CDIC 2023

4 ปัจจัยสร้างสตาร์ตอัปให้มีความยั่งยืน

Amazon Web Services (AWS) มุ่งมั่นสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัปในประเทศไทยด้วยการใช้คลาวด์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างความยั่งยืนของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม 

ในงานเสวนาหัวข้อ “Building sustainability startups in the cloud” คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager แห่ง AWS ประจำประเทศไทย ได้แนะนำ 4 ปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปสู่ความยั่งยืน และร่วมพูดคุยกับสองสตาร์ตอัปสัญชาติไทย ได้แก่ คุณศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิชันมูฟมี (MuvMi) ที่ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเดินทางเฉพาะพื้นที่ผ่านระบบ Ride Sharing ทางเดียวกันไปด้วยกัน และคุณกฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งเอ็นเรส (ENRES) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน IoT ในการประหยัดพลังงานทางเลือกใหม่ของอาคารและโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี AI

คุณวัตสัน เผยว่า ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นกระแสหลักที่หลาย ๆ ประเทศต่างหันมาลงทุน และสตาร์ตอัปในประเทศไทยเองก็มีความคิดริเริ่มลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2030 และส่งเสริมการผลิตและการใช้ EV ด้วยการตั้งประเทศไทยเป็นฐานการผลิต EV 100% ภายในปี 2035 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ที่ประเทศอังกฤษในปีที่ผ่านมา ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

จากผลการศึกษาล่าสุดของ Accenture พบว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่เรียกว่า Twin Transformers จะเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งที่สุด มีโอกาสประสบความสำเร็จและเติบโตได้มากกว่าคู่แข่งได้ถึง 2.5 เท่า

ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 15 ปี ในการสนับสนุนสตาร์ตอัปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนขยายธุรกิจ AWS เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหนุนสตาร์ตอัปสู่ความยั่งยืน จึงได้แนะนำ 4 เรื่องที่ต้องคำนึงถึงเพื่อจุดประกายต่อยอดแก่สตาร์ตอัปและตอบโจทย์การเป็น Twin Transformers ดังนี้

1. โซลูชันสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร?

ไม่มีสตาร์ตอัปใดที่สามารถแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนได้ทั้งหมด สตาร์ตอัปจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อสร้างโซลูชันในรูปแบบ MVP (Minimum Viable Product) ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง และในขณะที่เรากำลังแก้ปัญหานั้น ๆ เราได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ที่ AWS เรามีความเชี่ยวชาญและข้อมูลที่ช่วยให้คำปรึกษาแก่สตาร์ตอัปในการพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ และมีระบบนิเวศ รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ช่วยให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นก่อนการสร้างโซลูชันจริง

2. จะเริ่มสร้างบริการหรือโซลูชันต้นแบบขึ้นมาจากจุดไหน?

AWS มองว่า คลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับสตาร์ตอัป และมีประสิทธิภาพในการใช้งานควบคู่ไปกับการประหยัดพลังงานที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้เซิร์ฟเวอร์แบบ On-premises อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 78%

AWS มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด กล่าวคือ ความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง AWS และลูกค้า โดย AWS มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของความยั่งยืนของระบบคลาวด์ (sustainability of the cloud) หรือศูนย์ข้อมูลของ AWS โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำและของเสีย และในทางกลับกัน ลูกค้ามีหน้าที่รับผิดชอบต่อความยั่งยืนในระบบคลาวด์ (Sustainability in the Cloud) ซึ่งลูกค้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพรูปแบบการใช้ข้อมูล การออกแบบซอฟต์แวร์ การปรับใช้ และกลไกการปรับขนาดเพื่อความยั่งยืน และมีหน้าที่รับผิดชอบในการคำนึงถึงการใช้งานที่มาพร้อมกับการลดผลกระทบ

3. ทำอย่างไรให้โซลูชันมีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง?

ความยั่งยืนอาจต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ควบคุมได้ด้วย AWS Well-Architected Sustainability ที่ช่วยให้สตาร์ตอัปใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างสถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน 

ทั้งนี้ AWS มีบริการที่เรียกว่า Well-Architected Review ซึ่งช่วยให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนระบบคลาวด์ โดยทีมงานของ AWS จะช่วยลดจำนวนเงินที่ลูกค้าใช้ไปกับบริการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสตาร์ตอัปใช้จ่ายเฉพาะกับบริการที่จำเป็น ใช้บริการเวอร์ชันล่าสุดและเหมาะสมมากที่สุด

AWS ยังมีเครื่องมือสำหรับลูกค้าที่จะช่วยให้เข้าใจปริมาณ Carbon footprint ของปริมาณงานที่อยู่บน AWS (AWS Customer Carbon Foot Print Tool) และวัดกับการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ผ่าน Well-Architected เพื่อความยั่งยืน และทราบถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการของ AWS เพื่อช่วยลูกค้าในการทำรายงานของตนเอง รวมไปถึงว่าองค์กรมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้มากน้อยแค่ไหน

4. ใครสามารถช่วยสตาร์ตอัปให้ไปถึงเป้าหมายได้?

AWS มีทั้งชุมชนของคู่ค้าและลูกค้าที่มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จ รวมไปถึง AWS Activate ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสตาร์ตอัปในระยะเริ่มต้น ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้สตาร์ตอัปสามารถเริ่มต้นบน AWS ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย นอกจากนี้ AWS เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Climate Pledge และให้สัตยาบัน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัปทั่วโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ ที่ช่วยเรื่องความยั่งยืนและลดคาร์บอน ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดตัวของ The Climate Pledge ในปี 2020 Amazon ได้มีการลงทุนในบริษัทระดับโลกมากมายแล้ว

คุณศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิชันมูฟมี (MuvMi) ผู้ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเดินทางเฉพาะพื้นที่ผ่านระบบ Ride Sharing เผยถึงแนวคิดการเริ่มสร้าง MuvMi โดยเริ่มจากความคิดที่ต้องการแก้ปัญหารถติด แต่ไม่อยากสร้างมลภาวะ จึงได้นำรถตุ๊กตุ๊ก EV ที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ

ในปี 2018 ความท้าทายในช่วงเวลานั้นคือ เทรนด์เรื่องรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมมากนักทำให้ต้นทุนสูงมาก แต่สิ่งที่ MuvMi คิดคือ ต้องคิดให้รอบด้านว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรและจะเติบโตต่อไปโดยไม่เพิ่มปัญหาได้อย่างไร โดยอาศัย Data ในการผลักดันและประกอบการตัดสินใจ ปรับตัวให้ไว เพิ่มประสิทธิภาพของบริการอยู่เสมอ และสามารถสร้างผลกำไรในองค์กร โดยคุณศุภพงษ์ มองว่า พาร์ตเนอร์มากมายที่เข้ามาทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกันเล็งเห็นว่าธุรกิจ MuvMi คืออนาคต สามารถลดคาร์บอนไปกว่า 500 ตันด้วยรถ 200 กว่าคันที่มีอยู่ และการเติบโตของ MuvMi เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ส่วนใหญ่ รวมไปถึงภาครัฐและเอกชนเองก็เริ่มเห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมความยั่งยืนนั้นสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อม ๆ กันได้

คุณกฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งเอ็นเรส (ENRES) เป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัปเพื่อความยั่งยืนที่พัฒนาอยู่บน AWS โดยใช้เทคโนโลยี AWS IoT Core ในการพัฒนาโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่อาคารและโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งเป้าหมายของ ENRES คือการเอาเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการอาคารและโรงงานที่มีกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมไทย 

ในช่วงแรก บริการของ ENRES ถูกใช้โดยโรงพยาบาลและโรงแรมเป็นหลัก เนื่องจากอาคารเหล่านี้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น การลดการใช้พลังงานจึงมีความสำคัญและมีโอกาสลดได้มาก ระบบปรับอากาศของโรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าได้ 40-70% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และทำให้เกิดของเสียได้มาก นอกจากนี้ อาคารเหล่านี้ใช้ไฟฟ้าถึงประมาณ 60% ของไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ เมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 20% 

ENRES เห็นเป้าหมายในการลดพลังงานทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน ที่จะมีความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่ง ENRES มองว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดหวังว่าธุรกิจที่พวกเขาลงทุนนั้นมีแผนที่จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ซึ่ง ENRES มั่นใจว่ามีความต้องการแนวทางด้านความยั่งยืนจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน และวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีของบริษัทไปใช้กับอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 60 แห่งในปีนี้ ซึ่ง ENRES ขยายฐานลูกค้าที่กำลังมองหาวิธีที่จะสนับสนุนความเป็นกลางของคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย

คุณวัตสัน กล่าวปิดท้ายว่า “AWS ขอเป็นแรงเสริมและแรงส่งในการผลักดันสตาร์ตอัปไทยให้เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นยูนิคอร์น เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม”


About nittaya

Previously worked as an English lecturer and eventually becomes an ADPT content writer to inspire readers under "ADAPT, ADEPT, ADOPT" concepts อดีตอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียน ADPT หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านภายใต้แนวคิด "ADAPT, ADEPT, ADOPT"

Check Also

Sirisoft ผนึกกำลัง Red Hat และ VST ECS นำเสนอ Red Hat OpenShift Platform Plus [Guest Post]

Sirisoft (สิริซอฟต์) ผู้ให้บริการด้านการให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของไทย ผนึกกำลัง Red Hat (เร้ดแฮท (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านโซลูชันโอเพ่นซอร์สระดับแนวหน้าของโลก และ VST ECS (วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) …

Intel ออกบริการ Trust-as-a-Service ภายใต้โปรเจ็ค ‘Amber’

Project Amber ถูกวางตัวให้เป็นบริการ SaaS ที่จะช่วยเรื่องของการตรวจสอบว่าสภาพแวดล้อมนั้นๆมีความถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยเป็นบริการแรกในส่วนของ Trust Authority ที่ถูกเปิดตัวออกมา