Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

เผยเบื้องหลังการพัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทยสู้ COVID-19 ในโครงการ CU-RoboCovid โดยดร.มหิศร ว่องผาติ แห่ง HG Robotics และ Obodroid

ในช่วงวิกฤต COVID-19 นั้น เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจระหว่างหลายภาคส่วนของไทยเพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหาในแง่มุมต่างๆ จนในทุกวันนี้เราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นมาหลายวันแล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือความพยายามในการสร้างหุ่นยนต์ของทีมงาน HG Robotics และ Obodroid สำหรับใช้งานทางการแพทย์เพื่อลดโอกาสที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจะติดเชื้อจากผู้ป่วยลง

ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Obodroid และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท HG Robotics ซึ่งเป็นกำลังหลักในการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์พร้อมทั้งซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ ลดปริมาณการใช้ชุด PPE ที่ขาดแคลนเป็นอย่างหนักในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตภายในโครงการ CU-RoboCovid ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ MI Workspace ในบทความนี้เราจะเล่าถึงเบื้องหลังความเป็นมาของการพัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทยเพื่อช่วยเหลือสังคมไทย และมุมมองต่ออนาคตในการที่ไทยจะสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์กันครับ

รู้จักกับ HG Robotics และ Obodroid ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหุ่นยนต์สัญชาติไทย

ดร.มหิศรได้เล่าถึงความเป็นมาของบริษัทที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ CU-RoboCovid ในครั้งนี้ โดย HG Robotics คือบริษัทที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนา Drone ทางการทหารและการเกษตรเป็นหลัก พร้อมระบบบริหารจัดการให้ Drone เหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอัตโนมัติและถูกต้องแม่นยำ ในขณะที่ Obodroid นั้นจะมุ่งเน้นไปที่โซลูชันด้าน Security Robot และ Smart Speaker Robot สำหรับใช้งานในเชิงพาณิชย์ เพื่อเปลี่ยนงานด้านการตรวจตราความปลอดภัยและการให้บริการหรือสือสารให้เป็นอัตโนมัติ

ทักษะและองค์ความรู้ของทั้ง HG Robotics และ Obodroid นี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการ CU-RoboCovid ครั้งนี้ เพราะการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้งานทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์เฉพาะทางในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ผลิตรายใดในไทยทำมาก่อน และโซลูชันสำเร็จรูปจากต่างประเทศนั้นนอกจากจะมีราคาที่สูงจนเกินไปแล้วก็ยังไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการได้แบบเต็มร้อย ดังนั้นงานนี้จึงถืองานที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาให้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับ MI Workspace, HG Robotics และ Obodroidจัดตั้งโครงการ หุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 หรือ CU-RoboCovid ขึ้นมา เพื่อผสานองค์ความรู้และการประสานงานอย่างทันท่วงทีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาช่วยบุคลากรทางการแพทย์กันเป็นการเร่งด่วน

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อทีมงาน CU-RoboCovid เพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้การสนับสนุน สามารถเยี่ยมชม Facebook Fan Page ได้ที่  https://www.facebook.com/curobocovid/ หรือติดต่อผ่านทาง LINE ของโครงการได้ที่ @curobocovid

โจทย์สำคัญคือการแข่งกับเวลา การกำหนด Requirement ให้เหมาะสมคือหัวใจ

ในช่วงแรกเริ่มนั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นมีโอกาสที่สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นได้ จึงได้ทำการติดต่อทีมงานของดร.มหิศรเข้ามาถึงความต้องการของทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งกำลังขาดแคลนชุด PPE เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อในระหว่างทำการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ให้ได้ ทีมงานของดร.มหิศรจึงต้องลงพื้นที่หน้างานเพื่อสำรวจความต้องการ, กระบวนการในการทำงาน และการออกแบบ Best Practice ในการนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งก็ได้กลายออกมาเป็น 2 โจทย์หลัก ได้แก่

  1. การรับส่งเวชภัณฑ์, อาหาร, น้ำ และสิ่งอื่นๆ ระหว่างทีมแพทย์พยาบาลและผู้ป่วย เพื่อให้การรักษา
  2. การสื่อสารกันระหว่างทีมแพทย์พยาบาลและผู้ป่วย

ทั้งสองโจทย์นี้คือกิจกรรมที่ทีมแพทย์พยาบาลและผู้ป่วยเคยต้องอยู่ใกล้ชิดกันและทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนั้นในช่วงแรกก่อนที่จะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยนั้น ปริมาณการใช้ชุด PPE จึงมีสูงมาก เพราะทุกครั้งที่ต้องส่งเวชภัณฑ์, อาหาร, น้ำ หรือเข้าไปตรวจอาการสอบถามกับผู้ป่วย ก็ต้องเปลี่ยนชุด PPE ทุกครั้ง และยิ่งสถานการณ์ช่วงนั้นที่โรคกำลังแพร่ระบาดทั่วโลกจนชุด PPE ขาดแคลน ประเด็นนี้จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญ

โครงการนี้เริ่มต้นคุยกันในวันที่ 15 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมานี้เท่านั้น และมีแผนที่จะต้องเริ่มพัฒนาระบบให้ใช้งานจริงได้ภายในต้นเดือนเมษายน ทีมงานของดร.มหิศรจึงต้องนำเอาความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีมาประยุกต์เข้าใช้กับโจทย์ และปรับให้เหลือเฉพาะฟังก์ชันที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้สามารถเริ่มต้นนำมาใช้งานจริงได้เร็วที่สุด

2 เทคโนโลยีตอบโจทย์แพทย์สู้ COVID-19: ปิ่นโต & น้องกระจก จาก CU-RoboCovid

เมื่อได้รับโจทย์เรียบร้อยแล้ว ทีมงานขอ CU-RoboCovid ก็ได้ทำการออกแบบเทคโนโลยีออกมาด้วยกัน 2 ส่วน คือ

1. ปิ่นโต หุ่นยนต์ส่งเวชภัณฑ์, อาหาร, น้ำ และอื่นๆ ที่นำเอารถเข็นในโรงพยาบาลมาปรับแต่งให้กลายเป็นหุ่นยนต์บังคับวิทยุ เพื่อให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถส่งของต่างๆ ไปยังผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และยังสามารถติดตั้งน้องกระจกในตัวเพื่อเสริมความสามารถด้านการสื่อสารได้

2. น้องกระจก ระบบ Telepresence ที่ออกแบบมาเพื่อลดการสัมผัสอุปกรณ์ในระหว่างการสื่อสารโดยเฉพาะ เพื่อให้ทีมแพทย์พยาบาลและผู้ป่วยสามารถพูดคุยแบบเห็นหน้ากันได้ โดยน้องกระจกนี้จะทำงานบน Tablet ซึ่งสามาถติดตั้งบนปิ่นโต หรือติดตั้งภายในห้องของผู้ป่วยก็ได้ พร้อมระบบบริหารจัดการเพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถเลือกติดต่อไปยังน้องกระจกที่ติดตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ของโรงพยาบาลได้ ในขณะที่ผู้รับสายเองก็ไม่จำเป็นต้องสัมผัสหน้าจอใดๆ ก่อนจะทำการสื่อสาร ช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดลงไปได้

ทั้งสองเทคโนโลยีนี้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละโรงพยาบาลได้ ซึ่งด้วยความเชี่ยวชาญของทีมงาน การพัฒนาทั้งในส่วนของ Hardware และ Software จึงสำเร็จลุล่วงได้ในเวลาที่จำกัด

ต้องทนทานต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก และสามารถล้างทำความสะอาดได้เป็นประจำ

โจทย์สำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์ไปใช้ในโรงพยาบาลนั้น นอกจากความสามารถของระบบที่ต้องตอบโจทย์ต่อสถานการณ์เฉพาะนี้แล้ว ระบบทั้งหมดก็ยังต้องสามารถตอบรับต่อสภาพแวดล้อมในการใช้งานจริงในโรงพยาบาลได้

ประการแรกนั้นก็คือความแข็งแรงทนทานของระบบ เพราะการทำงานในโรงพยาบาลนั้นทุกสิ่งต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ในขณะที่การรักษาชีวิตของผู้ป่วยเองนั้นก็มีความซับซ้อนหลากหลาย อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานในโรงพยาบาลจึงต้องมีความแข็งแรงมั่นคงทนทาน รับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่พังทั้งจากการกระแทกหรืออุบัติเหตุต่างๆ และยังคงทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง การออกแบบหุ่นยนต์หรือการเลือก Tablet มาใช้ติดตั้งกับน้องกระจกจึงต้องพิจารณาเรื่องความทนทานเอาไว้เป็นสำคัญ

ประการถัดมาก็คือการทนทานต่อการล้างทำความสะอาด เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ทั้งหมดจะปลอดเชื้อและสามารถนำไปใช้งานซ้ำได้โดยไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติม ดังนั้นหุ่นยนต์และ Tablet ที่ใช้จึงต้องใช้วัสดุที่รองรับต่อการล้างทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอได้ ซึ่งอุปกรณ์ทั่วไปมักไม่รองรับในประเด็นนี้

ประการสุดท้ายก็คือความง่ายในการใช้งานและการดูแลรักษา เพราะบุคลากรทางด้านสาธารณสุขนั้นอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี และแผนการนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปใช้งานก็อยู่ในภาวะเร่งรีบและมีความต้องการอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นการออกแบบให้ระบบทั้งหมดเข้าใจง่ายสำหรับผู้ใช้งานและการถอดประกอบดูแลรักษานั้น จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกประการที่ขาดไปไม่ได้

สำหรับเฟสแรกของการรับบริจาคเพื่อสร้างหุ่นยนต์มาใช้ในโรงพยาบาลนี้ ก็สามารถสร้างปิ่นโตได้จำนวน 200 ชุด และน้องกระจกอีกจำนวน 700 ชุด ซึ่งทางทีมงานก็หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการแพร่ระบาดที่รุนแรงอีกหลังจากนี้

Samsung Galaxy Tab Active 2: Tablet ความทนทานสูงสำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจาก Samsung ที่ใช้งานในปิ่นโตและน้องกระจก

จากความต้องการของอุปกรณ์ที่จะต้องมีความมั่นคงทนทาน, ทำความสะอาดได้อย่างสม่ำเสมอ และต้องใช้งานง่าย ดร.มหิศรระบุว่าท้ายที่สุดแล้วทางทีมพัฒนาก็เลือกใช้งาน Samsung Galaxy Tab Active 2 ที่เป็น Tablet สำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ในน้องกระจกเพื่อนำไปติดตั้งบนปิ่นโตและห้องของผู้ป่วย ด้วยความทนทานของการออกแบบมาเป็น Rugged Tablet ที่สามารถทนทานต่อการตกหล่นหรือการกระแทกได้, สามารถทำความสะอาดได้ และมีแบตเตอรี่ในการใช้งานที่ทนทาน

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ Samsung Galaxy Tab Active 2 ถูกเลือกใช้งานในครั้งนี้ ก็คือปากกาสำหรับใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ ที่ทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งมักจะต้องใส่ถุงมือปฏิบัติงานนั้นยังสามารถสัมผัสหน้าจอด้วยปากกาได้อย่างแม่นยำ รวมถึงในหลายครั้งเองก็อาจต้องมีการสวมถุงมือหลายชั้นทำให้การสัมผัสด้วยนิ้วนั้นอาจจะไม่เหมาะ ในขณะที่ตัวปากกาเองนั้นก็สามารถนำมาทำความสะอาดได้ด้วยเช่นกัน

ในการใช้งานจริงที่ผ่านมา Samsung Galaxy Tab Active 2 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปกรณ์ประมวลผลและแสดงผลที่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 นี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งด้วยการสนับสนุนจากทีมงาน Samsung ในประเทศไทย ก็ทำให้การจัดซื้อหรือซ่อมบำรุงนั้นกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดาย เหมาะต่อการนำมาใช้งานอย่างจริงจัง

ทั้งนี้เพื่อเป็นอีกกำลังในการช่วยสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และพยาบาลไทย ทาง Samsung เองก็ได้มอบ Samsung Galaxy Tab Active 2 จำนวน 20 เครื่องเพื่อให้นำไปใช้งานในโครงการนี้ด้วย

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Samsung Galaxy Tab Active สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่  https://www.samsung.com/us/business/products/mobile/tablets/galaxy-tab-active/

เชื่อหุ่นยนต์จะมีบทบาทในธุรกิจไทยมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการปรับใช้ให้เหมาะกับเอกลักษณ์ของธุรกิจ

ดร.มหิศรได้ปิดท้ายการพูดคุยครั้งนี้ด้วยการให้ความเห็นถึงอนาคตของวงการหุ่นยนต์ไทย ว่าสำหรับกรณีของ CU RoboCovid นี้ ทีมงานของดร.มหิศรก็จะทำการพัฒนาต่อยอดให้หุ่นยนต์เหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือที่โรงพยาบาลสามารถทำการจัดซื้อและนำไปใช้งานในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ในงบประมาณที่เหมาะสม ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศมาใช้เพียงอย่างเดียว เพราะด้วยการที่เทคโนโลยีที่พัฒนาจนมาถึงจุดในปัจจุบันนี้ ส่วนประกอบต่างๆ ก็เริ่มมีราคาที่สมเหตุสมผลต่อการนำมาใช้จริงในประเทศไทยได้แล้ว

สำหรับในภาพรวมทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ดร.มหิศรระบุว่าหลังจากนี้เราคงจะได้เห็นนวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การนำไปใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างหุ่นยนต์ในโครงการ CU RoboCovid เองนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดูแลผู้คนแบบ Social Distancing ได้ทั้งการดูแลรักษาผู้อาวุโส, การดูแลแขกผู้มาเข้าพักในโรงแรม ตลอดจนการนำไปใช้งานรูปแบบอื่นๆ เช่น ในห้างสรรพสินค้า, ในพื้นที่สาธารณะ, ในหน่วยงานรัฐที่ต้องให้บริการผู้คน เป็นต้น เพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดกันระหว่างผู้คน

ทั้งนี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เองก็จะต้องกลายเป็นเทคโนโลยีที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกๆ ประเทศในอีกไม่นาน การริเริ่มสร้างนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ของดร.มหิศรในครั้งนี้จึงถือเป็นการวางรากฐานสู่อนาคตของเมืองไทยให้สามารถผลิตและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติมากนัก ซึ่งก็จะส่งผลดีกับธุรกิจในแง่ที่จะได้รับโซลูชันที่ตรงตามความต้องการในราคาที่สมเหตุสมผลและมีทีมงานในไทยคอยดูแล สามารถสร้างนวัตกรรมในรูปแบบของตนเองและแข่งขันกับทั่วโลกได้อย่างมั่นคง

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ อย่างในกรณีนี้ ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MI Workspace, HG Robotics, Obodroid และทีมบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนำความถนัดเชิงวิชาชีพและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่มาผสานรวมกัน ก็ทำให้การสร้างหุ่นยนต์ทางการแพทย์สำหรับตอบโจทย์เฉพาะทางเกิดขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้นและสามารถใช้งานได้จริงอย่างสัมฤทธิ์ผล

สนใจโซลูชันอุปกรณ์ Smartphone หรือ Tablet สำหรับธุรกิจ ติดต่อทีมงาน Samsung ได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชันด้านการนำ Smartphone หรือ Tablet สำหรับนำไปใช้งานกับธุรกิจ หรือระบบบริหารจัดการอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัยและกำหนดค่าการใช้งานต่างๆ ได้จากศูนย์กลาง สามารถติดต่อทีมงาน Samsung Business ได้ทันทีที่โทร 02-118-1000 หรืออีเมล์ b2b_thailand@samsung.com หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Samsung Business ได้ที่ https://www.samsung.com/th/business/

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

Microsoft ยกเลิกการใช้ 1024-bit RSA Key บน Windows แล้ว

Microsoft ประกาศยกเลิกการใช้กุญแจเข้ารหัส 1024-bit RSA Key บน Windows แล้ว เปลี่ยนไปใช้กุญแจเข้ารหัสความยาว 2048-bit เป็นอย่างน้อย

NVIDIA เปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip

NVIDIA ประกาศเปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip ชิปประมวลผล AI รุ่นใหม่