Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

วิเคราะห์ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีฝั่ง Server ประจำปี 2017 โดย TechTalkThai

สำหรับปี 2017 ที่กำลังจะมาถึงนี้ แนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของ Server เองนั้นก็ถือว่าค่อนข้างน่าจับตามองไม่น้อยทีเดียว ทางทีมงาน TechTalkThai ในฐานะที่ติดตามข่าวมาตลอดจึงขอนำข้อมูลที่มีอยู่มาสรุปเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในวงการ Server ทั่วโลกสำหรับปี 2017 เอาไว้ดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com
Credit: ShutterStock.com

 

1. Bare Metal Server จะกลายเป็นที่นิยมในตลาด Cloud

หลังจากที่เราคุ้นชินกับการใช้ Virtual Machine (VM) บน Infrastructure as a Service (IaaS) กันมาได้พักใหญ่ๆ ตอนนี้ Bare Metal บน Cloud กำลังจะกลับมาด้วยความแรงอันฉุดไม่อยู่ของเทคโนโลยีฝั่ง Container อย่าง Docker และ Kubernetes ผสานกับความนิยมของ GPU บน Cloud นั่นเอง ในขณะเดียวกันด้วยการที่เหล่าองค์กรเริ่มมีการใช้งานบริการ Cloud กันมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นทางด้านการทำ Compliance ก็ได้มีความสำคัญกลับมาเป็นเงาตามตัวอีกครั้งหนึ่ง และ Bare Metal Server เองนั้นก็ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ดีในฐานะ Dedicated Resource ต่างจากบริการ Cloud แบบเดิมๆ ที่มักเป็น Shared Resource นั่นเอง

ทั้งนี้การนำเสนอบริการต่อยอดบน Bare Metal Server เหล่านี้ก็คงจะมีความหลากหลายกันมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นพื้นฐานอย่างเช่นสเป็คของ Server Hardware, ประเภทของ CPU, การ์ดพิเศษหรือ Port พิเศษ, ความสามารถในการทำ Automation ในส่วนของการ Deploy และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอันที่จริงแล้วหากจะมองว่านี่คือ Dedicated Server ที่กลับมาใหม่ภายใต้ Cloud Controller ก็คงไม่ผิดนัก

 

2. ARM Server จะมาแรงขึ้นอย่างแน่นอน

ปี 2016 ที่ผ่านมานี้ ARM พยายามรุกหนักเป็นอย่างมากในตลาดฝั่ง Server ทั้งสำหรับ Cloud Service Provider และองค์กร ด้วยการขยายฐานผู้ผลิต Server หลายรายไปพร้อมๆ กับรองรับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็น่าจะทำให้ ARM เองนั้นเริ่มมีส่วนแบ่งภายในตลาดนี้อย่างแน่นอน

จุดเด่นของ ARM ที่เหนือกว่า x86 นั้นคือประเด็นทางด้านการประหยัดพลังงาน, ราคา และความสามารถในการสั่งผลิตให้มีความสามารถได้ตามต้องการ ในขณะเดียวกันเหล่าธุรกิจ Data Center ขนาดใหญ่มากอย่างเช่นภายในประเทศจีนเองนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะผลิต CPU ขึ้นมาใช้งานเองกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราคงจะได้เห็นข่าว ARM ใน Server เพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้อย่างแน่นอน

 

3. FPGA จะมีบทบาทภายใน Server มากขึ้นอย่างชัดเจน

ปี 2016 นี้ถือเป็นปีที่ FPGA ได้เข้ามามีพื้นที่บนสื่ออย่างต่อเนื่องถึงการเข้าลงทุนและแผนการผลิตในอนาคตสำหรับเทคโนโลยี FPGA นี้ โดยนอกจาก Intel จะเข้าซื้อกิจการของ Altera ไปสูงถึง 16,700 ล้านเหรียญแล้ว Xilinx เองก็จับมือกับ IBM และรายอื่นๆ รวมถึงทาง Microsoft เองก็ยังได้ออกมาเปิดเผยถึงการใช้ FPGA อย่างเต็มที่ภายใน Microsoft Azure และยังจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ บน Cloud ด้วย ทำให้อุตสาหกรรมนั้นเริ่มเห็นทิศทางของ FPGA ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรกันได้บ้าง โดยยังไม่ต้องนับถึงกรณีที่ Intel ได้เริ่มนำ FPGA ไปใช้งานภายในระบบ Internet of Things (IoT) ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้หากพูดถึง FPGA แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการพูดถึงการเปรียบเทียบกับ GPU และหน่วยประมวลผลเฉพาะทางอย่าง Google Tensor Processing Unit เองที่ต่างก็ต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกันมากขึ้น, จุดยืนทางเทคโนโลยี, ความง่ายการนำไปใช้งาน รวมถึงความยืดหยุ่นในอนาคตที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี FPGA นั้นก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เหล่าผู้ออกแบบระบบ Server ควรจะทำการศึกษาเอาไว้บ้าง

 

4. Open Source Server Hardware จะเติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของหลายๆ ธุรกิจในโลกที่ต้องมี Data Center ขนาดใหญ่เสียจน Hardware ที่มีอยู่ในตลาดนั้นไม่ตอบรับทั้งในแง่ของจำนวนการผลิต, ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า ทำให้ที่ผ่านมานั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Google, Microsoft และอื่นๆ นั้นต่างได้ผลิต Server ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองขึ้นมา และในระยะหลังนี้เองที่เริ่มมีการเปิด Open Source การออกแบบและการผลิต Server เหล่านี้ออกสู่ตลาดเพื่อให้เหล่าธุรกิจ Data Center อื่นๆ ทั่วโลกได้นำไปต่อยอด และเหล่าผู้ผลิต Server ได้นำมาใช้ผลิตกัน อย่างเช่นโครงการ Open Compute Project (OCP) ที่ริเริ่มโดย Facebook และมี Google กับ Microsoft เข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือ OpenPOWER ของ IBM ที่เน้นการประมวลผลประสิทธิภาพสูงโดยเฉพาะ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ Open Source Server Hardware นั้นยังดูเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก เพราะในรุ่นที่ออกแบบมาทั่วๆ ไปนั้นก็ดูจะยังไม่ได้แตกต่างกับ Server ที่มีในตลาดมากนัก แถมยังขาดผู้ผลิตและผู้ให้บริการสนับสนุนอีกต่างหาก แต่ในตอนนี้ Open Source Server Hardware เองนั้นเริ่มถูกออกแบบมาด้วยมุมมองที่แตกต่างจาก Server แบบ General Purpose ในตลาดอย่างชัดเจนมากขึ้น และเหมาะกับการใช้งานภายใน Data Center ขนาดใหญ่มากขึ้น ประกอบกับการมาของ AI, Machine Learning และ Deep Learning นั้นก็ทำให้ความต้องการของ Server ประสิทธิภาพสูงราคาถูกนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว, Server สำหรับจัดเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างประหยัดพลังงาน ไปจนถึง Server เฉพาะทางที่รองรับ GPU ได้จำนวนมากและยังดูแลรักษาได้ง่าย ก็ทำให้ Open Source Server เหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในเวลานี้ และเริ่มมีผู้ผลิต Server ชื่อดังเริ่มนำไปผลิตกันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

5. Server CPU จะดูแค่ประสิทธิภาพไม่ได้แล้ว ต้องดู Feature ด้วย

จากความหลากหลายของ CPU ที่จะมีให้เห็นในปีหน้าทั้งจากผู้ผลิตและสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้ง Intel, AMD, ARM และ IBM POWER/OpenPOWER ความแตกต่างของ CPU แต่ละค่ายในการนำไปใช้งานในแต่ละรูปแบบนั้นจะเริ่มส่งผลอย่างชัดเจน การนำประสิทธิภาพในเชิงตัวเลขเช่น ความเร็ว, จำนวน Core, จำนวน Thread, Cache มาใช้เพื่ออ้างอิงกันว่าใครเร็วกว่าใครนั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ถึงแม้จะเป็น CPU ยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่นอย่าง Intel ก็ตาม เพราะต่อไป Intel เองก็มีแผนที่จะทำ CPU รุ่นที่ฝังความสามารถทางด้านการประมวลผลเฉพาะทางสำหรับ AI ออกมาด้วยเช่นกัน

สิ่งแรกที่ต้องเริ่มต้นศึกษาก็คือความแตกต่างทางด้านความสามารถและสถาปัตยกรรมของ CPU แต่ละค่าย, การทำงานร่วมกับ Software ประมวลผลเฉพาะทาง และผลการทำ Benchmark ที่หลากหลายให้มากขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการทดสอบประสิทธิภาพของ CPU และ Server ให้เห็นผลได้มากขึ้นโดยเหล่าผู้ดูแลระบบก็จะเป็นความสามารถที่จำเป็นขึ้นเมื่อต้องเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในอนาคต ทั้งความต่างของ CPU, Bus และ Architecture โดยรวม

ข่าวดีก็คือความหลากหลายอันน่าปวดหัวนี้คงจะยังไม่เข้ามาในไทยอย่างเต็มตัวในปีหน้านี้กันแบบเต็มที่ ดังนั้นก็จะพอมีเวลาให้เราได้ปรับตัวกันอยู่บ้าง

 

6. จับตามอง Server Hardware จากจีนให้ดี

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยคงจะได้คุ้นเคยกับอุปกรณ์เครือข่ายจากจีนกันเสียเเป็นส่วนมากทั้งในระดับของ Consumer และ Enterprise แต่ต่อไปเราคงจะต้องเริ่มทำความคุ้นเคยกับ Server จากจีนกันบ้างแล้ว ทั้งด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ IT ภายในประเทศจีนเอง ประกอบกับการที่เหล่าผู้ผลิต CPU และ Server นั้นได้เริ่มเข้าไปลงทุนภายในประเทศจีนตั้งบริษัท Joint Venture หรือ R&D กันมากขึ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน หรือแม้แต่การวิจัยและผลิต CPU และ Server ขึ้นมาเองในจีนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าต่อไปเทคโนโลยี Server จากฝั่งจีนจะเริ่มมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องให้เราได้ติดตามกันอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้นก็มี Server จากจีนเข้ามาอยู่แล้วบ้างเหมือนกัน และถึงแม้จะยังไม่มีกระแสตอบรับที่โด่งดังนัก แต่การมาเปิดสาขาใหญ่ของ Huawei ในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ที่ถือเทคโนโลยีแทบจะครบทุกอย่างสำหรับฝั่ง IT เองนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

7. ผู้ให้บริการ Cloud อาจหันไปผลิต Server เอง และออกแบบ Server เฉพาะทางเองมากยิ่งขึ้น

ตลาด Cloud แบบ General Purpose นั้นเริ่มชัดเจนและอยู่ตัวแล้ว แต่ตลาด Cloud สำหรับงานประมวลผลเฉพาะทางนั้นยังถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่กำลังเกิดและยังพร้อมจะเติบโตอีกมาก สิ่งที่เหล่าผู้ให้บริการ Cloud มักจะทำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกันในเวลานี้ก็คือการเริ่มผลิต Server และ Hardware อื่นๆ ภายใน Data Center ให้เหมาะสมต่อความต้องการของตัวเองอย่างสูงสุด หรืออย่างน้อยๆ ก็เริ่มเปลี่ยนจากการใช้งาน Mainstream Server กลายมาเป็น Optimized Server กันแทน เพราะความสามารถและประสิทธิภาพของ Server นั้นจะส่งผลต่อต้นทุนของการดำเนินการโดยตรง

ทั้งนี้ด้วยการนำร่องให้เห็นทั้งจาก Facebook, Google, Microsoft, LinkedIn และอื่นๆ รวมถึงการที่องค์ความรู้ของ OCP, ARM หรือ OpenPOWER นั้นค่อนข้างที่จะพร้อมแล้ว ถัดจากก้าวที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งาน ถัดไปนั้นก็จะเริ่มเป็นก้าวที่เหล่าธุรกิจต่างๆ ทำการออกแบบหรือปรับแต่ง Hardware เหล่านี้ให้เหมาะกับคววามต้องการของตนเองนั่นเอง

 

8. ติดตามมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน Server เพื่อแก้ปัญหาคอขวดกันให้ดี

ตอนนี้วงการ Server ทั่วโลกเริ่มประสบกับปัญหาคอขวดที่เกิดจากการสื่อสารภายในระบบประมวลผลของแต่ละเครื่องกันแล้ว อันเนื่องมาจากความต้องการในการประมวลผลข้อมูลที่สูงขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น การโยกย้ายข้อมูลจึงต้องการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาภายใน Server แต่ละเครื่อง และมาตรฐานการรับส่งข้อมูลที่มีอยู่เดิมก็เริ่มที่จะไม่เพียงพอต่อการประมวลผลโดยไม่เกิดคอขวดอีกต่อไป มาตรฐานใหม่ๆ จึงเกิดมามากมายไม่ว่าจะเป็น CCIX, Gen-Z, AMBA, OpenCAPI และอื่นๆ ที่เหล่านักวิจัยและบรรดาผู้ผลิตร่วมมือกันพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านประสิทธิภาพและการเพิ่มขยายในแง่มุมต่างๆ

มาตรฐานเหล่านี้ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีแต่บางตัวก็มีกำหนดที่จะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า และมาตรฐานใหม่ๆ ก็ยังเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิดที่แตกต่างและความต้องการเฉพาะทางที่หลากหลาย ดังนั้นการคอยติดตามมาตรฐานเหล่านี้เอาไว้ก็จะทำให้เราเข้าใจภาพการทำงานของระบบในอนาคตได้ดีขึ้นด้วย

 

9. การใช้ NVMe จะเริ่มกลายเป็นทางเลือกหลักมากขึ้น

NVMe SSD นั้นเข้ามาสู่ตลาดได้ระยะหนึ่งและเริ่มกลายเป็นที่นิยมในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่เหล่าผู้ผลิตทั้งฝั่งของ Hardware และ Software ได้ออกมาผลักดันการนำ NVMe ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในระบบต่างๆ ดังนั้นปี 2017 นี้เราคงจะได้เห็น NVMe กันบ่อยขึ้นอย่างแน่นอน

 

10. Form Factor ใหม่ๆ ของ Server จะปรากฎขึ้นมาตอบโจทย์ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ

แนวโน้มที่การประมวลผลพลังสูงจะเป็นที่ต้องการในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภายใน Data Center นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการมาของทั้งเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things (IoT), Artificial Intelligence (AI), Fog Computing, Virtual Reality/Augmented Reality ดังนั้นต่อไประบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับนำไปใช้งานในกรณีต่างๆ ก็จะเกิดขึันมาอย่างต่อเนื่องและอาจไม่ได้ถูกเรียกในชื่อของ Server ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ภายใน Data Center เองนั้นก็จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับ Server ออกมาอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น Server เฉพาะที่ถูกออกแบบมาสำหรับการให้บริการ Bare Metal Cloud หรือ DevOps อย่างเช่น Composable Infrastructure, การตอบโจทย์ Hyperconverged Infrastructure ภายใน Server Form Factor รูปแบบใหม่ๆ และอื่นๆ

 

ของแถม: หัดเล่น OpenStack, Docker และ Ceph เอาไว้ให้ดี

ความต้องการของระบบ Cloud ที่ใช้ Open Source เป็นศูนย์กลางนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสำหรับผู้ให้บริการ Public Cloud และองค์กรที่ต้องการใช้งาน Private Cloud ดังนั้น 3 เทคโนโลยีหลักอย่าง OpenStack, Docker และ Ceph นั้นก็จะเป็นเทคโนโลยีที่มีคนตามหา Systems Engineer ที่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2017 ที่จะถึงนี้

 

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับผู้อ่านเพื่อเตรียมตัวรับปี 2017 กันนะครับ

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

NVIDIA เปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip

NVIDIA ประกาศเปิดตัว Blackwell B200 GPU และ GB200 Superchip ชิปประมวลผล AI รุ่นใหม่

Imperva ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024

Imperva ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน Web, API และ Data Security ออกรายงาน The State of API Security ประจำปี 2024 …