กรุงเทพฯ 27 ตุลาคม 2558 – เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( บก.ปอศ. ) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีพ.ศ. 2558
ในปีพ.ศ. 2558 บก.ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นบริษัทแล้ว 187 แห่ง ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 3,000 เครื่องพร้อมซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่าความเสียหายมากกว่า 420 ล้านบาท โดยบริษัททั้งหมดมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 43,000 ล้านบาทและมีรายได้รวมราว 44,000 ล้านบาท
ในปีพ.ศ. 2558 ได้ขยายเป้าหมายการดำเนินคดีจากอุตสาหกรรมก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมไปยังภาคอุตสาหกรรม สื่อโฆษณา การออกแบบและแฟชั่น รวมถึงค้าปลีก และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ในการปราบปรามของ บก.ปอศ. ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้ดำเนินคดีไปยังโรงงานผลิตอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับโรงสีข้าวแห่งหนึ่งที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์พบมูลค่าความเสียหายประมาณ 172,000 บาท ทั้งที่บริษัทแห่งนี้มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 77 ล้านบาทต่อปี
ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายในสองแห่งในกรุงเทพฯ พบใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมูลค่าความเสียหายราว 1.5 ล้านบาท สำหรับการเข้าตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายรายอื่น ๆ ในเดือนเดียวกัน ได้แก่ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองแห่งในกรุงเทพฯ ที่มีสินทรัพย์รวมกันราว 8,000 ล้านบาท พบใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5 ล้านบาท
ที่ตั้งส่วนใหญ่ขององค์กรธุรกิจที่ถูกเข้าตรวจค้นในปีพ.ศ. 2558 อยู่ในเขตอุตสาหกรรมและจังหวัดในเขตอุตสาหกรรมพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ( Eastern Seaboard ) รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี และเชียงใหม่ การเข้าตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเริ่มมาจากเบาะแสที่ได้รับจากสื่อโซเชียลมีเดีย ( social media ) ซึ่งเป็นช่องทางการแจ้งเบาะแส เพื่อการรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำความผิด
แม้ว่าบริษัทที่กระทำผิดส่วนใหญ่จะมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวไทย แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีผู้ถือหุ้นสัญชาติอื่นเช่นกันได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี โปแลนด์ ไซปรัส เซเชลส์ และแคนาดา
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้บังคับการ บก.ปอศ. กล่าวว่า “บก.ปอศ. ยังคงดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยและจะขยายการบังคับใช้กฎหมายกับทุกบริษัทที่พบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจังและทุกรูปแบบ จนกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศไทยจะลดลงอย่างจริงจัง”
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้บังคับการ บก.ปอศ. กล่าวว่า “ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทย พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์มีโทษทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านไซเบอร์ของประเทศไทย ชื่อเสียงของเราในระดับโลกและการยืนอยู่อย่างน่าเชื่อถือท่ามกลางพันธมิตรนานาชาติ ยังขึ้นอยู่กับการเดินหน้าหาบริษัทที่ทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งของประเทศไทยและต่างชาติ และดำเนินคดีกับบริษัทเหล่านั้น”
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถแจ้งผ่านสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือรายงานผ่าน www.stop.in.th ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ www.stop.in.th