รีวิว Synology DiskStation DS718+ NAS Storage เอนกประสงค์ทั้งสำหรับธุรกิจและการใช้งานแบบจริงจัง

พอดีทีมงาน TechTalkThai ได้รับอุปกรณ์ Synology DiskStation DS718+ มาให้ทดสอบใช้งานจริงครับ โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่อยู่ในระดับของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงสำหรับใช้ตอบโจทย์การใช้งานตามบ้านในกลุ่ม Power User กันด้วย รีวิวนี้เลยอาจจะยาวเล็กน้อยเพราะฟีเจอร์ที่น่าสนใจมีค่อนข้างเยอะ แต่ก็อยากจะนำมาเล่าให้เห็นกันทั้งข้อดีและข้อเสียกันเต็มๆ ครับ (หมายเหตุ: รูปเยอะมาก)

 

รู้จัก Synology DiskStation DS718+ กันก่อน

Credit: Synology

 

สำหรับ Synology รุ่น DiskStation DS718+ นี้เป็นรุ่นหนึ่งในซีรีส์ Plus ที่เป็นรุ่นระดับกลางสำหรับการใช้งานในธุรกิจขนาดเล็ก, กลาง และในสาขาของธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โดยมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นจากการเลือกใช้ Quad-core CPU และมีแรมให้เลือกได้หลายขนาด เพื่อรองรับการติดตั้ง Application เสริมสำหรับใช้งานบนตัวอุปกรณ์ได้หลากหลาย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยี NAS Storage จากฝั่ง Synology เลยก็ว่าได้

ในแง่ประสิทธิภาพการใช้งาน ทางเว็บไซต์ระบุเอาไว้ว่าสามารถทำการเขียนและอ่านข้อมูลที่เข้ารหัสอยู่ได้ด้วยประสิทธิภาพระดับ 226MB/s Reading และ 184MB/s Writing โดยรองรับการทำ Transcoding ได้พร้อมกัน 2-channel สำหรับวิดีโอแบบ 4K H.264/H.265 ซึ่งตรงนี้ทางทีมงาน TechTalkThai จะไม่ได้ทดสอบประสิทธิภาพให้เห็นกันนะครับเพราะพอดีระบบเครือข่ายที่ใช้อยู่ตอนนี้ไม่พร้อม และก็ชีวิตปัจจุบันแทบไม่มีไฟล์วิดีโอ 4K เอาไว้ทดสอบเลยด้วย เลยจะไปขอเน้นเรื่องฟีเจอร์สำหรับการใช้งานในออฟฟิศแทนครับ

กับอีกจุดหนึ่งที่เว็บไซต์ต้นทางเน้นมากเลยก็คือการใช้ Btrfs ซึ่งเป็น File System ของ Linux ที่ออกแบบมาสำหรับรองรับธุรกิจขนาดใหญ่ รองรับเรื่องการกำหนดโควต้าการใช้งานได้, ทำ Snapshot Replication ได้จำนวนมาก, กู้คืนไฟล์ได้ง่าย และก็มีระบบ File Self-healing ให้ในตัว ก็จะต่างจากคู่แข่งบางรายที่ยังใช้ ext4 หรือ ZFS กันอยู่บ้างเหมือนกันครับ

เท่าที่ค้นหาราคามา Synology DiskStation DS718+ ก็จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 16,000 – 18,000 บาทครับ ส่วนรุ่นที่รองรับ Disk ในตัวมากกว่านี้ได้ก็จะราคาแพงขึ้ันไป รวมถึงยังมี JBOD สำหรับเอาไว้เพิ่มจำนวน Disk ให้มาพ่วงได้ด้วยในอนาคต ดังนั้นก็เริ่มซื้อจากตัวเล็กๆ หรือตัวกลางๆ แล้วค่อยขยายต่อไปในอนาคตได้ครับ

ผู้ที่สนใจสเป็คอย่างเป็นทางการ ลองเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ Synology โดยตรงได้ที่ https://www.synology.com/en-global/products/DS718+ เลยครับ ส่วนรุ่นอื่นๆ ใน Plus Series ที่ประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้งานในธุรกิจทีต้องการ Storage แรงๆ หน่อยก็เข้าไปดูได้ที่ https://www.synology.com/en-global/products/series/plus ครับ แต่ถ้าใครมองหารุ่นใหญ่กว่านี้ก็ลองเข้าไปดูที่รุ่น FS Series และ XS Series กันได้ที่ https://www.synology.com/en-global/products/series/xs ครับ จะมีตัว Rack Mount ด้วย

เนื้อหาถัดจากนี้ไปจะเป็นการเล่าเรื่องการเริ่มต้นใช้งานจริง และข้อดีข้อเสียกันแล้วครับ

 

แกะกล่องแล้วใส่ดิสก์กันก่อนให้เรียบร้อย

สำหรับขั้นตอนแรกสุดกันเลยก็คือแกะกล่องใส่ดิสก์กันครับ ตามสไตล์ TechTalkThai เราจะเปิดคู่มือแบบผ่านๆ หนึ่งครั้งให้พอรู้คร่าวๆ แล้วทำตามเลยเพื่อดูว่าจะทำเองได้ยากง่ายแค่ไหน มาดูกันเลยครับ

ขั้นแรกก็แกะทุกอย่างออกจากกล่องก่อน ก็จะมีตัว NAS, ปลั๊กไฟ, สาย LAN 2 เส้น, น็อตสำหรับใส่ HDD/SSD, กุญแจสำหรับไข Tray ใส่ HDD/SSD สำหรับล็อคไม่ให้คนมาแอบดึงดิสก์ได้เอง 2 ดอก และก็คู่มือการติดตั้ง กับคู่มือการทดลองใช้ Synology C2 บริการ Cloud สำหรับสำรองข้อมูลและระบบครับ

ตัวเคสของ Synology DiskStation DS718+ นี้จะเป็นโลหะ แต่จับแล้วจะสากมือเล็กน้อยไม่ได้ลื่นเหมือนที่คาดเอาไว้ ส่วน Tray ใส่ HDD/SSD ที่อยู่ด้านหน้านี้จะเป็นพลาสติกน้ำหนักเบาครับ โดยรวมก็ดูแข็งแรงดีไม่ได้มีประเด็นอะไรเป็นพิเศษครับ

การเชื่อมต่อ Network สำหรับรุ่นนี้ก็จะมีช่อง 2x 1GbE ให้เราใช้ครับ รองรับทั้ง IPv4/IPv6 ได้ทั้งคู่

ด้านหน้าจะมีช่องเสียบ และปุ่ม Clone USB สำหรับ Copy ไฟล์จาก USB ลงไปยัง Folder ใน NAS อยู่ (เวลาเริ่มทำกับทำเสร็จ จะมีเสียงปี๊บให้เรารู้ด้วยว่าทำเสร็จแล้ว) ส่วนด้านหลังก็จะมีช่อง USB ด้วยเช่นกัน แต่พอเสียบแล้วไฟล์จากใน USB จะไปปรากฎในตัว NAS เลยโดยไม่ได้ Copy ไป ซึ่งเราก็สามารถทำ File Sharing ออกมาจาก USB นั้นตรงๆ ได้เลย ก็สะดวกดีครับ หรือจะใช้ USB Wi-Fi Adapter เสียบเข้าไปเพื่อให้ NAS เราต่อกับเครือข่ายผ่าน Wi-Fi ก็ทำได้นะครับ แต่อันนี้ทางเราไม่ได้ทดสอบเพราะไม่มี USB Wi-Fi Adaptor ครับ

ตอนใส่ดิสก์อันนี้น็อตจะขันยากนิดนึงเพราะมียางรอง สำหรับใครที่งงว่าทำไมมันใส่ไม่เข้าซักที ต้องออกแรงดันน็อตให้มันจมไปในยางก่อนนะครับถึงจะเริ่มขันได้ โดยตัว Tray ที่ให้มานี้จะรองรับได้ทั้ง SSD/HDD ขนาด 3.5″ และ 2.5″ เลย ไม่ต้องมีถาดแปลงข้างในอีกทีครับ

พอใส่ดิสก์เรียบร้อยแล้วก็เสียบปลั๊ก เสียบสาย LAN (ควรอยู่ใน Network Layer 2 วงเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ตั้งค่า) เปิดเครื่อง รอระบบบูทเสร็จ เป็นอันเริ่มต้นใช้งานได้ครับ

 

เริ่มต้นตั้งค่ากันได้ง่ายๆ

สำหรับการเริ่มต้นนั้นเราไม่ต้องรู้ว่า Synology ที่เราใช้นั้นมี IP Address อะไรเลย เพียงแค่เข้าไปที่ http://find.synology.com/ เท่านั้น ระบบก็จะทำการค้นหา Synology ในเครือข่ายให้ พร้อมให้เราเข้าไปทำการตั้งค่าได้เลยครับ (ตอนทดสอบใช้ Google Chrome บน Windows 10 ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ)

หลังจากกด Connect และเลือก Setup แล้ว ระบบก็จะให้เราเริ่มทำการติดตั้งระบบปฏิบัติการใน NAS กันก่อน ซึ่งก็จะทำให้เราได้ใช้ OS รุ่นใหม่เกือบล่าสุดเลย (มี Service ย่อยๆ ภายในที่ต้องไปอัปเดตเองทีหลังอยู่) ก็ช่วยให้ NAS ของเรามั่นคงปลอดภัยขึ้นระดับหนึ่งครับ จากนั้นก็รอติดตั้งและรอให้ระบบ Restart ตัวเองซัก 5-10 นาทีเท่านั้น

พอติดตั้งระบบปฏิบัติการเรียบร้อย ระบบก็จะถามให้เราตั้ง Username/Password ครับ โดยจะบังคับเราด้วยว่าต้องตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัยมากๆ ถึงจะยอมให้เราเริ่มต้นใช้งานได้ เพราะ Account ที่สร้างในขั้นตอนนี้จะมีสิทธิ์เป็นระดับ Administrator นั่นเอง

จากนั้นระบบก็จะถามให้เราเลือกรอบการอัปเดตและ Patch ระบบโดยอัตโนมัติครับ ก็ดีเหมือนกันจะได้ไม่ต้องมาคอยอัปเดตเองเรื่อยๆ

ถัดมา ระบบจะให้เราสร้าง QuickConnect ID ซึ่งจะเป็น Account ของเราบนบริการ Cloud ของ Synology ให้เราสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ Synology ของเราจากทุกที่ในโลกนอกระบบเครือข่ายของเราได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องตั้ง Port Forward เองให้วุ่นวายครับ ซึ่ง QuickConnect ID นี้จะถูกใช้บ่อยมากเวลาเราติดตั้ง Mobile Application ต่างๆ จาก Synology และกำหนดค่าให้เราเข้าถึงข้อมูลใน NAS ของเราได้ แต่ถ้าจะใช้แค่ในบ้านหรือในบริษัทตัวเอง ก็ไม่ต้องตั้งก็ได้ครับ

เพียงเท่านี้ก็พร้อมใช้งานได้แล้ว สามารถใช้ Web Browser เข้าไปกำหนดค่าอื่นๆ ของอุปกรณ์กันได้เลยครับ ซึ่งหน้า UI ของ Synology นี้จะเหมือนเป็น Desktop อีกอันหนึ่งที่แสดงผลบน Web Browser และยังสามารถคลิกขวาเพื่อเลือกออปชันต่างๆ ที่เราจะทำกับไฟล์หรือโฟลเดอร์ได้ ก็ถือว่าใช้งานได้ง่ายดีและช่วยให้ทำงานได้เร็วดีครับ (ใช้บนมือถือได้ด้วย เพราะ UI Responsive สวยงามดี แต่ฟีเจอร์อาจจะไม่เท่ากันซะทีเดียว) โดยจะมีขั้นตอนสำคัญๆ ที่ต้องทำเพื่อให้สามารถใช้งานได้กันก่อนดังนี้

 

1. สร้าง Volume สำหรับทำ File Sharing ให้เรียบร้อย

ตอนเริ่มต้นถ้าเราไปกำหนดค่าระบบ File Sharing เลย ระบบจะแจ้งให้เราไปจัดการสร้าง Volume ให้เรียบร้อยก่อนภายในคำสั่ง Storage Manager ครับ โดยในการกำหนด Volume ก็คือการเลือกพวกค่า RAID, เลือก File System และเลือกจำนวนของ Disk ที่เราจะใช้งานร่วมกันนั่นเอง โดยถ้าไม่คิดจะใช้ iSCSI เลยก็อาจจะไม่ต้องเผื่อพื้นที่เอาไว้ครับ แต่ถ้าจะใช้ iSCSI ก็จะเลือกได้ว่าจะให้ iSCSI ทำงานทับบน Volume ที่จะสร้างขึ้นนี้สำหรับแค่ให้พอใช้ได้ หรือจะใช้ iSCSI แบบเต็มประสิทธิภาพบน RAID ที่สร้างเอาไว้ล้วนๆ เลยก็ได้

ขั้นตอนนี้ไม่นานครับ กดๆ ไปไม่ถึง 3 นาทีก็เสร็จหมดแล้ว โดยถึงแม้จะมีดิสก์แค่ลูกเดียวก็สามารถเริ่มต้นใช้ได้แล้ว และยังรองรับการทำ Hot Spare กับ SSD Cache ได้อีกด้วยครับ แต่สองฟีเจอร์นี้ไม่ได้ทดสอบเพราะไม่ได้ซื้อ SSD มาครับ

หลังจากนั้นก็เข้าไปสร้าง Shared Folder กันได้เลยใน Control Panel > Shared Folder > Create แล้วกำหนดสิทธิ์ว่าผู้ใช้งานคนไหนจะมีสิทธิ์เข้าถึงโฟลเดอร์นี้ได้บ้าง โดยสามารถเข้าไปสร้าง User หรือ Group กันได้ใน Control Panel เช่นเดียวกันครับ หรือหากใครอยากจะนำ Synology ไป Join Domain หรือใช้ AD/LDAP ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานก็ได้เช่นกัน

 

2. จัดการไฟล์ทั้งหมดผ่าน Web Browser ได้เลย ไม่ต้องทำการ Mount ใดๆ ก่อน

คราวนี้เราก็เริ่มต้นใช้งานกันได้แล้วครับ โดยเราสามารถอัปโหลดไฟล์ต่างๆ เข้าไปใน Folder ที่สร้างขึ้นมานี้ได้ด้วยการ Drag & Drop ไฟล์เข้ามาเลย หรือใช้ USB Thumb Drive เสียบที่ด้านหลังตัว Synology เพื่อเข้าถึงไฟล์เหล่านั้นเลยก็ได้ครับ หรือจะเข้าไปที่ USB Copy เพื่อทำการ Clone ไฟล์จาก USB ที่เสียบเข้ามาหน้าเครื่องก็ได้เช่นกัน

เสียบ USB หน้าเครื่อง เตรียม Clone ไฟล์กันได้เลยครับ

 

ส่วนถ้าเสียบหลังเครื่อง ไฟล์ใน USB จะปรากฎออกมาให้แบบนี้เลยครับ เราเอามาใช้แชร์ต่อให้คนถึงเข้าถึงไฟล์ใน USB กันได้เลย

 

แต่สำหรับคนที่อยาก Mount Folder นั้นๆ ให้เข้าไปที่ Control Panel > File Services แทนครับ ในหัวข้อ SMB/AFP/NFS จะมีส่วนที่บอกวิธีการเข้าถึงแบบ Mount Folder อยู่ ก็สามารถทำการ Copy ไป Paste ใน Windows ได้ครับ

 

3. คลิกขวาที่ไฟล์ เพื่อจัดการทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้

ในเบื้องต้นเราจะสามารถทำการคลิกขวาที่แต่ละไฟล์เพื่อทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนใช้งานบนเครื่อง Desktop เลยครับ โดยสำหรับไฟล์รูปนั้น Synology สามารถทำการปรับแต่งภาพแบบพื้นฐานได้เลย ส่วนวิดีโอนั้นก็สามารถ Stream เปิดดูได้เลยเช่นกัน

คลิกขวาที่ไฟล์เพื่อเลือก Action ที่จะทำกับไฟล์นั้นๆ ได้

 

ปรับแต่งแก้ไขภาพบนเว็บได้เลย ก็สะดวกดีไปอีกแบบครับ

 

ส่วนไฟล์เอกสารต่างๆ นั้นเราสามารถส่งออกไปแก้ไขด้วย Google หรือ Microsoft ก็ได้ หรือจะติดตั้งฟีเจอร์เพิ่มเติมเพื่อทำการ Preview หรือ Edit ได้ครับ ลองดูที่หัวข้อถัดไปกันได้เลย

 

เสริมฟีเจอร์ที่ต้องการเองได้เลย

จุดเด่นของ Synology ที่ทำให้ NAS นั้นไม่ใช่แค่ Network Attached Storage แต่เป็น Network Application Server แทนนั้นก็คือประเด็นเรื่องของการติดตั้ง Application เสริมต่างๆ ลงไปได้เหมือนพวก Smartphone นี่แหละครับ แต่ที่ทำให้น่าสนใจมากคือ Application ส่วนใหญ่เป็น Application สำหรับใช้ทำงานในองค์กร ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานตามบ้าน ดังนั้นในระดับธุรกิจแล้วหากเป็นธุรกิจที่มีระบบ IT ไม่ใหญ่มาก หรือเป็นสาขาขององค์กร Synology เพียงตัวเดียวก็แทบจะให้บริการให้ครอบคลุมแล้วครับ

เลือกเองได้เลยว่าอยากได้ Package อะไรสำหรับฟีเจอร์ไหนเพิ่มเติมครับ

 

1. เสริมให้เปิดและแก้ไขไฟล์ต่างๆ บน Synology โดยตรงได้มากขึ้น

เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานมากขึ้น Application กลุ่มแรกที่จะทำการติดตั้งลงไปจึงเป็น Application ที่จะช่วยให้สามารถเปิดไฟล์ต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนี้ครับ

  • Text Editor สำหรับเขียนโน้ตสั้นๆ (จำนวนคนโหลด 3.5 ล้านครั้ง)
  • PDF Viewer สำหรับเปิดไฟล์ PDF (จำนวนคนโหลด 231,000 ครั้ง)
  • Office สำหรับเปิดไฟล์ .docx และ .xlsx พร้อมทำการแก้ไข (จำนวนคนโหลด 640,000 ครั้ง)
เปิดไฟล์เอกสารขึ้นมาดูหรือแก้ไขเองบนเว็บได้ในตัว

 

2. สร้าง Sync Folder เหมือนบริการ Cloud Storage

แน่นอนว่าหลายๆ คนคงอยากใช้ฟีเจอร์นี้กันภายในบริษัท เพราะเป็นวิธีการแชร์ไฟล์ที่เข้าใจง่ายกว่าพวก NAS ทั่วๆ ไป และยังทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยเพราะไฟล์ทั้งหมดจะประมวลผลที่เครื่องของผู้ใช้งานเป็นหลัก ทำให้การเปิดหรือแก้ไขสามารถทำได้ด้วย Application บนตัวเครื่องเลย ซึ่งฟีเจอร์นี้จะสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อเราติดตั้ง Cloud Station Server (จำนวนคนโหลด 15 ล้านครั้ง) เพิ่มเข้าไป และตั้งค่า QuickConnect ID ของเราลงไปครับ

 

ทั้งนี้ตัว Cloud Station Server นี้จะมี Client ให้โหลดไปใช้งานได้ทั้งบน Windows, Mac, iOS, Android ดังนั้นหากอยากจะใช้บน Platform ไหนก็ต้องไปโหลดตัว Client ติดตั้งให้ถูกด้วยนะครับ แล้วก็ตัว Windows จะมีถามเรื่องเปิดสิทธิ์บน Firewall เล็กน้อย ก็อย่าลืมไปอนุญาตกันด้วยนะครับ

สร้างไฟล์ที่ Desktop ก็ Sync ไปแสดงผลบน NAS ทันที

 

3. บริการ Active Directory และ DNS

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่อยากใช้ Active Directory แต่ไม่ต้องการจะลงทุนถึงขั้นซื้อ Windows Server ฟีเจอร์ Active Directory Server (จำนวนคนโหลด 45,000 ครั้ง) อันนี้จะเป็นประโยชน์มากเพราะทำให้เราสร้าง Domain และกำหนด Policy พร้อมให้เรานำไปเชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ได้เลย โดยในขั้นตอนการติดตั้งจะมีบังคับลง DNS Server ด้วยนะครับ

 

4. Log Center รวบรวมข้อมูล Log จากอุปกรณ์เครือข่ายอื่นๆ ได้

อันนี้ก็เป็นอีกอันที่มีประโยชน์ครับ โดย Synology สามารถติดตั้งบริการ Log Center เพื่อทำหน้าที่เป็น Log Server ย่อมๆ สำหรับยธุรกิจได้เลย โดยระบบ Log Center (จำนวนคนโหลด 1.5 ล้านครั้ง) ของ Synology นี้สามารถรับ Log จากอุปกรณ์อื่นๆ มาจัดเก็บไว้ในตัวเองได้, ตั้งนโยบายการทำ Archive ได้, มีระบบ Search เพื่อค้นหา Log ที่ต้องการได้, ตั้ง Alert เมื่อได้รับ Log ที่ตรงกับค่าที่เราตั้งเอาไว้ได้ และก็มีหน้า Dashboard ภาพรวมปริมาณ Log ที่เกิดขึ้นแบบ Real-time ให้นำไปใช้กันได้ด้วยครับ

 

5. Chat พูดคุยกันได้เองในองค์กร ไม่ต้องส่งออกไปยังเครือข่ายภายนอก

สำหรับบริษัทที่เริ่มจะมีปัญหากับการที่พนักงานใช้แชทนอกองค์กรกันจนข้อความความลับรั่วไหล จนต้องการจะมี Chat Server เอาไว้ใช้งานเอง และเก็บข้อมูลการพูดคุยของพนักงานเอาไว้ได้ ทาง Synology เองก็มี Chat Server (จำนวนคนโหลด 158,000 ครั้ง) ที่หน้าตาคล้ายกับแชทชื่อดังพร้อมให้เราใช้งานได้ฟรีๆ ในตัว พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเข้ารหัสข้อความการพูดคุยต่างๆ เอาไว้ได้ด้วย

 

6. Docker เมื่อ Container สามารถติดตั้งใช้งานได้บน NAS

Synology เองก็รองรับ Docker แล้วอย่างเต็มตัว โดยบางฟีเจอร์ของ Synology นั้นก็ต้องใช้ Container เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้วย ดังนั้นตอนทดสอบเลยต้องติดตั้งมาด้วยครับ และก็พบว่าจริงๆ แล้วก็พอจะใช้ Synology เป็น Test Server หรือ Production Server เล็กๆ ภายในองค์กรได้อยู่เหมือนกัน

 

7. Backup

Synology นั้นมีระบบ Free Backup ให้ใช้งานหลากหลายมาก ทั้งระบบ Backup สำหรับ Windows, Linux, Google G Suite และ Office 365 ให้มาสำรองข้อมูลเอาไว้ภายใน Synology รวมถึงระบบ Backup อื่นๆ สำหรับตัว Synology เอง เช่น Hyper Backup, Hyper Backup Vault, Snapshot Replication แถมยังสามารถสำรองข้อมูลจาก Synology เองขึ้นไปยัง Cloud ของ Synology หรือ AWS ก็ได้ด้วย

แน่นอนว่าหากต้องการจะป้องกัน Ransomware ให้ได้ผลดีก็ต้องอาศัยฟีเจอร์ในส่วนนี้เข้าไปช่วยด้วยส่วนหนึ่งครับ โดยเฉพาะการทำ Cloud Station Server ที่ช่วยสำรองไฟล์ในเครื่อง Client เอาไว้ได้เป็นหลาย Version หรือการทำ Snapshot ที่จะช่วยกู้คืนข้อมูลบน File Sharing ได้นั่นเองครับ

 

ทั้งนี้ Synology ก็ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อีกเยอะครับ ลองเข้าไปดูกันเต็มๆ ได้ที่ https://www.synology.com/en-global/dsm/packages

 

มี Security Advisor คอยเช็คความมั่นคงปลอดภัยเบื้องต้นของระบบให้

ที่ผ่านมาเรามักได้ยินเรื่องราวว่า NAS Storage ตกเป็นเป้าของการโจมตีกันบ่อยๆ ทาง Synology เองนอกจากจะมีระบบ Auto Update ที่จะช่วย Patch อุปกรณ์เราให้ใช้ Software รุ่นล่าสุดอยู่เสมอแล้ว ก็ยังมีระบบ Security Advisor ที่คอยตรวจสอบค้นหา Malware ได้ในตัว, ตรวจสอบการตั้งค่าของระบบว่ามีส่วนใดที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงยังมีฟีเจอร์เสริมในส่วนของการทำงานร่วมกับระบบ Antivirus จากผู้ผลิตค่ายต่างๆ ช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยได้อีกทาง

 

ข้อดี: ฟีเจอร์เยอะ, ใช้งานง่าย, สนุก

นับเป็นจุดเด่นมากๆ ของ Synology ที่ติดตั้งฟีเจอร์เสริมได้เยอะมาก แทบจะ Consolidate ระบบ IT หลายๆ ระบบสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางให้จบในเครื่องเดียวได้เลย ไม่ต้องไปซื้อ Server หรือ License ระบบอื่นๆ ก็ประหยัดไปเยอะเหมือนกัน แถมพอมีความสามารถหลายๆ อย่างที่ทดแทนบริการ Cloud ได้ ก็น่าจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจในระยะยาวได้อยู่ครับ

ที่สำคัญเลยคือตอนกำหนดค่า สำหรับคน IT ถือว่าน่าจะทำเองได้ง่ายมากๆ เพราะไม่มีอะไรซับซ้อน เรียกว่าไม่ต้องเปิดคู่มือเลยก็ทำได้ ส่วนสำหรับคนที่ไม่ใช่สาย IT เองก็น่าจะตั้งค่าพื้นฐานเองและใช้งานเป็น File Sharing ธรรมดาๆ ได้ง่ายๆ อยู่ครับ

หลักๆ ที่ชอบอีกอย่างคือบั๊กน้อย ทดสอบมานี่แทบไม่เจออะไรที่ทำงานผิดปกติเลย ค่อนข้างราบรื่นดีทีเดียว

 

ข้อเสีย: ใช้เวลาติดตั้งนาน เพราะฟีเจอร์ที่เยอะเกินกว่า NAS ทั่วๆ ไป

อันนี้เป็นข้อที่คาดไม่ถึงก่อนทดลองใช้งานเหมือนกันครับ คือหลังจาก Initialize อุปกรณ์จนเริ่มต้นใช้งานได้แล้วในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นก็เสียเวลาหลายชั่วโมงไปกับการติดตั้งและทดสอบฟีเจอร์ต่างๆ ไปเรื่อยๆ นานมาก ซึ่งปกติ NAS อื่นๆ ไม่ได้มีความสามารถในส่วนนี้ก็เลยจบกันไปตั้งแต่ก่อนนี้แล้ว แต่สำหรับ Synology นี้เราต้องมาเลือกฟีเจอร์ที่จะใช้แล้วติดตั้ง, ตั้งค่าเองพอสมควร ซึ่งแต่ละฟีเจอร์ก็อาจจะมี Dependency ข้ามกันไปกันมาบ้าง ดังนั้นก็ต้องวนกลับไปตั้งค่าตรงนั้นตรงนี้เพิ่มเยอะเหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าสาเหตุที่ Synology ทำมาให้เราเลือกติดตั้งฟีเจอร์ต่างๆ เพิ่มเติมได้เองนั้น เป็นเพราะว่าโดยปกติอุปกรณ์ NAS มักจะมากับสเป็คไม่ใหญ่มาก ดังนั้นหากจะให้ทาง Synology ติดตั้งทุกอย่างมาให้เราพร้อมใช้ได้เลยก็อาจจะเกินความจำเป็นไปค่อนข้างเยอะ และรูปแบบการใช้งานของแต่ละธุรกิจนั้นก็ไม่เหมือนกัน การเปิดให้ผู้ใช้งานเลือกติดตั้งใช้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือเมื่อลองใช้ฟีเจอร์ต่างๆ แล้วไม่ถูกใจก็สามารถลบทิ้งออกไปได้จึงดูเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่าครับ

แต่พอตั้งค่าเสร็จหมดก็รู้สึกคุ้มดีครับ เพราะใช้ฟีเจอร์จำนวนมากได้กว่า NAS อื่นๆ แบบชัดเจน เปิดไฟล์ แก้ไขไฟล์ แชท ผ่าน Synology ได้ทั้งหมด เรียกได้ว่าก็แทบจะทดแทนบริการ Cloud พื้นฐานที่เราเคยต้องเช่าใช้กันไปเยอะมากแล้วโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือนและก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายตามจำนวนผู้ใช้งาน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการดูแลระบบเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่เพราะเท่าที่ใช้งานดูก็ดูแลง่ายอยู่เหมือนกันครับ

 

สรุป: เป็นของดีที่อาจต้องเรียนรู้บ้างก่อนใช้งานครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็ใช้งานให้คุ้มได้เลย

หลังจากทดสอบใช้งานได้ระยะหนึ่งแล้วก็ได้ข้อสรุปดังนี้ครับ

  • สำหรับคนที่ต้องการ File Sharing Storage ประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้งานภายในบ้านหรือในธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ก็ซื้อไปติดตั้งใช้งานเองได้เลยครับ ตั้งค่าเบื้องต้นเองผ่าน Web Browser, กำหนดค่า IP ให้เรียบร้อย, สร้าง User, ตั้ง Folder, กดแชร์ออกมา แล้วก็ไปเพิ่ม Folder ที่ปลายทาง ก็จบแล้วครับ แต่ Network ที่จะเชื่อมอาจจะต้องเร็วซักหน่อย 1/10GbE น่าจะกำลังดี
  • ส่วนคนที่จะเอาไปใช้งานนอกเหนือจากนี้ ถ้ามีคน IT ช่วยติดตั้งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ แต่ถ้าไม่มีก็อาจต้องงมนานกันหน่อย ดังนั้นหากจะเอามาใช้งานธุรกิจอาจต้องคิดเผื่อค่าติดตั้งบ้างเหมือนกันครับ

โดยรวมแล้วค่อนข้างประทับใจทีเดียวครับกับความสามารถที่หลากหลายและความง่ายในการใช้งาน ถ้าใช้ไปยาวๆ แล้วไม่มีปัญหาอะไรก็คงกลายเป็นอีกหนึ่งยี่ห้อของ NAS Storage ที่แนะนำต่อกันได้ไม่ยากเลยครับ

 

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทาง Synology ที่ส่งมาให้เราได้ทดสอบกันเต็มๆ นะครับ ก่อนหน้านี้เคยแต่ไปเล่นของบริษัทอื่นมา เลยไม่กล้าซนกดเล่นเยอะ อันนี้กดได้เต็มที่แบบพร้อม Factory Default กลับได้ทุกเมื่อ ก็เพลินดีครับ


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Salesforce นำเสนอโซลูชั่น AI ใหม่ล่าสุด ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับ Customer Experience ให้ธุรกิจทั่วโลก [Guest Post]

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 8 มิถุนายน 2566 – เมื่อเร็ว ๆ นี้ Salesforce (เซลส์ฟอร์ซ) ประกาศเปิดตัวนวัตกรรม AI ล่าสุดหลายรายการสำหรับ Data …

[Video] IBM Sustainability Software โซลูชันที่ช่วยยกระดับให้ธุรกิจคุณเติบโตอย่างยั่งยืน โดย Metro Systems

ESG กำลังเป็นวาระสำคัญของธุรกิจองค์กรทั่วโลก ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรักษาทรัพยากรที่หลากหลายของโลกใบนี้เพื่อผู้คนในยุคถัดไป