Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

สรุป 5 ข้อคิดจากงานสัมมนา Dell EMC เลือกซื้อ PC, Notebook สำหรับองค์กรอย่างไรดีในปี 2018

ในงานสัมมนา Customer DG Transformation Workshop with Microsoft ที่จัดขึ้นโดย Dell EMC และ Microsoft เมื่อเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดในการเลือกซื้ออุปกรณ์ PC, Notebook และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับผู้ใช้งานเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการนำไปใช้งานในภาคธุรกิจเป็นหลัก ทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงขอนำมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

 

Credit: Dell

 

1. องค์กรต้องมองอุปกรณ์ IT สำนักงานในมุมใหม่ เลือกให้ดีว่าจะรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่งอนาคตมากน้อยแค่ไหน

ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ถือเป็นปีที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นมาและถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดรวดเร็ว จนการทำนายแนวโน้มของเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครกล้าออกมาฟันธงอนาคตของเทคโนโลยีกันมากนัก

เช่นเดียวกัน การวางแผนด้านการลงทุนเทคโนโลยีเองก็ได้กลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปด้วยในเวลาเดียวกัน และความยากนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะการลงทุนในส่วนของ Data Center หรือการขยายทีม Developer เท่านั้น แต่การซื้ออุปกรณ์ IT สำนักงานเองก็กลายเป็นโจทย์ที่ยากตามไปด้วย เพราะไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าเทคโนโลยีใดจะมา เทคโนโลยีใดจะไป และควรลงทุนอุปกรณ์ใดๆ เพื่อให้รองรับอะไรกันในอนาคตเพิ่มเติมบ้าง เพราะหากลงทุนผิดไปแล้ว ก็อาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่จะเลือกใช้กันไปในอนาคต

ดังนั้นสิ่งที่เหล่าแผนก IT ต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจในการทำก็คือ การวางแผนกลยุทธ์ด้านการทำงานของพนักงานในองค์กรให้ชัด เช่น การวางแผนด้าน Mobile Worker ให้ชัดเจนว่าพนักงานกลุ่มใดควรจะใช้แนวทางนี้ และผลลัพธ์จะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด หรือการก้าวไปสู่การเป็น Digital Workspace อย่างเต็มตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการลดพื้นที่การทำงานภายในออฟฟิศลง ซึ่งจะสามารถประเมินความคุ้มค่าได้ชัดเจนยิ่งกว่า และทำให้เลือกได้ว่าจะลงทุนในอุปกรณ์ IT สำนักงานในลักษณะใดให้นอกเหนือไปจากการแค่ทำให้พนักงานพอจะทำงานได้

ประเด็นด้าน Security เองก็ถือเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจไม่น้อย อย่างเช่น การยืนยันตัวตนด้วยวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างเช่นการใช้ลายนิ้วมือ, ใบหน้า และอื่นๆ ในการยืนยันตัวตน รวมไปถึงความสามารถในการเข้ารหัสข้อมูลภายในอุปกรณ์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้นับวันจะยิ่งมีความสำคัญสูงขึ้นเรื่อยๆ และการเลือก Hardware กับ Software ที่สามารถรองรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเหล่านี้ให้ได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเลือกให้ดี เพราะหากเลือกพลาดแล้วก็อาจทำให้องค์กรไม่สามารถก้าวไปสู่แนวทางที่ตนเองต้องการได้อีกหลายปีเลยทีเดียว

 

2. ผู้ขายอุปกรณ์ IT สำนักงานต้องตีโจทย์ผู้ใช้งานใหม่ ทำความเข้าใจ Business Model แห่งอนาคตของลูกค้าให้ดี

ท่ามกลางกระแสของการทำ Digital Transformation ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ วันนี้ กระบวนการการทำงานและเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานและการตอบสนองต่อความต้องการต่างๆ ของลูกค้าทั้งในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ นั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อธุรกิจนั้นจึงได้กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เหล่าผู้ที่นำเสนออุปกรณ์ IT สำนักงานเองนั้นก็ต้องทำการบ้านกันหนักมากขึ้น ไม่เพียงแต่การทำความรู้จักกับอุปกรณ์ IT รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชันได้หลากหลายเท่านั้น แต่ยังต้องทำความเข้าใจใน Business Model ใหม่ที่ลูกค้ามีทิศทางอยู่แล้วหรือควรจะมุ่งหน้าไป, แนวทางการปรับปรุงกระบวนการการทำงานในอนาคตเพื่อให้สามารถเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจที่การขายหน้าร้านจะกลายเป็นจุดสำคัญที่เกิดการทำ Digital Transformation การนำเสนออุปกรณ์ 2-in-1 Notebook ที่สามารถถอดแปลงเป็น Tablet ได้ก็อาจเหมาะสมกว่า หรือธุรกิจที่มีแผนการนำเทคโนโลยี Virtual Reality และ Augmented Reality มาใช้งาน การนำเครื่อง Workstation ที่มีพลังประมวลผลกราฟิกสูงแต่สามารถทำได้โดยไร้เสียงก็อาจเป็นประโยชน์ต่อหน้าร้าน เป็นต้น

นอกจากอุปกรณ์ประมวลผลทั่วๆ ไปแล้ว แนวโน้มของอนาคตที่น่าสนใจอย่างเช่นแว่นตา Virtual Reality, หุ่นยนต์, อุปกรณ์ Internet of Things (IoT) เองต่างก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจทั้งสิ้น และภาพเหล่านี้เองก็อาจถูกรวมเข้ามาเป็นงานหนึ่งที่เหล่าผู้ขายอุปกรณ์ IT ต้องเริ่มศึกษาด้วยแล้วเช่นกัน

 

Credit: Dell

 

3. ความหมายของ Cost ในการลงทุนอุปกรณ์ IT สำนักงาน ควรมองที่ TCO ไม่ใช่ราคาลงทุนเริ่มต้น

หากพูดถึงโดยทั่วไปแล้ว การซื้ออุปกรณ์ IT ในระดับของผู้บริโภคหรือ Consumer นั้นมักจะใช้อารมณ์เป็นตัวนำการตัดสินใจ และคนทั่วไปก็เข้าใจว่าในภาคธุรกิจองค์กรเองนั้นก็ไม่ต่างกัน เพราะการเทียบอุปกรณ์ IT ของผู้ผลิตแต่ละค่ายที่ไม่ได้มีจุดแตกต่างกันมากนัก ก็มักใช้รูปลักษณ์และราคาเบื้องต้นมาเป็นตัวตัดสินใจ

Dell ในฐานะของบริษัทที่อยู่ในตลาด Commercial PC/Notebook มาอย่างยาวนาน และออกตัวว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้เอาชนะงานต่างๆ ด้วยราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ได้เสนอว่าสิ่งที่องค์กรควรใช้เป็นหลักในการตัดสินใจนั้นคือการวิเคราะห์ Total Cost of Ownership หรือ TCO ในการใช้งานมากกว่า โดยนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนเบื้องต้นเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แล้ว การพิจารณาถึงระยะเวลาและเงื่อนไขการรับประกัน, เงื่อนไขการให้การสนับสนุนหลังการขาย และเวลาที่ต้องเสียไปในการติดตั้งดูแลรักษาอุปกรณ์ PC/Notebook โดยฝ่าย IT นั้นต่างก็ควรต้องนำมาใช้คิดรวมกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การโจมตีอุปกรณ์ PC/Notebook ภายในองค์กรเกิดขึ้นทุกเมื่อ และการพกพาอุปกรณ์ Notebook ไปทำงานนอกสถานที่นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นใหม่ที่องค์กรควรนำมาคิดเพิ่มเติมในการเมิน TCO ทุกวันนี้ก็คือเรื่องของการรักษาข้อมูลความลับขององค์กร การเข้ารหัสข้อมูลบน Hard Disk Drive (HDD) หรือ Solid State Drive (SSD) และกระบวนการการจัดการกับข้อมูลภายในอุปกรณ์เหล่านี้หลังจากที่่เลิกใช้งานหรือเปลี่ยนอุปกรณ์จากการประกันนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยในยุคปัจจุบันนี้ด้วย

Dell นั้นสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน ด้วยบริการเสริมสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่ม Commercial ดังนี้

  • การจัดการกับ Image ของเครื่องให้ก่อนส่งมอบเครื่อง เพื่อให้การตั้งค่าเบื้องต้นเป็นไปตาม Configuration ที่กำหนด และยังสามารถทำ System Restore ย้อนกลับมาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ทำให้สามารถประหยัดเวลาการติดตั้งระบบใหม่เมื่อเครื่องเกิดปัญหาได้มากทีเดียว
  • การให้บริการประกันขั้นต่ำ 3 ปีแบบ On-site และมีบริการประกัน Accidental Damage ครอบคลุมการซ่อมแซมจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุได้
  • อุปกรณ์มีความสามารถในการเข้ารหัสข้อมูลภายในเครื่อง ทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์ HDD/SSD ที่เสียนั้นก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ว่าจะมีข้อมูลรั่วไหลจากกรณีนี้
  • มี Utility เสริมภายในเครื่องมากมายเพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถทำการตรวจสอบ ซ่อมแซม และส่งประกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
  • ติดตั้ง Software มาในระบบปฏิบัติการน้อยมากๆ ทำให้เครื่องค่อนข้าง Clean มั่นใจได้ในความมั่นคงปลอดภัยพื้นฐานเบื้องต้น

 

4. การเลือกอุปกรณ์ให้หลากหลายเหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มกันไป จะทำให้องค์กรสามารถลงทุนให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ก็ไม่อาจละเลยได้ ก็คือการเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานนั้น จะทำให้องค์กรได้รับความคุ้มค่าสูงสุด เพราะปัจจุบันด้วยความหลากหลายของตัวอุปกรณ์เองที่เหมาะสมกับงานในรูปแบบต่างๆ กัน การเลือกอุปกรณ์ให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ใช้งานนั้นนอกจากจะทำให้ผู้ใช้งานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ในมุมขององค์กรเองก็ยังอาจประหยัดการลงทุนลงไปได้อีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงสนทนาครั้งนี้ก็คือการเล่าถึงกรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ IT สำหรับให้เด็กนักเรียนภายในโรงเรียนใช้ ซึ่งเดิมทีทางโรงเรียนมีแผนที่จะซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับเด็กประถมได้เริ่มเรียนรู้เท่านั้น แต่เมื่อนำความต้องการมาวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว แผนการจัดซื้อที่เสนอมาตอนแรกนั้นใช้ CPU รุ่นที่น่าจะสูงเกินความต้องการของเด็กเล็กๆ ในการเรียนรู้ไป ทำให้ทางโรงเรียนปรับแผนการลงทุนใช้ CPU รุ่นที่เล็กลงสำหรับเด็กประถม และเหลืองบประมาณมาลงทุนเป็นจอขนาดใหญ่ความคมชัดสูงเพื่อให้เด็กมัธยมปลายสามารถนำไปใช้หัดตัดต่อวิดีโอได้ดียิ่งขึ้นเพิ่มขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ เพิ่มเติมจากงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก

อีกประเด็นหนึ่งคือการที่หลายๆ องค์กรนั้นมักจะพิจารณาจากราคาของอุปกรณ์เป็นหลัก และทำให้ได้จัดซื้ออุปกรณ์รุ่นเก่าที่ใกล้จะตกรุ่นหรือตกรุ่นไปแล้วไปใช้งาน ซึ่งหากงานที่ใช้นั้นไม่สำคัญก็อาจไม่กระทบมากนัก แต่หากงานที่ต้องใช้นั้นเป็นงานสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจโดยตรง เช่น ฝ่ายขาย, ฝ่ายการตลาด, ฝ่ายวิศวกรรม, ฝ่ายการผลิต หรือฝ่ายบริหาร อุปกรณ์ที่ตกรุ่นนั้นก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงได้ ดังนั้นการพิจารณ์ว่างานใดเหมาะสมกับ Hardware ระดับไหนก็เป็นอีกสิ่งที่พึงกระทำ โดยอาจพิจารณาจากทั้งปริมาณงานและ Application ที่ต้องใช้งานในปัจจุบัน เผื่อไปจนถึงอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าให้ดี

 

Credit: Dell

 

5. Digital Transformation จะเปลี่ยนอุปกรณ์ IT Endpoint ที่องค์กรเลือกใช้ด้วย ไม่ได้เปลี่ยนแค่ Data Center และ Business Software

มีการอ้างถึงการทำนายของ IDC ว่าประเด็นเรื่องราวของการทำ Digital Transformation นี้จะยังเป็นหัวข้อที่ต้องพูดคุยกันอีกนานถึง 15 ปีเป็นอย่างน้อย โดยในปัจจุบันนี้ยังมีบริษัทไม่ถึง 10% ที่ได้เริ่มทำ Digital Transformation ไปแล้ว และด้วยแนวโน้มของการที่มีบริษัท Startup ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาทุกๆ วันพร้อมกับเทคโนโลยีหรือแนวทางใหม่ๆ ที่ตั้งใจจะมาเปลี่ยนโลกในแง่มุมต่างๆ ประเด็นเหล่านี้เองก็ถือเป็นเรื่องที่เหล่าองค์กรต้องจับตามองให้ดี

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และได้รับความนิยมในการใช้งานนี้อาจไม่เกิดขึ้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในฝั่ง Data Center และเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนา Application ของเหล่าองค์กรเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เหล่าองค์กรต้องเลือกใชัอุปกรณ์ Endpoint ที่เปลี่ยนไปให้เหมาะสมต่อการใช้งานด้วย ตัวอย่างเช่น โรงเรียนในทุกๆ วันนี้มีการใช้กระดาษมากถึง 4,000 แผ่นต่อเด็ก 1 คนในแต่ละปี ส่วนคนที่ทำงานนั้นต้องใช้กระดาษมากถึง 10,000 แผ่นต่อคนต่อปี การเปลี่ยนกระดาษเหล่านี้ให้มาอยู่ในรูป Digital ทั้งหมดหรือให้มากที่สุดเท่าที่่จะเป็นไปได้นี้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มหาศาล แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเพิ่มเติมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ Workflow เหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้ด้วย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในไทยก็เช่นการที่นครชัยแอร์เองได้นำเอาเทคโนโลยีไปผสานในธุรกิจรถแท็กซี่ของตน ทำให้บนรถแต่ละคันต้องมี Endpoint ของตัวเองเพิ่มขึ้นมาเพื่อแสดงข้อมูลการรับผู้โดยสาร, แผนที่ และข้อมูลจราจรเพื่อประกอบการขับขี่ ทำให้การเลือกเส้นทางมีประสิทธิภาพมากขึ้นและรับผู้โดยสารต่อวันได้มากกว่ารถแท็กซี่ทั่วๆ ไป

จะเห็นได้ว่า Endpoint ที่เหมาะสมกับงานเองก็มีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กับระบบ Application ต่างๆ เลย และในมุมของอุปกรณ์ PC หรือ Notebook สำหรับใช้ทำงานในอนาคตเองนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่องค์กรต้องเลือกให้ดี ไม่อาจมองเป็นแค่อุปกรณ์สำหรับติดตั้ง Windows เท่านั้นได้อีกต่อไป

 

เปิดตัว Dell Latitude รุ่นล่าสุด ใช้ CPU 8th Gen จาก Intel

ในเวลาเดียวกันนี้ Dell เองก็ได้เปิดตัว Dell Latitude อุปกรณ์ Notebook สำหรับทำงานรุ่นล่าสุด โดยใช้ CPU 8th Generation จาก Intel มาเป็นหน่วยประมวลผลหลักที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยซีรีส์ใหม่ที่เปิดตัวมานี้จะมีด้วยกันทั้งสิ้น 12 รุ่น ใช้รหัสลงท้ายด้วยตัวเลข 90 ครอบคลุมทุกสายผลิตภัณฑ์ของ Dell Latitude เดิมที่มีอยู่ ลองตรวจสอบสเป็คและราคาเบื้องต้นได้ที่ http://www.dell.com/th/business/p/latitude-laptops ครับ

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ Dell มองว่าเป็นตลาดใหญ่สำหรับคอมพิวเตอร์ของผู้บริหารนั้นก็คือผลิตภัณฑ์กลุ่ม 2-in-1 ที่เป็น Notebook ซึ่งสามารถแปลงมาเป็น Tablet ได้ สามารถตอบโจทย์ผู้บริหารในแง่ของความง่ายในการพกพา และยังสามารถตั้งโต๊ะพิมพ์งานได้อย่างสะดวก เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบในหนึ่งเดียว โดยผู้บริหารไม่ต้องมีปัญหากับการย้ายข้อมูลไปมาระหว่างแต่ละอุปกรณ์ หรือต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันระหว่าง Notebook และ Tablet อีกต่อไป โดยทาง Dell ได้จำแนกผลิตภัณฑ์นี้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้

 

Credit: Dell

 

  1. Detachable เป็น Notebook ที่สามารถถอด Keyboard ออกแล้วกลายเป็น Tablet ได้ จะมีข้อดีเรื่องน้ำหนักที่เบาในขณะที่เป็น Tablet
  2. Convertible เป็น Nobetook ที่สามารถพับ Keyboard ไปด้านหลัง 360 องศา แล้วกลายเป็น Tablet ได้ จะมีข้อดีเรื่องสามารถนำ Keyboard ที่พับไปด้านหลังมาเป็นขาตั้ง Tablet ได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องการถอด Keyboard แล้วลืมทิ้งไว้

ทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้ก็จะมีความแตกต่างในแง่ของการใช้งาน, น้ำหนัก, ความทนทานของแบตเตอรี่ และประเด็นอื่นๆ รวมถึงงบประมาณที่ใช้ ดังนั้นหากจะเลือกใช้ก็ควรจะให้ผู้ใช้งานทดสอบก่อนเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการให้ดีด้วย

สุดท้ายทางทีมงาน TechTalkThai ต้องขอขอบคุณทาง Dell EMC ที่ได้เชิญไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วยครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว