
Big Data Analytics กลายเป็นหนึ่งเทคโนโลยี “พระเอก” สำหรับหลายๆ อุตสาหกรรมในช่วงนี้ไปแล้ว หนึ่งในกรณีศึกษาที่ค่อนข้างน่าสนใจก็คือการนำ Big Data Analytics มาใช้กับวงการตำรวจ เพื่อช่วยให้การพิทักษ์สันติราษฎร์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และชีวิตของประชาชนปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมีดังนี้
Beware ระบบประเมินความเสี่ยงการก่ออาชญากรรมรายบุคคล
Beware ถูกพัฒนาโดยบริษัท Intrado ด้วยแนวคิดในการรวบรวมประวัติรายบุคคลของประชากรทั้งหมด เข้ามาผูกกับข้อมูลที่มีในฐานข้อมูลต่างๆ, ข้อมูลบน Web Site รวมถึง Social Network และทำการประเมินความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมด้วยระบบ Scoring เพื่อให้คะแนนแต่ละคนจากประวัติ, ข้อมูล และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ได้แบบ Real-time ทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องด่วนผ่าน 911 หรือเจ้าหน้าที่ที่กำลังไปปฏิบัติการสามารถเข้าใจในสถานการณ์และความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วจากการวิเคราะห์ Big Data เหล่านี้
ShotSpotter ระบบระบุจุดเกิดเหตุยิงปืน
ด้วยการติดตั้งไมโครโฟนเอาไว้ทั่วเมือง และมีระบบวิเคราะห์เพื่อระบุเสียงปืนที่ได้ยินจากไมโครโฟนแต่ละตัว และทำการค้นหาตำแหน่งจากไมโครโฟนที่ได้ยินเสียงในระดับและเวลาที่แตกต่างกันจากหลายๆ จุดนั้น ก็ทำให้ตำรวจสามารถสืบเสาะหาจุดเกิดเหตุยิงปืนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นได้แล้ว
Media Sonar ระบบวิเคราะห์หาความเสี่ยงการเกิดอาชญากรรมจาก Social Media
ตำรวจสามารถติดตามข้อความต่างๆ ที่ประชาชนโพสต์อยู่บน Social Media เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมหรือค้นหาเหตุอาชญากรรมที่กำลังเกิดขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษา และข้อความจากสมาชิกแก๊งค์โจรต่างๆ ในเมืองได้แบบ Real-time
Stingray เทคโนโลยีค้นหาโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัย
ด้วยการติดตั้ง Cell Site เพื่อปลอมตัวเป็นเสาสัญญาณของผู้ให้บริการโทรศัพท์ ก็ทำให้ตำรวจสามารถทราบตำแหน่งของโทรศัพท์แต่ละเครื่องในแต่ละเมืองได้ในแบบแทบจะ Real-time จากการวิเคราะห์ตำแหน่งจากข้อมูลสัญญาณที่ได้รับ รวมถึงตำรวจจะยังทราบถึงระดับของความเสี่ยงและความอันตรายได้จากจำนวนของโทรศัพท์มือถือที่อยู่ใกล้เคียง พร้อมข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมดว่าเป็นใครอีกด้วย ทำให้การประเมินสถานการณ์ก่อนการลงมือปฏิบัติการจับกุมสามารถวางแผนได้อย่างปลอดภัยรัดกุมยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเล่าสู่กันฟังนี้ถึงแม้จะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างในการใช้งานจริง แต่ก็ถือว่ามีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และเป็นกรณีของการนำข้อมูลมาใช้เพื่อยกระดับของการใช้ชีวิตที่น่าสนใจได้อีกทางหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับในไทยเองที่จะได้ยินกันบ่อยๆ ก็มีแค่เรื่องการที่ตำรวจไทยใช้ Line สื่อสารกันแบบ Real-time ทั้งการพูดคุยภายใน และการประสานงานภายนอก ส่วนกรณีของการใช้ Big Data Analytics เข้ามาเสริมในการทำงานนั้น ถ้าหากทางทีมงาน TechTalkThai สามารถเปิดเผยได้เมื่อไหร่ก็จะมาอัพเดตให้ทราบกันนะครับ หรือถ้าบริษัทหรือองค์กรไหนมีเทคโนโลยีแนวนี้ที่น่าสนใจ และอยากให้เขียนแนะนำถึงก็ส่งเรื่องราวกันมาได้ที่ info@techtalkthai.com เลยนะครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าแนวทางเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับงานวิจัยในมหาวิทยาลัย เผื่อใช้เป็นแนวทางในการทำระบบเหล่านี้ขึ้นมาให้พวกเราได้ใช้กันนะครับผม ถ้าต้องการเงินสนับสนุนทำโครงการลักษณะนี้ ก็ติดต่อทีมงานได้เช่นกันครับ ทางทีมงานจะช่วยเท่าที่จะช่วยได้เลยครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.networkworld.com/article/3020669/security/beware-surveillance-software-police-are-using-to-score-citizens-threat-level.html#tk.rss_all