5 เหตุผลที่เหล่าองค์กรและผู้ดูแลระบบ ควรเริ่มต้นใช้ OpenStack สร้าง Private Cloud ภายในองค์กร

ปีนี้เป็นปีที่เรียกว่า OpenStack นั้นได้ก้าวเข้ามาสู่ตลาดองค์กรอย่างเต็มตัวมากยิ่งขึ้น ทางทีมงาน TechTalkThai ก็เห็นว่าเหล่าองค์กรและผู้ดูแลระบบในไทยควรจะเริ่มปรับตัวลองใช้ OpenStack กันได้แล้วในตอนนี้ จึงขอเขียนสรุป 5 เหตุผลที่ควรมาเริ่มต้นใช้ OpenStack เอาไว้เป็นแนวทางกันดังนี้ครับ

openstack_techtalkthai_banner

1. เรียนรู้และลองผิดลองถูกกับการสร้าง Private Cloud

ขั้นตอนหนึ่งที่กินเวลามากๆ ของการเริ่มต้นนำระบบ Cloud ในระดับ Infrastructure as a Service (IaaS) หรือ Platform as a Service (PaaS) มาใช้นั้นก็คือการลองผิดลองถูก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเทคโนโลยี, การปรับแต่งการตั้งค่า, การปรับแต่ง Workflow หรือ Process ให้เหมาะสมกับธุรกิจ, การหา Plugin เชื่อมต่อที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ

การเริ่มต้นลองใช้ OpenStack ให้เร็วขึ้นนั้นจะหมายถึงการที่องค์กรและผู้ดูแลระบบจะได้ลองผิดลองถูกก่อนกับเทคโนโลยีที่ใหม่และมีสโคปใหญ่อย่าง Private Cloud เพื่อค้นหาว่าความต้องการในเชิงธุรกิจที่ OpenStack จะสามารถมาช่วยตอบโจทย์ให้กับองค์กรนั้นได้คืออะไร ในขณะที่ผู้ดูแลระบบเองก็จะได้สัมผัสและเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับตัวไปในเวลาเดียวกัน

การเรียนรู้ตรงนี้ถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากองค์กรเริ่มมีความต้องการระบบ Private Cloud หรือ IT Infrastructure ที่มีความยืดหยุ่นภายในองค์กรสำหรับใช้งานแล้ว ความรู้ในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการออกแบบและกำหนดสโคปของงานทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงเทคนิค และทำให้การปรับปรุง IT Infrastructure ครั้งใหญ่ขององค์กรลุล่วงไปได้ด้วยดี แน่นอนว่าด้วยข้อดีของ OpenStack ที่เป็น Open Source นี้ก็ช่วยให้องค์กรสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียวในระหว่างลองผิดลองถูกครั้งนี้

 

2. สร้าง Environment สำหรับให้องค์กรได้ลองผิดลองถูกในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและกระบวนการ

ไม่เพียงแต่การลองผิดลองถูกในเชิง Infrastructure เท่านั้น หนึ่งในสาเหตุหลักที่เหล่าองค์กรเริ่มนำ OpenStack ไปใช้งานนั้นก็เพื่อสร้าง IT Infrastructure สำหรับทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมาทดสอบได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้งานระบบ Big Data Analytics อย่าง Apache Hadoop, Cloudera หรืออื่นๆ, การทดสอบพัฒนา Mobile Application หรือ Web Application ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้บริการลูกค้า, การทดสอบเทคโนโลยี Database แนวคิดใหม่ๆ หรือแม้แต่การทดสอบเทคโนโลยี Open Source หรือ Commercial ใหม่ๆ ให้ได้อย่างคล่องตัวนั่นเอง

การลองผิดลองถูกถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับทุกๆ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เองก็เป็นส่วนสำคัญของการก้าวไปสู่การทำ Digital Transformation ดังนั้นการสร้างสนามสำหรับลองผิดลองถูกโดยเฉพาะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของหลายๆ องค์กรไปแล้วในเวลานี้

และแน่นอนว่านอกจากการลองผิดลองถูกในเชิงเทคโนโลยีแล้ว การลองผิดลองถูกในการวางกระบวนการ DevOps เพื่อให้เหล่าผู้ดูแลระบบและเหล่านักพัฒนาสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาได้ภายใต้กระบวนการที่เป็นระบบก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในระยะยาว เพราะการออกแบบกระบวนการการพัฒนา Software ไปจนถึงการ Deploy ระบบที่เป็นมาตรฐานนั้น จะเป็นตัวเร่งให้การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มีความรวดเร็วสูงยิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่ง OpenStack เองนั้นก็รองรับการทำงานร่วมกับเครื่องมือต่างๆ ในการทำ DevOps ได้เป็นอย่างดี

 

3. เริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Self-Service เปลี่ยนแนวคิดในการทำงานของผู้ดูแลระบบ

วัฒนธรรมองค์กรแบบ Self-Service นี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนของระบบ IT ภายในองค์กรเลยก็ว่าได้ และเป็นอีกวัฒนธรรมใหม่ที่องค์กรเองก็ต้องเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกด้วยเช่นกัน เพราะต่อไปนั้นแนวโน้มของระบบ IT ต่างๆ ทั้งในระดับของ Data, Application และ Infrastructure นั้นก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็น Self Service มากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ใช้งานทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่คนสาย IT เองก็ต้องเข้ามาใช้บริการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน การเริ่มต้นลองผิดลองถูกด้วยระบบ Self-Service สำหรับให้บริการ IT Infrastructure แก่คนสาย IT ด้วยกันเองก่อนโดยใช้ OpenStack จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

สิ่งที่องค์กรต้องเรียนรู้ในการสร้างวัฒนธรรม Self-Service ที่ประสบความสำเร็จนี้ ก็คือกระบวนการในการสร้าง Workflow สำหรับการออกแบบบริการ Self-Service แต่ละบริการให้ประสบความสำเร็จในเชิงการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บความต้องการ, การออกแบบระบบและบริการ, การดูแลรักษาและติดตาม Resource ที่มีการใช้งาน, การวางแผนว่าควรจะปรับบริการ Self-Service เดิมที่มีอยู่อย่างไร และการ Maintenance หรือ Upgrade แต่ละบริการที่จะต้องมีการสื่อสารและวางแผนกันล่วงหน้าทั้งหมด

Self-Service นั้นถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเพิ่มความเร็วในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีความง่ายดายมากยิ่งขึ้น และจำเป็นเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันการสร้างบริการ Self-Service ที่ดีให้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ และเป็นสิ่งที่องค์กรควรต้องเริ่มเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูกกับคน IT กันเองก่อนจะต้องเปิดบริการ Self-Service สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในอนาคต

 

4. เปิดทางเลือกใหม่ๆ สำหรับ IT Infrastructrure สำหรับองค์กรในอนาคต

หนึ่งในสาเหตุที่ OpenStack นั้นกลายเป็นที่นิยมก็เป็นเพราะความที่ OpenStack นั้นเป็น Open Source Software ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อแต่อย่างใด และรองรับ IT Infrastructure ได้หลากหลาย รวมถึงมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจให้พร้อมใช้ในตัว การเริ่มต้นเรียนรู้ Open Stack นั้นเรียกได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ สำหรับระบบ IT Infrastructure ที่จะมาช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้ในระยาวเลยก็ไม่ผิดนัก

จากเดิมที่ธุรกิจองค์กรมักจะคุ้นชินกับการซื้อ Server มาลง Hypervisor สร้างเป็นระบบ Virtualization และซื้อ Storage มาเชื่อมต่อเข้าไปในระบบ Virtualization กันเป็นหลักนั้น ก็จะกลายเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งในอนาคตหลังการมาของ OpenStack เพราะ OpenStack นั้นมีครบถ้วนทั้งระบบ Compute, Storage, Network และ Management ในตัว ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มทรัพยากรใดๆ ก็ได้จากการลงทุนเพียงแค่ Server ซึ่งถือเป็น Component ที่มีราคาถูกที่สุดใน Data Center แล้วในเวลานี้ ซึ่งข้อดีตรงนี้ก็จะช่วยทำให้องค์กรวางแผนการลงทุนทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างง่ายดายไปด้วยอีกทาง

ในทางกลับกัน OpenStack นั้นสามารถใช้ในการควบคุมและบริการจัดการ Hypervisor ต่างๆ ได้หลากหลายค่าย รวมถึงสร้างระบบ Self Service ให้แก่ IT Infrastructure นั้นๆ ได้ด้วย การนำ OpenStack มาใช้จึงไม่ต้องละทิ้งเทคโนโลยีเดิมที่มีการใช้งานอยู่แต่อย่างใด ในขณะที่ยังเปิดทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้เทคโนโลยีได้หลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิมในอนาคตไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่แทบทุกรายต่างก็ให้การสนับสนุน OpenStack กันทั้งนั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลกันเลยในเรื่องของความเข้ากันได้กับระบบเดิม หรืออนาคตของ OpenStack เองก็ตาม

 

5. รับการมาของเทคโนโลยี Network Functions Virtualiztion (NFV) และ Software-Defined Networking (SDN)

นับวันเทคโนโลยีฝั่งระบบเครือข่ายเองก็ถูกเปลี่ยนมาให้กลายเป็น Virtualization มากขึ้นกันเรื่อยๆ และ OpenStack หรือ KVM ที่เป็น Open Source Hypervisor เองก็เป็นหนึ่งใน IT Infrastructure ที่เหล่าผู้ผลิตระบบเครือข่ายให้การรองรับกันอย่างเป็นมาตรฐาน การใช้ OpenStack นั้นนอกจากจะเปิดให้เหล่าองค์กรได้มีทางเลือกใหม่ๆ สำหรับเทคโนโลยีฝั่ง Server และ Storage แล้ว จึงยังช่วยเปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีฝั่ง Network เป็นอย่างมากอีกด้วย

การมาของ NFV และ SDN นี้จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับแต่งและบริหารจัดการระบบเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะยังถือว่าค่อนข้างใหม่ แต่ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจองค์กรที่มีสาขาเป็นจำนวนมาก

 

ก็ขอจบบทความครั้งนี้เพียงเท่านี้นะครับ ในความเป็นจริงนั้น OpenStack ยังมีความหลากหลายและนำไปใช้ได้ในอีกหลายกรณีการใช้งานมากๆ ก็หวังว่าหลังจากจบบทความนี้แล้วจะเริ่มมีการศึกษาและนำ OpenStack ไปใช้งานกันมากขึ้นในไทยนะครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

สยาม เอไอ สร้างศักยภาพอนาคต AI ให้ประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี AI จากเดลล์ เทคโนโลยีส์

บริษัท สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการ คลาวด์คอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับงานทางด้านเอไอ ร่วมมือกับ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับศักยภาพด้าน AI ของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรม AI ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา

Brocade เปิดตัว SAN Switch รุ่นใหม่ ‘G710’ เจาะกลุ่มธุรกิจระดับ SMB

Brocade G710 เป็น SAN Switch รุ่นล่าสุดที่มาพร้อมกับ Fibre Channel 64G 24 พอร์ท