เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Nutanix ได้จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี Nutanix .NEXT on Tour Bangkok 2018 ขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นงานสัมมนาแรกที่จัดขึ้นในโรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ทำให้มีความแปลกใหม่และรองรับผู้เข้าร่วมงานกว่าพันคนได้แล้ว เนื้อหาในงานเองนั้นก็ยังถือว่าเข้มข้นไม่แพ้กัน ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ จึงขอสรุปเนื้อหาให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
Digital Transformation คือสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำ แต่ระบบ IT ที่เอื้อให้สร้างนวัตกรรมได้ดีนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน
ในช่วงแรกของงานสัมมนานั้น Chirs Kozup ผู้ดำรงตำแหน่ง SVP ด้าน Marketing แห่ง Nutanix ได้มาเล่าถึงความสำคัญของการปรับตัวของธุรกิจ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่เป็นยุคของการทำ Digital Transformation ซึ่งก็เห็นได้จากการที่หลายๆ ธุรกิจซึ่งไม่ปรับตัวเข้าหาโลก Digital เลยนั้นก็เริ่มหายไปจากตลาดบ้างแล้ว
ประเด็นนี้เองที่ทำให้เหล่า CEO ของธุรกิจในทุกๆ อุตสาหกรรมต้องหันมาให้ความสำคัญกับ Digital มากขึ้น รวมถึงยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้าน IT ขึ้นมาให้ได้เพื่อให้ธุรกิจยังคงเติบโตและแข่งขันต่อไปได้ในอนาคต โดยมีการอ้างอิงถึงตัวเลขผลสำรวจจาก Gartner ด้วยว่า 57% ของเหล่า CEO นั้นกำลังมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลง IT และ Digital ภายในองค์กรของตน
อย่างไรก็ดี ทุกคนคงเคยผ่านยุคสมัยที่ระบบ IT ภายในองค์กรนั้นเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและวุ่นวายจากการที่มีผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตหลากหลายรายอยู่ภายในระบบเดียวกันและต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นปัญหาของเหล่าผู้ดูแลระบบทั่วโลกเลยทีเดียว ปัญหานี้ทำให้การพัฒนานวัตกรรมทางด้าน IT ในอดีตนั้นเกิดขึ้นช้ากว่าที่ควร โดย Nutanix ระบุว่าที่ผ่านมานั้นธุรกิจต่างๆ มีเวลาในการพัฒนา Application เพียงแค่ 20% เท่านั้น ในขณะที่เวลา 80% ที่เหลือนั้นตกไปกับการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระบบ IT Infrastructure นั่นเอง
Nutanix ที่ถือเป็นผู้ให้กำเนิดตลาด Hyper-Converged Infrastructure หรือ HCI ในระดับองค์กรนั้นก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องความยุ่งยากซับซ้อนในการดูแลรักษาระบบ IT Infrastructure มาตั้งแต่ก่อนที่คำว่า Digital Transformation จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อยุคของ Digital Transformation มาถึง Nutanix จึงเติบโตได้อย่างรวดเร็วควบคู่ไปด้วยกับกระแสนี้
Nutanix ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และตั้งเป้าจะเป็นบริษัท Software ชั้นนำให้ได้
แรกเริ่มนั้น Nutanix เริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของการสร้างระบบ Private Cloud ภายในองค์กร โดยพัฒนาชั้นของ Software ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของ HCI ขึ้นมา ตั้งแต่การพัฒนา Nutanix AOS ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นระบบ Software-Defined Storage (SDS) เพื่อเชื่อมผสาน Physical Storage ระหว่าง Server เข้าด้วยกัน พร้อมเสริมความสามารถด้านประสิทธิภาพและความทนทานเข้าไป และเสริมให้ทำงานร่วมกับ Hypervisor อย่าง VMware และ Hyper-V ได้ โดยบริหารจัดการจากศูนย์กลางได้ผ่าน Nutanix Prism เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและการใช้งาน
จากนั้น Nutanix ก็ค่อยๆ รองรับการทำงานร่วมกับ Hardware ของผู้ผลิต Server หลากหลายค่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา Hypervisor ของตนเองอย่าง Nutanix AHV เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเหล่าองค์กร ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ภาพของ Nutanix นั้นกลายเป็นโซลูชันระบบ HCI ที่มีความยืดหยุ่นสูง ผู้ใช้งานเลือกได้ทั้ง Hardware จากผู้ผลิตค่ายที่ต้องการได้ และยังเลือกใช้ Hypervisor ที่ต้องการได้อีกด้วย
แน่นอนว่าการมาของ Nutanix AHV ซึ่งเป็นน้องใหม่ในตลาด Hypervisor นี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตเรื่อยๆ ในแต่ละไตรมาส โดยปัจจุบันนี้ทั่วโลกลูกค้าของ Nutanix มีการใช้งาน Nutanix AHV มากถึง 35% โดยบางประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นก็มีอัตราการใช้งาน Nutanix AHV ที่สูงมากจนน่าตกใจ อย่างอินโดนีเซียเองก็มีการใช้งาน AHV ถึง 45% และยังสูงกว่านี้อีกโดยเฉพาะในเกาหลีและอินเดีย ส่วนรัสเซียนั้นก็มีการใช้งาน Nutanix AHV มากถึง 80% เลย ดังนั้นเหล่าธุรกิจองค์กรต่างๆ จึงสามารถมั่นใจได้ในคุณภาพของ Nutanix AHV
ปัจจุบันนี้ Nutanix มีลูกค้าด้วยกันมากถึง 10,610 รายใน 145 ประเทศทั่วโลก โดยมีพนักงานทั้งสิ้น 4,010 คน และมีการเติบโตของธุรกิจต่อปีที่สูงถึง 54% โดยโซลูชันของ Nutanix นั้นถูกนำไปใช้งานเพื่อรองรับ Mission Critical Workload สูงถึง 50% ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้ Nutanix กลายเป็นบริษัทระดับ 1,000 ล้านเหรียญไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันในโลกนี้มีธุรกิจ Software เพียงแค่ 45 รายเท่านั้นที่อยู่ในระดับ อีกทั้งยังมีเป้าหมายว่าจะเป็นบริษัทระดับ 3,000 ล้านเหรียญให้ได้ภายในปี 2021 ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัท Software เพียงแค่ 15 แห่งเท่านั้นที่ไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้
สำหรับมุมมองของบริษัทจัดอันดับอย่าง Gartner, Forrester Wave และ IDC นั้น ต่างก็ยกให้ Nutanix เป็นอันดับหนึ่งในตลาด HCI ตรงกันทุกเจ้า ก็ถือว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่าธุรกิจองค์กรต่างๆ ให้กล้าหันมาใช้งาน Nutanix กันมากขึ้นไปด้วยอีกทาง
ไม่ได้จบแค่ HCI แต่จะไปให้ถึง Cloud
ใน Session ถัดมานั้น Sunil Potti แห่ง Nutanix ก็ได้มาเล่าถึงวิสัยทัศน์ของ Nutanix และความเกี่ยวโยงกันของแต่ละเทคโนโลยีที่ Nutanix ได้พัฒนาหรือเข้าซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ Nutanix ต้องออกมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลายรายการในระยะหลังๆ นี้
เป้าหมายของ Nutanix นั้นก็คือการทำให้ระบบประมวลผลภายในองค์กรนั้น กลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายจนกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถใช้งานและดูแลรักษาได้ ซึ่ง Nutanix ก็ใช้คำศัพท์ว่า Invisible เสมือนกับว่าระบบเหล่านี้ไม่มีตัวตน มองไม่เห็น แต่สามารถทำงานได้ตามที่เราต้องการ โดย Nutanix ได้แบ่งระดับของการทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าสู่สถานะ Invisible เอาไว้ดังนี้
-
Invisible Infrastructure เปลี่ยนการเชื่อมต่อระหว่าง Server, Storage, Network ให้กลายเป็นเรื่องง่ายด้วย HCI
-
Invisible Data Center เปลี่ยนการบริหารจัดการ Data Center ให้ง่ายขึ้นด้วย Private Cloud
-
Invisible Cloud เปลี่ยนการใช้งานระบบ Cloud ที่หลากหลายให้ง่ายขึ้นด้วย Multi-Cloud
แน่นอนว่าเทคโนโลยีทั้ง 3 ระดับนี้ต่างก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในตัวเองดี เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เองก็ได้เข้ามาเสริมระบบเหล่านี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และ Nutanix เองก็จะยังคงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเข้าซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาเสริมทั้ง HCI, Private Cloud, Multi-Cloud ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดย Nutanix เองก็มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจดังนี้
ความสามารถในสร้างประสบการณ์เดียวกับ Cloud ระดับโลกได้ภายใน Data Center
ด้วยการที่ Nutanix สามารถให้บริการได้ทั้ง Virtual, Volume, Files, ACS จึงสามารถนำเสนอบริการได้เทียบเท่ากับบริการ Cloud ชั้นนำที่มี Compute, Blocks, Files, Container ในตัวได้
จัดการ Application แบบอัตโนมัติด้วย Nutanix Calm
การ Provision, Scale และ Manage ระบบ Application ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบหรือ Service ภายในที่เกี่ยวข้องเยอะจะกลายเป็นงานอัตโนมัติที่ผู้ใช้งาน Nutanix Calm สามารถทำได้ทั้งบน Cloud และบน Nutanix
จัดการ Network และ Security ได้ด้วย Nutanix Flow
เดิมที Nutanix นั้นมีทั้ง Compute และ Storage อยู่แล้ว Nutanix จึงได้เสริม Nutanix Flow เข้ามาเพื่อเติมเต็มความสามารถทางด้านการจัดการ Network และ Security ตั้งแต่การกำหนดการตั้งค่า, การทำ Micro-segmentation และการติดตามการเชื่อมต่อเครือข่ายของระบบ Application ต่างๆ ที่ทำงานอยู่บน Nutanix
ติดตามการทำงานของ Application ด้วย Netsil
Nutanix เพิ่งเข้าซื้อกิจการของ Netsil เข้ามาเพื่อทำระบบ Application Monitoring บน Cloud พร้อมกับบน Nutanix โดยเฉพาะ ทำให้ไม่ว่าจะทำการ Deploy Application ไปบนที่ใด และระบบจะทำงานเชื่อมต่อกันอย่างไร ผู้ดูแลระบบก็สามารถตรวจสอบการทำงานของระบบทั้งหมดได้ผ่าน Netsil
สร้างและใช้งาน Database ได้อย่างง่ายดายด้วย Nutanix Era
ปกติแล้วการดูแลรักษาระบบ Database นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างระบบ Database ใหม่ขึ้นมาให้ Application ใดๆ ใช้งานนั้นก็มีขั้นตอนซับซ้อนกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม VM หรือ Server, การทำ HA Cluster, การติดตั้ง Database และจัดการ License, การปรับแต่งการตั้งค่าต่างๆ และการตั้งค่าการสำรองข้อมูล Nutanix จึงได้พัฒนา Nutanix Era ขึ้นมาช่วยจัดการระบบตรงนี้ให้แบบอัตโนมัติ สามารถเลือกสร้าง Database ใหม่และกำหนดค่าได้ง่ายๆ เหมือนใช้งาน Cloud Database ได้เลย
ควบคุมค่าใช้จ่ายและความมั่นคงปลอดภัยของระบบบน Cloud ด้วย Nutanix Beam
เมื่อเข้าสู่ยุคของ Multi-Cloud การติดตามว่าระบบต่างๆ ที่ทำงานอยู่บนแต่ละ Cloud นั้นมีความมั่นคงปลอดภัยตามที่กำหนดใน Security Compliance หรือไม่ และการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นบนแต่ละ Cloud นั้นก็จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ Nutanix จึงได้นำเสนอโซลูชัน Nutanix Beam เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้โดยเฉพาะ
รองรับการทำ Desktop-as-a-Serivce ได้ด้วย Nutanix Frame
สุดท้าย Nutanix ก็ได้เล่าถึงเทคโนโลยีล่าสุดที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการมาก็คือ Nutanix Frame ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้าง Virtual Desktop บนบริการ Cloud และบน Nutanix ให้พร้อมใช้งานได้อย่างง่ายดาย ง่ายกว่าการติดตั้งใช้งานระบบ VDI เองเป็นอย่างมาก ซึ่งทาง Nutanix ก็ได้ทำการ Demo สดระบบ Nutanix Frame บน Cloud ทีสิงคโปร์ และทำการเปิดไฟล์ PowerPoint เพื่อแก้ไข, จัดการกับวัตถุ 3D, เปิด YouTube ดูได้อย่างลื่นไหลไม่กระตุก และยังใช้ Google Earth ได้แบบตอบสนองอย่างรวดเร็วอีกด้วย
เมื่อการบริหารจัดการและดูแลรักษาเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ธุรกิจก็ได้อิสระในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ กลับคืนมา
หลังจากที่จบช่วงเช้าไปแล้ว ช่วงบ่ายก็เป็นเวลาของ Break Out Session ด้วยกันมากถึง 9 ประเด็น ซึ่งก็มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
-
เจาะลึกการทำงานของ Nutanix Acropolis Hyperviser (AHV)
-
การทำ VM Micro-segmentation ด้วย Nutanix Flow
-
การบริหารจัดการ Data Center และวิเคราะห์ข้อมูลรวมถึงวางแผนได้อย่างแม่นยำด้วย Prism Pro
-
การติดตั้งใช้งาน SAP บน Nutanix
-
การปรับแต่งประสิทธิภาพการทำงานให้กับ Microsoft SQL Server บน Nutanix
-
การใช้ Nutanix Era ทำ Database Provisioning และบริหารจัดการ Lifecycle ของ Database
-
การใช้ Nutanix Beam ควบคุมการใช้บริการ Public Cloud ในแง่ของค่าใช้จ่ายและการทำ Security Compliance
-
การใช้ Nutanix Calm ทำ Application Auotmation และ Life Cycle Management ให้กับ Nutanix และบริการ Public Cloud
-
การใช้งาน Kubernetes ด้วย Nutanix Acropolis Container Service
เรียกได้ว่าหลายๆ เทคโนโลยีที่เพิ่งนำมาเล่าให้กับผู้เข้าร่วมงานในช่วงเช้านั้น ก็มี Session แยกย่อยให้ตอนบ่ายเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ทันที ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เองก็ได้ถูกนำเสนอในเชิงที่ว่า Nutanix นั้นได้ทำให้ภาระงานต่างๆ ในการดูแลรักษาระบบ IT หลากหลายประการนั้นง่ายและเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น คล้ายคลึงกับการใช้บริการ Cloud ชั้นนำ ทำให้เหล่าธุรกิจองค์กรต่างๆ สามารถนำแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องกังวลต่อความซับซ้อนภายในระบบ IT Infrastructure ไปจนถึงการใช้งาน Cloud และทำให้การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องยิ่งกว่าในอดีตนั่นเอง