IBM Flashsystem

[รีวิว] Dell Latitude 7320 2-in-1: Notebook รุ่นทำงานล่าสุด จอสัมผัส พกพาง่าย ตอบโจทย์การทำงานแบบ Hybrid Work

เพื่อเตรียมตัวต่อการมาของการทำงานแบบ Hybrid Work อย่างเต็มตัวที่ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมทำงานให้ได้จากทุกที่ทุกเวลา รับมือได้กับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝัน การเลือกเครื่อง Notebook สำหรับทำงานที่ตอบโจทย์นี้ได้ถือว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสำหรับรอบการอัปเกรดเครื่อง Notebook สำหรับพนักงานในหลายบริษัทเลยทีเดียว

ในครั้งนี้ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาสทดสอบการใช้งาน Dell Latitude 7320 2-in-1 รุ่นใหม่ล่าสุดที่มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล 11th Gen Intel® Core และ Windows 10 Pro จึงขอสรุปประเด็นต่างๆ จากการทดสอบใช้งานในครั้งนี้เอาไว้ดังนี้ครับ

Dell Latitude 7320 2-in-1: Notebook แบบ 2-in-1 สำหรับการทำงานแบบ Hybrid Work

Dell Latitude 7320 2-in-1 นี้เป็นเครื่อง Notebook สำหรับทำงานแบบ 2-in-1 ที่สามารถใช้งานได้ทั้งแบบปกติ และแบบ Tablet ด้วยการพับ Keyboard เป็นฐานตั้งหรือพับแนบไปกับด้านหลังของจอเลยก็ได้ โดยตัวจอของเครื่องในขนาด 13.3 นิ้วความละเอียด FHD 1920 x 1080, 60 Hz นี้สามารถสัมผัสหน้าจอได้ด้วย

Credit: Dell

ตัวเครื่องนี้ถูกออกแบบมาให้มีทั้งความสวยงาม ทนทาน โดยสำหรับเครื่อง Notebook แบบทั่วไปจะสามารถเลือกบอดี้ได้ทั้งแบบคาร์บอนไฟเบอร์และแบบอลูมิเนียมด้วยน้ำหนักเริ่มต้น 1.12 กิโลกรัม ในขณะที่เครื่องแบบ 2-in-1 จะเลือกได้เฉพาะแบบอลูมิเนียมเท่านั้นในน้ำหนัก 1.39 กิโลกรัม

ตัวสเป็คของเครื่องเองก็มีให้เลือกได้หลากหลาย ดังนี้

  • สามารถเลือก CPU 11th Gen Intel Core i5 และ i7 ได้ทั้งแบบรุ่นธรรมดาและแบบ vPro
  • สามารถติดตั้ง RAM ได้ตั้งแต่ 4/8/16/32GB
  • สามารถติดตั้ง SSD ได้ตั้งแต่ 128GB/256GB/512GB/1TB
  • สามารถเลือกระบบปฏิบัติการได้ทั้ง Windows 10 Pro และ Windows 10 Home
Credit: Dell



การเลือกใช้งาน Dell Latitude 7320 2-in-1 นี้จึงสามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ของแต่ละองค์กรได้ เช่น ถ้าหาก Application สำหรับใช้ทำงานส่วนใหญ่อยู่บน Cloud แล้ว ตัวเครื่องก็ไม่จำเป็นต้องมีสเป็คที่สูงมากนัก แค่รองรับระบบปฏิบัติการและ Web Browser ทั่วไปได้ก็เพียงพอ ในขณะที่ถ้าหากยังคงต้องการประมวลผลข้อมูลบนตัวเครื่องเช่นการทำ Business Report หรือการจัดทำเอกสารขนาดใหญ่ ก็สามารถเลือกสเป็คเครื่องให้สูงขึ้นได้

สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาจะมีดังนี้

Credit: Dell

1. uSD 4.0 Memory Card Reader | 2. External uSIM card tray (optional) | 3. Thunderbolt™ 4 with Power Delivery and DisplayPort (USB Type-C™) | 4. USB 3.2 Gen 1 with Powershare | 5. HDMI 2.0 | 6. Wedge-shaped Lock Slot | 7. Thunderbolt™ 4 with Power Delivery and DisplayPort (USB Type-C™) | 8. Universal Audio Jack | 9. SmartCard Reader (optional)

ตัวเครื่องนี้จะมาพร้อมกับ Wi-Fi 6 รองรับการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายไร้สายล่าสุดได้ทันที รวมถึงมีออปชันเสริมสำหรับเชื่อมต่อ 4G LTE ได้ โดยอีกจุดเด่นที่น่าสนใจก็คือเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย ที่ Dell มีให้ทั้งในระดับของ BIOS และระดับของระบบปฏิบัติการให้เลือกใช้ได้ตามความต้องการ

Credit: Dell

Dell Latitude 7320 นี้ยังคงความเป็นเครื่องสำหรับใช้ทำงานในธุรกิจองค์กรอย่างเต็มตัว ด้วยการรองรับออปชันเสริมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจอที่มีความละเอียดหลายระดับ, การเข้ารหัสและการสำรองข้อมูล, Software เสริมความมั่นคงปลอดภัย, การแสกนลายนิ้วมือ รวมถึงระยะเวลาประกันตั้งแต่ 3-5 ปีตามแต่ต้องการ

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dell Latitude 7320 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dell.com/th/business/p/latitude-13-7320-2-in-1-laptop/pd

ใช้ Windows 10 Pro ทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมั่นใจ

แน่นอนว่าเมื่อเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในการทำงานในระดับธุรกิจองค์กร ทาง Dell จึงได้เลือกระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro มาเป็นระบบปฏิบัติการหลัก ทำให้สามารถทำงานร่วมได้กับทั้ง Windows Server และ Active Directory ภายในองค์กรและ Azure AD หรือ EMS ที่ธุรกิจองค์กรใช้อยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ดูแลระบบ IT ของบริษัทสามารถช่วยดูแลรักษาแก้ไขปัญหา หรือทำการกำหนดนโยบายการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัยได้จากศูนย์กลาง ตอบรับต่อการทำงานแบบ Hybrid Work ได้อย่างเหมาะสม

แกะกล่อง ลองใช้งานของจริง

เมื่อได้เครื่องมาแล้วทีมงาน TechTalkThai ก็ได้ทำการแกะเครื่องออกมาจากกล่อง และพบว่ากล่องนั้นมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องไม่มากนัก โดยนอกจากตัวเครื่องที่ให้มาแล้ว ก็ยังมี Adapter ชาร์จไฟผ่าน USB-C มาให้ใช้งานด้วยเท่านั้น ถือว่าค่อนข้าง Minimal ทีเดียว สำหรับองค์กรที่จัดซื้อไปจำนวนมากๆ ก็จะพบว่าแนวทางนี้มีข้อดีคือมีขยะที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย และเป็นขยะที่ Recycle ได้เป็นหลัก

ตัวเครื่องนั้นมีน้ำหนักไม่ต่างจาก Dell Latitude รุ่น 7000 ที่ผ่านมาเท่าใดนัก โดยตัวบอดี้ของเครื่องที่ได้มาทดสอบนี้จะเป็นแบบอลูมิเนียม ซึ่งเครื่องแบบ 2-in-1 นี้ก็มีเฉพาะบอดี้แบบอลูมิเนียมให้ใช้ครับ โดยสัมผัสของบอดี้แบบนี้ก็จะเป็นแบบเรียบ ลื่น เย็น ยังคงรู้สึกหรูหราน่าใช้งานอยู่

ตัวจอของเครื่องที่ให้มานี้จะมีขนาด 13.3 นิ้วที่ความละเอียด FHD 1920 x 1080 แบบ 60 Hz ซึ่งก็ใช้งานได้สบายตาดี และยังมีการเคลือบชั้นกันรอยนิ้วมือเปื้อนจอเพื่อให้สามารถสัมผัสหน้าจอได้อย่างสบายใจและทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งหน้าจอก็ตอบสนองค่อนข้างดีทีเดียว ไม่รู้สึกต่างจากการใช้ Smartphone หรือ Tablet ในประเด็นนี้นัก

ด้านบนของจอเองก็มีกล้องอยู่ พร้อมมีฝาเปิดปิดให้เราเลื่อนเองได้ ก็ช่วยให้การประชุมงานโดยทั่วไปเราสามารถควบคุมกล้องที่ส่วนนี้ได้ง่ายดีครับ

สำหรับ Keyboard ที่ให้มาจะมีสัมผัสฝืดๆ เล็กน้อยเพื่อให้ติดนิ้ว พิมพ์งานง่าย และมีเสียงที่ไม่ดังนัก ทำให้สามารถประชุมงานไปพิมพ์งานไปได้ระดับหนึ่ง ส่วน Touch Pad เองก็มีขนาดใหญ่ดี มีสัมผัสลื่นๆ ใช้งานง่าย ติดนิ้วดี และตอนคลิกก็มีเสียงเบามากๆ ก็ทำให้ทำงานไปประชุมไปได้สะดวกดีครับ

ในการพับเครื่องเพื่อใช้งานในแบบ Tablet นั้นสามารถทำได้อย่างสบายใจ เพราะจุดเชื่อมต่อจอกับ Keyboard นั้นทำมาแข็งแรงมาก และมีสเต็ปในการพับที่ตายตัว โดยการใช้งานเครื่องแบบ 2-in-1 นี้ทำให้สามารถอยู่กับหน้าจอได้นานมากขึ้นกว่าเดิมพอสมควรเลยทีเดียว เพราะผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนอิริยาบถให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา

สเป็คของเครื่องที่ได้มาทดสอบในครั้งนี้มีดังนี้ครับ

  • CPU: 11th Gen Intel Core i5-1135G7 (Non-vPro®, 8 MB Cache, 4 Core, 8 Threads, 2.40 GHz to 4.20 GHz, 28 W)
  • RAM: 8GB, LPDDR4x, 4267 MHz, dual-channel, integrated
  • SSD: 128 GB, Gen 3 PCIe x4 NVMe, Class 35 SSD
  • GPU: Intel Iris Xe Graphics
  • OS: Windows 10 Pro

โดยสรุปแล้วในการทดลองใช้งานจริง มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ครับ

  • การติดตั้ง Windows 10 Pro ครั้งแรกและการอัปเดตทั้งหมดสามารถทำได้ราบรื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร ตัวเครื่องทำงานค่อนข้างเงียบในระหว่างที่ทำการอัปเดต
  • ถ้าใช้งานจน CPU ทำงาน 100% เช่น การดูคลิป 4K บริเวณ Keyboard จะอุ่นๆ บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับร้อน ยังใช้ทำงานต่อได้ไม่มีปัญหา
  • CPU Intel Core i5 สามารถใช้ทำงานบน Application พื้นฐานเช่น Microsoft Office และการทำงานผ่าน Cloud ด้วย Web Browser ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่การจัดการกับไฟล์ Excel ขนาดใหญ่ๆ ก็อาจใช้ประสิทธิภาพอยู่บ้าง
  • ระบบเสียงสำหรับใช้ประชุมงานค่อนข้างดีทีเดียว ลำโพงเสียงค่อนข้างดี ส่วนไมโครโฟนที่ใช้ประชุมนั้นก็สามารถใช้ได้ และปรับ AI ใน Dell Optimizer เพื่อช่วยตัดเสียงรบกวนเพิ่มเติมได้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะมีหลายออปชันแตกต่างกันออกไป ถือเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจ
  • การพับเครื่องเพื่อใช้งานเป็น Tablet หรือใช้แบบจอสัมผัสเป็นหลักสามารถทำได้ง่าย ตัวข้อต่อมีความแข็งแรงทนทานเพียงพอ ในขณะที่น้ำหนักก็ไม่หนักจนเกินไป
  • ไฟ Backlit ของ Keyboard ค่อนข้างสวย เปิดใช้งานตลอดทั้งวันได้เลย
  • Proximity Sensor ช่วยปลุกเครื่องมาสู่หน้า Login ได้ทันทีที่เรานั่งเก้าอี้หน้าเครื่องเพื่อเตรียมทำงาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทำงานได้เร็วขึ้นอีกเล็กน้อย
  • ถึงแม้ปุ่ม Delete จะอยู่ข้างปุ่ม Power แต่โอกาสกดผิดจนปิดเครื่องไปเลยถือว่ามีน้อย เพราะปุ่ม Power ค่อนข้างแข็ง ต้องใช้แรงกดค่อนข้างมาก ต่างจากปุ่ม Delete ที่จะใช้น้ำหนักกดไม่มากนักเหมือนปุ่มอื่นๆ บน Keyboard
  • Dell Optimizer ใช้งานได้ค่อนข้างง่าย เลือกปรับ AI ให้เรียนรู้การใช้งาน Application ของเราได้ตามต้องการ และยังปรับระบบ AI สำหรับไมโครโฟนและแบตเตอรี่ได้
  • ตัวระบบรายงานว่าเมื่อแบตเตอรี่เต็ม 100% จะสามารถใช้งานได้นานกว่า 15 ชั่วโมงเลยทีเดียว แต่ในการใช้งานจริงก็อาจจะอยู่ได้ไม่นานเท่านั้นตามแต่รูปแบบการใช้งาน ซึ่งจากที่ทดลองใช้งานก็ถือว่าเพียงพอใช้ทำงานได้ทั้งวันสบายๆ

โดยรวมแล้วถือว่าเป็นเครื่องที่ให้ประสบการณ์การทำงานแบบ Hybrid Work ได้อย่างดีทีเดียว เพราะนอกจากการรองรับการใช้ทำงานทั่วๆ ไปได้อย่างครบถ้วนแล้ว การออกแบบเครื่องให้รองรับการประชุมงานได้ดีเป็นพิเศษของ Dell ในครั้งนี้ก็ถือเป็นอีกจุดเด่นที่สำคัญ และด้วยความที่เครื่องเป็น 2-in-1 การใช้ทำงาน, ประชุมงาน หรือใช้เพื่อความบันเทิงนอกเวลางานนั้นจึงสามารถทำได้อย่างครบจบในเครื่องเดียวอย่างแท้จริง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงในการรีวิวเครื่องของ Dell รุ่นใหม่ๆ นั้นก็คือ Dell Optimizer ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับแต่งจูนเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา โดย Dell ได้ทำการพัฒนาระบบ AI ขึ้นมาเรียนรู้พฤติกรรมของเราเพื่อให้การปรับแต่งนั้นเป็นไปได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำครับ

ตัว Dell Optimizer จะมีด้วยกัน 4 หมวด ดังนี้

  • Application เลือกได้ว่าเราใช้แอปอะไรทำงานเป็นหลักบ้าง เพื่อให้ AI ของ Dell ปรับแต่งเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งานแอปนั้นๆ ของเราครับ
  • Audio เลือกได้ว่าเรากำลังอยู่ในพื้นที่แบบไหน เพื่อให้ Dell เลือกนำ AI ตัดระบบเสียงมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ เราจะได้ประชุมงานได้โดยมีเสียงรบกวนน้อยที่สุดครับ
  • Power เลือกปรับรูปแบบการชาร์จไฟได้ จะได้ถนอมอายุแบตเตอรี่ และเราจะได้มีแบตเตอรี่เพียงพอใช้ต่อรูปแบบการทำงานของเราครับ โดย AI จะเรียนรู้พฤติกรรมของเราและนำไปปรับแต่งการทำงานตรงส่วนนี้ให้โดยอัตโนมัติด้วย
  • Proximity Sensor เลือกการทำงานของเซ็นเซอร์วัดระยะได้ ว่าจะให้ทำการปลุกเครื่องขึ้นมาพร้อมทำงานในสถานการณ์ใดบ้าง

ทั้งนี้ภายใน Dell Optimizer ก็จะมี Performance Feed มาคอยรายงานว่า AI ได้เรียนรู้ในส่วนไหนเสร็จเรียบร้อยไปบ้างแล้ว ก็ทำให้ติดตามได้ง่ายดีครับ


สรุปข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • ตัวเครื่องให้สัมผัสที่ยอดเยี่ยมทั้งบอดี้ภายนอก, Keyboard และ Touch Pad
  • การเป็นเครื่องแบบ 2-in-1 ช่วยตอบโจทย์การทำงานและการใช้เพื่อความบันเทิงในยามพักผ่อนได้ดี ปรับอิริยาบถในการใช้เครื่องได้หลากหลาย ในขณะที่ตัวข้อต่อสำหรับพับจอนั้นก็มีความแข็งแรงทนทานดี ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างมั่นใจ
  • จอและระบบเสียงที่ให้มาค่อนข้างดีทีเดียว ตัวเครื่องพร้อมใช้ประชุมงานได้เลยด้วยกล้องที่มาพร้อมกับฝาปิดลำโพง และไมโครโฟนที่ดี
  • มี AI ใน Dell Optimizer ช่วยตัดเสียงได้ในหลากหลายสถานการณ์ ช่วยให้ประสบการณ์การประชุมงานดีขึ้นมากทีเดียว
  • ใช้ USB-C เป็นหลัก ทำให้จัดสายต่างๆ ได้ค่อนข้างมีระเบียบ
  • ใช้ Wi-Fi 6 แล้ว น่าจะรองรับการใช้งานได้อีกยาวนาน
  • มีรุ่นให้เลือกได้ตามสเป็คของ CPU, RAM, Disk ทำให้มีหลายช่วงราคา เลือกไปใช้งานได้ตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจและแต่ละตำแหน่งงาน
  • มีการ์ดจอ Intel® Iris® Xe Graphics สำหรับงาน 3D โดยเฉพาะ ช่วยลดภาระของ CPU ในการทำงาน 3D หรือการเล่นเกมเบื้องต้นได้

ข้อเสีย

  • หากเทียบกับ Tablet แล้วน้ำหนักยังถือว่าค่อนข้างสูงอยู่ แต่โดยทั่วไปการใช้งานในแบบจอสัมผัสมักเป็นแบบคว่ำเครื่องหรือวางคีย์บอร์ดระนาบกับพื้นเพื่อรับน้ำหนักมากกว่า จึงไม่ได้เป็นประเด็นมากนัก
  • ในการใช้งานแบบจอสัมผัส จะไม่สามารถใช้ Keyboard ให้ทำให้ไม่มีปุ่มในการปรับความสว่างหน้าจอหรือเพิ่มลดเสียง เป็นจุดที่ต่างจาก Tablet แต่ก็สามารถชินได้ในเวลาไม่นาน
  • เครื่องที่ได้มาทดสอบยังเป็น Intel Core i5 เท่านั้น ทำให้การประมวลผลหนักๆ เช่น การชมคลิป 4K หรือการอัปเดต Windows นั้นอาจทำให้ CPU ทำงานหนักได้ แต่สำหรับการทำงานทั่วไปก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
  • SSD ที่ได้มาทดสอบที่ขนาด 128GB อาจมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับการใช้งานในระยะยาว แนะนำว่าซื้อเป็น SSD ที่มีความจุสูงกว่านี้ก็จะรองรับการใช้งานในระยะยาวได้ดีขึ้น

สนใจติดต่อทีมงาน Dell Technologies ได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจ Dell Latitude รุ่นใหม่ที่ใช้ 11th Gen Intel Core และ Windows 10 Pro สามารถติดต่อทีมงาน Dell Technologies ได้ทันทีอีเมล Chidchanok.uthaigorn@dell.com หรือโทร 090-949-0823 (วศิน)

ดาวน์โหลดเอกสาร “Work Redefined” จาก Dell Technologies เพื่อสรุปถึงเทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้เพื่อทำงานแบบ Hybrid Work เป็นภาษาไทยได้ที่ https://go.techtalkthai.com/2021/06/hybrid-work-by-dell-technologies/

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Docker เปิดตัว MCP Catalog รวมเครื่องมือ AI สำหรับนักพัฒนา

Docker ประกาศเปิดตัว Docker MCP Catalog และ Docker MCP Toolkit แพลตฟอร์มรวบรวมและจัดการเครื่องมือ AI ตามโปรโตคอล Model Context Protocol …

Veeam เปิดตัว Veeam Data Cloud for Microsoft Entra ID ช่วยปกป้องและจัดการระบบยืนยันตัวตน

Veeam Software ประกาศเปิดตัวโซลูชัน SaaS ใหม่สำหรับสำรองข้อมูล Microsoft Entra ID ช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องและกู้คืนข้อมูลผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการโจมตีมากกว่า 600 ล้านครั้งต่อวัน