เรื่องราวในบทความนี้จะเป็นการสรุปการเปลี่ยนธุรกิจของ Synology ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ NAS Storage สำหรับทำ File Sharing อีกต่อไป แต่ Synology กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี Collaboration ครบวงจรที่มีทั้ง Chat, Office, Email, Note เสริมต่อยอดจากระบบ File Sharing สำหรับธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่แทน ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์กับคุณวิคเตอร์ หวัง ผู้จัดการฝ่ายขาย แห่ง Synology ที่มาเยือนประเทศไทยโดยตรง จึงขอสรุปเรื่องราวเอาไว้ให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
รู้จัก Synology กันก่อน
หลายๆ คนที่อ่านบทความนี้อาจจะเป็นลูกค้า Synology กันอยู่แล้ว ส่วนบางคนอาจจะยังไม่เคยได้ใช้งานหรืออาจยังไม่เคยได้ยินชื่อ ดังนั้นเริ่มต้นเราจึงขออนุญาตเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับ Synology ให้ทุกท่านได้รู้จักกันก่อนครับ
Synology ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2000 โดยมีสาขาหลักอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตระบบ NAS ที่มีคุณภาพสำหรับทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน และการใช้งานในภาคธุรกิจ โดยปัจจุบัน Synology มีพนักงานจำนวนกว่า 800 คน และกว่า 70% ของพนักงานนั้นก็อยู่ในฝ่าย R&D ที่จะคอยพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของ Synology อยู่เสมอ
ในปี 2017 ที่ผ่านมา Synology มียอดขาย NAS กว่า 4.7 ล้านเหรียญหรือราวๆ 165 ล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปีแล้วคาดว่ายอดขายน่าจะทะลุ 5 ล้านเหรียญ
Synology ในมุมของผู้ใช้งานทั่วๆ ไปมักเป็นที่รู้จักในฐานะของผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ง่าย และความสามารถหลากหลาย ในเหล่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจึงนิยมใช้ Synology เป็นระบบ File Sharing ภายในองค์กร ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่เองก็มักเลือกใช้ Synology เป็นอุปกรณ์ Storage เอนกประสงค์ โดยรุ่นต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จาก Synology จะสามารถแบ่งกลุ่มได้ดังต่อไปนี้
- J Series NAS Storage รุ่นเล็กสุด สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปตามอาคารบ้านเรือน
- Value Series NAS Storage สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก, ผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการ NAS ประสิทธิภาพสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
- Plus Series NAS Storage รุ่นสำหรับธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง และผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการ NAS ประสิทธิภาพระดับสูง
- FS/XS Series NAS Storage รุ่นสำหรับองค์กร โดยรุ่น FS จะเป็นรุ่น All-Flash และรุ่น XS จะเป็นรุ่น Hybrid
จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 รุ่นนี้ก็สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานแทบจะทุกกลุ่มได้แล้ว โดยในประเทศไทย Synology มียอดขาย 3,000 ชุดต่อปี และ 60% นั้นเป็นลูกค้าในกลุ่มธุรกิจและองค์กร โดยล่าสุด Synology ก็ได้ถูกจัดอันดับแล้วใน Gartner’s Magic Quadrant for General Purpose Disk Array ประจำปี 2017 เป็นปีแรก
นิยามของ Storage เปลี่ยนไปมาก จากการเป็น IT Infrastructure กลายเป็น Application ที่ต้องตอบโจทย์การแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้งาน
แน่นอนว่าการมาของ Cloud นั้นได้เปลี่ยนแปลงตลาด NAS Appliance ไปไม่น้อยในอดีตที่ผ่านมา เพราะด้วยความสามารถในการแบ่งปันไฟล์ระหว่างผู้งานได้อย่างง่ายดาย พร้อมรับส่งไฟล์ได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วยเหตุนี้เหล่าผู้ผลิต NAS เองก็จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่กันในช่วงที่ผ่านมา
Synology พยายามตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการปรับตัวกลายเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการแบ่งปันไฟล์และสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานที่สามารถใช้งานได้ง่าย และเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริการ Cloud ต่างๆ ได้ ในขณะที่ยังคงมีความคุ้มค่าในระยะยาวที่สูงกว่า และผู้ใช้งานยังสามารถเก็บข้อมูลเอาไว้ใกล้ตัวหรือภายใน Data Center ของตนเอง ทำให้สามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยระบบเครือข่ายภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพในระดับสูงกว่าการเชื่อมต่อ Internet ไปเข้าถึงไฟล์จากบน Cloud
ทางด้านประสบการณ์การใช้งาน Synology ก็ได้เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ iSCSI เข้าถึงข้อมูลในแบบ Block, การใช้ CIFS/NFS เข้าถึงข้อมูลในแบบ File หรือการใช้ Client Software เพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ในแบบ Folder ผ่าน Internet จากที่ใดก็ได้เหมือนการเชื่อมต่อบริการ Cloud Storage และทำการ Synchronize ข้อมูลกันโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ดี Synology นั้นก็มีบริการ Cloud ของตนเองที่ชื่อว่า Synology Cloud² ที่รองรับการทำ Cloud Backup และ Cloud Disaster Recovery ได้ โดยในอนาคตก็มีแผนที่จะเปิดบริการนี้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมได้ทั่วโลก
เมื่อ NAS ไม่ใช่ Network Attached Storage แต่กลายเป็น Network Application Server: สู่การเป็น Platform สำหรับ Application ภายในองค์กรด้วยยอด Download กว่า 3 ล้านครั้ง
เมื่อถึงยุคที่ Apple ได้ประกาศเปิดตัว iPhone ออกมา และกลายเป็น Platform ใหม่สำหรับ Mobile Application ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะติดตั้ง Application ใดๆ ก็ได้ตามต้องการบนอุปกรณ์ของตน ทาง Synology ก็มองเห็นแนวทางนี้เป็นโอกาสใหม่ที่น่าสนใจ และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนให้ Synology นั้นเป็น NAS ที่ไม่ใช่แค่ Network Attached Storage เหมือนทั่วๆ ไป แต่กลายเป็น Platform ที่เรียกว่า Network Application Server แทน
Synology ได้พัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของตนสามารถติดตั้ง Application ใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ผ่านทาง Add-on Package จำนวนมาก เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานหน่วยประมวลผล, หน่วยความจำ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบน NAS ได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด และทำให้อุปกรณ์เดียวสามารถให้บริการผู้ใช้งานได้อย่างอิสระตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง Active Directory Server, Apache HTTP Server, Backup, Bittorrent, Calendar, CardDAV Server, DNS Server, Docker, GitLab, MariaDB, Odoo, OpenERP, RADIUS Server, Redmine, Drupal, WordPress และอื่นๆ อีกมากมาย
Collaboration: ทิศทางของ Synology ที่ไม่ได้มีแค่การแบ่งปันไฟล์
นอกจากนี้ Synology ยังมองด้วยว่าระบบ File Sharing นั้นก็คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานในรูปแบบหนึ่ง นับเป็นการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรรูปแบบหนึ่งด้วย ทาง Synology จึงได้ทำการต่อยอดระบบ NAS Storage ของตนเองให้รองรับการติดต่อสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น
- Calendar สำหรับจัดการปฏิทินตารางงานร่วมกัน
- Chat ระบบแชทภายในองค์กรที่สามารถเข้ารหัสได้ ใช้งานได้ผ่านทั้ง Web และ Mobile Application โดยสามารถเชื่อมต่อกับบริการ Chatbot ได้
- MailPlus ระบบ Email Server ให้เข้าใช้งานจากทาง Web และ Email Client ทั่วไป
- Note Station ระบบ Note กลางสำหรับจดบันทึกข้อมูลต่างๆ และแบ่งปันข้อมูล Note นั้นๆ ให้กับเพื่อนร่วมงานได้
- Office (Spreadsheet) สามารถทำการแก้ไขข้อมูล Spreadsheet ได้ผ่าน Web พร้อมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
ส่วนการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานแต่ละคนนั้น ก็สามารถทำผ่าน Microsoft Active Directory และ LDAP ได้ ทำให้ธุรกิจมีทางเลือกหลากหลายในการจัดการ Identity ของผู้ใช้งาน
Synology เชื่อว่าทิศทางที่ระบบ NAS จะกลายเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารได้ทุกรูปแบบและมีความสามารถทดแทนบริการ Cloud ชั้นนำได้นี้ จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจที่มองหาความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว และจะช่วยให้เหล่าธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
Storage ที่ดี จะช่วยให้ลูกค้าคลายกังวลจาก Ransomware ได้ด้วยในตัว
สำหรับประเด็นทางด้าน Ransomware นั้นก็ถือเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ โดย Synology ได้มีแนวทางหลากหลายที่จะช่วยปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานจาก Ransomware ไม่ว่าจะเป็นการมี Backup Solution ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้, การจัดเก็บข้อมูลได้หลาย Version ทำให้สามารถกู้คืนย้อนหลังได้, การมี Snapshot ช่วยปกป้องข้อมูล, การทำ Remote Backup ไปจัดเก็บข้อมูลในอุปกรณ์ชุดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ และการ Backup ข้อมูลขึ้น Cloud ได้ ทำให้สามารถคลายกังวลเรื่องการรับมือกับ Ransomware ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ Synology เองก็ยังแนะนำให้ผู้ใช้งานทุกคนควรระมัดระวังและปกป้องต้นเองจากภัยคุกคามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการ, การติดตั้ง Software รักษาความมั่นคงปลอดภัย, การหลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์ต้องสงสัย และการปิดระบบ Remote Access ที่อาจเป็นอันตรายได้อย่าง RDP ไม่ให้เชื่อมต่อได้จากภายนอก รวมถึงยังแนะนำด้วยว่าหากพบเครื่องที่ติด Ransomware แล้วให้รีบตัดการเชื่อมต่อเครื่องนั้นออกจากระบบเครือข่าย ก่อนจะลงระบบใหม่ทั้งหมดให้ปลอดภัย แล้วจึงค่อยกู้ข้อมูลคืนกลับมา
เลือกและออกแบบ Storage ได้ง่ายๆ ด้วย 3 บริการจาก Synology
หนึ่งในปัญหาที่มักจะพบเจอกันบ่อยที่สุดก็คือความยากในการออกแบบระบบ NAS Storage ให้มีประสิทธิภาพในระดับที่ตอบโจทย์ความต้องการ ทาง Synology จึงได้พัฒนาบริการเครื่องมือขึ้นมา 3 รายการเพื่อให้สามารถเลือกใช้ NAS Storage รุ่นที่เหมาะสมต่อความต้องการได้ ดังนี้
- RAID Calculator ระบบคำนวนการทำ RAID ในรูปแบบต่างๆ ว่าจะต้องใช้ Disk ขนาดเท่าใด จำนวนเท่าไหร่ ด้วย RAID อะไร ถึงจะมีพื้นที่ใช้งานได้ตามต้องการ โดย Synology มีเทคโนโลยีของตนเองที่ชื่อว่า SHR ซึ่งสามารถกระจายข้อมูลระหว่าง Disk ในหลากหลายขนาดได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการทำ RAID ทั่วๆ ไป
- NAS Selector เครื่องมือเลือก NAS รุ่นที่เหมาะสม โดยสามารถกำหนดจำนวนผู้ใช้งาน, พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ต้องการ, Application ที่ต้องการเปิดใช้งาน และรูปแบบการทำงานของ NAS เพื่อให้ทาง Synology แนะนำรุ่นที่เหมาะสมต่อความต้องการได้
- NVR Selector เครื่องมือสำหรับคำนวนการออกแบบระบบ CCTV โดยประเมินจำนวนกล้อง, เวลาที่ต้องการเก็บข้อมูลย้อนหลัง, ความละเอียดของภาพ และค่า Frames per Second (FPS) รวมถึงกำหนด Video Format ที่ต้องการได้ เพื่อคำนวนค่าประสิทธิภาพของ Storage, Network และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ และแนะนำ NAS Storage รุ่นที่เหมาะสมให้ได้เลย
สุดท้ายนี้ก็ขอจบบทความนี้เอาไว้เพียงเท่านี้ครับ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.synology.com/ เลยครับ