สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานเสวนาออนไลน์ Digital Transformation is Driving Thailand’s Unique Competitiveness EP #1 เรื่อง Digital Transformation and Creativity วงเสวนาที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เรื่องการปรับตัวของธุรกิจในยุค (หลัง) COVID-19 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ที่เพิ่งจัดไป สามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญได้ที่บทความนี้ครับ

ประเด็นการเสวนา
- การสร้างและปรับเปลี่ยนธุรกิจให้แตกต่าง ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลผสานกับความคิดสร้างสรรค์ และโอกาสทางธุรกิจในยุค (หลัง) โควิด-19
- การพิจารณานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญ เพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ผู้ร่วมเสวนา
- ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science และ PDPA อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นายดาวุทธ นาวีวงษ์พนิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สลาม อีสต์ กรุ๊ป จำกัด
- นายวีร์ สิรสุนทร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท พรีโมเวิร์ล จำกัด กรรมการสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย
- นายเนติวุฒิ จามรสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจ บริษัท ฟอร์มิเชลลา แอนด์ ศรีธวัช แอททอนีส์ แอท ลอว์ จำกัด
ดำเนินการเสวนาโดย คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
1. ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม วิทยากรแต่ละท่านมีการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานอย่างไรบ้าง
ในฐานะอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้าที่หลักของ ดร. พีรพัฒคือการสอนหนังสือนิสิต ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากเดิมที่ต้องมาเรียนในห้องให้ไปสู่รูปแบบออนไลน์แทน และแทนที่การสอนเนื้อหาเดิมๆ ซ้ำๆ ด้วยการบันทึกวิดีโอไว้ล่วงหน้า แล้วให้นิสิตไปศึกษามาก่อน ส่วนการเรียนในห้องแบบออนไลน์ก็จะสรรสร้างรูปแบบใหม่ที่ดูน่าสนใจ เพื่อให้การเรียนออนไลน์ไม่น่าเบื่อ
เช่นเดียวกัน คุณดาวุทธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สลาม อีสต์ กรุ๊ป จำกัด ก็มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจ จากการสอนภาษาอาหรับแบบเจอหน้าในห้อง ก็ไปสู่รูปแบบออนไลน์ทั้ง Live และ On-demand แทน ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวประเทศแถบตะวันออกกลางก็มีการนำเทคโนโลยี เช่น AR/VR มาปรับใช้เพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงเสมือน (Virtual Tour) โดยมีการเชิญไกด์ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีมาร่วมด้วย เพื่อให้การเที่ยวออนไลน์มีทั้งความสนุกและได้ความรู้
ในมุมของบริษัท Startup ด้าน MarTech (Marketing Technology) ของคุณวีร์ มีข้อได้เปรียบตรงจุดนี้ เนื่องจากมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว จึงเปลี่ยนไปให้พนักงานทำงานที่บ้านและติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์ 100% ได้ง่าย โดยแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย
สุดท้าย สำหรับบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมายของคุณเนติวุฒิ ทีมทนายก็มีปรับตัวให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารกันทั้งภายในบริษัทเองและระหว่างลูกค้า รวมไปถึงปรับเปลี่ยนวิธีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ กรมสรรพกร กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้เป็นรูปแบบออนไลน์เช่นกัน เช่น การยื่นเอกสารหรือการนัดหมายออนไลน์ เป็นต้น
2. การปรับตัวตามสถานการณ์ COVID-19 มีทั้งแบบชั่วคราวและถาวร สำหรับธุรกิจแล้ว อะไรบ้างที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรหลังจากนี้
สำหรับภาคเอกชนแล้ว หลังจากจบเหตุการณ์ COVID-19 อาจมีทั้งที่กลับมาทำงานที่ออฟฟิศหรือทำงานแบบรีโมต 100% ต่อไปเลย ขึ้นกับวัฒนธรรมขององค์กร แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงแบบถาวรคือการที่ธุรกิจจะต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ในอนาคต
3 สิ่งที่ทุกธุรกิจควรตระหนักในขณะนี้ ได้แก่ Rethink, Reflect และ Reform
- Rethink คือ การคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แบบยั่งยืน
- Reflect คือ การรับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนรอบข้างใน Ecosystem ให้มากยิ่งขึ้น
- Reform คือ การเปลี่ยนวิกฤต COVID-19 ให้เป็นโอกาสในการพลิกโฉมธุรกิจ เช่น การใช้โอกาสนี้เพื่อปรับกระบวนการเชิงธุรกิจให้มีความคล่องตัวและตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
3. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยี เช่น Cloud, IoT, 5G, AI และ Data Analytics มาประยุกต์ใช้เพื่อทำ Digital Transformation ให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างไร
ความคิดสร้างสรรค์เกิดจาก Passion และ Positive Thinking ผู้ประกอบการธุรกิจควรเปลี่ยนค่านิยมในการทำงานแบบเดิมๆ ให้ออกจากกรอบ เพื่อสรรสร้างโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อดีของยุคออนไลน์ในปัจจุบัน คือ สามารถผิดพลาดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง นั่นคือธุรกิจสามารถค้นหาข้อผิดพลาดและแก้ไขหรือเริ่มใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่เสียค่าใช้จ่ายในความผิดพลาดนั้นๆ ถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก ยกตัวอย่างเช่น
- ธุรกิจท่องเที่ยว จัดทำการท่องเที่ยวแบบเสมือน (Virtual Tour) พร้อมโปรแกรมส่งอาหารของชาตินั้นๆ มาให้ลูกทัวร์ทานเพื่อเพิ่มบรรยากาศในการท่องเที่ยว
- LegalTech สร้างเทคโนโลยีที่สามารถฟีดข้อเท็จจริงด้วยการอ่านข้อมูลคำพิพากษาหลายหมื่นหรือแสนฉบับ แล้วให้ AI นำมาวิเคราะห์โอกาสแพ้ชนะเมื่อต้องดำเนินการฟ้องร้องคดี
- การนำ AI เข้ามาใช้เพื่อช่วยร่างสัญญาให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กฏหมายแต่ละประเทศกำหนด
ทั้งนี้ ควรมองว่าผลผลิตหรือเครื่องมือที่ได้จากความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องปลายทาง ควรกลับไปมองดูว่า จริงๆ แล้ว เราต้องการแก้ปัญหาอะไร สิ่งที่ช่วยให้เราวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงได้นั้นก็คือข้อมูล เมื่อมีการเก็บข้อมูลลูกค้ามากขึ้น ย่อมเข้าใจในตัวลูกค้า เปิดโอกาสให้สามารถสรรสร้างโซลูชันใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างมูลค่าให้แก่บริการของเราได้
4. การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องการความคล่องตัว แต่มักติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่เดินหน้าไปไว ไม่พอดีกับที่กฎหมายเอื้อให้ดำเนินการได้ โดยเฉพาะ PDPA มองประเด็นนี้อย่างไร
อีกมุมมองหนึ่ง กฎหมายถูกออกมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ก็มีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act หรือ PDPA) เข้ามาคุ้มครองโดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลจะไม่ถูกนำไปใช้เกินขอบเขตที่เจ้าของข้อมูลอนุญาต
และในปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีเฉพาะทางหลายอย่าง เช่น Data Analytics หรือ AI เข้ามาใช้จัดการกับข้อมูล ทำให้ธุรกิจต้องว่าจ้างบริษัทภายนอกให้เข้ามาพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มเพื่อใช้งานแทน การมีสัญญาที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายที่ครอบคลุมและสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจและทำ Digital Transformation
5. จุดสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการกำหนดนโยบายและกฏหมายต่างๆ ควรเป็นอย่างไร เพื่อให้มีความเหมาะสม ไม่เข้มงวดจนเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ และไม่หย่อนยานจนผู้บริโภคเสียผลประโยชน์
ยกตัวอย่างเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายเป็นตัวสร้างสมดุลระหว่างข้อมูลที่อยู่กับตัวบุคคลเฉยๆ ไม่ได้เอาไปทำอะไร นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจและผู้บริโภคเอง โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือคุ้มครองไม่ให้เกิดการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้จนเกินเลย คำถามคือแล้วต้องคุ้มครองระดับไหนถึงจะเรียกว่าเพียงพอ ไม่มากไป ไม่น้อยไป กฎหมายสมัยใหม่ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีการนำแนวคิดเรื่อง Soft Law เข้ามาใช้ กล่าวคือ การให้หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาตรฐานของกลุ่มธุรกิจของตนมาเสนอต่อหน่วยงานควบคุม แล้วค่อยพิจารณา ปรับปรุง แก้ไข จนกลายเป็นกฎหมาย เพื่อให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยากและยังคงได้ประโยชน์ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม สรุปได้ว่า การหาจุดสมดุล คือ การเอาผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาคุยกัน เพื่อหาว่าตรงไหนคือจุดที่ลงตัวพอดี
นอกจากนี้ การกำหนดตัวบทกฎหมายต่างๆ ต้องมีความชัดเจน และบังคับใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ที่สำคัญ คือ กฏหมายที่ออกนั้นต้องมีมาตรฐานเทียบเท่านานาชาติ หรือที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เพื่อที่ประเทศจะได้มีความน่าเชื่อถือและสามารถทำธุรกรรมข้ามชาติได้อย่างไร้ปัญหา ในยุคที่การเชื่อมต่อไร้พรมแดน ถ้ากฎหมายเข้มงวดหรือหย่อนยานไป อาจส่งผลต่อการลงทุนของต่างชาติและการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้