การออกภาษาสำหรับพัฒนาโปรแกรมบน Quantum Computer ของแต่ละค่าย และการออก Quantum Computer Simulator มาให้เริ่มต้นเรียนรู้กันได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไปจนถึงการที่เหล่าผู้ให้บริการ Cloud ค่ายใหญ่ๆ เริ่มให้บริการ Quantum Computer กันบน Cloud แบบทดสอบและแบบใช้จริงแล้ว

นอกจากนี้ Quantum Computing ยังเข้ามาส่งผลกระทบต่อ Security เนื่องจากประสิทธิภาพในการประมวลที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำ Factorization หรือการแยกตัวประกอบซึ่งเป็นพื้นฐานของการเข้ารหัสข้อมูล ส่งผลให้อัลกอริธึมการเข้ารหัสข้อมูลในปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้เวลาแคร็กนานหลายปี อาจลดเวลาเหลือเพียงหลักวันหรือหลักสัปดาห์ก็ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานนับสิบปีกว่า Quantum Computer จะไปถึงจุดนั้น แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นนักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยเริ่มคิดค้นและพัฒนาอัลกอริธึมการเข้ารหัสข้อมูลที่สามารถทนต่อการถูก Quantum Computer โจมตีกันแล้ว

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้คงจะยังไม่เข้าไทยเร็วนัก ดังนั้นระหว่างนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่คนสาย IT จะเริ่มต้นทำความเข้าใจกับมัน และคนนอกสาย IT เริ่มทำความเข้าใจว่า Quantum Computer จะเหมาะกับงานแบบไหนบ้าง

 

14. Serverless Architectures

หลังจากที่ AWS เป็นคนเปิดภาพของ Serverless Architectures นำมาก่อนได้ระยะหนึ่ง จนค่ายอื่นๆ เริ่มพัฒนาตามกันมาหมดแล้ว Serverless Architectures ก็เริ่มเข้าสู่การเป็นบริการ Mainstream ภายในบริการ Cloud สำหรับรับ Workload ประเภทที่เหมาะสมกับสถาปัตยกรรมแบบนี้ รวมถึงอีกไม่นานก็จะเริ่มมีระบบ Serverless ที่ติดตั้งใช้งานเองภายนอก Cloud ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และเหล่าคน IT ก็ควรต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะเลือกใช้ Serverless ให้เหมาะกับงาน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Serverless Architectures นั้นมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้กับงานด้าน IoT จำนวนมาก เพราะด้วยประเด็นด้านความง่ายในการ Deploy และการดูแลรักษาในระยะยาว อีกทั้งยังกินทรัพยากรน้อย ทำให้สามารถนำไปใช้งานในอุปกรณ์ได้ทุกขนาด นับเป็นอีกสถาปัตยกรรมหนึ่งที่ต้องศึกษาเป็นลำดับถัดจาก Virtualization, Cloud, Container เลยครับ

 

15. Virtual Reality, Augmented Reality, Mixed Reality & 3D

ปิดท้ายกันด้วย Interface ที่ดูจะมาแรงมากๆ ในปีหน้า ทั้งด้วยปัจจัยของราคาอุปกรณ์ที่มีแนวโน้มจะลดลงอย่างรวดเร็ว, การมีเครื่องมืพัฒนาจากค่ายใหญ่ถูกปล่อยกันออกมาอย่างต่อเนื่อง, การเริ่มมีทรัพยากรด้าน 3D ให้หยิบนำไปใช้งานและปรับแต่งกันได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน, หน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงรองรับงานเหล่านี้ได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง และการผลักดันในเชิงการตลาดจากค่ายใหญ่

ในภาค Consumer เราจะได้เห็นเทคโนโลยีเหล่านี้กันในวงการเกม, วงการบันเทิง และการนำมาใช้ในการตลาดรูปแบบต่างๆ กันเป็นหลัก ในขณะที่สำหรับภาคธุรกิจ การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปช่วยในการฝึกอบรม, การวิเคราะห์ข้อมูล, การออกแบบ และการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการทำ Digital Transformation ก็จะยิ่งชัดยิ่งขึ้นไปอีก

แน่นอนว่าคน IT เองนอกจากจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแล้ว การเตรียมระบบเครือข่ายและพลังประมวลผลให้พร้อมเองก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้จะใช้ระบบเครือข่ายเยอะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่เหล่าคนนอกสาย IT ก็คงต้องติดตามกันให้ดีว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทำอะไรกันบ้าง

ทั้งนี้อีกประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับเทคโนโลยีกลุ่มนี้ คือการนำ AI เข้ามาผสานเพื่อสร้าง Content เสมือนที่มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น เช่น ใบหน้าของมนุษย์ จนอาจนำไปสู่การสร้างข่าวปลอมที่มีความเหมือนจริงและยากต่อการแยกแยะได้ในอนาคตอันใกล้

 

สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2018 ของทาง TechTalkThai ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ อาจตกหล่นอะไรไปบ้างแต่เท่านี้ก็ยาวมากแล้ว ที่แน่ๆ เราทุกคนต่างก็มีการบ้านที่ต้องเริ่มทำกันอย่างหนักแล้วครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

สรุปข่าวเด่น Enterprise IT ประจำสัปดาห์ [9 – 20 ก.ย.2024]

กลับมาแล้วกับสรุปข่าวเด่น Enterprise IT รายสัปดาห์ที่บอกเลยว่า นอกจากการยืนรอต่อแถวรับเครื่อง Apple iPhone 16 กันอย่างหนาแน่นแล้ว ยังมีข่าวสารมากมายที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัปดาห์นี้รวบข่าวจากสัปดาห์ก่อนมาด้วย อัดเต็มแน่น ๆ 16 ข่าวที่มีเรื่องราวความคืบหน้าทั้งเรื่อง …

F5 ประกาศเปิดตัว NGINX One รวมศูนย์การจัดการทุกความสามารถ

NGINX One เป็นการบูรณาการความสามารถ Load Balancing, API Gateway, Security และ ความสามารถด้านเว็ปแอปพลิเคชันเข้าด้วยกัน พูดง่ายๆคือตอนนี้ผู้ใช้สามารถจัดการ NGINX และ NGINX Open Source ในหน้าต่างเดียวกันได้แล้ว