ในงานสัมมนา Rethink IP for Cloudification ซึ่งจัดขึ้นโดย Huawei เมื่อต้นเดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมา ทาง Huawei ได้มาแสดงถึงวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีฝั่ง Networking ซึ่่งถือว่าน่าสนใจไม่น้อย อันได้แก่ Intent-Driven Network, 400GbE และ Wi-Fi Access Point ที่มีความสามารถเฉพาะตัว ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอสรุปเนื้อหาให้ทุกท่านได้อ่านเป็นแนวทางกันดังนี้ครับ
Intent-Driven Network: แนวทางใหม่ในการบริหารจัดการระบบเครือข่าย ทั้งสำหรับ Data Center และ Campus
Intent-Driven Network (IDN) นี้ถือเป็นแนวทางที่เหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีฝั่ง Network ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปในปัจจุบัน เพื่อรองรับกับระบบเครือข่ายที่จะมีความซับซ้อนสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต โดย IDN จะมีคุณสมบัติหลักๆ ด้วยกันดังต่อไปนี้
-
Intelligence เทคโนโลยี Big Data และ AI จะต้องถูกนำมาใช้ในระบบเครือข่าย เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ, การดูแลรักษา, การนำข้อมูลไปเชื่อมต่อต่อยอดกับระบบอื่นๆ และการทำ Predictive Analytics
-
Simplicity ช่วยให้การดูแลรักษาระบบเครือข่ายเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น โดยทำการควบคุมอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมดให้ทำงานร่วมกันได้ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายหรือคำสั่งในรูปแบบของผลลัพธ์ที่ต้องการได้ ในขณะที่จะต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้ดูแลระบบทำความเข้าใจกับการทำงานของระบบเครือข่ายได้ง่าย เข้าใจปัญหาได้รวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
-
Ultra-broadband ต้องรองรับการบริหารจัดการระบบเครือข่ายขนาดใหญ่มากได้ รวมถึงสามารถช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในเชิงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในระบบเครือข่ายได้อย่างละเอียด
-
Openness สามารถเชื่อมต่อกับบริการเสริมอื่นๆ ภายนอกได้โดยง่าย ด้วยการมี API สำหรับเชื่อมต่อ
-
Security มีเทคโนโลยี Threat Detection ในตัว เพื่อช่วยตรวจจับและตอบโต้ภัยคุกคามหรือการโจมตีรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเครือข่ายได้
ตัวอย่างการใช้งานที่ทำให้เห็นภาพได้ค่อนข้างชัด คือการที่ผู้ดูแลระบบเครือข่ายจะสามารถเปลี่ยนมุมการทำงาน จากเดิมที่เมื่อได้รับโจทย์ความต้องการการใช้งานระบบเครือข่ายต่างๆ มาแล้ว ก็ต้องมานั่งออกแบบและทำการกำหนดค่า Configuration สำหรับอุปกรณ์เครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็กลายเป็นการป้อนโจทย์ความต้องการของระบบเครือข่ายเข้าไปใน IDN ตรงๆ จากนั้น IDN จะทำการแปลงความต้องการนั้นไปสู่การตั้ง Configuration ภายในอุปกรณ์เครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้โดยอัตโนมัติแทน ลดเวลาและความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายไปได้เป็นอย่างมาก
สำหรับขั้นตอนการใช้ IDN นี้ หลักๆ ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของการกำหนดกลุ่มของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย และกำหนด Policy ที่จะบังคับใช้กับอุปกรณ์แต่ละกลุ่ม รวมถึงกำหนดความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างอุปกรณ์แต่ละกลุุุ่ม เพื่อให้ระบบ IDN นำไปแปลงได้ว่าอุปกรณ์ใดในเครือข่ายนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มใด และจะมีสิทธิ์เชื่อมต่อเครือข่ายด้วยการใช้ Port หรือ Protocol ใดไปยังอุปกรณ์ในกลุ่มอื่นอย่างไรบ้าง และมีการตั้งค่าเชิงประสิทธิภาพ, ความมั่นคงปลอดภัย หรือความทนทานของเครือข่ายอย่างไรนั่นเองส่วนในแง่ของการดูแลระบบเครือข่าย AI และ Big Data จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในส่วนนี้ ด้วยการนำข้อมูล Traffic และเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบเครือข่ายไปจัดเก็บและประมวลผล เพื่อนำผลลัพธ์และการแจ้งเตือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแสดงผลบน Dashboard กลางเพื่อให้เหล่าผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบการทำงานและตรวจหาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย พร้อมมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าของระบบเครือข่ายอย่างครบถ้วน โดย AI นั้นก็จะทำหน้าที่เรียนรู้พฤติกรรมการทำงานยามปกติของระบบต่างๆ และสร้างออกมาเป็น Pattern เพื่อให้สามารถตรวจพบเหตุการณ์การใช้งานที่ผิดไปจากยามปกติได้ทันที
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี IDN นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างแตกต่างสำหรับการนำไปใช้งานสำหรับจัดการระบบเครือข่ายภายใน Data Center และภายใน Campus อย่างค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ใช้งานและวัตถุประสงค์ของระบบเครือข่ายทั้งสองนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งทาง Huawei เองนั้นก็พยายามตอบโจทย์นี้ด้วยเทคโนโลยีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
-
Huawei Agile Controller ระบบบริหารจัดการ Configuration และ Policy ของอุปกรณ์เครือข่าย ที่รองรับทั้งการใช้งานภายใน Data Center Network และ Campus Network ได้
-
Huawei FabricInsight ระบบ AI และ Big Data สำหรับรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ภายใน Data Center Network เพื่อช่วยในการดูแลรักษาระบบเครือข่าย
-
Huawei CampusInsight ระบบ AI และ Big Data สำหรับรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ภายใน Campus Network เพื่อช่วยในการดูแลรักษาระบบเครือข่าย
จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบในการสร้าง IDN ของ Huawei นั้นอยู่ที่การเลือกนำส่วนประกอบต่างๆ มาใช้ตอบโจทย์ให้เหมาะสม กล่าวคือ หากจะใช้ IDN ภายใน Data Center ก็สามารถเลือกใช้ Huawei Agile Controller ร่วมกับ Huawei FabricInsight ได้ทันที แต่หากจะใช้ IDN ภายใน Campus Network ก็สามารถเลือกใช้ Huawei Agile Controller ร่วมกับ Huawei CampusInsight แทนได้
สำหรับจุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจของการใช้ IDN ภายใน Data Center ของ Huawei นี้ คือความสามารถในการตรวจจับพฤติกรรมการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายของแต่ละ Server, VM หรือ Application ได้จาก Header ของ Packet ต่างๆ รวมถึง TCP ทำให้หากมีเหตุการณ์ผิดปกติต่างๆ ก็จะมี Metric ในฝั่ง Network เป็นตัวชี้วัดและแจ้งเตือนความผิดปกติอีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือไปจากการใช้ Application Monitoring ในแบบทั่วไป อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการทำ Disaster Recovery ได้อีกด้วย
ส่วนการใช้งาน IDN ภายใน Campus ของ Huawei เอง ก็มีจุดเด่นเรื่องความสามารถในการแสดง Journey ของผู้ใช้งานรายคนได้ว่าผู้ใช้งานแต่ละคนว่ามีพฤติกรรมการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายในแต่ละวันอย่างไร มีการเดินจากจุดใดไปยังจุดใดด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ประสิทธิภาพระดับไหน ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบแก้ไขปัญหาและวางแผนปรับปรุงระบบเครือข่ายในอนาคต ตอบโจทย์ด้านการสร้าง Customer Experience ที่ดี รวมถึงยังสามารถปรับแต่งระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการนำอุปกรณ์ IoT เข้ามาใช้งานได้อย่างง่ายดาย ด้วยการรองรับการบริหารจัดการ Wi-Fi, RFID, Zigbee และ Bluetooth ได้
100/400GbE และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งจะมาเป็นหัวใจของ Data Center Network ในอนาคต
สำหรับแนวโน้มที่น่าสนใจของ Data Center Networking นั้น หลักๆ เกิดขึ้นจากการสร้าง Data Center เพื่อรองรับ AI แทบทั้งสิ้น เนื่องจาก AI นั้นถือเป็นระบบที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลเพื่อนำไปวิเคราะห์อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และด้วยเทคโนโลยี GPU ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วก็ทำให้การประมวลผลในแต่ละวินาทีต้องการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก ระบบเครือข่ายที่เป็นตัวกลางระหว่างข้อมูลและหน่วยประมวลผลนี้จึงกลายเป็นคอขวดที่ใหญ่หลวงขึ้นมา และ AI Data Center นี้เองก็จะกลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ Cloud Data Center ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ โจทย์หลักของระบบเครือข่ายในอนาคตจึงเป็นการมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาด้านประสิทธิภาพ และลดคอขวดที่จะเกิดขึ้นในระบบเครือข่ายให้ได้แบบ Dynamic ตลอดเวลา ซึ่งเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ได้แก่
-
100/400GbE สำหรับแก้ไขปัญหาคอขวดในระบบเครือข่าย
-
การใช้ Converged Fabric เพื่อให้ Ethernet นั้นรองรับทั้ง LAN,SAN,IPC ได้ในหนึ่งเดียว และใช้ CNA NIC ในการเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับแต่ละ Server แทน NIC แยกสำหรับแต่ละชนิด
-
การใช้ IP Networking ร่วมกับ Optical Networking ภายใน Data Center
-
การเปลี่ยนจากการใช้ MPLS และ PCEP ไปสู่ Segment Routing ในอนาคต
-
การสร้าง Lossless Ethernet ด้วยการใช้เทคโนโลยี Multiple Virtual Queue, Dynamic Waterline และ Proactive Control เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Network Congestion ได้ด้วยการเลือกใช้เส้นทางบนระบบเครือข่ายได้ในแบบ Real-time ตลอดเวลา
-
การทำ Automatic Deployment ได้ผ่าน Ansible
นอกจากนี้ Huawei เองก็ยังเริ่มมีการนำเทคโนโลยี Colorless WDM System มาใช้ภายใน Data Center เพื่อเพิ่ม Bandwidth การรับส่งข้อมูลของสาย Fiber ให้สูงได้ถึง 1Tbps ต่อเส้น ลดปัญหาคอขวดได้เป็นอย่างดี ส่วน Server ต่างๆ ก็สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ด้วยความเร็วระดับ 25GbE เป็นขั้นต่ำได้เลย ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออกแบบ Data Center Networking ให้ประหยัดพลังงานลงได้ถึง 50%
Wi-Fi กลายเป็นหัวใจหลักของการเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับผู้ใช้งานและ IoT
อุปกรณ์ Access Point เดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดอีกต่อไปสำหรับแนวโน้มทางด้าน Campus Network ในมุมของ Huawei นี้ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะ Huawei มองว่าปัจจุบันการเชื่อมต่อเครือข่ายแทบทั้งหมดของผู้ใช้งานนั้นเกิดขึ้นผ่าน Wi-Fi ทั้งสิ้น และโจทย์ของการเชื่อมต่อ Wi-Fi ในสถานการณ์ต่างๆ เองก็มีหลากหลาย ทำให้ Huawei มองว่าปัจจุบันการออกแบบ Wi-Fi Networking นั้นไม่อาจนับเพียงแค่จำนวนผู้ใช้งานและความเร็วที่ต้องการ แล้วเลือกจำนวนและจุดติดตั้ง Access Point (AP) เท่านั้นได้อีกต่อไป แต่จะต้องเลือกอุปกรณ์ AP ที่มีความสามารถเหมาะสมต่อแต่ละโจทย์ได้ด้วย ดังนี้
-
Huawei AP4050DN-E รุ่นที่รองรับการติดตั้ง IoT Networking Module เสริมได้ 3 ช่อง เพื่อรองรับการใช้งาน Wi-Fi ทั่วๆ ไปพร้อมกับการรองรับอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อผ่านทาง RFID, Zigbee และ Bluetooth ได้พร้อมกันในตัว
-
Huawei AP4051TN สำหรับการรองรับการเชื่อมต่อใช้งานทั่วไปพร้อมกับ Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ได้ในอนาคต โดยมี 3 Radio ในตัวได้แก่ 2.4GHz 2×2 MIMO และ 5GHz 2×2 MIMO สำหรับการเชื่อมต่อใช้งานทั่วไป และ 5GHz 4×4 MIMO สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ AR/VR จำนวนมากที่ต้องการ Bandwidth สูงต่อผู้ใช้งานแต่ละคนโดยเฉพาะ
-
Huawei AP7052DE สำหรับรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่ผู้ใช้งานจำนวนไม่มาก แต่ต้องการการเชื่อมต่อคุณภาพสูงอยู่เสมอ ด้วยการใช้ Smart Antenna ที่ปรับทิศทางและความแรงตามตำแหน่งการใช้งานจริงของผู้ใช้งาน ทำให้มีความแรงสัญญาณสูงขึ้นอีกเท่าตัว, มี Coverage Area ไกลขึ้น 20% และหลบเลี่ยงสัญญาณรบกวนได้ดีขึ้น
-
Huawei AP8050TN รุ่นสำหรับติดตั้งในสนามบิน, สนามกีฬา และพื้นที่ที่มีคนใช้งานหนาแน่นโดยเฉพาะ โดยเป็นรุ่น Outdoor แบบ 3 Radio ที่เลือกใช้ Built-in Directional Antenna ทำให้ควบคุมทิศทางของสัญญาณได้ดี ลดการกวนกันระหว่าง AP แต่ละตัว และใช้เทคโนโลยี AM Superconductor Miniaturization เพื่อลดขนาดของ AP ให้เล็กลงกว่าเดิม 30% เพื่อให้ติดตั้งได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้การรองรับระบบ Wi-Fi ความเร็วสูงอย่างมาตรฐาน 802.11ac หรือ 802.11ax ให้ได้นั้น ทาง Huawei ก็นำเสนอ Switch รุ่นใหม่อย่าง Huawei S6720-SI Multi-Gigabit Switch เพื่อรองรับ 1/2.5/5/10GbE ได้ในทุกพอร์ต และรองรับ PoE++ ที่สามารถใช้งานได้ระยะไกลสูงสุดถึง 200 เมตรเลยทีเดียว
ติดต่อทีมงาน Huawei ประเทศไทยได้ทันที
ผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีด้าน Enterprise Networking จาก Huawei สามารถติดต่อทีมงาน Huawei ประเทศไทยได้ทันทีที่