รีวิว Dell Latitude 7380 กับประสบการณ์การใช้ Commercial Notebook ทำงานที่ต่างจาก Consumer Notebook หลายแง่มุม

พอดีหนึ่งในทีมงาน TechTalkThai เพิ่งมีโอกาสได้เปลี่ยน Notebook มาใช้ Dell Latitude 7380 ครับ ใช้มาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว จึงขอหยิบยกมารีวิให้ผู้อ่านทุกท่านที่กำลังสนใจ Dell Latitude 7000 Series สำหรับการทำงาน และเล่าภาพให้เห็นกันว่า Notebook ในระดับ Consumer และ Commercial นั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดังนี้ครับ

 

เลือกชนะคู่แข่งรายอื่นมาได้ด้วยราคา หน้าตา และความเบา

ก่อนอื่นเลยก็อยากจะเล่าถึงเกณฑ์การคัดเลือกว่าทำไมถึงมาลงเอยเลือกใช้ Dell Latitude 7380 ตัวนี้ได้ครับ โดยแรกเริ่มนี้คือทางทีมงาน TechTalkThai ได้ปักธงเอาไว้ว่าอยากจะลองหันมาใช้ Notebook รุ่นที่เป็น Commercial ดูแบบจริงๆ จังๆ จะได้เห็นถึงความแตกต่างที่สงสัยมานาน โดยตั้งใจว่าจะได้ใช้ไปนานๆ 5-7 ปีไปเลย และเวลามีปัญหาที่เกิดขึ้นตอนใช้งานจริงๆ จะได้เรียกเคลมกันแบบเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจคนขาย ส่วนเกมไม่กะจะเล่นในเครื่องนี้อยู่แล้วครับเพราะมีอีกเครื่องแยกสำหรับไว้เล่นเกมที่บ้านอยู่แล้ว

พอตัดสินใจได้แล้วก็เลยเลือกโดยอาศัยเกณฑ์การซื้อดังนี้ครับ

  • รุ่น Commercial จะได้รู้ว่ามันดีกว่าปกติยังไงบ้าง
  • ราคา อยู่ในช่วง 30,000 – 50,000 บาท โดยคุณภาพและสเป็คเครื่องต้องสมราคา
  • หน้าตา ดูทางการหน่อยเพราะจะเอาไปใช้ในงานที่ต้องประชุมกับผู้บริหารระดับสูงในบางโอกาส และอยากให้วางตักทำงานได้ทุกที่สะดวกๆ เครื่องเล็กพอสมควรให้พกง่ายๆ
  • แบตเตอรี่ ยิ่งทนยิ่งดี 6 ชั่วโมงคือพอรับได้ 8-10 ชั่วโมงคือโอเค เกินกว่านั้นคือดีมาก
  • น้ำหนัก ต้องเบาระดับที่สามารถจะพกไปทำงานหรือไปเที่ยวได้จบได้เครื่องเดียว ใส่กระเป๋าเดินแบกได้ทั้งวันกลางแจ้งแบบไม่ปวดหลัง เวลาไปงาน Event ต่างๆ หรือไปสัมมนาต่างประเทศจะได้ไม่เป็นภาระ
  • ทนทาน ตอนใช้งานไม่ต้องไปกังวลเรื่องความทนทาน กระแทกได้ วางของทับได้ น้ำหกใส่พอได้บ้าง
  • พอร์ต ต้องมี USB ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ต่อจอนำเสนอได้ง่าย ประหยัดค่าสายพ่วงต่างๆ และไม่ต้องพกสายเยอะให้เกะกะ
  • ประกัน 3 ปี ยิ่งเคลมง่ายยิ่งดี
  • ทำความสะอาดง่าย (Optional) เครื่องจะได้ดูดีหน่อย เวลาเอาออกไปประชุมไม่ติดปัญหาเรื่องภาพลักษณ์

ด้วยเกณฑ์ประมาณนี้ก็ทำให้ตัวเลือกเหลือน้อยลงพอสมควร เพราะตัดพวก Tablet หรือเครื่องที่ใช้ Type Cover ออกไปได้เลยเพราะอุปกรณ์กลุ่มนี้จะวางทำงานบนตักไม่ค่อยสะดวกมากนัก ส่วนพวก 2-in-1 ราคาก็จะสูงและสเป็คบางทีก็อาจจะต่ำไปหน่อยด้วยการลงทุนที่เท่ากัน ก็เลยเหลือแต่เครื่อง Notebook รุ่นทำงานทั่วๆ ไปให้เหลือใช้ในกรณีนี้ครับ

พอตัดตัวเลือกแล้วไปเทียบในตลาด จริงๆ ก็มีลังเลอยู่หลายจังหวะเหมือนกันระหว่าง Commercial Notebook ของค่ายใหญ่แต่ละค่ายที่วางตัวออกมาค่อนข้างแตกต่างกันไม่น้อยทีเดียวครับ แต่สุดท้ายเครื่องที่เลือกมาก็กลายเป็น Dell Latitude 7380 ที่ราคา 4 หมื่นต้นๆ ด้วยขนาดที่กำลังดี ไม่เล็กไปอย่างรุ่น 7280 ที่ขนาด 12 นิ้วหรือใหญ่ไปหน่อยอย่างรุ่น 7480 ที่ขนาด 14 นิ้ว ส่วนแบตเตอรี่ในสเป็คก็เขียนว่าอยู่ได้ที่ 10 ชั่วโมง ก็ถือว่าน่าลองอยู่ เทียบกับน้ำหนักที่อยู่ประมาณ 1.2-1.3 กิโลกรัมก็ถือว่าโอเคดีทีเดียว

 

วัสดุภายนอกเครื่องจะใช้ Magnesium Alloy ซึ่งไม่ได้มีสัมผัสที่เรียบลื่นเหมือนวัสดุที่เป็นโลหะ แต่จะมีความฝืดอยู่บ้าง ภาพนี้ถ่ายตอนใช้งานมาได้พักหนึ่งแล้วครับ

 

สำหรับสเป็คเครื่องที่ได้มา เป็นดังนี้ครับ

  • CPU: Intel Core i5-7200U 2.5GHz
  • RAM: 8GB
  • SSD: 240GB
  • Monitor: 13.3″ FHD WAVA (1920 x 1080) Anti Glare 16:9
  • Battery: 42 Whr
  • WLAN: 802.11ac

 

 

ถือว่าราคาสูงอยู่เมื่อเทียบกับเครื่อง Consumer หลายๆ รุ่นที่สเป็คประมาณนี้ราคาจะอยู่ที่ 25,000 – 35,000 บาท แต่ไม่เป็นไรครับเครื่องทำงาน ทำแป๊บเดียวก็คืนทุนแล้ว (รายจ่ายบริษัทล้วนๆ) ดังนั้นครั้งนี้ก็ถือว่ามาลองซื้อประสบการณ์ดู ใช้งานไป 5-7 ปี หารเฉลี่ยต่อปีก็เหลือไม่เท่าไหร่ ถ้าใช้แล้วปัญหาน้อยกว่า บริการดีกว่า เคลมง่ายกว่า ก็น่าจะคุ้มในแง่เวลาที่ต้องเสียน้อยลงไปในการมาจัดการกับเครื่องครับ ซึ่งประเด็นนี้จะมีพูดถึงเรื่อยๆ ในแง่มุมต่างๆ หลังจากนี้ต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี หลังจากใช้งาน Dell Latitude 7380 มาได้ประมาณ 2-3 เดือน Dell ก็ออก Latitude รุ่นใหม่พร้อมใช้ CPU รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Intel มาแล้ว แต่การออกแบบโดยรวมก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ดังนั้นรีวิวนี้ก็น่าจะยังพอเป็นแนวทางสำหรับองค์กรและผู้ที่สนใจใช้ Dell Latitude 7000 Series ได้อยู่ครับ

 

ติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว พร้อมใช้งานได้เลยในเวลาไม่กี่นาที

พอได้ของมาปุ๊บก็เริ่มทำการแกะกล่องทันที ในกล่องไม่ได้มีอะไรนอกจากตัวเครื่องและสายชาร์จที่สามารถพันม้วนเก็บให้เรียบร้อยและมีขนาดเล็กโดยสายไม่หักได้ อันนี้ก็ดีครับประหยัดที่ในกระเป๋าไปได้พอสมควร

พอถึงขั้นตอนการติดตั้ง เปิดขึ้นมาปุ๊บเราจะพบกับหน้าจอติดตั้ง Windows 10 ที่มาพร้อมกับความสามารถให้เราทำการติดตั้งด้วยคำสั่งเสียงได้ผ่านทาง Cortana ถือเป็นฟีเจอร์ที่ว้าวดีแต่ก็ไม่ได้ใช้เพราะสำเนียงไม่รอดครับ 555 เลยติดตั้งไปตามปกติเสร็จสิ้นในเวลาไม่กี่นาที พร้อมใช้งานได้ พร้อมเปิดใช้งาน BitLocker เลย

ตามสไตล์คนสาย IT พอได้เครื่องใหม่มาปุ๊บก็ต้องจัดการอัปเดต Patch ให้เรียบร้อย ก่อนจะติดตั้งพวก Software สำหรับทำงานต่างๆ แล้วก็อัปเดตให้หมด เท่านี้เครื่องก็พร้อมใช้งานเรียบร้อยแล้วครับ

อันที่จริงแล้วถ้าเป็นสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่สั่งเครื่องมาหลายเครื่อง ทาง Dell จะมีบริการให้เราสามารถเลือกตั้งค่าเบื้องต้นในเครื่องและการติดตั้ง Software ต่างๆ มาให้ก่อนได้เลย แล้วเอาการตั้งค่าเหล่านั้นมาใช้เป็น Image สำหรับการทำ Recover ระบบเวลาเครื่องมีปัญหา ทำให้การล้างเครื่องเพื่อติดตั้งใหม่นั้นทำได้ค่อนข้างง่ายทีเดียว แต่ในกรณีนี้สั่งมาใช้เองเครื่องเดียวก็เลยไม่ได้ไปใช้บริการในส่วนนี้ครับ ซึ่งเท่าที่ให้มานี่จริงๆ ก็ถือว่าช่วยให้ติดตั้งได้เร็วมากและไม่มีปัญหาใดๆ ในการติดตั้งเลย ราบรื่นดีทุกประการครับ

 

มาพร้อม Windows 10 Pro เตรียม Join AD ต่อได้ทันที

 

Dell Latitude 7380 มาพร้อมกับ Windows 10 Pro พร้อมใช้งานได้ทันที

 

Windows รุ่นที่แถมมากับ Dell Latitude 7380 นี้คือ Windows 10 Pro ที่มาพร้อมกับความสามารถในการ Join Active Directory (AD)/Azure AD และบริหารจัดการผ่าน Microsoft System Center Configuration Manager (SCCM), Microsoft Intune ได้ในตัว ซึ่งก็จะทำให้เราต่อยอดไปใช้ Windows Information Protection (WIP) เพื่อทำ Data Leakage Prevention ได้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าพูดถึงใน Windows 10 Pro นี้ก็คือการอัปเดตด้วย Windows Update for Business ที่จะเปิดให้เราเข้าไปทำการปรับแต่งค่า Group Policy เพื่อกำหนดได้ว่า Windows 10 Pro ของเราจะอัปเดต Patch ประเภทใดในช่วงเวลาใดบ้าง ทำให้เราไม่ต้องอัปเดตทุก Patch ทันทีที่ออก เหมาะสำหรับองค์กรที่มีเครื่องจำนวนมากและอยากตั้งตารางให้เครื่องในแต่ละทีมแต่ละแผนกค่อยๆ ทยอยอัปเดตไล่กันไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับระบบเครือข่ายนั่นเอง

นอกจากนี้ Windows 10 Pro เองก็ยังมาพร้อมกับความสามารถที่จำเป็นในงานสาย System Admin อย่าง Remote Desktop และ Client Hyper-V ก็เป็นอีกจุดที่ต่างจาก Windows 10 Home ที่ค่อนข้างชัดเจนและจับต้องได้ง่ายครับ

สำหรับผู้ที่อยากเจาะลึกว่า Windows 10 Home ต่างจาก Windows 10 Pro อย่างไร ลองดูตารางเปรียบเทียบได้ที่ https://www.microsoft.com/en-us/windows/compare เลยครับ ส่วนการเปรียบเทียบว่า Windows 10 Pro นั้นจะต่างจาก Windows 10 Enterprise E3 และ E5 อย่างไร ลองตรวจสอบได้ที่ https://www.microsoft.com/en-us/windowsforbusiness/compare ครับ

ใช้งานจริงมา 3 เดือน สัมผัสได้ถึงคุณภาพของ Hardware ที่ทำออกมาดีกว่าเครื่องระดับ Consumer อย่างชัดเจน

หลังจากเตรียมเครื่องเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการใช้งานจริงกันบ้าง ซึ่งขั้นตอนนี้้เองที่การออกแบบ Hardware และ Software ทั้งหมดใน Dell Latitude 7000 Series จะส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานของเราโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีส่วนที่เป็นของ Dell เอง หรือส่วนที่ต้องผสานร่วมกับ Windows 10 Pro ก็ตาม โดยขอแบ่งการเล่าถึงประเด็นนี้ออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้

 

Hardware ทนทานมากจนไม่ต้องกังวลอะไร

ส่วนแรกที่ใช้งานแล้วประทับใจได้อย่างรวดเร็วคือการที่ทุกอย่างในเครื่องนี้ถูกออกแบบมาให้ดูทนทานพอสมควร ทำให้ตอนใช้งานไม่ต้องกังวลมากนักว่าจะต้องถนอมเครื่องมากเป็นพิเศษหรือเปล่า โดยตัวบอดี้ของเครื่องนั้นใช้ Magnesium Alloy ก็ทำให้หายห่วงไปได้ในแง่ของความทนทานภายนอก ซึ่งก็มารู้ภายหลังว่า Dell Latitude 7000 Series นี้ผ่านมาตรฐานความทนทาน MIL-STD 810G สำหรับใช้งานได้ในทางการทหารทีเดียว ทุกวันนี้ก็เลยใส่ไว้ในกระเป๋าช่องเดียวกับขาตั้งกล้องครับ และก็พบว่าก็ยังไม่มีรอยบุบอะไร สวยงามปกติดี

ส่วน Keyboard นั้นก็ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี โดยการพิมพ์สัมผัสนั้นก็เป็นไปได้ค่อนข้างรวดเร็ว ปุ่มมีแรงสะท้อนกำลังดีไม่ทำให้เมื่อยมือระหว่างพิมพ์ ในขณะที่ความแข็งแรงทนทานของปุ่มก็ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าใช้ๆ ไปแล้วปุ่มไหนจะหลวมหรือพังหรือไม่ อันนี้เป็นจุดที่ต่างจาก Keyboard ของ Notebook ระดับ Consumer พอสมควร และวาง Layout ของ Keyboard ออกมาได้ดีทีเดียวครับ

 

Keyboard ที่มากับ Dell Latitude 7380 นี้ถือว่าพิมพ์สนุกมือมากครับ อันนี้ลองเทียบกับ Dell รุ่นอื่นๆ มาบ้างแล้ว ชอบของ Dell Latitude มากกว่า

 

Touchpad เองก็ใช้งานจริงแล้วไม่มีปัญหาติดขัดอะไร นอกจากช่วงแรกๆ ที่ใช้งานมือจะไปโดนบ้าง แต่พอชินแล้วก็ไม่ติดปัญหา และก็มีปุ่มคลิกซ้ายคลิกขวาแยกมาให้ใช้นอกเหนือจากการสัมผัส Touchpad ด้วยนิ้วเดียวหรือสองนิ้ว ทำให้เราเลือกใช้ได้ตามถนัดและตามแต่สถานการณ์ ก็สะดวกอยู่ครับ

ตัวจอเองก็เชื่อมกับเครื่องอย่างแข็งแรงทนทานมาก ทำให้การกางจอ 180 องศา หรือการหยิบเครื่องโดยยกจากจอเองนั้นก็สามารถทำได้อย่างไม่ต้องกังวล และด้วยความที่ตัวจอเองค่อนข้างเบา การถือเครื่องเดินไปเดินมาก็ไม่ต้องกังวลว่าจอจะโยกไปโยกมาตามแรงเหวี่ยง จะมีก็แค่เวลาเอานิ้วไปจิ้มหน้าจอนั้นก็อาจทำให้ติดเป็นรอยนิ้วมือบ้าง แต่ก็เช็ดออกได้สบายๆ

สำหรับแบตเตอรี่นั้นถือว่าทนทานมากในระดับที่น่าพอใจทีเดียวครับ ใช้งานจริงก็ราวๆ 6-10 ชั่วโมงแล้วแต่สถานการณ์ โดยเครื่องนี้ได้มานี้ยังเป็นรุ่นที่แบตเตอรี่เป็นรุ่นเล็ก ใครอยากให้ทนกว่านี้สามารถอัปเกรดเป็นรุ่นใหญ่ขึ้นไปอีกได้ และยังมี Adapter รุ่นพิเศษที่ทำตัวเป็น Power Bank ให้เลือกใช้ได้อีก ก็ถือว่าดีทีเดียวครับกับเครื่องที่เร็วระดับนี้และแบตยังทนได้ประมาณนี้อยู่

 

ตัวเลขแสดงปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลือ ตอนแรกเปิดมาเจอตัวเลขนี้ตกใจเลยครับ พอทดสอบใช้จริงดูก็พบได้ประมาณ 6-10 ชั่วโมงเท่านั้น และใช้ไปนานๆ ตัวเลขก็แม่นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยครับ

 

ให้ Port ต่างๆ มาครบ แทบไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริม

ตามสไตล์ Notebook สำหรับทำงาน Dell Latitude 7380 นี้ให้พอร์ตมาค่อนข้างพร้อมทีเดียว ดังนี้

1 Headset/Mic Combo Jack
1 USD 4.0 Memory Card Reader
1 DisplayPort over USB Type C™ with Optional Thunderbolt™ 3
2 USB 3.1 Gen 1
1 HDMI 1.4
1 RJ-45

 

ด้านซ้ายของเครื่อง กับ Port ที่ต้องใช้บ่อยๆ ในการนำเสนองาน

 

ด้านขวาของเครื่อง กับพอร์ต LAN แบบที่ง้างออกได้เมื่อต้องการเชื่อมต่อสาย LAN

 

ก็เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ยังต้องซื้อเพิ่มคือหัวแปลง HDMI-to-VGA เพื่อเชื่อมต่อกับ Projector เวลาที่ไปนำเสนองานครับ

ส่วน Wi-Fi ที่มากับเครื่องนั้นก็รองรับ 802.11ac เรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะยังใช้ต่อไปได้อีกนานพอสมควรจนกว่า 802.11ax จะกลายมาเป็น Mainstream ซึ่งก็คงจะอีกระยะใหญ่ทีเดียวครับ

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่สนใจจะใส่ซิมเพื่อเชื่อมต่อ Internet ให้ทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา Dell Latitude 7380 นี้ยังสามารถเพิ่ม USIM Card Tray เข้าไปได้ด้วยครับ แต่ส่วนนี้ไม่ได้สั่งมาจึงขอข้ามไปนะครับ

 

Software เสริม ช่วยให้การดูแลเครื่องเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยไม่ทำให้เครื่องช้าลง

โดยปกติเวลาซื้อ Notebook มา พวก Software เสริมจาก Vendor นั้นก็มักจะไม่ค่อยถูกเรียกใช้งานเท่าไหร่ แถมในเครื่อง Consumer เองก็จะยังมีพวก Anti-virus หรือ Software อื่นๆ ติดตั้งแถมพ่วงมาด้วยทำให้ต้องคอยลบออกเองอยู่เรื่อยๆ แต่ Dell Latitude 7000 Series นี้เครื่องมาค่อนข้างสะอาดทีเดียว คือนอกจาก Windows 10 Pro แล้วก็จะมีมาแค่ Software บางส่วนจาก Dell ที่เอาไว้ช่วยให้การจัดการหรือการดูแลรักษาเครื่องของเราง่ายขึ้นเท่านั้น

Software แรกที่ขอพูดถึงก่อนเลยนั้นก็คือ Dell Command Update ที่เอาไว้อัปเดตพวก BIOS, Driver, Firmware ของเครื่อง โดยถ้าหากการอัปเดตใดๆ นั้นจะต้องมีการไปปิด Service ใดๆ บน Windows ก่อน Dell Command Update ก็จะมีลิงค์พร้อมวิธีการให้เราไปปิดได้ง่ายๆ เลยครับ เท่าที่ลองใช้งานดูก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรในการอัปเดต

 

 

อีกตัวหนึ่งที่ผู้ใช้งาน Dell ควรรู้จักเอาไว้ก็คือ Dell SupportAssist สำหรับใช้ในการติดต่อกับ Support ของ Dell, ต่อประกัน, ตรวจสอบการทำงานของ Hardware, Optimize การทำงานของระบบให้เร็วขึ้น และสร้าง Recovery Drive ได้เองตามต้องการ

 

 

ทั้งสองตัวนี้ใช้งานแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาติดขัดอะไรครับ สะดวกดี โดยเฉพาะการอัปเกรด Software, Firmware, Driver ที่ค่อนข้างง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ถือว่าผ่านครับ

 

 

จอและแสงสว่างกำลังดี เปิดใช้ทั้งวันได้โดยไม่มีปัญหา

อันนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับคนที่กำลังมองหาคอมสำหรับใช้ทำงานแบบทั้งวันจริงจัง จอของ Dell Latitude 7000 Series นี้เป็นแบบ FHD Anti-Glare โดยมีแสงขาวที่ไม่ได้แสบตาเท่าไหร่ ทำให้สามารถใช้ทำงานแบบที่ต้องจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานานได้ดีพอสมควรเลยครับ

ส่วนใครที่มีจออื่นๆ อยากใช้งาน Dell Latitude ต่อจอนอกได้ผ่านทั้ง USB-C และ HDMI รวมถึงยังมี Dock เสริมสำหรับช่วยให้เชื่อมต่อจอและอุปกรณ์พ่วงต่ออื่นๆ ที่โต๊ะทำงานได้โดยง่ายอีกด้วย แต่ตัว Dock นี้ไม่ได้ซื้อมาใช้ครับเลยไม่รู้ว่าจะช่วยให้สะดวกขึ้นมากแค่ไหนเหมือนกัน

 

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากกล่าวถึง

สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจและควรรู้เอาไว้ก่อนตัดสินใจซื้อ ขอเอามารวมไว้ตรงนี้นะครับ

  • ตอนใช้งานใหม่ๆ วัสดุของเครื่องจะดูเหนียวๆ เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ติดมือหรือมีปัญหาอะไร น่าจะมาจากโรงงาน พอใช้ไปนานๆ ก็ปกติ เครื่องเรียบลื่นดี
  • Adapter เวลาเสียบปลั๊กไฟแล้วถ้ามีไฟเข้า ตัวหัวปลั๊กฝั่งที่เอาไว้ใช้เชื่อมต่อกับ Notebook จะมีไฟขึ้นมาให้เห็นทันทีโดยยังไม่ต้องเสียบสายเข้ากับตัวเครื่องจริงๆ ทำให้ตรวจได้เบื้องต้นก่อนว่าปลั๊กไฟรูที่ใช้นั้นมีไฟหรือไม่ ทำให้สะดวกขึ้นเล็กน้อยเวลาหาปลั๊กใช้นอกสถานที่
  • ใต้เครื่องมีแถบยางที่ยาวและยึดเกาะได้ค่อนข้างดี ทำให้เวลาเอาไปใช้งานในที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นเอียงก็ไม่ลื่นหล่นลงมา
  • แบตชาร์จเต็มเร็วดี ไม่ต้องมาคอยชาร์จล่วงหน้านานๆ
  • เครื่องเบามากระดับที่ผู้หญิงใช้ก็ไม่รู้สึกว่ามันหนัก
  • มี Accessory เสริมที่น่าเล่นเยอะ เช่น ถาด USIM สำหรับต่อ 4G LTE ได้เลย, Adapter รุ่นที่เป็น Power Bank ได้, แบตเตอรี่รุ่นทนยิ่งขึ้น, Dock สำหรับใช้ต่อกับอุปกรณ์พ่วงต่อเยอะๆ
  • ถ้า Sleep เครื่องไว้ พอเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่อาจจะมีหน่วงบ้างก่อน Login ในบางครั้ง เข้าใจว่ากำลังปลุก Process หรือไม่ก็กำลังจัดการกับเรื่องการเข้ารหัส แต่ก็ไม่ได้ช้าจนรับไม่ได้
  • เครื่อง Dell Latitude 7000 นี้อาจจะหาลองยากเสียหน่อยเพราะไม่มีขายตามร้านทั่วไป ดังนั้นอาจต้องขอยืมจาก SI ของ Dell, ติดต่อตัวแทนจำหน่าย Dell หรือให้เซลส์ของ Dell นำมาให้ทดสอบครับ ส่วนการซื้อรายบุคคลสามารถไปขอทดลองใช้งานได้ตามบูธที่ Dell ไปออกตามงานต่างๆ ได้ และพวกงานมหกรรมสินค้า IT ทั้งหลาย Dell ก็เริ่มนำสินค้าไลน์นี้ไปให้ทดสอบในงานกันแล้วครับ ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ผมก็ได้ไปทดสอบตามบูธนี่แหละครับ ส่วนหลังจากนี้ Dell ก็พยายามที่จะทำให้สินค้าไลน์นี้มีตัวทดสอบให้ทดลองใช้กันได้ง่ายขึ้นอยู่ครับ

 

สรุปข้อดีข้อเสียสั้นๆ ของ Dell Latitude 7380

ข้อดี

  • เครื่องเล็ก เบา ทนทาน พกพาง่าย
  • รูปลักษณ์ภายนอกดูสุภาพ สวยงาม เหมาะกับใช้ทำงานและประชุม
  • จอค่อนข้างดี สบายตา
  • เครื่องไม่ร้อนเลยตั้งแต่ใช้งานมา
  • แบตเตอรี่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รับได้
  • พอร์ตครบ พร้อมใช้งานได้เลย
  • เริ่มต้นใช้งานง่าย เครื่องสะอาด ไม่มี Software ที่ไม่จำเป็นติดตั้งมา

ข้อเสีย

  • ราคาค่อนข้างสูงหากเทียบสเป็คเท่ากันกับเครื่อง Consumer Notebook
  • ฝุ่นเกาะง่ายเล็กน้อย แต่ก็ยังดีที่เช็ดออกได้ง่าย
  • มีออปชันเสริมที่น่าสนใจค่อนข้างเยอะ แต่การสั่งมาจะวุ่นวายและใช้เวลาบ้างพอสมควร
  • ถ้าใครใช้ปุ่ม Home/End บ่อยๆ อาจต้องปรับตัวให้คุ้นเคยบ้าง
  • ไม่มีไฟใต้คีย์บอร์ดสำหรับทำงานในที่มืดในรุ่นที่สั่งมา ต้องสั่งเพิ่มเป็น Option เสริมแต่แรก
  • ไม่เหมาะสำหรับเล่นเกม

 

ปุ่ม Home/End อยู่ไกลมือมาก มีทั้งข้อดีว่าไม่ค่อยพลาดไปโดน และมีข้อเสียว่าพอจะใช้จริงแล้วต้องเอื้อมมือไปพอสมควร

 

Dell Latitude 7000 เหมาะกับงานแบบไหน?

Dell Latitude นี้สำหรับการทำงานนั้นถือว่าตอบโจทย์ได้ค่อนข้างครบทีเดียว รองรับทุกฟังก์ชันในการใช้หาเงินทั่วๆ ไป, ทำเอกสาร และอื่นๆ โดยสำหรับการใช้งานคนเดียวหรือใช้งานในธุรกิจขนาดเล็ก ก็ถือเป็น Notebook ที่ผ่านการทดสอบมาดี ใช้แล้วไม่มีปัญหาติดขัดอะไร ทำงานได้ราบรื่น วัสดุแข็งแรงทนทาน แบตเตอรี่นานพอจะใช้ทำงานนอกสถานที่ได้ และรุ่นใหญ่สุดก็รองรับ RAM 16GB ก็เพียงพอในงาน IT หลายๆ งานแล้ว รวมถึงการเขียนโปรแกรมด้วย

ทั้งนี้ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูสวย และแต่ละรุ่นดูไม่แตกต่างกันมาก นอกจากจะเอาไว้ใช้ในการทำงานแบบจริงจัง ประชุมได้ดูภูมิฐานแล้ว การสั่งซื้อเครื่องที่หน้าตาเหมือนๆ กันหรือคล้ายกันจำนวนมากมาใช้งานในบริษัทก็จะช่วยลดความแตกต่างในการใช้งานอุปกรณ์ IT ของแต่ละคนได้ ทำให้ไม่มีใครต้องคิดมากหรือน้อยใจว่าคอมตัวเองเก่ากว่า หรือสเป็คแย่กว่าคนอื่นๆ เพราะดูภายนอกดูไม่ออกเลยว่าสเป็คข้างในเป็นยังไง หรือเป็น CPU รุ่นใหม่หรือเก่า

ส่วนด้วยน้ำหนักที่เบา และจอที่ถนอมสายตานี้ก็จะช่วยรักษาสุขภาพของผู้ใช้งานให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าหากซื้อมาใช้งานเองก็ถือว่าดีเลยครับ

ส่วนงานประเภทที่ไม่เหมาะกับ Dell Latitude 7000 Series นี้ก็คืองานทุกประเภทที่ต้องใช้การประมวลผลกราฟฟิกหนักๆ เพราะการ์ดจอเป็น Intel HD Graphics Family เท่านั้น ดังนั้นงานประเภท Facebook Live หรือ Streaming นี้ก็อาจจะยังพอทำได้ แต่สำหรับการแต่งภาพ, การตัดต่อวิดีโอ, การเล่นเกมแบบจริงจัง คงไม่เหมาะนัก รวมถึงงานที่ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลเยอะๆ ด้วย

 

คุ้มหรือไม่หากจะจ่ายแพงขึ้นหลักหมื่นมาใช้เครื่อง Commercial Notebook ที่มีสเป็คเท่า Consumer Notebook?

ก่อนอื่นเลยต้องเล่ากันตรงๆ ว่า Commecial Notebook รุ่นสำหรับทำงานทั่วไปนั้นไม่ได้มีสเป็คทางด้าน CPU, RAM, SSD หรือ Wi-Fi ที่เหนือไปกว่า Consumer Notebook แต่อย่างใด ทำให้ความเร็วในการใช้งานนั้นไม่ได้แตกต่างกัน ยกเว้นจะเป็นรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับทำงานเฉพาะทาง เช่น ใช้ GPU เฉพาะสำหรับการ Render ภาพ 3 มิติ หรือปรับแต่ง GPU มาให้ใช้ความสามารถต่างๆ เพื่อเร่งประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น รุ่นเฉพาะเหล่านี้จะมีความเร็วที่เหนือกว่า Consumer Notebook ในงานเฉพาะทาง

ดังนั้นการประเมินความคุ้มค่าของ Commercial Notebook รุ่นสำหรับทำงานทั่วไปอย่าง Dell Latitude นี้จึงจะคิดจากราคาที่ลงทุนแต่แรกหรือ CapEx เท่านั้นไม่ได้ แต่ควรจะต้องนำพวกเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายทั้งในการติดตั้ง, การตรวจสอบ, การดูแลรักษา, การส่งประกัน และความเสถียรในการทำงานมาคิดเป็น OpEx ด้วยจึงจะเข้าใจถึงความคุ้มค่าครับ

ตัวอย่างง่ายๆ เครื่องเดิมที่เป็น Consumer ที่ผู้ทดสอบใช้งานมาก่อนนั้นเคยมีปัญหาในการอัปเดต Driver แต่จากที่ทดสอบกับ Dell มาในระยะเวลา 3 เดือนที่ีมีอัปเดตใหม่ๆ มาตลอดสำหรับ Dell Latitude 7000 Series ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร แม้จะเป็น Patch ในช่วง Spectre / Meltdown ก็สามารถกดอัปเดตไปได้แบบไม่ต้องคิดมาก เท่านี้ก็ประหยัดเวลาในการซ่อมเครื่องลงไปได้ระดับหนึ่งแล้วครับ ซึ่งถ้าตีเวลาตรงนี้กลับเป็น Man Day ก็อาจมีมูลค่าสูงกว่าส่วนต่างของราคา Commercial Notebook และ Consumer Notebook ได้แล้วในบางกรณี

อีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับการใช้งานในระดับองค์กร ด้วยบริการที่ช่วยปรับแต่ง Image แรกเริ่มของ Windows 10 Pro และการตั้งค่าของเครื่องมาจากโรงงานได้เลย ก็ทำให้ช่วยลดเวลาในการติดตั้งใช้งาน Dell Latitude ภายในองค์กรลงไปได้อย่างมหาศาล รวมถึงยังมี Image เอาไว้ Recover ได้แบบเป็นมาตรฐาน ก็ทำให้การทำงานของฝ่าย IT Support มีระบบระเบียบมากขึ้น อีกทั้ง Dell ยังมีเครื่องมืออีกมากมายสำหรับช่วยในการบริหารจัดการและเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งถ้าหากองค์กรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ ก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานของฝ่าย IT ลงไปได้อย่างมหาศาลนั่นเอง

ส่วนประเด็นอื่นนอกจากคุณภาพของ Keyboard ที่ชอบมากแล้ว ความทนทานของตัวเครื่องที่ทำให้ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มันเป็นพิเศษก็ทำให้สามารถโฟกัสกับงานได้ดีขึ้น และน้ำหนักที่เบา กับแบตเตอรี่ที่ทนทาน ก็ทำให้การทำงานนอกสถานที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

สำหรับตัวเลขง่ายๆ ที่ใช้คิดได้ว่าเครื่องนี้จะคุ้มไหม ถ้าใช้เครื่องนี้ 3 ปีก็ตกเป็นค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 13,000 – 15,000 บาท ถ้ามันใช้ดีแล้วช่วยให้เราทำงานได้มากขึ้น มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นแต่ละปีเกินค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ก็คุ้มอยู่แล้วครับ

ส่วนในมุมขององค์กร Dell มีข้อเสนอสำหรับเช่าใช้งานเพิ่มด้วย ดังนั้นก็จะส่งผลดีกับองค์กรในแง่ความยืดหยุ่นทางการเงินได้ด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าถามถึงความเห็นส่วนตัวหลังจากใช้งาน ก็คิดว่าถ้าไม่เล่นเกมและจะเน้นทำงานมากๆ รวมถึงไม่อยากเปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ การใช้ Commercial Notebook ก็น่าจะคุ้มค่าครับ แต่ถ้าจะต้องการเล่นเกมจริงจังด้วย หรือเป็นคนที่ชอบเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้ให้เป็นรุ่นล่าสุดอยู่เสมอ ซื้อ Consumer Notebook น่าจะตอบโจทย์ได้ตรงกว่าครับ

 

ตรวจสอบรุ่นและราคาของ Dell Latitude ล่าสุดได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดและรุ่นต่างๆ ของ Dell Latitude สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ที่ http://www.dell.com/th/business/p/latitude-laptops โดยตรงครับ ซึ่งซีรีส์ล่าสุดที่ใช้ Intel Core 8th Gen นั้นจะเป็นรุ่นที่ลงท้ายด้วย 90 ครับ

ส่วนเว็บไซต์สำหรับติดตามข่าวสารของ Dell ในฝั่ง Business สามารถติดตามได้ที่ http://www.dellforbusinessasia.com/ ครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

เรียนรู้ Use Case Gen AI จากองค์กรที่ใช้งานจริง จาก Google Cloud APAC Media Summit 2024 วันที่ 2

สำหรับงาน “Google Cloud APAC Media Summit” วันที่ 2 ตลอดทั้งวันทาง Google Cloud ได้พาเรียนรู้เกี่ยวกับกรณีศึกษา (Use Case) ขององค์กรที่มีการใช้งานเครื่องมือ …

กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ DigiTech ASEAN Thailand 2024 & AI Connect 2024 [Guest Post]

สุดยอดงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลแห่งอาเซียน เพื่อติดอาวุธให้ทุกธุรกิจพร้อมลุยในปี 2025