Nariman Farsad นักวิจัยจาก Stanford ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ในการส่งข้อมูลที่ใช้สารเคมีแทนระบบไฟฟ้า ซึ่งอนาคตหากเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจนสำเร็จแล้ว ก็อาจใช้รับส่งข้อมูลในร่างกายมนุษย์ได้ด้วย
โดยทั่วไปแล้วการรับส่งข้อมูลที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้มักใช้หลักการของไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ในงานวิจัยนี้กลับคิดค้นวิธีการใหม่ที่ใช้ความเป็นกรดเป็นด่างในสารเคมีเพื่อรับส่งข้อมูลได้แทน
การส่งข้อมูลโดยอาศัยความเป็นกรดหรือด่างในสารเคมีนี้ใช้การส่งคลื่นของกรด (น้ำส้มสายชู) และด่าง (น้ำยาล้างแก้ว) แทน โดยทำการส่งสารเหล่านี้ผ่านไปตามหลอดพลาสติกเพื่อให้ตัวรับปลายทางอ่านค่า pH ของสารเคมีที่ส่งไป และแปลงกลับมาเป็น Bit ที่มีค่าเป็น 0 และ 1 และรวมกลับมาเป็นตัวอักษรหรือข้อมูลต่างๆ แทน
ทางทีมวิจัยคาดว่าเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลแบบนี้เมื่อพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถใช้ในการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในร่างกายมนุษย์ได้ รวมถึงให้หุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็กทำการสื่อสารระหว่างกันได้เหมือนวิธีการเดียวกับที่มดใช้ อีกทั้งยังทำให้การรับส่งข้อมูลมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้การดักฟังยากขึ้นตามไปด้วยในอนาคต และอาจนำไปใช้ประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย
ลองดูตัวอย่างการทำงานของการใช้สารเคมีเพื่อรับส่งข้อมูลได้ในคลิปนี้เลยนะครับ งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ Arduino ในการควบคุมการรับส่งสารเคมีด้วยครับ
ที่มา: https://blog.arduino.cc/2016/11/16/this-machine-sends-messages-using-common-chemicals/