สรุปงาน AWS Innovation Insights อัพเดตแนวคิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ กับ CTO แห่ง Amazon ณ ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับในครั้งนี้ที่ Dr.Werner Vogels ผู้ดำรงตำแหน่ง CTO แห่ง Amazon ได้มาเยือนประเทศไทยนั้น ทางทีมงานของ Bangkok AWS User Group ก็ได้เชิญทีมงาน TechTalkThai ไปร่วมฟังแนวทางการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของ Amazon และการเติบโตของการใช้งาน Amazon Web Services ในเชิงธุรกิจทั้งสำหรับ Enterprise และ Startups ครับ ทางทีมงาน TechTalkThai ร่วมกับทาง AWS User Group ก็ขอสรุปเอาไว้คร่าวๆ ให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

aws_dr_werner_vogels_in_thailand_techtalkthai

Amazon กับการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับโลก

Amazon เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาโดยตลอดเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือไปจากการที่ Amazon ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายสินค้าต่างๆ ให้กลายเป็นแบบ Online ได้อย่างสะดวกสบายทั่วโลกแล้ว อีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Amazon Kindle ระบบ eReader ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิธีการอ่านหนังสือของผู้คนทั่วโลกเลยก็ว่าได้ และ Amazon Kindle ก็ยังช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือ ซึ่งเป็นแหล่งของความรู้, ความบันเทิง และศิลปะได้ง่ายยิ่งขึ้น, ในค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และยังมีกำแพงทางภาษาที่ต่ำลง ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่มีใครเหมือน

[อันที่จริงผู้เขียนของ TechTalkThai เองก็เป็นแฟนของ Amazon Kindle มานานแล้วครับ และยอมรับเลยว่าเป็นหนึ่งใน Gadget ที่ดีที่สุดที่เคยซื้อมาในชีวิตชิ้นนึงเลยทีเดียว]

หนึ่งในสิ่งที่เป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ Amazon นั้น ก็คือการที่ Amazon ตัดสินใจที่จะเลือกลงทุนระยะยาวกับเทคโนโลยีเพื่อให้กลายเป็นที่หนึ่งในตลาด แทนที่จะลงทุนระยะสั้นเพียงเพื่อหวังผลกำไร เพราะ Amazon ต้องการที่จะสร้างนวัตกรรมดีๆ มาสู่โลกใบนี้ และ Amazon ก็เชื่อว่านวัตกรรมดีๆ ที่มาสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนเหล่านั้น ก็จะสร้างผลตอบแทนให้ Amazon ในภายภาคหน้าเอง และนี่ก็เป็นเคล็ดลับหนึ่งว่าทำไมเทคโนโลยีของ Amazon จึงหาคู่แข่งที่ทัดเทียมกันได้ยากมากในช่วงเวลาที่เปิดตัว

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของ Amazon นั้น ก็จะถูกปฏิบัติเสมือนว่าเป็นการทดลองหนึ่ง ที่ต้องมีการชี้วัดผลลัพธ์และความคุ้มค่าที่ชัดเจน และทำการเรียนรู้ข้อผิดพลาดหรือปัญหา แล้วทำการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในทุกๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Amazon นั้นอิงอยู่บนหลักของการทำการทดลองอย่างต่อเนื่อง (Experiment Continuously), การตรวจวัดอย่างเข้มข้น (Measure Relentlessly) และการเรียนรู้ (Learn) และทั้งสามคำนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรมของ Amazon ไป

และเพื่อที่จะได้มาซึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ดีที่สุด Amazon จะเลือกทำสิ่งที่จะลงทุนทำสิ่งที่ยากแทนที่จะทำสิ่งที่ง่าย เพราะการทำสิ่งที่ยากให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะมีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ดีที่สุดในโลกขึ้นมาได้ ซึ่งถึงแม้บางอันจะสำเร็จ แต่ก็มีบางอันที่ล้มเหลวด้วยเช่นกัน แต่ Amazon ก็ถือว่าได้เรียนรู้ทุกครั้งจากทุกๆ ความล้มเหลว และไม่มีการลงทุนกับนวัตกรรมครั้งใดที่สูญเปล่า

 

ทุกผลิตภัณฑ์ สร้างขึ้นเพื่อผู้ใช้งาน

Amazon มีเป้าหมายว่าจะเป็นเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้า ที่ตั้งใจผลิตสินเค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่ดีที่สุดในโลก โดยสิ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้านั้นไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถในเชิงเทคนิค แต่การมีมุมมองที่ถูกต้องในการสร้างผลิตภัณฑ์นั้นถือว่าสำคัญมาก และการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าให้ได้นั้น คือเรื่องปกติที่ Amazon ต้องทำ ในขณะที่สิ่งที่ Amazon จะไม่ยอมเปลี่ยนไปไม่ว่ายุคสมัยหรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ก็คือการทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัย, ความทนทาน, ประสิทธิภาพ และการปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่าขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง และต้องมีในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของ Amazon

นอกจากนี้ Amazon ก็ยังมีหลักคิดที่น่าสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานอีก ดังต่อไปนี้

  • Innovation needs to be part of your DNA การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องกลายเป็นนิสัยและวัฒนธรรมขององค์กรให้ได้
  • Focus on Customers gives DIRECTION to our Innovations การพูดคุยกับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการกำหนดทิศทางของผลิตภัณฑ์ เพราะสุดท้ายแล้วนวัตกรรมที่สร้างนั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นการพูดคุยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานสูงสุด ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำสำหรับทุกๆ ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา
  • Stubborn on the vision but flexible on the details การมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางโดยไม่ลังเล แต่ยังคงสามารถปรับตัวในรายละเอียดและวิธีการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ เป็นแนวทางที่ทำให้ Amazon สามารถสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ และขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้ในแต่ละนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมา
  • Innovation requires commitment การสร้างนวัตกรรมใดๆ นั้น ต้องทำไปให้ถึงจนสุดปลายทาง และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เต็มที่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างสร้างนวัตกรรม รวมถึงการเตรียมปัจจัยต่างๆ เช่น ทีมงาน, การทดลอง และอื่นๆ ให้เพียบพร้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน
  • Willingness to be misunderstood for long periods of time เป็นเรื่องยากมากที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เราสร้างขึ้นโดยเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนบนโลกนี้ ดังนั้นความอดทนที่จะผ่านพ้นเสียงวิจารณ์ในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
  • Mercenaries vs Missionaries เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง Startup ว่าเป็น Mercenary หรือทหารรับจ้าง ที่พยายามสร้างเทคโนโลยีและธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว กับการสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และค่อยๆ เติบโตไปตามเป้าหมายให้ได้ในระยะยาวเหมือนกับ Missionary หรือนักบวชที่เผยแพร่ศาสนา ซึ่ง Amazon เองนั้นเลือกที่จะเป็น Missionaries ที่มองในระยะยาวมากกว่า แต่ Amazon เองนั้ก็ไม่ได้บอกว่าการทำ Startup นั้นไม่ดี ขึ้นอยู่ที่แนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจของแต่ละคน
  • Culture + Organization + Technology การที่จะประสบความสำเร็จให้ได้นั้น ทั้งองค์กรต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกันทั้งในแง่ของวัฒนธรรม, องค์กร และเทคโนโลยี
  • The Importance of Small Teams ทีมงานแต่ละทีมจะต้องไม่ใหญ่เกินไป โดยทีมขนาด 10-15 คนก็ถือว่าเริ่มสื่อสารกันได้ยากแล้ว ดังนั้น Amazon จึงใช้วิธีสร้างทีมที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และเพียงพอจะเลี้ยงทั้งทีมด้วยพิซซ่าจำนวน 2 ถาด (เรื่องนี้หาอ่านได้ในเรื่อง 2-pizza team ที่มีในหนังสือเกี่ยวกับ Amazon หรือ Jeff Bezos แทบจะทุกเล่ม)

 

หลักพื้นฐานในการเป็นผู้นำของ Amazon

Amazon มีหลักในการเป็นผู้นำทั้งในเชิงส่วนบุคคลและเชิงองค์กร ด้วยกัน 14 ประการ ดังนี้

  • Customer Obsession
  • Ownership
  • Invent and Simplify
  • Are Right, A Lot
  • Hire and Develop the Best
  • Insist on the Highest Standards
  • Think Big
  • Bias for Action
  • Frugality
  • Vocally Self Critical
  • Earn Trust of Others
  • Dive Deep
  • Have Backbone; Disagree and Commit
  • Deliver Results

โดยสรุปก็คือ ในความเป็นผู้นำของ Amazon นั้น ทั้งในเชิงส่วนบุคคลและเชิงองค์กร การสร้างนวัตกรรมอะไรจะต้องทำให้มั่นใจว่าจะไปถึงปลายทางได้สำเร็จ และต้องมุ่งมั่นที่จะทำตามให้ได้ โดยมีมาตรฐานในระดับสูง และมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยมีการตัดสินใจที่เฉียบขาด มีจุดยืน และสร้างผลลัพธ์ให้ไปถึงมือของผู้ใช้งานให้ได้จริง ทั้งนี้ความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ และการเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมจากการแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

 

เคล็ดลับการประชุมให้มีประสิทธิภาพสูงที่ Amazon

เพราะงานส่วนใหญ่ของ Amazon คือการสร้างนวัตกรรม การระดมความคิดจากหลายๆ คนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และข้อสรุปสำหรับทิศทางการทำงานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และทำให้การประชุมที่ Amazon นั้นกลายเป็นกระบวนการการทำงานที่สำคัญ โดย Amazon ก็มีเคล็ดลับดังต่อไปนี้

  • The Narrative ในการประชุมนั้นจะไม่มีการนำเสนอเป็น Presentation เลย แต่จะให้ผู้เสนอหัวข้อประชุมไปทำการเขียนรายงานที่มีแต่ตัวหนังสือเชิงบรรยาย เพราะการเขียนบรรยายนั้นจะช่วยให้ผู้เขียนได้คิดและใส่รายละเอียดต่างๆ ในระหว่างที่เขียน และก็จะเป็นการทบทวนตัวเอง ในขณะที่เป็นวิธีการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุดอีกด้วย โดยจำกัดความยาวเอาไว้ที่ไม่เกิน 6 หน้ากระดาษเท่านั้น
  • Read 6 pages in silence for 30 minutes หลังจากนั้นทุกคนในห้องประชุมก็จะอ่านเอกสารนั้นๆ เป็นเวลา 30 นาทีแบบเงียบๆ ไม่มีการพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจทั้งในภาพรวมและรายละเอียดก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มการถกเถียงกัน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการประชุม เพราะการที่ทุกคนได้อ่านเอกสารทั้งหมดในครั้งแรก ก็จะทำให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่จะพูดคุยได้ตรงกันก่อน แล้วจึงค่อยเจาะประเด็นต่างๆ ลงไป ทำให้การประชุมไม่หลงทางและไม่เสียเวลา
  • Working from the Customer backwards แนวทางของการคิดหรือนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดนั้น ให้ทำจากมุมมองและความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานเป็นหลัก และในเอกสารนี้ก็จะต้องเล่าถึงโจทย์ของลูกค้าที่จะถูกตอบด้วยสิ่งที่เราจะสร้าง วิธีการนี้จะทำให้เรามองเห็นชัดเจนว่าสิ่งทเราจะสร้างนั้นคืออะไร และทำมาเพื่อใคร

โดยเอกสารที่จะนำมาใช้ในห้องประชุมนี้ จะมีแนวทางในการเขียนดังต่อไปนี้

1. Write a Press Release ให้คนที่จะนำเสนอเทคโนโลยีเขียน Press Release เลยว่าสิ่งนั้จะสื่อถึงลูกค้าในเชิงการขายอย่างไร
2. Write the FAQ คิดให้รอบว่าคนจะสงสัยอะไรบ้าง แล้วเขียนคำถามและคำตอบเหล่านั้น มาก่อนเลย จะได้ทำให้คนอ่านเข้าใจในผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น
2a. And the Rude FAQ อาจมี FAQ ฉบับหยาบคายที่ตรงไปตรงมาแต่ง่ายต่อการทำความเข้าใจบ้างก็ได้
3. Define the User Interaction อธิบาย UX ว่าผู้ใช้งานจะใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างไร
4. Write a User Manual เขียนคู่มือการใช้งานขึ้นมา เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าตกลงแล้วผลิตภัณฑ์นี้จะสามารถทำอะไรได้อย่างไรบ้าง

ซึ่งทั้งสี่ข้อนี้จะกลายเป็น Specification และ Direction สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จริงๆ ต่อไปใน Amazon ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยการเขียนเอกสารให้สื่อสารได้เข้าใจง่ายนั้นก็ถือเป็นอีกความสามารถที่จำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมที่ Amazon เป็นอย่างมาก

 

ความผิดพลาดหรือล้มเหลว เป็นสิ่งที่มีค่าที่ Amazon

เพราะทุกๆ การสร้างนวัตกรรมนั้นมีโอกาสล้มเหลวหรือผิดพลาด และถ้าหากเมื่อพบความล้มเหลวหรือผิดพลาดแล้ว ทีมงานเกิดเสียกำลังใจในการทำงานต่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะไม่มีวันถูกสร้างได้สำเร็จอย่างแน่อน ที่ Amazon จึงมีอีกประโยคสำหรับประเด็นนี้ว่า Reduce the Cost of Failure ซึ่งการลดความสูญเสียที่เกิดจากความล้มเหลวหรือผิดพลาดนี้ ไม่ได้มีประเด็นเพียงแค่เรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องความรู้สึกของผู้ที่ล้มเหลวด้วย Amazon จึงต้องสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนล้มเหลวได้โดยไม่รู้สึกแย่ เพื่อที่ทุกคนจะได้กล้าลุกขึ้นมาสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

 

Amazon Web Services ช่วยให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้

ปัจจุบันนี้ Amazon Web Services (AWS) มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 1 ล้าน Active Users แล้ว และบริการชั้นนำอย่าง EC2, S3 และ Database ต่างก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AWS กลายเป็นธุรกิจแบบ Run-Rate ที่มีมูลค่าสูงกว่า 7,000 ล้านเหรียญต่อปีไปแล้ว อีกทั้งยังเป็น Platform ที่ Startup ชื่อดังหลายเจ้าใช้กัน เนื่อจากสามารถรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทเหล่านี้ที่มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย

ไม่เพียงแต่ลูกค้ากลุ่ม Startup เท่านั้น ปัจจุบันนี้ก็มีลูกค้ากลุ่มองค์กรที่หันมาใช้ AWS อีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยในประเทศไทยเองก็มีลูกค้าจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจเริ่มมาใช้งาน AWS กันแล้ว หรือแม้แต่กลุ่มหน่วยงานรัฐของหลายๆ ประเทศเองก็เริ่มมาใช้ AWS กัน ด้วยความเชื่อมั่นทั้งในความทนทาน, ความปลอดภัย, ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วยการเข้ารหัส และความยืดหยุ่น รวมถึงบริการ Software-as-a-Service ชั้นนำหลายๆ เจ้าก็ทำงานอยู่บน AWS เช่นกัน

 

ทำไมคนถึงมาใช้ Cloud กันเร็วขนาดนี้?

ทาง Amazon ได้สรุปสาเหตุที่ Cloud เติบโตอย่างรวดเร็วเอาไว้ดังนี้

  • ลงทุนได้ยืดหยุ่นขึ้น
  • ลดค่าใช้จ่ายลงจนแต่ละคนสามารถรับได้
  • ไม่ต้องเดา Capacity อีกต่อไป ทำให้ไม่ต้องลงทุนเสียเปล่า
  • เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน
  • สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยไม่ต้องลงทุนหนักๆ ก่อนก้อนแรก
  • ไปถึงทั่วโลกได้ทันที และมีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับผู้ใช้งานจากทั่วโลกด้วย

และด้วยการเติบโตที่รวดเร็วระดับนี้ ก็ทำให้ทาง AWS มีแผนที่จะลงทุนเปิด Data Center เพิ่มในอินเดีย จีน เกาหลีใต้ และยุโรปเพิ่มอีกด้วย

 

AWS Innovation drivers

AWS ได้สร้างฐานเอาไว้เพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดย AWS ได้เตรียมปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับระบบ IT Infrastructure ต่างๆ เอาไว้แล้วดังนี้

  • Security ความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายธุรกิจให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
  • Reliability ความทนทาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและรายได้ขององค์กร
  • Performance ประสิทธิภาพ ส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งานโดยตรง
  • Scalablity การเพิ่มขยาย สำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจไปสู่ผู้ใช้จำนวนมากจากทั่วโลกได้
  • Cost ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นแบบจ่ายตามการใช้งานจริง ทำให้องค์กรไม่ต้องมีการลงทุนล่วงหน้า สามารถลงทุนเพิ่มไปได้พร้อมๆ กับการเติบโต
  • Customer Feedback การปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีตามเสียงตอบรับของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจสูงสุด
  • Remove Painpoints การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ต้องเคยเจอในการพัฒนานวัตกรรม ทำให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมให้ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานอย่างเดียวได้
  • Make IT/Dev Simpler การทำระบบ IT Infrastructure ให้สามารถใช้งานได้ง่าย ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในระบบได้ดี

เป็นที่น่าสนใจมากว่าข้อสุดท้ายเรื่องความง่ายในการใช้งาน IT Infrastructure นี้จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้ 5 ข้อแรกดีขึ้นได้ ทำให้ Amazon พยายามผลักดันเรื่องความง่ายในการใช้งานตรงนี้มาก

และ Session นี้ก็จบลงด้วยประโยคปิดท้ายว่า If you want to increase Innovation, you have to lower the cost of failure.

 

ดร.โกศล ทรัพย์ประเสริฐ Head of SCB Innovation Center เล่าถึงนวัตกรรมในธนาคารไทยพาณิชย์ที่พัฒนาบน AWS

SCB Innovation Center นั้นเป็นหน่วยงานที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นมา ด้วยความคาดหวังว่าซักวันหนึ่งหน่วยงานนี้จะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเมื่อถึงเวลานั้น Innovation หรือนวัตกรรมจะกลายเป็น DNA ของพนักงานในองค์กรทุกคนในทุกทีมไปแล้ว

ทุกวันนี้หัวหน้าทีม SCB Innovation Center ก็พบว่าได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากในชีวิตประจำวันและผู้คนที่พบมากมาย และหวังว่าวันหนึ่ง SCB จะได้สร้างเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคนแบบนั้นได้บ้าง โดยจุดเริ่มต้นนี้ทาง SCB Innovation Center ก็ได้พยายามสร้าง Prototype ของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บน AWS ขึ้นมาเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้า และปัจจุบันนี้ก็ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเรียบร้อยและพร้อมจะเปิดตัวในวันนี้แล้ว

นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่และเปิดตัวในวันนี้ก็คือตู้ ATM ที่ไม่ต้องใช้บัตร ATM อีกต่อไป แต่ใช้โทรศัพท์มือถือและ PIN เพื่อถอนเงินแทน พร้อมสาธิตการใช้งานให้ดูทันที และหลังจากนี้ทาง SCB ก็จะมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย IT มาตอบสนองตลาดทางด้านการธนาคารและการเงินต่อไป

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในเรื่องของการพัฒนาของนวัตกรรมก็คือร้านอาหาร ที่ต้องคอยพัฒนาเมนูหรือสูตรใหม่ๆ มาดึงดูดลูกค้าอยู่เสมอ จนถึงจุดหนึ่งที่ร้านอาหารก็จะต้องการครัวใหม่เพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีก็เหมือนกันกับร้านอาหาร และ AWS นี้ก็เปรียบเสมือนครัวใหม่ที่มีทั้งเทคโนโลยีและความปลอดภัยที่เพียบพร้อม ที่ทำให ้SCB สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และทำงานร่วมกับบริษัท Startup หลายรายได้อย่างครอบคลุม ซึ่งก็ถือเป็นก้าวใหม่ที่ดีของ SCB เลยทีเดียว

 

การใช้งาน AWS ในประเทศไทยโดยกลุ่มธุรกิจหลากหลาย

ใน Session ถัดมานี้จะเป็นการสัมภาษณ์รวมแบบ Panel โดยประกอบไปด้วย Dr.Werner Vogels, CTO, Amazon/Tana Pothikamjorn, Head of Digital Banking, SCB/Goragot Wongpaisarnsin, Assistant Manager, Toyota Tsusho/Bernie Tay, COO EKO และ Donny COO&Co-founder, Erza Don Harinsut, COO, Omise

Omise พัฒนา Payment Gateway โดยใช้ AWS เพราะต้องการความสามารถในการ Scale และต้องการความยืดหยุ่นเพื่อปรับแต่งให้เหมาะสมกับความปลอดภัยและข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องการ ซึ่งตอนนี้ Omise ก็เป็น Payment Gateway เดียวในไทยที่สามารถผ่าน PCI Compliance ได้ โดยส่วนหนึ่งก็คือ AWS นั้นสามารถทำ PCI Compliance ได้นั่นเอง

EKO ใช้ Cloud เพราะอยากเริ่มธุรกิจได้เร็วโดยไม่ต้องลงทุน IT Infrastructure ก่อนเยอะนัก และ AWS ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบริษัท Startup แบบ EKO ที่ต้องการจะขยายตลาดไปทั่วโลกในอนาคตได้อีกด้วย

Toyota Tsusho กำลังทำระบบ Traffic Information Service โดยติดตามรถแท็กซี่ประมาณหมื่นคัน เพื่อนำข้อมูล GPS มาสร้างเป็นข้อมูลการจราจรในกรุงเทพ ซึ่งต้องการระบบที่มีความทนทานสูงโดยไม่มี Downtime และก็สามารถเพิ่มขยายได้ง่าย เพราะ Toyota Tsusho มองว่าอยากจะขยายธุรกิจนี้ไปทั่วโลก และการใช้ข้อมูลจาก GPS นี้ก็ประมาณได้ยากมากว่าจะมีปริมาณข้อมูลเข้ามามากน้อยแค่ไหน และจะต้องใช้พลังประมวลผลเท่าไหร่ ดังนั้น AWS จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในระบบนี้ และทำให้ระบบนี้สามารถสร้าง Prototype ที่รับ Load ปริมาณมหาศาลได้ภายในเวลาเพียงแค่ 2 วัน

SCB เริ่มต้นจากการใช้ Cloud ของ Salesforce ก่อนจนเกิดความมั่นใจในแง่ของการใช้งานและความปลอดภัยของ Cloud แล้วจึงค่อยเริ่มต้นใช้ Cloud อื่นๆ โดย AWS ก็เป็นอีกหนึ่ง Cloud ที่มีการใช้งานเพื่อตอบโจทย์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ, การทดสอบซอฟต์แวร์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของธนาคาร เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างในตลาดธนาคารและการเงินในประเทศไทย

ที่ AWS ไม่มีการทำ Capacity Planing ยิบย่อยในแต่ละงานแล้ว เพราะปกติจะมี Resource เหลือเผื่อไว้ 50% เสมอ และทำให้สามารถรองรับการ Spike ของ Traffic ขึ้นมาได้อีกด้วย ทั้งนี้การย้ายมาใช้ Cloud ของแต่ละธุรกิจนั้นก็ควรจะมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ย้ายมาเพื่อความทนทาน ย้ายมาเพื่อการเพิ่มขยาย หรือย้ายมาเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น การเลือกใช้ Component ต่างๆ จะได้สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้

ถ้า Amazon เลิกสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีก 10-20 ปี Amazon ก็จะหายไปจากตลาด ทำให้การสร้างนวัตกรรมกลายเป็นสิ่งสำคัญ และการมี AWS ก็ช่วยให้ Amazon สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย และการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องนี้ก็เป็นอีกแนวทางที่ AWS แนะนำให้ทุกองค์กรทำด้วยเช่นกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับการหานักพัฒนาที่สามารถใช้ AWS เพื่อมาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้นั้น ส่วนใหญ่นอกจากจะต้องมีความสามารถทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ก็จะยังต้องมีทรรศนะคติที่ดีด้วย การดูนิสัยและความคิดของนักพัฒนาจาก Code ก็เป็นทาหนึ่งที่สามารถบอกอะไรได้ค่อนข้างมาก แต่ AWS เองนั้นก็มีความง่ายในระดับที่นักพัฒนาทุกคนสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางด้านการใช้งาน Cloud มาก่อนก็สามารถเริ่มทำงานบน Platform ของ AWS ได้เลย ขอเพียงแค่เป็นนักพัฒนาที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเท่านั้น

 

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ต้องขอขอบคุณ Bangkok AWS User Group อีกครั้งหนึ่งครับสำหรับการเชิญไปร่วมงานในครั้งนี้ ส่วนใครที่อยากศึกษาเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Amazon Web Services ในไทยสามารถเข้าร่วมกลุ่มของ Bangkok AWS User Group ได้ทันทีที่ https://www.facebook.com/groups/awsusergroup/ นะครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

บริษัทซอฟต์แวร์คลาวด์ ServiceTitan ประกาศ IPO หวังระดมทุนสูงสุด 502 ล้านดอลลาร์

ServiceTitan ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์คลาวด์สำหรับธุรกิจ ประกาศเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) โดยตั้งเป้าระดมทุนสูงสุดถึง 502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเสนอขายหุ้นจำนวน 8.8 ล้านหุ้น ในช่วงราคาหุ้นละ 52 ถึง 57 ดอลลาร์

Tuskira เปิดตัวพร้อมทุน 28.5 ล้านดอลลาร์ ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย AI

สตาร์ทอัพด้านการตรวจจับภัยคุกคาม Tuskira เปิดตัวพร้อมระดมทุน 28.5 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Intel Capital และ SYN Ventures มุ่งเร่งนวัตกรรม AI การผสานระบบ และยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรด้วยกลยุทธ์เชิงรุกที่รวมเครื่องมือเข้าด้วยกันและลดความเสี่ยงแบบเรียลไทม์