กลับมาอีกครั้งกับเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology Trends) โดย Gartner ที่จะลิสต์ 10 อันดับเทคโนโลยีที่ CIO และผู้นำด้านไอทีทุกระดับชั้นจะต้องติดตามและจับตา เพราะเทรนด์เหล่านี้อาจเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของเทคโนโลยีที่อาจจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถกำหนดทิศทางขององค์กรให้ไปในทางที่ถูกต้องได้ดีขึ้น
และล่าสุด Gartner ได้เปิดเผย Top 10 Strategic Technology Trends 2025 ออกมาเรียบร้อยแล้ว โดยภายใน 10 เทรนด์ที่ลิสต์ออกมานั้นจะอยู่ภายใต้ 3 ธีมใหญ่ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
ธีมที่ 1 : AI Imperative and risk
ข้อบังคับและความเสี่ยงใน AI จะเป็นตัวผลักดันให้องค์กรจะต้องสามารถปกป้องตนเองได้ และภายในธีมนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เทรนด์ ได้แก่
1. Agentic AI
Agentic AI หรือ AI ที่เป็นเหมือนแรงงานเสมือนที่สามารถดำเนินการงานบางอย่างให้ได้อัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นวางแผน ดำเนินการทำงานบางอย่างแทนเพื่อแบ่งเบาภาระของมนุษย์จากการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ได้ หากแต่ Agentic AI ก็ยังมีความท้าทายทั้งเรื่องความเสถียรและความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่า AI ที่สร้างขึ้นมานั้นยังคงเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้และผู้ให้บริการหรือไม่
2. AI Governance Platforms
แพลตฟอร์มธรรมาภิบาล AI ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการเชิงกฎหมาย จริยธรรม และประสิทธิภาพในการใช้งานระบบ AI ต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งจะต้องมีการสร้าง จัดการ และบังคับใช้ Policy ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบ และสามารถอธิบายได้ว่าระบบ AI นั้นทำงานอย่างไร หากแต่ก็ยังคงมีความท้าทายโดยเฉพาะเรื่องนโยบายการกำกับดูแลในแต่ละภูมิภาคที่ยังคงแตกต่างกันอยู่
3. Disinformation Security
Disinformation Security คือเทคโนโลยีที่กำลังเริ่มเกิดขึ้นมาในช่วงนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถปกป้อง ตรวจจับ และตอบสนองต่อข้อมูลที่หลอกลวงหรือไม่ถูกต้องได้ โดยจะต้องดำเนินการทั้งในแง่ของเทคโนโลยี กระบวนการ และคนทำงาน อาทิ การตรวจสอบอัตลักษณ์ (Identity) การป้องกันไม่ให้บัญชีผู้ใช้ถูกยึดครองหรือถูกขโมย Credential ไป หรือการรับรู้บริบทได้เท่าทันว่ากำลังเจอกับข้อมูลลวงอยู่หรือไม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องอัปเดตอย่างต่อเนื่อง
ธีมที่ 2 : New Frontiers of Computing
การประมวลผลในรูปแบบใหม่ ๆ ที่องค์กรจะต้องพิจารณา เพราะรูปแบบการประมวลผลอาจจะกำลังเปลี่ยนไปในโลกดิจิทัลหลังจากนี้ โดยภายในธีมนี้มี 4 เทรนด์ ได้แก่
4. Post-Quantum Cryptography
Post-Quantum Cryptography หรือ PQC ที่จะช่วยปกป้องข้อมูลให้มีความทนทานจากความเสี่ยงเมื่อเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) มาถึง โดยอาจสามารถถอดรหัส (Decryption) ข้อมูลที่มีการเข้ารหัสด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแอปพลิเคชันในปัจจุบันจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมการเข้ารหัสใหม่อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน จึงอาจต้องปรับเปลี่ยนการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมและจำเป็นต้องทดสอบในอีกระยะหนึ่ง
5. Ambient Invisible Intelligence
Ambient Invisible Intelligence เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่จะมีราคาถูกลงและมองเห็นได้น้อยลง ส่งผลให้สามารถเชื่อมโยงเข้าไปอยู่ในทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถติดตามข้อมูลได้ Real-Time มากขึ้น สิ่งนี้อาจกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ทำให้วัตถุต่าง ๆ สามารถรายงาน Identity ส่งข้อมูลประวัติและคุณสมบัติต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น หากแต่ก็จะต้องมีการพิจารณาในเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ต่อไป เช่น การอนุญาตนำข้อมูลไปใช้งาน เป็นต้น
6. Energy-Efficient Computing
อีกเทรนด์ที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ผ่านสถาปัตยกรรม โค้ด และอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในการรันระบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอน คาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ ซึ่งองค์กรอาจจำเป็นต้องมีการลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์ใหม่ หรือต้องใช้บริการ Cloud ที่มีความยั่งยืน รวมทั้งจะต้องมีการเสริมทักษะ เครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลได้ดีขึ้นแบบองค์รวม
7. Hybrid Computing
การประมวลผลแบบไฮบริดที่จะต้องผสมผสานทั้งหน่วยประมวลผล พื้นที่จัดเก็บ และเน็ตเวิร์กที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาเชิงคำนวณต่าง ๆ เพื่อให้มีทรัพยากรที่พร้อมสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น เช่น AI ที่จะดำเนินการได้เหนือกว่าข้อจำกัดของเทคโนโลยีปัจจุบัน การทำ Automation ที่เหนือไปอีกระดับขั้น หากแต่เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อนก็จะต้องมาพร้อมกับทักษะในการสร้างที่เฉพาะเจาะจง รวมทั้งต้องพิจารณาความเสี่ยงใน Security และราคาต้นทุนที่จะสูงขึ้นด้วย
ธีมที่ 3 : Human-machine Synergy
การ Synergy กันระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนที่จะทำให้มนุษย์และเครื่องจักรเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยธีมนี้มีอีก 3 เทรนด์ ได้แก่
8. Spatial Computing
เทคโนโลยีการคำนวณเชิงพื้นที่ (Spatial Computing) จะช่วยสนับสนุนโลกความเป็นจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างเช่น Augmented Reality หรือ Virtual Reality ที่จะช่วยเสริมให้เกิดประสบการณ์ที่ดื่มด่ำ (Immersive Experience) มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกม การศึกษา หรือ e-Commerce ที่จะสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ดีขึ้น หรือในด้านสาธารณสุข ค้าปลีก หรือภาคการผลิตที่จะมีเครื่องมือ Visualization สนับสนุนการตัดสินใจได้มากขึ้น หากแต่เรื่อง UI อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นตาราม รวมทั้งเรื่อง Privacy และ Security ก็ต้องพิจารณาให้ดีด้วย
9. Polyfunctional Robots
Polyfunctional Robots หุ่นยนต์ที่สามารถดำเนินการได้ในหลาย ๆ งาน รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่นไร้รอยต่อมากขึ้น โดยจะสามารถเรียนรู้ในการดำเนินการ Task ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะไม่ใช่ Task หลักที่ออกแบบมาให้ทำในตอนเริ่มต้น สิ่งนี้จะช่วยลดภาระงานของมนุษย์ได้จริงและยังทำให้สามารถขยาย (Scalability) ได้ด้วย หากแต่ในอุตสาหกรรมนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรฐานว่าควรจะต้องเป็นราคาเท่าไหร่และควรจะต้องมีฟังก์ชันการทำงานขั้นต่ำอย่างไรบ้าง
10. Neurological Enhancement
Neurological Enhancement เทคโนโลยีระบบประสาทที่จะสามารถเพิ่มทักษะการรับรู้เข้าใจ (Cognitive abilities) ผ่านการอ่านและถอดรหัสกิจกรรมของสมองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะใหม่ในอนาคตที่จะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ยาวนานยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากแต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีราคาที่แพง อีกทั้งการเชื่อมต่อกับสมองโดย UBMI หรือ BBMI นั้นก็ยังคงมีความท้าทายในเรื่อง Security และจริยธรรมที่ยังคงมีข้อกังวลอยู่อีกด้วย
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์จาก Gartner แห่งปี 2025 ที่ทำให้เห็นว่าโลกกำลังหมุนเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง ซึ่งรายละเอียดอื่น ๆ ของ Gartner Top 10 Strategic Technology Trends 2025 สามารถอ่านเพิ่มเติมหรือดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้บนเว็บไซต์
ที่มา: https://www.gartner.com/en/articles/top-technology-trends-2025