Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

‘กำหนดเป้าหมาย – เตรียมคน – เตรียมจัดการ’ 3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำ Big Data

หากเทียบกับในอดีตแล้ว ข้อมูลที่ถูกผลิตขึ้นในปัจจุบันนั้นมีทั้งรายละเอียด รูปแบบ และปริมาณที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เปิดประตูมากมายให้กับธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ๆในตลาดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบทความนี้เราได้สรุปมุมมองจากดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ถึงปัจจัยที่จะกำหนดความสำเร็จของธุรกิจในการนำข้อมูลไปใช้

เวลาเปลี่ยน ข้อมูลเปลี่ยน

ข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในโลก และก่อนการเกิดของคำว่า Big Data ธุรกิจจำนวนมากก็มีการนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินการเสมอ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทำให้เกิดข้อมูลรูปแบบใหม่ๆที่จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวให้กับธุรกิจได้มากกว่าเดิม เช่น ข้อมูลจากเครือข่ายโซเชียล ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจเข้าใจในตัวลูกค้าได้มากขึ้น

นอกจากรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างและละเอียดขึ้นแล้ว การประมวลผลข้อมูลยังมีความซับซ้อนและ “เก่ง” ขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่นการใช้เทคนิค AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล

ใครๆก็อยากใช้ข้อมูล แต่ข้อมูลไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

ความสามารถของข้อมูลนั้นมีมากและช่วยธุรกิจได้จริง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคำว่า Big Data หรือศัพท์อื่นๆที่เกี่ยวกับข้อมูลจะได้รับความสนใจจากธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทว่าหนึ่งมุมมองที่บิดเบือนไปคือการมุ่งหวังว่าพอนำข้อมูลเข้ามาใช้แล้ว ปัญหาจะหมดไป หรือธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

จากมุมมองของดร.ศักดิ์ ธุรกิจจำนวนมากนั้นมีปัญหาที่คล้ายๆกัน 3 ข้อ ดังนี้

  1. ธุรกิจไม่ตั้งโจทย์และกำหนดเป้าหมายในการนำ Big Data มาใช้ให้ชัดเจน เมื่อนำข้อมูลมาใช้จึงไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามที่หวัง และอาจได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยไม่สมน้ำสมเนื้อกับการลงทุนลงแรง
  2. องค์กรไม่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลให้พนักงานอย่างเพียงพอ พนักงานจึงไม่ใส่ใจในการนำข้อมูลมาใช้ในการทำงาน ไม่มีกระตือรือร้นในการทำงานกับข้อมูล ส่งผลให้ไม่เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลขึ้นในองค์กร และไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเต็มที่ 
  3. ความคาดหวังผิดๆเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล โดยส่วนมากมักมองว่าเมื่อนำข้อมูลเข้ามาใช้จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งดร.ศักดิ์มองว่าในหลายๆกรณีนั้น กว่าโครงการ Big Data จะเห็นผล ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

จะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ คือการที่องค์กรไม่สามารถสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกในองค์กรได้ว่าการนำข้อมูลมาใช้นั้นจะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด สร้างความเปลี่ยนแปลงและคุณค่าอย่างไรนั่นเอง

‘กำหนดเป้าหมาย – เตรียมคน – เตรียมจัดการ’ 3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำ Big Data 

ดร.ศักดิ์เชื่อว่าการจะนำข้อมูลหรือ Big Data มาใช้ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ 

1. กำหนดเป้าหมาย

สิ่งแรกที่องค์กรจะต้องทำ คือการตอบคำถาม Why-What-How ของการนำข้อมูลมาใช้ให้ได้เสียก่อน เพื่อกำหนดเป้าหมายและวิธีการใช้ข้อมูลให้ชัดเจน

  • Why ทำไมองค์กรต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล จะนำข้อมูลไปทำอะไร 
  • What ข้อมูลรูปแบบไหนที่องค์กรจะต้องใช้บ้าง ข้อมูลใดไม่เกี่ยวข้อง
  • How จะนำข้อมูลมาใช้อย่างไร ใช้เครื่องมือแบบไหน วิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสมกับข้อมูลที่ใช้ และผลลัพธ์ที่ต้องการ

2. เตรียมคน

การใช้ข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนในองค์กร ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแผนก IT ที่ต้องเตรียมการวางระบบและเครื่องมือ แต่สมาชิกในแผนกอื่นๆก็ต้องเข้าใจข้อมูลที่มีอยู่ การใช้งาน รวมไปถึงประโยชน์และคุณค่าที่ข้อมูลสามารถสร้างให้กับงานที่รับผิดชอบอยู่ได้ เช่นหากต้องการนำข้อมูลเข้ามาช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้า ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดก็ต้องเข้าใจข้อมูลที่มี ผลการวิเคราะห์ และการนำผลลัพธ์ไปเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์เพื่อใช้ประโยชน์ 

นอกจากสมาชิกระดับปฏิบัติการณ์แล้ว ผู้บริหารเองก็ต้องปรับมุมมอง ทั้งความเข้าใจว่าองค์กรมีข้อมูลอะไร สามารถนำมาใช้ได้อย่างไร และการปรับการทำงานโดยนำข้อมูลมามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในการตัดสินใจทางธุรกิจและการคำนึงถึงข้อมูลในการวางกลยุทธ์ใหม่ๆ

3. เตรียมจัดการข้อมูล

แน่นอนว่าองค์กรที่ใช้งานข้อมูลก็ต้องมีกลไกในการจัดการข้อมูล หรือ Data Governance ที่เป็นระบบ องค์กรต้องวางนโยบายด้านข้อมูล หารือร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกี่ยวกับการจัดการ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบ มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทั้งเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล 

Data ไม่มีคำว่าจบ

ดร. ศักดิ์กล่าวว่างานเกี่ยวกับข้อมูลนั้นจะวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ องค์กรจะต้องวางกลไกให้ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง “อย่าคาดหวังว่าวันแรกทุกสิ่งจะสำเร็จ 100% แต่เราจะต้องวางรางฐานโดยเริ่มจากการตั้งโจทย์เป็นอันดับแรก”

อ่านมุมมองของดร.ศักดิ์ เสกขุนทด เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/05/17/1100/ 

Check Also

NVIDIA เปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip

NVIDIA ประกาศเปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip ชิปประมวลผล AI รุ่นใหม่

Imperva ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024

Imperva ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน Web, API และ Data Security ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024 …